xs
xsm
sm
md
lg

อำมาตยากับประชาธิปไตยสีแดง

เผยแพร่:   โดย: วิทยา วชิระอังกูร


สังคมไทยที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบการเมืองที่เป็นกลไกขับเคลื่อนสังคมไทยทั้งระบบ คนจนระดับรากหญ้าที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่มีอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจเสรีแบบไทยๆ จึงตกเป็นเบี้ยล่างต้องพึ่งพิงคนมีอำนาจทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่า ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ที่หยั่งรากลึก เป็นฐานในการแสวงหาอำนาจทางการเมือง และแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อันเป็นบ่อเกิดของระบบทุนครอบงำระบบการเมือง กลายเป็นธุรกิจผูกขาดทางการเมือง ที่นับวันจะปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการฉ้อฉลเลวร้ายยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

การเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา เข็มที่มุ่งไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอัน “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย” (พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475) หรือ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญต่อๆ กันมาถึงปัจจุบัน ไม่เคยบรรลุจุดมุ่งหมาย และการปกครองที่ผ่านมาทั้งระบบตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ ยังไม่เคยเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงเลย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลคณะใดๆ

จาก พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน เป็นแค่การผลัดเปลี่ยนกันเข้ามายึดกุมอำนาจรัฐของบรรดาชนชั้นที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่า เริ่มจากขุนนาง ขุนศึก จนแปรเปลี่ยนมาเป็นชนชั้นกลางและนายทุน ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจทางการเมืองอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยใช้คนจนระดับรากหญ้าเป็นฐานเสียงในการเลือกตั้ง ที่นับวันจะใช้เงินทุนมหาศาลบวกกับนโยบายประชานิยมบนฟองสบู่ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขาดแคลนทุกข์ยากของประชาชนที่เสียเปรียบทางสถานะเศรษฐกิจได้อย่างตรงจุดตามที่ควรจะเป็น

ข้อถกเถียงที่เป็นปัญหาขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบัน ระหว่างฝ่ายทักษิณ ชินวัตรที่มีกลุ่มคนเสื้อแดงและนักวิชาการนิยมแดงเป็นฐาน กับฝ่ายที่ต่อต้านไม่เอาระบอบทักษิณ ก็คือ ฝ่ายคนเสื้อแดง อ้างว่าฝ่ายตนต่อสู้เพื่อแสวงหาประชาธิปไตย และปัญหาที่ขัดขวางการไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย ก็เพราะฝ่ายอำมาตย์หวงแหนอำนาจ โดยกล่าวอ้างตลอดเวลาว่า อำนาจรัฐที่แท้จริงยังอยู่ในระบอบอำมาตยาธิปไตย อำมาตย์จึงเป็นปัญหาของบ้านเมือง ครอบงำและขัดขวางการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายการเมือง ที่เข้ามาตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งนับวันพฤติกรรมการดำเนินการของฝ่ายคนเสื้อแดง ได้เปิดเผยเป้าประสงค์ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า อำมาตย์ในความหมายของฝ่ายคนเสื้อแดงที่ต้องโค่นล้มลงให้ได้ ก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง หลักฐานที่ปรากฏชัดคือความคิดความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ ของธิดาแดงกับหมอเหวง โตจิราการ ที่เป็นทั้งแกนนำสำคัญของคนเสื้อแดง และเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อสังกัดพรรคเพื่อไทยด้วย ร่วมกับกลุ่มนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และนักวิชาการเสื้อแดง นำเสนอแนวคิดต่อสาธารณะดังนี้

1. ยกเลิกกฏหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 8

2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

3. ยกเลิกองคมนตรี

4. ยกเลิก พ.ร.บ.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2491

5. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ การศึกษาด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันทั้งหมด

6. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองทั้งหมด

7. ยกเลิกพระราชอำนาจในเรื่องโครงการหลวงทั้งหมด

8. ยกเลิกการบริจาค/การรับบริจาค โดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด

9. ห้ามกษัตริย์ มีพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ

10. กษัตริย์ต้องสาบานตนต่อรัฐสภาก่อนรับตำแหน่ง

กรณีของคณะนิติราษฎร์ก็เช่นเดียวกัน ในระยะแรก นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมทั้งแกนนำเสื้อแดงต่างๆ ทั้งที่เป็น ส.ส.และไม่ได้เป็น ต่างก็ดาหน้าออกมาสนับสนุนข้อเสนอที่ให้ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 2549 และการแก้ไขมาตรา 112 อย่างเชื่อมโยงสอดคล้องกัน ปรากฏหลักฐานทางบทสัมภาษณ์ทางสื่อและคลิปวิดีโอรายการสนทนาทางเอเชีย อัพเดท ตลอดจนบนเวทีคอนเสิร์ตคนเสื้อแดงในที่ต่างๆ ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด

จนกระทั่งคณะนิติราษฎร์ถูกกระแสสังคมออกมาต่อต้านถล่มทลายนั่นดอก จึงกลับลำออกมาปฏิเสธกันยกใหญ่ว่า รัฐบาลไม่เห็นด้วยและไม่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งทำให้นักวิชาการฝ่ายคณะนิติราษฎร์ออกอาการน้อยใจเขียนบทความตัดพ้อกระแหนะกระแหนพรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดงว่าไม่จริงใจ

ต่อข้อถกเถียงในเรื่องประชาธิปไตยและปัญหาทางการเมือง ฝ่ายนักวิชาการเสื้อแดงยืนยันว่า ต่อให้ระบบการเลือกตั้งจะซื้อสิทธิขายเสียงหรือเลวร้ายอย่างไร ก็ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมีกำหนดเวลาอยู่ในอำนาจแน่นอน ไม่ใช่มีอำนาจตลอดชีพ รัฐบาลไม่ดีก็เลือกกันใหม่ อย่างน้อยก็เป็นสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกผู้ปกครองได้ อย่างน้อยก็เป็นระบอบที่จับต้องได้ดีกว่าระบอบราชาธิปไตย

นักวิชาการนิยมแดงไม่เคยมีข้อเสนอว่า เพื่อให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยจริงๆ จะต้องเกิดจากการเลือกตั้งที่ประชาชนมีสิทธิเสรีในการเลือกที่ถูกต้องซื่อตรงอย่างไร? จะจัดระบบและวิธีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม เฉกเช่นนานาอารยประเทศอย่างไร? และไม่เคยใส่ใจว่า นายทุนและระบอบทุนจะเข้ามาครอบงำใช้อำนาจรัฐในการบริหารจัดการบ้านเมืองอย่างฉ้อฉลอย่างไร? การนิยมระบอบประชาธิปไตยของนักวิชาการนิยมแดง จึงเสมือนหนึ่งจะยึดถือแต่รูปแบบ โดยไม่คำนึงถึงเนื้อหาเลยใช่หรือไม่? 

เหมือนการตั้งเป้าจะแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยหยิบยกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ดีกว่าปี 2550 เพียงเพราะรังเกียจว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 มาจากการรัฐประหาร โดยไม่พิจารณาถึงเนื้อหาว่าแท้ที่จริงปี 2550 ก็ใช้ปี 2540 เป็นต้นแบบในการนำมาแก้ไขปรับปรุง และข้อแตกต่างก็คือ รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ลดทอนอำนาจฝ่ายการเมืองลง แต่เพิ่มอำนาจให้ฝ่ายประชาชนมากขึ้น ซึ่งก็น่าจะสมเจตนารมณ์ของคนที่นิยมหลักประชาธิปไตย ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยมิใช่หรือ?

ตกลงฝ่ายคนเสื้อแดงเขานิยามการปกครองระบอบประชาธิปไตยกันอย่างไร? และที่โหยหากันนักกันหนานั่นคือ ประชาธิปไตยแบบไหนกันแน่?
กำลังโหลดความคิดเห็น