xs
xsm
sm
md
lg

เอื้อ"รัฐไทยใหม่"“คำนูณ”ไม่ไว้ใจแตะหมวดกษัตริย์ชี้รธน.ใหม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-เอื้อ"รัฐไทยใหม่"“คำนูณ” ไม่ไว้ใจหวั่นแก้ รธน.ลักไก่แตะหมวดกษัตริย์ เสนอเขียนให้ชัด ไม่แก้ ม.1-25 “หมอเจตน์” เชื่อ พท.รื้อองค์กรอิสระ-ตุลาการ แน่! มาร์คเชื่อร่าง 3 ฉบับเป็นปมขัดแย้ง “ภาคปชช.” เล็งยื่นถอดส.ส.-ส.ว.ที่รับร่าง

ที่รัฐสภา ตั้งแต่เวลา 09.10 น. วานนี้(24 ก.พ.55) ได้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พ.ศ. .... เป็นวันที่ 2 ต่อจากวานนี้ โดยมีการพิจารณาพร้อมกันจำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างของคณะรัฐมนตรี ร่างของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล และร่างของพรรคชาติไทยพัฒนา
 

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขในปัจจุบัน คือ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับแล้วเขียนใหม่ และที่สำคัญคือเป็นการเขียนใหม่โดยปราศจากกรอบ ด้วยเหตุผลสำคัญที่สุดคือ เป็นการไม่ตอบโจทย์ของประเทศไทยในปัจจบัน ไม่นำไปสู่ความปรองดอง และไม่นำไปสู่ความสงบสุข เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญโดยไม่มีการกำหนดกรอบไว้ ยังมีความเป็นไปได้มากว่า จะนำไปสู่ความขัดแย้งใหญ่อีกครั้ง หากเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นจริง ตามร่างที่พิจารณาอยู่นี้ 2 ใน 3 ฉบับ คือ ร่างของรัฐบาลและร่างพรรคเพื่อไทย จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านกระบวนของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะหลุดลอยออกจากรัฐสภา โดยไม่มีโอกาสแก้ไขสถานกาณ์ในขณะนั้น คงมีร่างของชาติไทยพัฒนาเพียงร่างเดียวที่กำหนดให้ร่างของ ส.ส.ร.กลับมาสู่การพิจารณาอนุมัติหรือไม่ โดยแก้ไขไม่ได้ของรัฐสภาครั้งหนึ่งก่อน

ประเด็นสำคัญตลอดสองวันที่ผ่านมาคือ หลายคนเป็นห่วง โดยเฉพาะ ส.ว. ห่วงเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐว่าอาจจะเกิดขึ้น โดยมีความ

งามเป็นห่วงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 8-25 แต่ตนเห็นว่าควรต้องรวมหมวด 1 บททั่วไป มาตรา 1-7 เข้าไปด้วย โดยแม้ว่ารัฐบาลจะชี้แจงว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาลได้ป้องกันไว้แล้วทั้งในหลักการและเหตุผลที่เขียนไว้ว่า ทั้งนี้จะยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ตลอดไป และเป็นข้อห้ามในมาตรา 291/11 วรรค 5 ที่บอกว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเปลี่ยนแปลงการปกครองหรื อรูปของรัฐจะกระทำมิได้ โดยในมาตรา 291/11 วรรค 6 กำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัย แต่ตนเห็นว่าแค่เท่านี้ไม่เพียงพอ เพราะคำว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีมาตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.2475 แต่สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชอำนาจ นิติประเพณี มีหลายรูปแบบตามบริบทของสถานการณ์บ้านเมืองขณะนั้น

มีทั้งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว 27 มิ.ย.2475 หรือรัฐธรรมนูญ ฉบับวันที่ 10 ธ.ค.2475 ไปจนถึงก่อนการรัฐประหาร 8 พ.ย.2490 มีทั้งหลังปี 2490 และปี 2500 ตลอดจนข้อเสนอขงนักวิชาการบางคนบางกลุ่ม รวมทั้งคณะนิติราษฎร์ด้วย ทั้งหมดที่กล่าวอ้างมานั้นล้วนแล้วแต่เป็นไปตามหลักการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั้งสิ้น แต่ว่ารูปแบบนั้นทั้งเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ นิติประเพณี และประเพณีต่างๆที่คุ้นชินกันนั้นส่วนใหญ่จะเป็นไปตามเนื้อหาของหมวด 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เหมือนฉบับปี 2540 ทุกตัวอักษร และดำรงอยู่มายาวนานไม่ต่ำกว่า 50 ปีแล้ว

“เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ส.ส.ร.จะคงหลักการตามมาตรา 8 ที่มีมาตั้งแต่ปี 2475 หรือว่าจะยกเลิกและไปเขียนตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว 27 มิ.ย.2475 หรือจะแน่ใจได้อย่างไรว่าบทบัญญัติที่ว่าด้วยองคมนตรี ที่เพิ่งมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูย 2492 หรือจะยังคงบทบัญญัติที่ว่าด้วยพระราชอำนาจ ในประเด็นการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ รวมทั้งการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนในกรณีต่างๆไว้ดั้งเดิมทุกประการ” นายคำนูณ ระบุ

ทั้งนี้ จะสามารถแน่ใจได้อย่างไรว่า ส.ส.ร.จะไม่บัญญัติเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญใหม่ว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ อันจะเป็นการเปลี่ยนหลักการสำคัญเดิมว่าด้วย ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 อย่างชาญฉลาดแล้วว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก สิ่งที่น่าเป็นห่วงเพราะร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับไม่ได้มีข้อความใดเลยที่ระบุไว้ว่า ให้คงบทบัญญัติในหมวด 1 และ 2 มาตรา 1-25 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เหมือนกับฉบับอื่นๆเอาไว้ แถมในมาตรา 291/11 วรรค 2 ยังระบุอีกว่า ส.ส.ร.อาจนำรัฐธรรมนูฉบับใดฉบับหนึ่งที่เห็นว่ามีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาเป็นต้นแบบในการยกร่างก็ได้

“อะไรคือความหมายของคำว่าประชาธิปไตยสูง พ.ร.บ.ธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว 27 มิ.ย.2475 หรือการไม่มีองคมนตรีเหมือนรัฐธรรมนูญก่อนปี 2492 จะเข้าข่ายหรือไม่ ส.ส.ร.จะเป็นผู้พิจารณา ไม่ใช่รัฐบาล และไม่ใช่รัฐสภาแห่งนี้ ผมจึงไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่รัฐบาลและผู้เสนอร่างรู้ได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดขึ้น รับประกันได้อย่างไร” นายคำนูณ กล่าว

ตนไม่ได้ยืนยันว่าในหมวด 1 และ 2 จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เพราะยอมรับว่าสรรพสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย โดยไม่ขอกล่าวหาว่าหลักการอื่นนอกจากที่เขียนไว้ในหมวด 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จะไม่เป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย แต่หากพูดกันตรงไปตรงมาต้องบอกว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่สมควรที่จะเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในหมวด 1 และ 2 เพราะในการพิจารณาว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ครั้งนี้ หากเกิดขึ้นก็จะอยู่ภายใต้บรรยากาศการเคลื่อนไหวมวลชนที่มีความเห็นต่างกัน โดยถือเอากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.เป็นฐานในการเคลื่อนไหว เพื่อรักษาและขยายมวลชนของทุกกลุ่ม สิ่งที่เกิดขึ้นคงไม่ใช่ความปรองดองอย่างแน่นอน แม้จะมีข้อห้ามในมากตรา 291/11 วรรค 5 และทางแก้ไขที่ระบุไว้ในวรรค 6 ที่ให้รัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัย แต่การให้อำนาจวินิจฉัยเรื่องสำคัญนี้ไว้กับประธานรัฐสภาเพียงผู้เดียวในมาตรา 291/13 วรรค 2 ถือว่าเป็นการโยนภาระหนักอึ้งให้กับประธานรัฐสภา ในขณะที่สมาชิกรัฐสภาไม่มีโอกาสร่วมพิจารณาด้วย

ความในมาตรา 291/11 วรรค 6 ก็ลอกมาจากมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2539 แต่คัดมาไม่หมด ตกในสาระสำคัญที่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดที่ร่างมาจะต้องผ่านเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาก่อน ดังนั้นถ้าจะให้รอบคอบยรัดกุมก่อนนำไปทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่าน ส.ส.ร.ต้องกลับมาให้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน

แม้ว่าตนจะลงมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขครั้งนี้ แต่เนื่องจากว่ามีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐสภาต้องลงมติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้น ตนจึงขอเสนอว่าหาก รัฐสภาผ่านหลักการในวาระที่ 1 จำเป็นต้องมีการแก้ไขใน 2 ประเด็น คือ ปรับแก้มาตรา 291/11 วรรค 5 ให้เกิดความชัดเจรนว่าไม่ให้มีการแก้ไขความในหมวด 1 และ 2 มาตรา 1-25 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เด็ดขาด และก่อนนำไปลงประชามติเห็นควรให้นำกลับพิจารณาลงมติเห็นชอบโดยรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง

**เจตน์เชื่อรื้อองค์กรอิสระ-ตุลาการ
 

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ร่างฉบับพรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาที่ระบุถึงกระบวนการที่ได้มาซึ่งองค์กรใช้อำนาจอธิปไตย และคนในองค์กรอิสระขาดความเชื่อมโยงอำนาจของประชาชน ขัดหลักประชาธิปไตย ขาดการถ่วงดุลอำนาจ ก่อให้เกิดความเสียหายเรื่องความยุติธรรม และเกิดการเลือกปฏิบัติ จึงเชื่อเช่นเดียวกับหลายคนว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระและองค์กรตุลาการอย่างแน่นอน

“ร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับนี้ เป็นการเขียนล้อมาจากมาตรา 211 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 เพื่อให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ บรรยากาศช่วงดังกล่าวต่างกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เนื่องจากสมัยปี 2534 ประชานต้องการปฎิรูปทางการเมือง และไม่มีใครส่งฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ แต่กรณีที่ไม่มีใครส่งตีความไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ในครั้งนี้ ส.ส.ผู้สนับสนุนร่างแก้ไขอาจเสี่ยงต่อการถูกถอดถอนตามมาตรา 270 ได้” นพ.เจตน์ ระบุ

นายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า เห็นควรปรับปรุงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากมีหลักการขัดกับกติการะหว่างประเทศ ที่กำหนดให้ผู้ถูกพิพากษามีสิทธิได้รับการต่อสู้คดีในศาลที่สูงกว่า แต่นี่ไม่ใช่เพราะของเราเป็นระบบตัดสินแบบศาลเดียว ส่งผลให้ไทยมีปัญหาเกี่ยวกับการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แม้ว่าในรัฐธรรมนูญ 2550 จะกำหนดให้สามารถยื่นอุทธรณ์ได้หากมีหลักฐานใหม่โดยให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณา แต่ก็ยังมีคำถามว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาถือเป็นศาลสูงกว่าในความหมายตามกติการะหว่างประเทศดังกล่าวหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จะมีการลงมติทันที โดยจะใช้วิธีการลงคะแนนรวดเดียว 3 ร่าง แบบรายบุคคล และจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 45 คน แบ่งเป็นวุฒิสภา 10 คน พรรคเพื่อไทย 19 คน พรรคประชาธิปัตย์ 11 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชล พรรคละ 1 คน

**มาร์คเชื่อร่าง 3 ฉบับเป็นปมขัดแย้ง
 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวเป็นห่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต เพราะการแก้ไขหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ เป็นอำนาจของ ส.ส.ร. และตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการแก้ไขเพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้เดินทางกลับประเทศ

**“โคทม”แนะเงื่อนไขเลือกตั้งส.ส.ร.
 

นายโคทม อารียา อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอที่มาของส.ส.ร. เช่น ควรเพิ่มส.ส.ร. ตามสัดส่วนประชากรในพื้นที่ โดยให้จำนวน ส.ส.ร. อยู่ที่ 150-200 คน เปิดโอกาสผู้ที่ไม่มีคะแนนจัดตั้งสามารถเข้ามาเป็น ส.ส.ร.โดยไม่ต้องอิงพรรคการเมือง กำหนดเงื่อนไขว่า ห้ามมีการหาเสียง ให้ใช้การแนะนำตัวได้เพียงอย่างเดียว และหากใครได้เป็น ส.ส.ร. ห้ามลงสมัคร ส.ส. และ ส.ว.ภายในเวลา 5 ปี

**ปชช.เล็งยื่นถอดส.ส.-ส.ว.ที่รับร่าง

มีรายงานว่า ภาคประชาชนกลุ่มหนึ่ง เตรียมไปขอรายชื่อต่อรัฐสภา ว่ามีสมาชิกรัฐสภาคนใดบ้างที่ลงชื่อรับร่างมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ที่อาจเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 291 ที่ให้อำนาจสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้วทั้ง 308 มาตรา แต่สมาชิกรัฐสภาดันโอนอำนาจดังกล่าวไปให้ส.ส.ร.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะรวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวน 20,000 รายชื่อ เพื่อไปยื่นถอดถอน.
กำลังโหลดความคิดเห็น