xs
xsm
sm
md
lg

ยุบศาลฉุดประเทศมะกันหนุน“องค์กรอิสระ”แฉพท.ปิดประตูตีแมว รวบรัด 15 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน -ทูตสหรัฐหนุน ประทศไทย ต้องมีองค์กรอิสระ สยามประชาภิวัฒน์ล่าชื่อถอดครม.-ส.ส.ส.ว.แก้รธน. ตุลาการศาลรธน.ยัน มีที่มาถูกต้อง คำนูณชี้ยุบศาลปค.ฉุดประเทศถอยหลัง สมบัติฉะคนเสียประโยชน์จ้องยุบศาล ปชป.แฉพท.ปิดประตูตีแมว รวบรัด 15 วัน นักวิชาการนิด้า เชื่อรับงานมาชก “วรเจตน์”

จากกรณีนายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย รับงานนายใหญ่ ออกมาโยนหินถามทางเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเสนอเปลี่ยนแปลงมาตราที่เกี่ยวกับกระบวนการขององค์กรศาล และองค์กรอิสระนั้น

วานนี้(2 มี.ค.55)นางคริสตี เอ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมด้วยนายอาลิ เจลิลิ ผู้อำนวยการฝ่ายคดีอาชญากรรมข้ามชาติและคณะ เข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการ กับนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ที่สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.จังหวัดนนทบุรี โดยสหรัฐอเมริกา ได้แสดงจุดยืนในการสนับสนุนประชาธิปไตย การเลือกตั้ง และระบบการตรวจสอบ ตลอดจนประสานความร่วมมือในการติดตามคดีทุจริตที่เกี่ยวเนื่องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูง และนักการเมืองที่เชื่อมโยงกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้มีคดีที่ ป.ป.ช.อยู่ระหว่างดำเนินการหลายคดี ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการให้ความช่วยเหลือ

นางคริสตี เอ เคนนีย์ กล่าวว่า ต้องการเรียนรู้การทำงานของ ป.ป.ช. และหารือเกี่ยวกับการทำงานป้องกันการทุจริตกับประเทศไทย โดยเห็นว่า องค์กรอิสระถือเป็นองค์กรสำคัญที่ทุกประเทศจำเป็นต้องมี

ด้านนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ไม่มีการพูดถึงแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้โดย ระบุว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนออกมาจึงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่า ป.ป.ช. เป็นเครื่องมือของคณะปฏิวัตินั้น ไม่ควรถูกดำเนินการย้อนหลัง เนื่องจากที่ผ่านมา ป.ป.ช.ทำงานอย่างสุจริตเที่ยงธรรมและดำเนินการกับทุกรัฐบาลโดยไม่มีอคติแต่อย่างใด

**ล่าชื่อถอดครม.-ส.ส.ส.ว.

วันเดียวกันเวลา 17.30 น. ที่อาคารลุมพินีสถาน สวนลุมพินี กรุงเทพฯ กลุ่มสยามสามัคคีและกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ได้จัดเวทีอภิปรายวิชาการกึ่งปราศรัยเพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีประชาชนเข้าร่วมงานกันอย่างคึกคัก ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่รอบบริเวณงาน

เวลา 18.00 น. มีวิทยากรที่เข้าร่วม อาทิ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง รศ.เสรี วงศ์มณฑา นายแก้วสรร อติโพธิ นายบรรเจิด สิงคะเนติ แกนนำนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ร่วมงานเสวนา
โดยมีการตั้งโต๊ะแจกแบบฟอร์มการลงชื่อถอดถอนคณะรัฐมนตรีทั้ง 36 คน ร่วมถึงสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีประชาชนร่วมลงชื่อและถ่ายเอกสารบัตรประชาชนเพื่อแสดงเป็นหลักฐานเป็นจำนวนมาก

ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล นักวิชาการรัฐศาสตร์ หนึ่งในกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวทางวิชาการ โดยระมัดระวังไม่ให้เป็นชนวนความขัดแย้งที่รุนแรง และจะอภิปรายคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องหลัก โดยไม่นำกรณี รศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ถูกทำร้ายร่างกายมาซ้ำเติม หรือเป็นประเด็นตอบโต้

รายงานข่าว แจ้งว่า มีกระแสข่าวออกมาว่า มีกลุ่มคนเสื้อแดง จะเดินทางเข้ามาสร้างความวุ่นวาย ด้วยการข้าวงกประทัดยักษ์ แต่ไม่พบว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแต่อย่างใด

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่มสยามสามัคคี กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย รัฐบาล และพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง โดยการจัดตั้ง ส.ส.ร.ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับการทำรัฐประหาร เพียงแต่อาศัยคราบของความเป็นประชาธิปไตย และดำเนินการผ่านระบบเผด็จการรัฐสภา

ตนไม่เชื่อมั่นในการเลือกส.ส.ร. เพราะเป็นห่วงว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามฐานเสียงของพรรคการเมือง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการชุมนุมในครั้งนี้ ไม่ใช่การปลุกระดมมวลชน แต่อยากให้ประชาชนเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291

**ตุลาการศาลรธน. ยัน มีที่มาถูกต้อง

ส่วนความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตราเกี่ยวกับองค์กรอิสระ แหล่งข่าวจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงกรณีที่นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ออกมาระบุ ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหา เพราะกระบวนการสรรหาองค์คณะตุลาการจึงทำให้ไม่ได้คนที่มีคุณภาพพอมาทำงาน ว่า ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคงไม่มีความเห็นในเรื่องดังกล่าวนี้ เนื่องจากไม่ต้องการไปตอบโต้ ทะเลาะกับใครฝ่ายใดให้เกิดความขัดแย้งบานปลายขึ้นอีก เพราะกระบวนการสรรหาของพวกตนก็มาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่อยากไม่ตอบโต้กับฝ่ายใดอีกแล้ว อีกทั้งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของการเข้ามาเป็นตุลาการฯพวกตนก็ทำงานพิจารณาและวินัยคดีต่างๆ ด้วยความเป็นกลางและชอบธรรม ไม่เข้าข้างฝ่ายใดเป็นพิเศษ ดังนั้นไม่ว่าใครจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรนั้นตนก็ยังยืนยันที่จะทำหน้าที่ด้วยความถูกต้องต่อไป แบบไม่มีอคติใดๆ ทั้งสิ้น

“ผมทำงานด้วยความเป็นกลางมาโดยตลอดไม่เคยเข้าข้างฝ่ายใด อีกทั้งการสรรหาของพวกเราก็มาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ไม่เคยมีอคติกับใครแต่คนที่ออกมาพูดเช่นนี้ผมมองว่าเป็นคนที่มีอคติมากกว่า”แหล่งข่าว กล่าว

**"สมชัย"ค้านแนวคิดตั้งศาลเลือกตั้ง

นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวถึงแนวคิดของนางสดศรี สัตยธรรม กกต.ที่เสนอให้ยกร่างรัฐธรรมนูญโดยให้มีศาลเลือกตั้ง ว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องมีศาลเลือกตั้ง เพราะจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินโดยใช่เหตุ อีกทั้งหลังการประกาศการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญก็ให้อำนาจกกต.ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาพิจารณาได้อยู่แล้ว รวมทั้งในเรื่องการวินิจฉัยความเป็นสมาชิกภาพของส.ส.และส.ว.ก็สามารถส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้นเรามีศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว คงไม่จำเป็นต้องตั้งศาลเลือกตั้งออกมาแยกให้เหมือนศาลปกครองอีก

ปัญหาที่เป็นอยู่ในขณะนี้คือกกต.มี 5 คน แต่หลายครั้งการทำงานของกกต.ไม่เป็นเอกภาพ การตัดสินวินิจฉัยและการควบคุมการเลือกตั้งยังมีปัญหา โดยเฉพาะการวินิจฉัยในการให้ใบเหลืองและใบแดงก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งกกต.ยังไม่ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเกิดความเลื่อมใสหรือกลัวกกต. เนื่องจากก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง กฎหมายให้อำนาจกกต.ให้ใบเหลืองและใบแดงแก่ผู้สมัครได้ทันทีหากปรากฎหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการไม่สุจริตในการเลือกตั้ง แต่ของเราก่อนประกาศผลในทางปฏิบัติกกต.ต้องมีมติ4ใน5เสียงถึงให้ใบแดงได้ แต่ปรากฎว่ากกต.ส่วนใหญ่กลับยังไม่ให้ใบเหลืองและใบแดงกลับให้สอบพยานเพิ่มเติม ทำให้การทำงานของกกต.เกิดความล่าช้า

"ในประเทศอินเดีย มีกกต.เพียง 1 คน แต่การทำงานของกกต.อินเดียเกิดความเข้มแข็งคุมการเลือกตั้งในการให้ใบเหลืองและใบแดงได้ทั่วประเทศ แต่ของเรากกต.5คนไม่ใช่ไม่เป็นเอกภาพ เพราะถึงเวลาจะมีการเลือกตั้งก็มักจะไปดูงานในต่างประเทศ ทางที่ดีหากเป็นไปได้ก็ควรให้กกต.มีเพียง 1คน ในการจัดเลือกตั้งและวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งต่อไปคนมาเป็นกกต.ต้องเข้มแข็งกว่านี้ที่จะทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม การสรรหาคนมาเป็นกกต.ต่อไป ยังคงสมควรที่จะให้ผู้พิพากษามาเป็นกกต.อยู่ แต่ไม่ต้องให้มีผู้พิพากษามาเป็นทั้ง 5คน ซึ่งกฎหมายอาจให้ผู้พิพากษา 2 คนมาทำหน้าที่กกต.ได้ เพราะการทำงานของกกต.ยังต้องอาศัยความเป็นกลางและการวางตัวของผู้พิพากษาอยู่และรู้ข้อกฎหมายเพื่อให้การวินิจฉัยคดีเกิดความคลาดเคลื่อนจนนำไปสู่การฟ้องร้องได้" นายสมชัย กล่าว

**ยุบศาลปค.ฉุดประเทศถอยหลัง

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ความเห็นส่วนตัว ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เท่าไหร่ เพราะมีวิวัฒนาการไม่มาก แต่ถ้าศาลปกครองอยากให้ทุกคนคิดมากๆ แม้มองว่าเพิ่งก่อตั้งมา 11-12 ปี แล้วเป็นหลักการในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่อันที่จริงแล้วมีวิวัฒนาการมายาวนาน เป็นแนวคิดของอ.ปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รูปแบบของเคาน์ซิลออฟสเตด (Council of State) ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของศาลปกครองมาใช้กับประเทศไทย ท่านตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาขึ้นมาตอนปี 2476 แต่ว่ามีเสียงคัดค้านมากว่าประเทศไทยยังไม่พร้อม คณะกรรมการกฤษฎีกาเลยทำหน้าที่เพียงร่างกฎหมาย จากนั้นก็ยังมีความพยายามหลายครั้งในประวัติศาสตร์ก่อนปี 2500 ที่ต้องการเพิ่มกรรมการวินิจฉัยเรื่องราวร้องทุกข์ให้เป็นรูปธรรม แต่ก็ไม่สำเร็จ

คดีปกครองเป็นการดูแลคดีระหว่างประชาชนกับภาครัฐ ต้องการความชำนาญพิเศษ ต้องการหลักกฎหมายเฉพาะ ในแวดวงวิชาการต่อสู้มาระหว่างความเป็นศาลเดี่ยวกับศาลคู่ คณะกรรมการกฤษฎีกาเพิ่งมามี 2 ขาครบถ้วนคือกรรมการร่างกฎหมาย กับกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ในปี 2522 ยุคที่ ศ.อมร จันทรสมบูรณ์ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ถือว่าเป็นครั้งแรกที่อุบัติศาลปกครองขึ้น โดยยังไม่ใช้ชื่อว่าศาลปกครอง

เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ถ้าทำให้ระบบศาลคู่หรือศาลปกครอง กลับไปเป็นระบบศาลเดี่ยว เป็นเรื่องน่าเศร้า พัฒนาการการต่อสู้ต่างๆที่ให้ได้ศาลนี้มามันจบเลย เพียงเพราะว่านักการเมืองคาใจว่าศาลก้าวล่วงอำนาจบางอย่าง

**ฉะคนเสียประโยชน์จ้องยุบศาล

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญและทิศทางการเสนอแนะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 50 ของผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า เมื่อมีการเสนอให้ยุบ มันก็ต้องดูว่าแล้วจะจัดให้ออกมาในลักษณะไหน และก็เกิดคำถามกับคนที่เสนอให้ยุบว่า มาถึงวันนี้หากจะไม่ให้มีศาลปกครองแล้วเรื่องเหล่านี้จะให้ใครดูแล เพราะเรื่องทางการปกครองมันต้องมีหน่วยงานดูแล ส่วนจะเป็นแผนกหรือไม่ ตนคิดว่าตรงนี้ต้องไปถกเถียงกันว่าปัจจุบันขนาดมีศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองอยู่ทั่วประเทศแต่ยังจะรับทำคดีแทบไม่ทัน

ส่วนเรื่องการตรวจสอบศาลที่หลายคนวิจารณ์ว่าตรวจสอบไม่ได้นั้น ถ้าคิดว่าการใช้อำนาจของศาลมีปัญหาก็ต้องหาวิธีว่าจะแก้ไขอย่างไร ไม่ใช่บอกให้ยุบไปเลย อีกอย่างวันนี้เขาก็ให้อำนาจวุฒิสภาในการถอดถอนตุลาการที่ประพฤติมิชอบอยู่แล้ว จะมาบอกว่าตรวจสอบไม่ได้คงไม่เชิง เช่นเดียวกับกรณีของศาลรัฐธรรมนูญที่บอกว่าคดีน้อย อยากบอกว่าทุกประเทศมีองค์กรที่วินิจฉัยเรื่องรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมี หากจะเปลี่ยนรูปแบบก็ต้องไปถกเถียงกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทยแล้ว บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบางฝ่าย ตนเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญทำตามอำนาจหน้าที่แล้ว

“พวกที่เสียประโยชน์ก็บอกไม่ชอบศาลรัฐธรรมนูญ หาว่าตัดสินไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน แต่เรื่องของการตัดสินในโลกนี้มันไม่มีหรอกที่เป็นเอกฉันท์ มันจะมีเสียงข้างน้อยเสียงข้างมาก ใครได้ประโยชน์ก็บอกว่าดี ใครเสียประโยชน์ก็บอกว่าไม่ดี พอฟังแบบนี้ดูมันไม่ค่อยได้สาระ อีกอย่างการจะแก้มันต้องดูปริมาณงานที่เกี่ยวข้องด้วย การมีศาลต้องเน้นประสิทธิภาพในการทำงาน แต่บ้านเราเอาแต่วิจารณ์แต่เรื่องความเป็นธรรมอย่างเดียว ไม่เคยพูดถึงประสิทธิภาพกันเลย” นายสมบัติ กล่าว

**แฉพท.ปิดประตูตีแมว รวบรัด 15 วัน

นายเทพไท เสนพงศ์ กรรมาธิการฯพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรมนูญมาตรา 291กล่าวถึงกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ได้รับใบสั่งรวบรัดปิดประตูตีแมวให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว มีบางคนเสนอรวบรัดพิจารณารายมาตราตั้งแต่วันแรก หากที่ประชุมเห็นด้วยจะทำให้แก้ไขเสร็จไม่เกิน 15 วัน ทั้งที่สภาให้กรอบเวลาแปรญัตติ 30 วัน จึงเป็นการรวบรัดแบบผิดสังเกต เตือนว่าหากรวบรัดเช่นนี้จะทำให้เกิดการต่อต้านจากนอกสภาได้

ส่วนข้อเสนอของนางสดศรี เสนอให้ยุบ กกต.และให้มีศาลเลือกตั้งนั้น นายเทพไท กล่าวว่าอาจสวนทางกับแนวความคิดของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการให้มีศาลเดียว แต่โดยส่วนตัวเห็นด้วยที่จะให้คดีเลือกตั้งมาจบที่ศาล เพราะที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของ กกต.ก็ถูกตั้งคำถามมากว่าเหตุใดจึงไม่มีการแจกใบแดง ทั้งที่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ซึ่งคนทำหน้าที่ กกต.ต้องไม่หวั่นไหวต่อแรงกดดัน โดยเปรียบเทียบกับ กกต.ชุดแรกที่ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีได้รับการยอมรับจากสังคม ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่โครงสร้างแต่อยู่ที่ตัวบุคคลที่มาทำหน้าที่

**เพื่อไทยย้ำไม่แก้ ม.สถาบัน

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ระบุให้ชัดเจนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จะไม่แตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์กรอิสระ และต้องไม่เอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ส่วนตัวคิดว่านายอภิสิทธิ์ใจร้อนเกินไป เพราะขณะนี้ยังไม่ทราบเลยว่าใครจะมาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) บ้าง และก็ไม่ทราบว่า ส.ส.ร.จะมีความเห็นอย่างไร อีกทั้งหาก ส.ส.ร.มาจากเลือกตั้งย่อมมีแนวคิดเป็นของตัวเอง พรรคการเมืองจะมีสิทธิ์อะไรไปบังคับ แต่หากพรรคเพื่อไทยแก้รัฐธรรมนูญเองโดยไม่ผ่าน ส.ส.ร. นายอภิสิทธิ์จึงจะสามารถเสนอความคิดได้ ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์บอกว่า ให้จับตาการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรืออายุรัฐบาลจะอวสานก่อนกัน ถือเป็นสิทธิ แต่พรรคประชาธิปัตย์จะเตะลูกกินเปล่าคงไม้ได้แล้ว

“ส.ส.ร.ยังไม่ได้เลือก คุณอภิสิทธิ์รู้ได้อย่างไรว่าใครจะมาเป็น และจะยกร่างอย่างไร เราต้องให้เกียรติ ส.ส.ร. ถ้ายกร่างแล้วไม่ดี ประชาชนก็ไม่รับประชามติ พรรคประชาธิปัตย์ตกใจเกินเหตุ คิดอย่างนี้เลือกตั้งเมื่อไรก็แพ้อีก” รองนายกฯ ระบุ

นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส. ยโสธร พรรคเพื่อไทย ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน แต่การแก้ไขในหมวดอื่นเป็นเรื่องของเนื้อหาต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร.

ร้อยโทหญิงสุนิสา เลิศภควัต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ยอมรับมติของรัฐสภาที่มีมติอย่าวนเวียนอยู่กับประเด็นการตีความการแก้ไขมาตรา 291 พร้อมตั้งขอสังเกตว่า ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ถึงหวงแหนรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มาจากการรัฐประหาร

**เติ้งหนุนแก้ ม. 237 เรื่องเดียว

ที่ ร.ร.เปรมประชากร จ.ปทุมธานี นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า อยากให้ยุติการพูดเรื่องมาตรา 112 เชื่อว่ารัฐบาลไม่กล้าเข้าไปแทรกแซงแน่นอน เพราะการร่างรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นอยู่กับ ส.ส.ร.ว่าจะแก้อย่างไร แต่ถ้าถามใจตนนั้นตนต้องการให้มีการแก้ไขมาตรา 237 ว่าด้วยเรื่องการยุบพรรคการเมือง ส่วนมาตราอื่นไม่ต้องการพูดถึง

**ไม่สน ศักดิ์เจียมเสนอหยุดม.112

นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 (ครก.112) กล่าวถึงข้อเสนอของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอให้ครก.112 ยุติการล่ารายชื่อภายหลังนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ถูกทำร้ายว่า นายสมศักดิ์คงหวังดี คงจะไปยุติกลางคันไม่ได้ ยืนยันจะเดินหน้าทำการรณรคงต่อไป โดยในวันที่ 3-4 มี.ค.นี้ ก็จะไปรณรรงค์ที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.ระยอง ยอมรับมีประชาชนผู้ไม่เห็นด้วย รวมถึงมีส.ส.ในพื้นที่ขอร้องไม่ให้ทำกิจกรรมอยู่บ้าง

**ตร.รอผลตรวจบาดแผลวรเจตน์

ส่วนความคืบหน้าของคดีนายสุพจน์ ศิลารัตน์ และนายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ อายุ 30 ปี พี่น้องฝาแฝด ที่ก่อเหตุต่อยนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ บริเวณลานจอดรถภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 29 ก.พ.นั้น

พ.ต.ท.ณฐกร คุ้มทรัพย์ รอง ผกก.สส.สน.ชนะสงคราม กล่าวว่า หลังจากที่ผู้ต้องหาทั้ง 2 คนเข้ามอบตัว ฝ่ายสืบสวนได้เข้าตรวจสอบบ้านพักของผู้ต้องหา ที่บ้านเลขที่ 12/382 หมู่ 4 ต.บึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งพบอาวุธปืนแต่มีทะเบียนถูกต้องทุกกระบอก ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย และไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน แต่ก่อเหตุเนื่องจากความโกรธแค้นส่วนตัว

เบื้องต้นแจ้งข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ เนื่องจากมีหลักฐานจากภาพกล้องวงจรปิดว่า ผู้ต้องหามาดักรอเพื่อทำร้ายนายวรเจตน์ที่มหาวิทยาลัยตั้งแต่ช่วงเช้าก่อนจะลงมือทำร้ายร่างกาย โดยทางตำรวจต้องนำผู้ต้องหาทั้ง 2 คนส่งฟ้องยังศาลแขวงดุสิตให้พิจารณาโทษ เนื่องจากเป็นคดีอาญา แต่ต้องรอผลการตรวจทางการแพทย์เกี่ยวกับอาการบาดเจ็บของนายวรเจตน์ไปประกอบด้วย

ทั้งนี้ นายวรเจตน์จะเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยา ในวันนี้ (3 มี.ค.) เพื่อให้แพทย์ตรวจอาการอย่างละเอียดอีกครั้ง พร้อมทั้งขอใบผลการตรวจจากแพทย์ เพื่อนำมาเป็นหลักฐานประกอบสำนวนคดี เพื่อพิจารณาว่าได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือไม่ ซึ่งถ้าหากผลตรวจระบุว่าบาดเจ็บสาหัสต้องแจ้งข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ซึ่งมีโทษจำคุก 6 เดือนถึง 10 ปี ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาอีก 1-2 วัน ถึงทราบผลตรวจ ส่วนผู้ต้องหาทั้งสองไม่จำเป็นต้องเรียกมาสอบปากคำเพิ่มเติม เนื่องจากให้การรับสารภาพหมดแล้ว รวมทั้งไม่ต้องสอบพยานเพิ่มเติมแต่อย่างใด

**นักวิชาการเชื่อรับงานมาชก

ผศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า คนแบบนี้มาชกนายวรเจตน์ ตนคิดว่าผิดปกติประเด็นที่บอกว่าชกเพราะความคิดเห็นต่าง อันนั้นตัดออก ตนว่าไม่จริง ลักษณะของปรากฎการณ์อันนี้ไม่ได้เห็นต่าง แต่มาจากสาเหตุอื่น อาจถูกจ้างวานมา โดยผู้ก่อเหตุอยู่ในปทุมธานี ซึ่งเป็นถิ่นของเสื้อแดง ก็มีความเป็นไปได้ที่เสื้อแดงบางส่วน อาจไปว่าจ้างเพื่อเลี้ยงกระแสมาตรา 112 ที่เริ่มแผ่วไปแล้ว อีกด้านหนึ่งก็ปูทางสร้างความชอบธรรมที่อาจทำให้เกิดปรากฎกาณ์แบบนี้ในกลุ่มนักวิชาการอื่นๆ ที่อยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายนายวรเจตน์ก็ได้ อีกกรณีอาจเป็นคนฝ่ายขวา ที่ไม่พอใจนายเวรเจตน์ในการเสนอแก้มาตรา 112 ก็เลยจ้างมาสั่งสอน

อย่างไรก็ตาม ปฏิกริยาที่เกิดขึ้น นายวรเจตน์กลายเป็นฮีโร่ของเสื้อแดง ส่วนผู้ก่อเหตุกลายเป็นฮีโร่ของคนที่ไม่ชอบนายวรเจตน์ เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ดี

**เพื่อไทยแถลงการณ์ประณาม

ด้าน นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส. ยโสธร พรรคเพื่อไทย ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย อ่านแถลงการณ์ประณามว่า การที่มีการใช้ความรุนแรงอย่างนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยที่เจริญแล้ว ขอประฌามในเรื่องนี้ และหวังว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะพิจารณาดำเนินคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญาอย่างเคร่งครัดต่อไป

"อยากฝากให้พี่น้องทุกคนว่าการมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นเรื่องที่ดี งดงามในระบอบประชาธิปไตย เมื่อเรามีความคิดต่างกันอย่างไร ขอให้แสดงออกมาอย่างสันติ พูดกันด้วยเหตุด้วยผล สุดท้ายถ้าจำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง สังคมจะต้องมีการตัดสินโดยการลงประชามติตามองค์กรที่เกี่ยวข้อง เมื่อความเห็นส่วนใหญ่เห็นอย่างไรก็ต้องดำเนินการตามไปตามนั้น แต่ทั้งนี้เสียงส่วนใหญ่เองก็ยังต้องให้ความเคารพต่อเสียงส่วนน้อย ซึ่งวันหนึ่งข้างหน้าเสียงส่วนน้อยอาจได้รับความเห็นชอบมากขึ้นและอาจเป็นความเห็นส่วนใหญ่ได้ในเวลาต่อไป"

นอกจากนี้ หวังว่ากรณีที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่เป็นแบบอย่างที่มีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นในที่ไหนที่ใด อีกทั้งขอให้ทุกคนช่วยกันระมัดระวังเรื่องนี้ อาจมีบางบุคคลนำพฤติกรรมแบบนี้ สร้างความสนใจ และเกิดขึ้นหลายแห่ง ซึ่งนำไปสู่ความวุ่นวายต่อไป

**เหลิมไม่เชื่อทหารเบื้องหลัง

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีบุคคลทำร้ายร่างกาย นายวรเจตน์ มีความเชื่อมโยงกับอดีตนายทหารคนหนึ่ง ว่า ไม่เป็นความจริง ไม่ได้มีส่วนเชื่อมโยงใดๆ เป็นเพียงความคิดเห็นของ 2 ผู้ต้องหาดังกล่าวเท่านั้น และทราบว่า 2 ผู้ต้องหานี้เคยเคลื่อนไหวแสดงความไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนิติราษฎร์มาก่อน เป็นความติดของเขาไม่เกี่ยวกับเรื่องอื่น และไม่มีการเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองใดๆด้วย

**มาร์ควอนรบ.เลิกสร้างเงื่อนไข

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทางสถานีโทรทัศน์บลูสกายแชนแนล ว่า ค่อนข้างชัดว่าเกี่ยวกับเรื่อง ม.112 ดังนั้นเราต้องช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ของบ้านเมือง อย่าให้ประเด็นเหล่านี้กลายเป็นประเด็นที่นำไปสู่ความรุนแรง ตนรู้สึกกังวลจนกว่าที่จะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญโดยตัดประเด็นจุดของความขัดแย้งในสังคมออกไป 3 ประเด็นอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์เคยระบุทั้งนี้อย่าไปพูดเรื่องคำมั่นสัญญา เพียงแต่ให้เขียนลงไปในกฎหมายนั้นดีที่สุด เพราะจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.สา.นครศรีธรรมราช ปชป. กล่าวว่า อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดลัทธิเลียนแบบก่อความรุนแรง ในการชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ

**นปช.ชี้ต่อย วรเจตน์ ป่าเถื่อน

ที่ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าว นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) กล่าวว่า เป็นการแสดงออกของอันธพาล ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ถ้าไม่เห็นด้วยประเด็นใด ควรพูดคุยอย่างมีอารยะ ไม่ควรใช้ความรุนแรง ถือเป็นการกระทำป่าเถื่อนอย่างยิ่ง

ส่วนปฏิญญาหาดใหญ่ 8 ข้อที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศออกมานั้น เป็นเรื่องสูงส่ง คนที่เขียน ไม่ควรเขียนให้ประชาชนเป็นศัตรู ท่าทีของประชาธิปัตย์ และกลุ่มจารีตนิยมสุดโต่ง ที่พยายามก่อเรื่องความไม่สงบ หยิบยกประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่โต เป็นชนวนความขัดแย้ง โดยเฉพาะ กลุ่มสยามสามัคคี น่าจะเปลี่ยนชื่อเป็น "สยามสามัคคีเพศ" มากกว่า

**ชงงบ 2 พันลบ.เยียวยาแดง 102 ราย

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวีระวงศ์ จิตรมิตรภาพ โฆษกคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ อิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) เปิดเผยว่า จะเสนอครม.กรอบงบประมาณและหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงิน เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปลายปี 2548-2553 งบประมาณ 2 พันล้านบาทวันที่ 6 มี.ค.นี้ เบื้องต้นจะได้รับการชดเชย 102 ราย อาจจะต้องถูกปรับลดวงเงินที่จะได้รับ 7.75 ล้านบาทต่อราย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ไปมอบเงินเยียวยาให้กับครอบครัวช่างภาพญี่ปุ่น ที่เสียชีวิตบริเวณสี่แยกคอกวัว ด้วยตัวเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น