กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ห่วงจัดเลือกตั้งท้องถิ่น 3 จว.ชายแดนใต้ เม.ย.นี้ หวั่นคาร์บอมบ์ซ้ำรอย กำชับเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเข้มงวด สร้างความเชื่อมั่น ขอความชัดเจน 4 ประเด็นหากใช้ พ.ร.บ.ท้องถิ่นเป็นแนวทางยกร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ร. เชื่อปรองดองต้องเวลา สมานแผลทุกฝ่าย ต้องใช้เวลาปรับตัว
วันนี้ (2 เม.ย.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนนทบุรี เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งคือ นายสมนึก ธนเดชากุล ผู้สมัครหมายเลข 2 ได้ 55,972 คะแนน รองลงมาคือ นายเฉลิมพล สุมโนพรหม ผู้สมัครหมายเลข 3 ได้ 4,965 คะแนน และนางสุรภี รุ้งโรจน์ ผู้สมัครหมายเลข 1 ได้ 3,025 คะแนน ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 35.12 ถือว่าน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม ในเดือน เม.ย.จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นจำนวน 432 แห่ง รวมถึงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย กกต.มีความเป็นห่วงว่าจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์คาร์บอมบ์ใน จ.สงขลา ยะลา และจ.ปัตตานี จึงอยากฝากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยงานความมั่นคงเข้ามาดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนอย่างเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กกต.ก็มีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานความมั่นคง เช่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.กอ.รมน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ขอให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ เพราะต้องการให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันให้มาก
นายประพันธ์กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของรัฐสภาจะมอบหมายให้กกต.ดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า เท่าที่ทราบคณะกรรมาธิการฯพร้อมที่จะให้ กกต.ใช้กฎหมายในจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.และกำหนดบทลงโทษ ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นการออกระเบียบ เพราะหากใช้ระเบียบอาจมีปัญหาในเรื่องของการบังคับใช้ ถ้าเกิดการทุจริตเลือกตั้ง ส.ส.ร.
นายประพันธ์กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวต้องการให้ออกเป็นกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ร. แต่การยกร่างกฎหมายใหม่ต้องใช้เวลายกร่างประมาณ 3-4 เดือน ซึ่ง กกต.ก็พร้อมที่จะส่งเจ้าหน้าที่ไปทำงานร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ อีกทั้งขณะนี้ทาง กกต.ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อเสนอแนะและการดำเนินการยกร่างระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เพื่อเตรียมการยกร่างไว้แล้ว หากคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าควรออกเป็นกฎหมายก็พร้อมทำงานทันที แต่หากคณะกรรมาธิการฯ ต้องการใช้กฎหมายที่มีอยู่ เช่น พ.ร.บ.การเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 ทาง กกต.ก็อยากจะขอความชัดเจน คือ 1. เรื่องบทลงโทษ ว่าจะให้นำบทลงโทษของการเลือกตั้งท้องถิ่น และกฎหมายอาญามาบังคับใช้ด้วยหรือไม่ และระบุกำหนดโทษทางอาญาอย่างไร 2. การสั่งเลือกตั้งใหม่ การเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง 3. ถ้านำ พ.ร.บ.การเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 ควรจะมีการระบุคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ชัดเจนว่าจะคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายฉบับใด เพราะหากยึดตาม พ.ร.บ.การเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 จะต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 1 ปี และ 4. การคัดค้านการเลือกตั้งหากใช้พ.ร.บ.การเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 ก็จะเกิดปัญหา เนื่องจากมีระยะเวลาในการร้องคัดค้านการเลือกตั้ง 30 วัน ทาง กกต.ต้องการให้เขียนระบุชัดเจน หากกำหนดว่าสามารถร้องคัดค้านได้ 3 วัน และให้ กกต.ดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้เสร็จภายใน 15 วัน
“กกต.ยินดีที่จะจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ส่วนข้อเสนอเราก็เสนอตามหน้าที่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติว่าจะดำเนินการอย่างไร กกต.ได้เตรียมงบประมาณเบื้องต้นในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ไว้แล้ว 900 ล้านบาท เราพร้อมหมดแล้วทั้งด้านการเงิน และบุคลากร”
นายประพันธ์กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎรที่จะนำญัตติเรื่องการปรองดองเข้าที่ประชุมสภาฯ ในวันที่ 4 เม.ย.นี้ว่า ตนมองว่าเนื่องแนวทางการปรองดองเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเหมือนกับเป็นการสมานแผลหัวใจ ไม่ใช่เพียงแค่อออกเป็นกฎหมายหรือมติแล้วจะเกิดการปรองดองได้ เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องปรับตัวเข้าหากัน แต่ถ้ายังมีความขัดแย้งเช่นนี้อยู่ ความปรองดองก็เกิดขึ้นได้ยาก รวมทั้งจะไปเร่งดำเนินการก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่มติหรือกฎหมาย แต่ขึ้นอยู่กับประชาชนที่จะปรับตัวและความรู้สึกเข้าหากัน ไม่ควรเพิ่มข้อจัดแย้งให้มากขึ้น