“คำนูณ” เผยฝ่ายค้าน-ส.ว.ค้านแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร เสียงก็แพ้รัฐบาลอยู่ดี เชื่อเพิ่มความขัดแย้งให้สังคมในหลายรูปแบบ ทั้งเสื้อแดงและฝ่ายต่อต้านต้องออกมาเคลื่อนไหวแน่นอน แนะจากนี้ไปจับตา ส.ส.ร. รวมถึงการทำงานของรัฐบาล ที่จ่อเข็นเมกะโปรเจกต์ออกมาอีกเพียบ
วันที่ 23 ก.พ. เมื่อเวลา 20.30 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้โทรศัพท์เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV โดยกล่าวว่า มันไม่ใช่การแก้ แต่เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ เป็นการทำรัฐประหารที่ใช้เสียงข้างมากในสภา ปกติการแก้ไขสามารถทำได้ มาตรา 291 ก็ระบุหนทางไว้ คือ แก้โดย ครม. ส.ส.-ส.ว. และประชาชนยื่น เป็นการแก้ไขเป็นมาตราไป องค์กรที่ทำหน้าที่แก้ไขก็คือรัฐสภา แต่กลับมาในช่องทางแก้มาตราเดียว คือยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 แล้วทำใหม่ เฉพาะร่างของ ครม. เมื่อผ่านการตั้ง ส.ส.ร.เสร็จจะไม่มาสู่รัฐสภาอีก ไปลงประชามติเลย ตลกดีปกติแล้ว รัฐธรรมนูญไม่น่ามีบทบัญญัติใดที่อนุญาตให้ฆ่าตัวเอง
นายคำนูณกล่าวอีกว่า มีการถกเถียงกันว่าวิธีนี้เคยทำมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 38-39 เป็นที่มาของการกำเนิดรัฐธรรมนูญปี 40 แต่บริบททางการเมืองตอนนั้นกับตอนนี้มันต่างกัน ขณะนั้นมีความสืบเนื่องมาตั้งแต่ 2535 มีกระแสเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง เพื่อลดอำนาจนักการเมือง แต่คราวนี้มันกลับกัน นักการเมืองอึดอัดกับการถูกตรวจสอบ เลยต้องการแก้ไข ที่สำคัญคือเป็นการแก้ที่ไม่มีกรอบ เหมือนเซ็นเช็คเปล่าไปให้ ส.ส.ร.กรอกตัวเลข
ส.ว.สรรหากล่าวอีกว่า การต่อต้านของประชาชน 1-2 วันไม่ได้ผล เพราะการเมืองในระบบรัฐสภาตัดสินด้วยเสียงข้างมาก อย่างไรก็เห็นชอบกับการแก้ไขอยู่แล้ว แม้ฝ่ายค้านกับ ส.ว. ไม่เห็นด้วย ก็แพ้อยู่ดี
ความฉลาดของเขาคือไม่มีเนื้อหาออกมา แล้วให้ทุกอย่างผูกโยงไปกับการเลือกตั้ง ซึ่ง ส.ส.ร.ที่จะได้ ก็มาจากฐานเสียงนักการเมือง ฉะนั้น 99 คน ก็เป็นเสียงที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาล 70-80 เปอร์เซ็นต์อย่างต่ำ
นายคำนูณกล่าวต่อว่า สมมติการแก้รัฐธรรมนูญดำเนินการไปจนเสร็จ ขณะนั้นจะเกิดความขัดแย้งในสังคมอีกสูง ผ่านการเคลื่อนไหวมวลชนฝ่ายต่างๆ เสื้อแดงก็จะเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่ต้องการ แม้แต่เพื่อไทยกับเสื้อแดงเองก็ยังเห็นต่างในหลายประเด็น พันธมิตรฯหรือกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องเคลื่อน แทนที่จะเกิดสันติสุข แต่ดันเกิดความขัดแย้งระหว่างกระบวนการทำของ ส.ส.ร.
หรือแม้ก่อนได้ ส.ส.ร.ก็คงวุ่นพอควร ช่วงจังหวะระยะเวลามันทำให้สังคมมีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายจุด สมมุติรัฐธรรมนูญผ่าน การเลือกตั้งจะเกิดตอนพฤษภาคม-มิถุนายน ตอนนั้นบ้านเลขที่ 111 พ้นจากการถูกตัดสิทธิทางการเมืองแล้ว จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ พวกนี้ได้สนับสนุนคนเข้าไปเป็น ส.ส.ร.หรือไม่ ขบวนการของเสื้อแดงและเพื่อไทย ก็มีปมประเด็นปัญหาในการเลือกคนพอควร ไม่ได้เป็นเอกภาพซะทีเดียว พอเลือกได้แล้วการเคลื่อนไหวมวลชนต้องเกิดขึ้น ความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้น
ตนเชื่อว่ารัฐบาลไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญมากมาย คงเอาประเด็นที่เป็นประโยชน์โดยอ้อมต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะในรัฐสภาก็ผลักดันพรบ.ปรองดองเข้ามาอีก ขณะที่การบริหารราชการปกติ ก็จะมีการทำโครงการขนาดใหญ่ ที่ตองจับตาดูคือ มีทั้งการทำงานโดยปกติของรัฐบาล การทำร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร. ตั้งแต่บัดนี้ไปการเมืองคงคึกคักมากขึ้น และอาจคึกคักถึงขั้นเกิดความขัดแย้งในหลายรูปแบบ