xs
xsm
sm
md
lg

พท.ซัดปชป.ยื้อแก้รธน. หวังเปิดวิสามัญ ซักฟอกรบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (14 มี.ค.55) มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน เพื่อพิจารณา เนื้อหาในมาตรา 2 ที่ระบุว่ารัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับนับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยการประชุมในครั้งนี้ที่ประชุมกมธ.ได้เชิญนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการกกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง น.ส.ลักขณา บัณฑิตวรภูมิ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย2 และนายยงเกียรติ อดิเศรษฐกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและคดี มาชี้แจง
สำหรับประเด็นนี้มีการแขวนเอาไว้ตั้งแต่การประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งกมธ.ในซีกของพรรคประชาธิปัตย์แสดงความเป็นกังวลว่าถ้ากำหนดเนื้อในลักษณะนี้จะทำให้การจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายใน 75 วันตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291/5
ทั้งนี้ในการชี้แจงจากกกต.ได้ยืนความพร้อมถึงการจัดเลือกตั้งส.ส.ร.แต่มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการกฎหมายรองรับสำหรับการจัดการเลือกตั้งส.ส.ร. โดย นายบุณยเกียรติ กล่าวว่า การจัดให้มีการเลือกตั้งสสร.ตามมาตราดังกล่าวไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติเพราะสำนักงานกกต.ได้เตรียมความพร้อมเอาไว้หมดแล้ว แต่ในที่นี้มีข้อสังเกตว่าหากนำหลักเกณฑ์การเลือกตั้งสส.ในระบบแบ่งเขตมาดำเนินการจัดการเลือกตั้งมาบังคับใช้จะมีปัญหา เพราะยังไม่มีกฎหมายกำหนดอำนาจในการจัดการเลือกตั้งหลายประเด็น เช่น การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า การลงคะแนนนอกราชอาณาจักร การกำหนดค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร การหาเสียง การคัดค้านการเลือกตั้ง คุณสมบัติของผู้สมัครส.ส.ร.
"กกต.อยากขอความชัดเจนจากกมธ.ว่าจะดำเนินการอย่างไร เช่น การอนุโลมให้ใช้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง หรือ การออกระเบียบกฎหมายเลือกตั้งได้หรือไม่อย่างไร"นายบุณยเกียรติ กล่าว
นายสุทัศน์ เงินหมื่น สส.บัญชีรายชื่อ กมธ.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องออกกฎหมายหรือพ.ร.บ.มารองรับ เพราะส.ส.ร.ไม่ใช่ผู้ใช้อำนาจแทนประชาชนเหมือนสส.แต่เป็นหน้าที่เฉพาะกิจเท่านั้น ทำให้อาจมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ และใช้กฎหมายเลือกตั้งสส.มาเทียบเคียงเพื่อให้กกต.ออกระเบียบไม่ได้ ดังนั้น ทางที่ดีควรให้ฝ่ายข้าราชการประจำของกกต.ไปหารือกับกกต. 5 คนก่อนเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการกำหนดการเลือกตั้งส.ส.ร.แล้วค่อยมาให้ข้อมูลกับกมธ.อีกครั้ง
จากนั้นกมธ.พรรคเพื่อไทยหลายคนนำโดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน ได้เสนอให้ที่ประชุมกมธ.กำหนดลงไปว่า "หลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งส.ส.ร.ให้เป็นไปตามระเบียบที่กกต.กำหนดโดยอาจนำหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสส.ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสส.และการได้มาซึ่งสว.มาบังคับใช้โดยอนุโลมในบางประเด็นเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง" ซึ่งจะเป็นการกำหนดหน้าที่ของกกต.ชัดเจนแทนเนื้อหาร่างแก้ไขเดิมที่กำหนดให้นำเฉพาะเกี่ยวกับการเลือกตั้งสส.แบบแบ่งเขตมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ด้าน นายนิพนธ์ ฮะกีมี รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า เมื่อมาตรา 291/5 วรรค 4 กำหนดให้กกต.ออกระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งส.ส.ร.โดยนำวิธีการเลือกตั้งสส.แบบเบ่งเขตมาบังคับใช้โดยอนุโลมแล้ว ก็ไม่มีปัญหาที่ต้องกังวลเกี่ยวกับกฎหมายรองรับการเลือกตั้งส.ส.ร.เพราะเท่ากับว่าระเบียบดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ
"ที่สำคัญการเลือกตั้งส.ส.ร.ไม่มีความจำเป็นต้องไปจำกัดขอบเขตมากเท่ากับการเลือกตั้งสส.เพราะส.ส.ร.เป็นเพียงบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เข้ามาเป็นตัวแทนประชาชนเพื่อใช้อำนาจอธิปไตยในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติเหมือนกับสส." นายนิพนธ์ กล่าว
นายบุณยเกียรติ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนการกำหนดการเลือกตั้งส.ส.ร.ไม่ควรทำโดยระเบียบ แต่ควรทำเป็นพ.ร.บ.ออกมาให้ชัดเจน สำหรับการกำหนดให้ผู้สมัครส.ส.ร.สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้หรือไม่ต้องกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ให้กกต.มากำหนดเอง เพราะกกต.กำหนดได้แค่วิธีการ
"ระยะเวลาความพร้อมจริงๆคือ 75 วันสามารถกระทำได้ต้องพร้อมทุกด้านตั้งแต่การตราพ.ร.ฎ.กำหนดกฤษฎีกา อย่างไรก็ตาม ในทางปฎิบัติทั้งกกต.และกฤษฎีกาก็ทำงานควบคู่กับกมธ.ของรัฐสภาอยู่แล้วเหมือนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดเพื่อจัดการเลือกตั้ง 3 ก.ค.2554 แต่ทางที่ดีอาจเผื่อเอาไว้ 90 วันก็ได้จะช่วยให้กกต.ไม่เครียดมาก ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีประเด็นอีกว่าหากต้องมีการเลือกตั้งส.ส.ร.แทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 30 วันจะทำอย่างไรเพราะเพียงแค่การประกาศโดยพ.ร.ฎ.ต้องใช้เวลาถึง 15 วันแล้ว หรือ ในกรณีหากมีผู้สมัครในจังหวัดนั้นเพียงคนเดียวจะกำหนดคะแนนขั้นต่ำอย่างไรด้วย" นายบุณยเกียรติกล่าว
นายนิพนธ์ กล่าวว่า การกำหนดให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เมื่อไหรนั้นขึ้นอยู่กับกมธ.ว่าจะกำหนดอย่างไรเพราะถือเป็นอำนาจของกมธ. ส่วนเรื่องการให้กกต.ไปออกระเบียบตามรัฐธรรมนูญในอดีตเคยมีการกระทำมาแล้ว โดยการเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี2550 เมื่อปีพ.ศ.2554 โดยให้กกต.มีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งสส.ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเพื่อใช้บังคับกับการเลือกตั้ง และให้ข้อกําหนดตามประกาศของกกต.ใช้บังคับแทนบทบัญญัติแห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสส.และการได้มาซึ่งสว.
"การให้อำนาจกกต.ออกระเบียบการเลือกตั้งส.ส.ร.ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังเบากว่าการให้อำนาจกกต.ออกระเบียบเมื่อปี2554 เพราะในปี2554 เป็นการให้อำนาจกกต.กำหนดเนื้อหาได้เองและเนื้อหาดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้เทียบเท่ากับพ.ร.บ.เลือกตั้งด้วยซ้ำ" นายนิพนธ์ กล่าว
ที่สุดแล้วที่ประชุมกมธ.เสียงข้างมากให้คงเนื้อมาตรา 2 ไว้ตามเดิม แต่กมธ.ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้สิทธิ์ยืนยันคัดค้านและขอสงวนความเห็นไว้ไปอภิปรายในการประชุมรัฐสภาวาระ2 ต่อไป
อีกด้านนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะ กมธ. กล่าวยอมรับภายหลังการประชุมว่า จนถึงขณะนี้การทำงานของ กมธ.ยังเป็นไปอย่างล่าช้า แม้ที่ประชุมในวันนี้จะสามารถลงมติผ่านวาระที่ 2 และเข้าสู่วาระที่ 3 ได้ก็ตาม แต่จะเห็นได้ว่า แม้เนื้อหาในมาตรา 2 ที่ระบุว่า ให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่ใช้อยู่แล้วในกฎหมายแทบทุกฉบับ แต่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในที่ประชุม จึงเชื่อว่าเป็นความพยายามเล่นเกมที่ต้องการยื้อให้การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้าออกไปให้ถึงที่สุด อีกทั้ง กมธ.ยังต้องรอให้สมาชิกแปรญัตติตามที่ที่ประชุมกำหนดภายใน 30 วัน กว่าจะสิ้นสุดก็ช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ และยังมีขั้นตอนในการเชิญผู้ขอแปรญัตติเข้าชี้แจงในที่ประชุมอีก ส่วนตัวจึงมองว่าคงไม่ทันในสมัยประชุมสมัยนิติบัญญัติที่จะปิดในวันที่ 18 เม.ย.นี้
“คาดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงเสร็จไม่ทันสมัยประชุมนี้ และยังอีกนานกว่าจะได้ข้อยุติ บรรยากาศการประชุมก็มีแต่น้ำ ไม่มีเนื้อหาสาระอะไร ท้ายที่สุดหากไม่สามารถสรุปได้ ก็คงจำเป็นต้องการลงมติเพื่อให้ได้ข้อยุติ ส่วนการจะขอเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ ต้องรอดูสถานการณ์เป็นระยะๆ” นายวรวัจน์ ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญจริง อาจเปิดช่องให้ฝ่ายค้านสามารถยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ โดยเฉพาะในเรื่องจริยธรรมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีรัฐบาลโดยตลอด นายวรวัจน์ กล่าวว่า ไม่ได้กังวลในส่วนนั้น เพราะตลอดเวลาที่รัฐบาลทำงานยังไม่มีเหตุผลที่ควรถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่หากพรรคประชาธิปัตย์จะนำเรื่องจริยธรรมมาขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็เชื่อว่าฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นฝ่ายเสียหายเอง
วันเดียวกัน นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย แถลงเรื่องรัฐธรรมนูญกินไม่อิ่ม โดยได้นำข้าวผัดกระเพราและไข่ดาวมาทานต่อหน้าสื่อมวลชนประกอบการแถลงข่าวด้วย โดย ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำให้ท้องอิ่ม เพราะราคาข้าวของที่แพงขึ้นแต่รัฐบาลไม่สนใจปรับปรุงแก้ไข แต่ไปมุ่งไปที่เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ.
กำลังโหลดความคิดเห็น