xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ค้านฉีก รธน.หวั่นหมวดกษัตริย์-รูปแบบรัฐถูกเปลี่ยน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา (ภาพจากแฟ้ม)
“ส.ว.คำนูณ” อภิปรายคัดค้านฉีก รธน.หวั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรูปแบบของรัฐถูกเปลี่ยน มั่นใจได้อย่างไร ว่า ส.ส.ร.จะไม่แก้มาตรา 8-บทบัญญัติองคมนตรี-กฎมณเฑียรบาล ชี้ ไม่ใช่เวลาที่จะมาพิจารณาเปลี่ยนแปลง ภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งของมวลชน

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังการอภิปรายโดย "นายคำนูณ สิทธิสมาน"  

วันนี้ (24 ก.พ.) เมื่อเวลา 16.20 น.ที่ผ่านมา นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้อภิปรายคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรรมนูญในที่ประชุมรัฐสภา หลังจากนั้น ได้โพสต์เนื้อหาคำอภิปรายในเฟซบุ๊ก หัวข้อ“คำอภิปรายคัดค้านการฉีกรัฐธรรมนูญ 2550” ระบุว่า โดยหลักการ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขแบบ “ยกเลิก” รัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับแล้วเขียนใหม่โดยไม่มีกรอบ ด้วยเหตุผลสำคัญที่สุด คือ ไม่ตอบโจทย์ของบ้านเมือง ไม่นำไปสู่ความปรองดอง และไม่นำไปสู่ความสงบสุข การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดย “ไม่มีการกำหนดกรอบ” นี่แหละคือ รูปธรรมของการไม่ตอบโจทย์ของบ้านเมือง เพราะนอกจากจะไม่นำไปสู่ความปรองดอง และไม่นำไปสู่ความสงบสุขแล้ว ยังมีโอกาสจะนำไปสู่ความขัดแย้งใหญ่ด้วย และหากเกิดการณ์เช่นนั้นขึ้น ร่างรัฐธรรมนูญก็หลุดลอยจากจากรัฐสภาไปแล้ว แก้ไขไม่ได้

ประเด็นสำคัญที่สุดเห็นจะเป็นประเด็นข้อเป็นห่วงเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ” หรือพูดให้เป็นรูปธรรม คือเนื้อหาในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 8-25 แต่ผมขอเพิ่มเติมว่าต้องรวมหมวด 1 บททั่วไป มาตรา 1-7 ด้วย รัฐบาลบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาลบัญญัติป้องกันไว้แล้วในหลักการและเหตุผลว่า “ทั้งนี้ โดยยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ตลอดไป” และยังเป็นข้อห้ามในมาตรา 291/11 วรรคห้า “ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประขาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะกระทำมิได้” โดยในมาตรา 291/11 วรรคหกกำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัย

แต่ผมเห็นว่าแค่นี้ไม่พอ เพราะระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีมาตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชอำนาจ นิติประเพณี มีหลายรูปแบบ ได้แก่ 1.ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475, 2.ตั้งแต่รัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ถึงก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490, 3.หลังปี 2490 และหลังปี 2500 และ 4.ตามข้อเสนอของนักวิชาการบางคนบางกลุ่ม รวมทั้งคณะนิติราษฎร์

ทั้งหมดต่างล้วนกล่าวอ้างว่าเป็นไปตามหลักการ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ทั้งสิ้น และยังคงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั้งสิ้น แต่รูปแบบ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ทั้งเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ นิติประเพณี และประเพณีต่างๆ ที่คนรุ่นเราคุ้นชิน ตามเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ก็เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 ทุกตัวอักษร ดำรงอยู่มายาวนานไม่ต่ำกว่า 50 ปีแล้ว

• จะแน่ใจอย่างไรว่าสภาร่างฯท่านจะคงหลักการมาตรา 8 ที่มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 หรือจะยกเลิก แล้วไปเขียนตามแบบมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475

• จะแน่ใจอย่างไรว่าสภาร่างฯท่านจะคงบทบัญญัติว่าด้วยคณะองคมนตรีที่มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2492 ไว้

• จะแน่ใจอย่างไรว่าสภาร่างฯท่านจะคงบทบัญญัติว่าด้วยพระราชอำนาจในประเด็นการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ รวมทั้งการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีต่างๆ ไว้ดังเดิมทุกประการ

• จะแน่ใจได้อย่างไรว่าสภาร่างฯท่านจะไม่บัญญัติเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญใหม่ว่า “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” อันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญเดิมว่าด้วยศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 อย่างชาญฉลาดแล้วว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก” ฯลฯ

ร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับไม่ได้มีข้อความใดบอกไว้เลยว่าให้คงบทบัญญัติในหมวด 1 และ 2 มาตรา 1-25 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเหมือนกับ 2540 ทุกตัวอักษร และเหมือนโดยสาระสำคัญกับรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ก่อนหน้าตั้งแต่หลังปี 2500 เป็นต้นมา แถมในมาตรา 291/11 วรรคสอง ยังระบุไว้อีกว่า “...สภาร่างรัฐธรรมนูญอาจนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งที่เห็นว่ามีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาเป็นต้นแบบในการยกร่างก็ได้” อะไรคือความหมายของคำ "ประชาธิปไตยสูง" พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475 มีความเป็นประขาธิปไตยสูงหรือไม่ ?? การไม่มีคณะองคมนตรีเหมือนก่อนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 เป็นประชาธิปไตยสูงหรือไม่ ???

สภาร่างฯ เป็นผู้พิจารณาครับ -- ไม่ใช่รัฐสภา - ไม่ใช่รัฐบาล ผมไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่รัฐบาลและเพื่อนสมาชิกผู้เสนอร่างฯ ท่านรู้ได้ยังไงว่าจะไม่เกิดขึ้น ท่านรับประกันได้อย่างไร ไม่ได้ยืนยันตายตัวว่าเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย สรรพสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งนั้นตามยุคสมัย ไม่ขอกล่าวหาว่าหลักการอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกท่านคงเห็นพ้องต้องกันว่ายังไม่ใช่เวลาที่จะมาพิจารณาว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร เพราะในการพิจารณาว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ครั้งนี้ หากเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศการเคลื่อนไหวมวลชนที่มีความเห็นต่างกัน โดยถือกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของสภาร่างฯ ฐานในการเคลื่อนไหวมวลชน เพื่อรักษามวลชน ขยายมวลชน อะไรจะเกิดขึ้น ? คงไม่ใช่ความปรองดองเป็นแน่ !

จริงอยู่ มีข้อห้ามในมาตรา 291/11 วรรคห้า และทางแก้ไขในมาตรา 291/11 วรรคหก “ในกรณีที่รัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะตามวรรคห้า ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป” แต่การไปให้อำนาจวินิจฉัยเรื่องสำคัญอย่างนี้ไว้กับประธานรัฐสภาคนเดียวในมาตรา 291/13 วรรคสอง “เมื่อประธานรัฐสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว หากเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นมิได้มีลักษณะตามมาตรา 291/11 วรรคห้าที่ต้องเสนอรัฐสภาวินิจฉัย” ยังไม่รัดกุมเพียงพอ ประธานรัฐสภาต้องรับภาระหนักเกินไป ในขณะที่สมาชิกรัฐสภาไม่มีสิทธิเลย ความในมาตรา 291/11 วรรคหก ลอกมาจากรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 211 ปี 2539 แต่ลอกมาไม่หมด ตกในสาระสำคัญ รัฐธรรมนูญ 211 กระบวนการขั้นสุดท้ายไม่หลุดลอยจากรัฐสภาครับ รัฐสภาต้องลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากสภาร่างฯ โดยแก้ไขไม่ได้ ถ้าจะให้รอบคอบรัดกุมจริงๆ ก่อนนำไปลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสภาร่างฯ จะต้องกลับมาผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ผมไม่เห็นด้วยครับ แต่หากผ่านวาระ 1 ก็ต้องขอแก้ไขประเด็นสำคัญที่สุดนี้ให้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น