“คำนูณ” เตือน “นิติราษฎร์” สุดโต่งเกินระวังกลุ่มเห็นต่างโต้กลับแบบสุดโต่งเช่นกัน ระบุไม่อยากให้ซ้ำรอย 6 ตุลา “บรรเจิด” เชื่อข้อเสนอนักวิชาการล้มเจ้า สำเร็จได้ยาก แต่จะทำให้สังคมขัดแย้ง ขณะที่เผด็จการนายทุนพรรคการเมืองได้โอกาส กำลังเร่งกอบโกยอย่างหนัก
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ “คนเคาะข่าว”
วันที่ 24 ม.ค. รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หนึ่งในผู้ก่อตั้งสยามประชาภิวัฒน์ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ASTV ดำเนินรายการโดยนางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ
นายคำนูณกล่าวว่า เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนิติราษฎร์แน่ๆ คนไทยโตมาพร้อมกับการรอฟังกระแสพระราชดำรัสต่างๆ วันดีคืนดีมีคนกลุ่มหนึ่งจะไม่ให้มีกระแสพระราชดำรัสสด โดยยกของต่างประเทศมาอ้าง หรือจะให้พระมหากษัตริย์สาบานพระองค์ต่อรัฐสภา คิดอะไรอยู่ เชื่อว่าคนไทยรับไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ตนกลัว และอยากให้สังคมไทยเจริญสติปัญญา สามารถตอบโต้นิติราษฎร์ได้อย่างมีปัญญา และมั่นคงในหลักการ
“เป็นห่วงว่าบางครั้งการเสนออะไรที่มันสุดโต่งแบบนี้ เวลาได้รับผลตอบกลับ คนในสังคมมันมีหลากหลายความคิด ถ้าเขาเกิดอารมณ์ขึ้นมา ไม่ประสงค์มานั่งพูดคุยกัน มันไม่ดี อันตราย ก็อยากจะวิงวอน ว่าเราตอบโต้ทางสติปัญญาได้ อย่าให้เกินเลยไปกว่านั้น นึกถึงหลัง 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 แน่นอนไม่มีใครปรารถนาเห็นเหตุนองเลือดแบบ 6 ตุลา แต่เราก็ต้องยอมรับว่าหลัง 14 ตุลาคม 2516 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้เข้ามาจัดตั้งขบวนการนิสิตนักศึกษาขณะนั้นเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งพรรคคอมมิวนิสต์ยุคนั้นก็เดินตามรอยจีน ทิศทางการดำเนินการจึงสุดโต่งหมด
ทีนี้เมื่อมีการกระทำที่สุดโต่ง แรงต้านจากสังคมที่กลับมาก็สุดโต่งเช่นกัน ผมไม่อยากเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ในขณะนี้ถึงตั้งคำถามกับนิติราษฎร์ ตกลงบริสุทธิ์ไร้เดียงสาจริงหรือเปล่า ไม่ไดัมีแต่คนที่ต้องการสู้ด้วยการพูดคุย ทางวิชาการ ทางกฎหมาย แต่เขาอาจปฏิบัติการบางอย่าง และไม่สามารถควบคุมได้ เราไม่อยากให้เกิดสิ่งเหล่านั้นขึ้น แต่บรรยากาศบ้านเมืองตอนนี้มันคล้ายๆ กับช่วงก่อน 1 ปี ของ 6 ตุลาคม 2519” นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณกล่าวต่อว่า ไม่ได้ต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญ สามารถแก้ได้ แต่แก้เพื่ออะไร เพื่อยกอำนาจเบ็ดเสร็จให้พรรคการเมือง ให้นักการเมือง จากระบอบเผด็จการนายทุนของเจ้าของพรรคการเมือง กลายเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จของนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง หรือว่าแก้เพื่อปฏิรูปประเทศ
รศ.ดร.บรรเจิดกล่าวว่า บทบาทที่นิติราษฎร์กำลังทำอยู่ ไม่ใช่บทบาทของนักวิชาการ เพราะนักวิชาการเวลาพูดถึงสีดำ ต้องบอกว่าดำมันอยู่ทั้งซ้ายและขวา ไม่ใช่บอกว่าอยู่เฉพาะซ้าย แบบนี้ไม่ใช่บทบาทของนักวิชาการที่ซื่อสัตย์ แต่เป็นผู้ปฏิบัติการทางการเมือง ที่ถูกควรให้ข้อมูลต่อสังคมรอบด้าน
ข้อต่อมา การวิเคราะห์สังคมและมองว่าปัญหาใหญ่ คือ เผด็จการทหาร เป็นการวิเคราะห์ที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย เพราะตั้งแต่ 2535 การกำหนดความเป็นไปของสังคมไม่ได้อยู่ที่ตัวทหารแล้ว แต่เคลื่อนมาอยู่ที่อำนาจทุน โดยเงื่อนไขรัฐธรรมนูญเอง นำไปสู่ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน
ปัญหาที่แท้จริงหลัง 2535 นิติราษฎร์พยายามเอาระบอบกรอบคิดของตะวันตกมาใช้ในประเทศของเรา ซึ่งมีพื้นฐานต่างกันมาก พอเอามาวาผลเลยต่างกัน กฎหมายไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศอย่างอิสระ แต่ต้องเชื่อมโยงกับสังคม การคิดเปลี่ยนแปลงกฎหมายต้องไม่ทำลายคุณค่าที่ดำรงอยู่ในสังคมด้วย
ประการต่อมา มองข้อเสนอทั้งหมดโดยรวมของนิติราษฎร์แล้ว ค่อนข้างสบายใจเหมือนได้เปิดไต๋ทั้งหมด ได้เห็นภาพชัดเจน ขอยืนยันว่า หากแก้รัฐธรรมนูญวันนี้ตามข้อเสนอของนิติราษฎร์ จะนำไปสู่ระบบเผด็จการทุนนิยมพรรคการเมืองโดยเบ็ดเสร็จ
ประการสุดท้าย การวางหลักมาตรการทางกฎหมายมหาชนไม่มีทางประสบความสำเร็จในการนำเข้าหลัก ถ้าไม่ดูบริบททางสังคม
รศ.ดร.บรรเจิดกล่าวต่อว่า ถ้านิติราษฎร์ต้องการย้อนหลังไป 19 กันยายน 49 ถือเป็นวันที่ลำเอียง เพราะรัฐธรรมนูญถูกทำลายตั้งแต่ สิงหาคม 2544 เป็นวันพิพากษาให้พ.ต.ท.ทักษิณพ้นจากความผิดซุกหุ้น ซึ่งเราต้องเอาผิดกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ทำผิดต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะศาลรัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนมงกุฎ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญถูกทำลาย การคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดก็พังหมด นั่นคือสัญลักษณ์ของการทำลายรัฐธรรมนูญทางเนื้อหา และหลังจากนั้นก็ถูกทำลายมาเรื่อยๆ แล้วก็ถูกฉีกทิ้งจริงเมื่อ 19 กันยายน 2549
ด้าน นายสุวัตรกล่าวว่า ถ้าแก้รัฐธรรมนูญได้ตามที่นิติราษฎร์เสนอ จะตั้งฉายาว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับคนขายชาติ เพราะเป็นการเททุกอย่างไปที่การเลือกตั้ง ซึ่งบ้านเราการเลือกตั้งเกิดจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียงทั้งหมด
ตนเคยคุยกับคนที่ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ รู้มาว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีควมคิดว่าอยากให้ประเทศไทยมีการปกครองแบบเขมร คือกษัตริย์สีหมุนีต้องทำตามคำสั่งนายฮุนเซนหมด ตรงนี้อันตรายสำหรับประเทศไทย ซึ่งนิติราษฎร์เหมือนเป็นตัวแทนพ.ต.ท.ทักษิณ กลุ่มสนับสนุนก็เป็นเสื้อแดง จึงไม่สามารถแยกออกได้เลย ว่าไม่ใช่พวกเดียวกัน
จากคำสัมภาษ์ของนายฐาปนันท์ นิพิฎฐกุล นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ บอกว่า คำพิพากษาคดีที่ดินรัชดาฯ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีความสัมพันธ์กับรัฐประหาร จึงต้องลบล้างผลคำพิพากษา เห็นหรือไม่ทำทั้งหมดนี้ก็เพื่อลบล้างคำพิพากษาเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมา
ตนเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณกับนิติราษฎร์เป็นกลุ่มเดียวกัน เป็นเครื่องมือให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และทักษิณรอไม่ได้เพราะพฤษภาคม บ้านเลขที่ 111 จะมาแล้ว ทักษิณอยากกลับมาเพื่อมีอำนาจ และหวังว่าถ้าเกิดความวุ่นวายขึ้น กองกำลังเขามีพร้อมแล้ว
นายสุวัตรกล่าวอีกว่า ข้อเสนอนิติราษฎร์ที่กระทืบหัวใจประชาชน “ข้อเสนอข้อ 4 หน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของกษัตริย์ กำหนดให้ประมุขของรัฐต้องสาบานตนว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและพิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง” อันนี้เป็นสิ่งที่อัปลักษณ์ ให้กษัตริย์สาบานตนต่อพวกเสือสิงห์กระทิงแรดนี่หรือ ซึ่งตามวัฒนธรรมของเรากษัตริย์เป็นถึงสมมติเทพ
“ข้อ 9 ผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง ต้องได้รับการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา” สิ่งนี้มันไม่ได้ เพราะผู้พิพากษาเป็นวิชาชีพพิเศษ ต้องกลั่นกรอง ไม่ใช่ ถ้าเป็นตามนี้จริงยุ่งหมด การเมืองแทรกแซงอำนาจตุลาการจนหมดสิ้น
“ข้อ 13 กำหนดให้มีผู้ตรวจการกองทัพที่แต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร การแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งระดับสูงในกองทัพเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี” อันนี้เปรียบเหมือน พ.ร.บ.กลาโหมที่อยู่ในหัวนิติราษฎร์ คิดแบบเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐบาล
นายคำนูณกล่าวเสริมว่า เป็นวิธีการเอาแต่ได้ คือถ้าจะเอาพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ ทำไมไม่ให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูง คือด้านไหนนักการเมืองได้นิติราษฎร์เอาไว้หมด แต่ด้านไหนประมุขได้นิติราษฎร์กลับไม่เอา ประมุขในหลายประเทศให้อำนาจไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดี หรือกษัตริย์ ให้แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูง เช่นประธานาธิบดีอเมริกาแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูง ภูฏานวุฒิสภาส่วนหนึ่งก็ทรงแต่งตามตามพระราชอัธยาศัย
นายคำนูณยังกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณใช้ทุกคน ทุกกลุ่ม สุดแท้แต่ใครเสนออะไรให้ เขาอาจไม่ได้เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ทั้งหมด แต่เขาก็ไม่กล้าประกาศออกมาอย่างหนักแน่นว่าไม่เกี่ยวกับนิติราษฎร์ และถึงแม้ไม่เกี่ยวข้องแต่มีสายใยเชื่อมโยงหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่นิติราษฎร์ทำให้การเคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญของเพื่อไทยได้ประโยชน์ไปด้วย
ด้าน นายพิภพกล่าวว่า ขอเตือนนิติราษฎร์ การที่มีคนเสื้อแดงคอยเชียร์ ไม่ได้หมายความว่าคือตัวแทนประชาชน หากอยากทำเพื่อสังคมจริงต้องทำให้สีอื่นๆ เห็นด้วย และการพูดด้านเดียวไปไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นข้อเสนอที่สุดโต่งและเป็นประเด็นอ่อนไหว พูดด้านเดียวหมด โดยอ้างประชาชน แต่ข้อเสนอไม่มีอะไรเพื่อประชาชนเลย การปลุกกระแสประชาชนกลุ่มเดียวเพื่อตอบสนองอำนาจรัฐจะนำไปสู่ความรุนแรง วันนี้เตือนเพื่อให้ฉุกคิด ทางออกของนิติราษฎร์คือต้องพูดให้ครบทุกด้าน และพูดกับประชาชนทุกสี
รศ.ดร.บรรเจิดกล่าวปิดท้ายว่า สิ่งที่เสนอเป็นเรื่องอ่อนไหวจะนำไปสู่การแตกแยก และละเลยต่อคุณค่าที่ควรได้รับการเคารพหลายเรื่อง ทางวิชาการยอมรับไม่ได้ ในเมื่อมีประสบการณ์กรณีของฝ่ายการเมืองแต่งตั้ง ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เอามาประกอบการพิจารณาต่างๆ เลย ซึ่งรู้สึกว่่าทางวิชาการที่เรียนกันมา เรื่องคุณค่าต่างๆ ไม่มีการถูกนำเสนอ ขาดมิติเชิงลึกในการเข้าใจวัฒนธรรมต่างๆ ภาวะที่ขัดแย้งกันอยู่ ระบบเผด็จการทุนทำงานตลอดเวลา กำลังเข้ามากลืนกิน สังคมต้องจับตา การออกพรก.หนี้ 1.14 ล้านล้านบาท และเงินชดเชย 7.75 ล้านบาท อันนี้เราต้องจับตา
ตนไม่กังวลมากในข้อเสนอนิติราษฎร์ เพราะเป็นไปไม่ได้ แต่จะเป็นประเด็นขัดแย้ง ปล่อยเราขัดแย้งตรงนี้ แต่อีกด้านหนึ่ง อำนาจรัฐ อำนาจการเมือง อำนาจทุนต่างๆ ทำงานในระดับภูมิภาค ประเด็นนี้ต่างหากที่ต้องตีแผ่ ว่าระบบเผด็จการนายทุนโดยพรรคการเมืองกำลังทำงานอย่างหนัก
คำต่อคำ "คนเคาะข่าว" 24 ม.ค.2555
จินดารัตน์ - สวัสดีค่ะคุณผู้ชม ขอต้อนรับคุณผู้ชมเข้าสู่รายการคนเคาะข่าว วันนี้เรายังตามกันต่อเรื่องประเด็นข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่ทำให้หลายฝ่ายไม่สบายใจ และคิดว่าวันนี้สังคมไทยอาจจะแตกแยกและรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์แต่ละข้อนั้นบ่งบอกถึงการแก้ผ้าล่อนจ้อนให้เราเห็นว่ากลุ่มนี้เขาต้องการอะไรกันแน่ บางคนถึงกับบอกว่า ถ้าอยากต่อสู้เพื่อทักษิณก็เปิดเผยตัวออกมาเสียดีๆ อย่ามาเอามาตรา 112 มาเป็นข้ออ้าง หรือว่านี่มันอยู่ในจิตใต้สำนึกของเขามาแต่ไหนแต่ไรแล้วหรือเปล่า เขาอยากจะแก้ไขมาตรานี้ ยกเลิกมาตรานี้ โดยเฉพาะล่าสุดก่อนหน้านี้ก็มีข้อเสนอออกมาว่า ห้ามพระมหากษัตริย์มีพระราชดำรัสต่อสาธารณะ และล่าสุดที่เพิ่งจะออกมาและทำให้คนรู้สึกว่าไม่พอใจอย่างมาก มีหลายกลุ่มออกมาต่อต้าน นั่นก็คือ พระมหากษัตริย์ต้องสาบานตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง นี่จึงทำให้อาจจะเรียกได้ว่าใกล้ฟางเส้นสุดท้ายแล้วที่คนที่ยังรัก และยึดมั่น เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เริ่มทนไม่ได้แล้ว
วันนี้มีหลายกลุ่มออกมาต่อต้านอย่างที่เรียนไป แต่นับจากวันนี้ไป บทบาทของคณะนิติราษฎร์จะออกมาเป็นอย่างไร เราคงจะต้องติดตามกันต่อ ถึงแม้ว่าหลายคนจะบอกว่า เลิกสนใจ ไม่ต้องไปทำข่าว และไม่ต้องสนใจกลุ่มนี้อีกต่อไปแล้ว ก็คงจะไม่ได้นะคะ เราอยากจะรู้ว่าแนวคิดของกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังนั้นเป็นอย่างไร และจุดประสงค์ เป้าหมายใหญ่ของเขาคืออะไร วันนี้เราจะลองมาวิเคราะห์กันดู และก้าวต่อไปที่เรา คนในสังคมจะต้องตั้งรับ และดูพฤติกรรมของคนเหล่านี้ ควรจะทำตัวอย่างไร กับแขกรับเชิญ 4 ท่านด้วยกัน ท่านแรก คุณคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ท่านต่อมา คุณพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอีกท่าน ทนายความพันธมิตรฯ คุณสุวัตร อภัยภักดิ์ และนักวิชาการด้านนิติศาสตร์โดยตรง รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า สวัสดีทั้ง 4 ท่านค่ะ
ต้องเรียนคุณผู้ชมนะคะว่าวันนี้ทั้ง 4 ท่านมา ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เราอาจจะคุยกันถึง 2-3 ชั่วโมง คุณผู้ชมอย่าเพิ่งง่วงก่อนนะคะ แต่เรื่องนี้คงจะไม่ทำให้ใครง่วงนอนแน่ๆ เพราะหลายคนกำลังจับจ้องว่าวันนี้เราจะทำอย่างไรกันดีกับกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ อาจจะต้องเรียนถามความรู้สึกของทั้ง 4 ท่านก่อน
คำนูณ - ผมคิดว่าผมจะช่วยเปิดประเด็นแล้วให้ทุกท่านช่วยกันวิจารณ์ก็แล้วกันนะครับ ผมไม่เห็นด้วยกับคุณแอนว่านิติราษฎร์ออกมาแล้วทำให้เราไม่สบายใจ ผมนี่สุดแสนสบายใจเลย
จินดารัตน์- ทำไมคะ
คำนูณ - และต้องขอบคุณนิติราษฎร์ คือที่เขาพูดออกมาเกือบหมด มันแสดงให้เรารู้ว่าเกือบทั้งหมดที่เขาคิดอยู่ คืออะไร คือเวลาพูดถึงแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มันเบลอร์ๆ เพราะถ้าพูดเดี่ยวๆ เราอาจจะเห็นด้วยบ้างในบางประเด็น หรืออย่างน้อยเป็นเรื่องที่หารือกันได้ แต่ทีนี้พอเขาพูดถึงโครงสร้างของรัฐธรรมนูญแล้ว โดยสรุปก็คือเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ปฏิรูปสถาบันศาล เลิกองค์กรอิสระ ปฏิรูปกองทัพ ทุกสิ่งทุกอย่างเขาให้ผูกอยู่กับการเลือกตั้ง ผูกอยู่กับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีสภาเดียว หรือถ้าจะมี 2 สภา ก็มาจากการเลือกตั้งทั้งสองสภา
ฟันธงไปเลยนะครับว่า สิ่งที่เขาคิด ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือยกประเทศให้กับกลุ่มทุนผูกขาด เจ้าของพรรคการเมือง ถามว่าระบอบประชาธิปไตยบ้านเรามีปัญหาไหม ตอบได้ว่ามีปัญหามาโดยตลอด ไม่เคยเป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง การปฏิรูปองค์กรต่างๆ หรือแม้กระทั่งสถาบัน เป็นสิ่งที่ควรจะพูดกันไหม ตอบว่าพูดได้ แต่สิ่งหนึ่งที่นิติราษฎร์ไม่เคยพูดเลยก็คือ ด้านปฏิรูป หรือด้านแก้ไขทางด้านนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง หรือกระบวนการเลือกตั้งซึ่งในโลกที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงเขาเชื่อถือได้ แต่ในโลกของประเทศไทย คือใครมีเงิน ใครซื้อก็ซื้อเอา ในรูปแบบต่างๆ
สำนักคิดของ อ.บรรเจิด สิงคะเนติ หรือแม้กระทั่งสำนักคิดอย่างของผู้จัดการเอง ถ้าใครที่ติดตามมา เราไม่เคยเรียกระบอบปัจจุบันว่าระบอบประชาธิปไตย เราอาจจะเรียกว่าระบอบเผด็จการรัฐสภาบ้าง หรือตั้งแต่ปี 2536 กลุ่มผู้จัดการเป็นกลุ่มแรกๆ ผมเองเป็นคนแรกๆ ที่ใช้เรียกคำว่านักการเมือง ว่านักเลือกตั้ง และก็บอกว่าระบอบประชาธิปไตยบ้านเราก็คือระบอบเลือกตั้งธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตยหรอก
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต่อสู้มาตลอดก็คือ เราต้องการให้เกิดมีการปฏิรูปการเมือง เกิดมีการปฏิรูปประเทศ เพื่อที่จะจำกัดอำนาจของผู้ใช้อำนาจรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการเลือกตั้งที่พิกลพิการ กรอบโครงสร้างของรัฐธรรมนูญพิกลพิการมาโดยตลอด เอาง่ายๆ สั้นๆ เลย ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่เหลือในโลกขณะนี้ที่บังคับให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง แล้วในเมื่อพรรคการเมืองเป็นของกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม หรือไม่กี่คน คนดีๆ ที่เขาอยากเข้ามาเล่นการเมืองก็ไม่สามารถจะเข้ามาได้ ถ้าเผื่อไม่ยอมตนไปเป็นทาสของนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง นี่คือสิ่งที่ต่อสู้มาโดยตลอด
แล้วประเทศไทยมันก็มีวิวัฒนาการในการต่อสู้เรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ปี 2535 , 2537 จนเป็นส่วนหนึ่ง พลิกผัน ผกผัน เกิด คภป.ของ อ.ประเวศ วะสี เกิด ส.ส.ร. จนกระทั่งเกิดรัฐธรรมนูญ 2540
รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่ไว้วางใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญจึงให้กำเนิดสิ่งที่เรียกว่าองค์กรอิสระขึ้นมา เพราะเห็นว่านักการเมือง โดยสภาผู้แทนราษฎรควบคุมรัฐบาลไม่ได้ เพราะว่าท่านมาจากพรรคเดียวกัน เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ก็คือรัฐบาล แล้วเมื่อบังคับสังกัดพรรคการเมือง มีกฎข้อบังคับของพรรคที่เข้มงวด มันก็คือสิ่งที่ในทางวิชาการเขาเรียกว่าระบอบเผด็จการรัฐสภา หรือตอนหลังก็มาต่อเติมกันว่าเป็นเผด็จการรัฐสภาของนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง
สิ่งเหล่านี้ คณะนิติราษฎร์ ที่เป็นด็อกเตอร์ นักเรียนทุนอานันทมหิดล ท่านแกล้งโง่ หรือท่านโง่จริงผมก็ไม่รู้ หรืออย่างน้อยก็คือ ท่านจงใจที่จะละเลย ไม่พูดถึง แล้วท่านก็บอกว่า ผมเคยเจอกับ อ.บรรเจิด ในไทยพีบีเอส ผมก็พูดประเด็นนี้ ท่านก็ยอมรับนะ แต่เรื่องนี้ไว้พูดกันทีหลัง ผมอยากให้ทีมงานหาการ์ตูนบัญชา คามิน ในผู้จัดการรายวันฉบับนี้มาขึ้นให้ดู ก็คือ ท่านบอกว่า เรื่องนี้ไว้พูดกันทีหลัง แต่ว่าเราต้องเอาเกณฑ์ประชาธิปไตยตามสากลโลกก่อน ทุกอย่างผูกกับการเลือกตั้ง ทักษิณ อย่าไปกลัวเขาเลย เขาเป็นนายกฯ ไม่กี่ปีก็ตาย ทักษิณไม่เป็นปัญหาหรอก เป็นเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่คือต้องทำ ต้องปฏิรูปเรื่องอื่นก่อน ถ้าทักษิณเป็นปัญหามากนัก เดี๋ยวนิติราษฎร์จะจัดการเอง ผมก็ตั้งคำถามว่า ไอ้คนที่พูดอย่างนี้นี่นะ ถอนคำว่าไอ้ .. ท่านที่พูดอย่างนี้ ผมก็ตั้งคำถาม มันมีสองอย่างครับ ไม่บริสุทธิ์ ไร้เดียงสาสุดๆ มันก็ฉ้อฉลสุดๆ
แล้วผมก็เกิดไอเดียว่า ที่เขาเสนอว่าให้พระมหากษัตริย์ต้องสาบานตนก่อนเข้ารับตำแหน่งนั้น ความจริงถ้าดูคลิปดีๆ ระหว่างที่พูดท่านก็พูดด้วยความที่เหน่อมา พอพูดเสร็จก็มีเสียงปรบมือเชียร์ ผมก็อยากจะบอก คือผมนึกขึ้นมาวันนั้นมันเป็นเช้าวันตรุษจีนนะ ก็เกิดสติปัญญาแว่บแปร๊บขึ้นมา ผมก็บอกว่า พระมหากษัตริย์ของเราไม่เคยมีรัฐธรรมนูญที่บังคับให้ต้องสาบานตน เพราะมันเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ระบอบประธานาธิบดี แต่นั่นไม่เป็นไร
แต่พระองค์ก็ทรงปฏิญาณตน หรือทรงสาบานตนต่อหน้าประชามหาชน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ดังคำที่เราเกือบจะขึ้นใจอยู่ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม และที่สำคัญก็คือว่า ตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ 60 ปีของพระองค์ ไม่เคยทรงผิดคำสาบาน ไม่เคยผิดคำปฏิญาณตน หรือใครบอกพระองค์ผิด ก็ว่ามา แสดงตัวออกมา กล้าๆ หน่อย
แต่ว่านักการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างผม อย่าง ส.ส. อย่างรัฐมนตรีต่างหาก รัฐธรรมนูญบังคับให้ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง ทั้งปฏิญาณในสภาฯ ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ทั้งปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์พระองค์ ในกรณีที่เป็นรัฐมนตรี ดีๆ ทั้งนั้น ทำได้ไหม ไม่เคยทำได้ครับ ประเทศชาติก็พินาศฉิบหายลงไปทุกวัน เพราะฉะนั้น มันเทียบกันไม่ได้ครับ
อันนี้เป็นประเด็นที่ผมคิด ที่อยากจะบอกว่า การพูดอะไรเพียงด้านเดียว พูดความจริง หรือพูดด้านที่ควรปรับปรุง หรือหารือเพื่อการปรับปรุงเพียงด้านเดียว ถ้าไม่ไร้เดียงสาสุดๆ ก็ฉ้อฉลสุดๆ
การปฏิรูปประเทศมันมีได้ มันหารือกันได้ แต่มันจะเริ่มต้นนับ 1 บนโต๊ะใดโต๊ะหนึ่งก็แล้วแต่ มันต้องเริ่มต้นด้วยทุกคนที่เข้ามาพูดคุยกัน คุณต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเองก่อน ถ้าคุณกล้าพูดถึงด้านอัปลักษณ์ของการรัฐประหารของกองทัพ ด้านที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ในความหมายของสถาบัน จำเป็นจะต้องปรับบทบาทไปตามวิวัฒนาการของโลก วิวัฒนาการของระบอบการเมืองที่ปรับเปลี่ยนไป ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ของเรา จาก 2475 ก็ปรับกันมาเป็นช่วงๆ มีขึ้น มีลง ด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งเดี๋ยวผมจะกล่าวต่อไป
จะปฏิรูประบบศาล จะเลิกระบบศาลคู่ จะเป็นศาลเดี่ยว หรือจะให้ประธานศาลแต่งตั้งโดยนายกฯ รับรองโดยสภาฯ อะไรก็แล้วแต่ คิดไปได้ทั้งนั้นล่ะครับ แต่ว่าคุณจะต้องพูดถึงด้านที่มันเป็นปัญหาของสังคมไทย และเป็นบ่อเกิดของปัญหาที่เป็นมานับสิบๆ ปี ก็คือด้านการเมือง ด้านนักการเมือง ด้านกลุ่มทุนเจ้าของพรรคการเมือง ที่เข้ามามีบทบาท ในยุคสมัยที่ทหารเริ่มเฟดออกไป แต่ก็ยังไม่หมดเสียทีเดียว นี่เป็นปัญหาที่ .. ถ้าเราพูดถึงแต่ด้านอัปลักษณ์ของสิ่งหนึ่ง โดยไม่พูดถึงด้านอัปลักษณ์ยิ่งกว่า ของอีกสิ่งหนึ่ง มันก็คือการยกบ้านเมืองให้กับด้านอัปลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ระบอบประชาธิปไตย 4 วินาที ระบอบการเลือกตั้งที่ยังไม่มีการปฏิรูป ระบอบที่เราปล่อยให้คนที่มีเงินมหาศาลสามารถจะทุ่มเงินเข้ามา โดยอาศัยความไม่รู้ของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นพิธีกรรม เข้ามาครองอำนาจรัฐ และฉ้อฉลอำนาจนั้นต่อไป อันนี้ผมว่าคณะนิติราษฎร์ ผมตอบไม่ได้ครับ ไม่กล้าตอบจริงๆ ว่าท่านบริสุทธิ์ ไร้เดียงสาสุดๆ หรือท่านฉ้อฉลสุดๆ นี่ประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่ง พูดสักเล็กน้อยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ผมเชื่อว่าเราเป็นนักวิชาการกันพอสมควร เราพร้อมที่จะพูด แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงข้อนี้นะครับ ว่า พระมหากษัตริย์ท่านไม่ได้ทรงรู้เห็นอะไรด้วย 2475 เกิดการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลง ระหว่าง 2475 ถึง 2490 หรือ 2493 ด้วยซ้ำไป พระมหากษัตริย์แทบไม่ได้มีบทบาทต่อการเมือง รัชกาลที่ 7 สละราชย์ รัชกาลที่ 8 ยังพระชนมายุน้อย รัชกาลที่ 9 ยังพระชนมายุน้อย เสด็จฯ ทรงศึกษาอยู่ต่างประเทศ คณะราษฎร์ ผมกับ อ.บรรเจิด ก็ศิษย์ธรรมศาสตร์และการเมือง เคารพท่านผู้ประสาทการ อ.ปรีดี พนมยงค์ เหมือนกัน เคารพหลัก 6 ประการของคณะราษฎร์เช่นกัน แต่ถามว่าในยาม 2475 จนถึง 2490 หรือ 2493 บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ ทั้งๆ ที่พระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้เสด็จฯ ประทับอยู่ในประเทศไทย คณะราษฎร์ก็ขัดแย้งกันเอง บางช่วงบ้านเมืองก็กึ่งๆ จะเป็นเผด็จการด้วยซ้ำไป มันก็เป็นปัญหาทางประวัติศาสตร์
จากนั้น 2490 เกิดการรัฐประหาร จนกระทั่งช่วงระหว่าง 2490-2500 สถาบันกษัตริย์ก็ยังไม่ได้มีบทบาทที่สูงเด่นขึ้นมา อาจจะมีการยกระดับขึ้นมาบ้าง เพราะว่าคณะราษฎร์ปีก จอมพล ป.ยังอยู่ แต่ก็มาร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์
จวบจน 2500 บทบาทหรือสถานภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์จึงค่อยๆ ยกระดับขึ้นมาและแปรเปลี่ยนไปในยุคเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ตั้งแต่วันนั้นจวบจนบัดนี้ มันก็เป็นระยะเวลา 50 กว่าปีมาแล้ว และมันก็เป็นเหตุผลทางประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องที่พัฒนาการเป็นต้นมา แล้วพระองค์ โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อบ้านเมือง ทำให้บ้านเมืองอยู่รอดปลอดภัยมาได้ จากภัย สงครามเย็น ภัยการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แน่นอน อาจจะมีเหตุการณ์ที่นักศึกษารุ่นผม ต้องบาดเจ็บล้มตายในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่ถ้าพูดกันจริงๆ ตรงไปตรงมาแล้ว การบาดเจ็บล้มตายของนิสิต นักศึกษา มันก็แยกไม่ออกจากบริบทการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งก็จะต้องว่ากันเป็นกรณีๆ ไป
ถามว่า ในวันนี้เราจะเปลี่ยนแปลงสถานภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์ จากที่ยกระดับขึ้นมาเมื่อ 50 ปีก่อน กลับไปสู่ก่อน 2500 หรือกลับไปสู่ก่อน 2490 จะทำกันชั่วข้ามคืน สังคมไทยในส่วนที่เหลือเขาจะรับได้มั้ย เขารับไม่ได้ แล้วถามว่า เราเป็นคนไทย ถ้าเรามีความกตัญญูรู้คุณต่อพระมหากษัตริย์ ในยามที่พระองค์ทรงประชวร พระองค์ทรงพระชนมายุสูง เราสมควรจะเอาเรื่องเหล่านี้มาเป็นประเด็นสาธารณะขณะนี้หรือไม่ ถามว่ามันเป็นประเด็นความเป็นความตายของบ้านเมืองหรือไม่
สถาบันพระมหากษัตริย์ บทบาทในขณะนี้ สถานภาพในขณะนี้ มันเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข หรือว่าบทบาทของกลุ่มทุนเจ้าของพรรคการเมืองที่สยายปีกเข้ามา ผ่านพิธีกรรมการเลือกตั้ง แล้วก็เข้ามาเสวยอำนาจ แล้วก็ครอบงำอำนาจ ทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ อย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ถามว่าอะไรเป็นภยันตรายต่อบ้านเมืองมากกว่ากัน
ถามว่าบทบาทของพรรคการเมือง บทบาทของประชาชน ความรับรู้ของประชาชนต่างๆ ของเรามันอยู่ในมาตรฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างที่เราชอบไปยกตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสวีเดน เป็นอังกฤษ หรือเป็นสหรัฐอเมริกา หรือไม่ อันนี้คือประเด็นภาพรวมที่ผมอยากจะพูดเกริ่นว่า ที่จริงแล้วเราต้องตอบโจทย์ว่า อะไรคือภยันตราย หรือตัวอันตราย หรือสิ่งที่เป็นอันตรายที่สุดของบ้านเมืองในขณะนี้ นี่เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ผมเชื่อว่าทุกท่านพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนกันได้
จินดารัตน์- ที่ผ่านมาเรารับรู้อยู่แล้วว่าบ้านเมืองเราวอดวายกันขนาดนี้เพราะว่านักการเมือง พรรคการเมือง แต่นิติราษฎร์ไม่พูดถึง
คำนูณ - คือนักการเมืองดีๆ ก็มี แต่ระบบ โครงสร้างแบบผูกขาดอำนาจ เอาง่ายๆ ที่สุดนะ คนอย่างพี่สุวัตรนึกอยากจะสมัครผู้แทนฯ บางแว่บอาจจะนึกอยาก แต่ถ้าพี่สุวัตรจะต้องไปเป็นลูกน้องของไอ้/อี ที่เป็นนายทุนเจ้าของพรรคการเมืองเหล่านั้น พี่คงไม่ไป ว่าความเปล่าๆ ดีกว่า แต่ถ้าเผื่อระบบมันเปิดโอกาส สมัครอิสระก็ได้ นี่เอาง่ายๆ นะ ผมก็เชื่อว่ามีคนที่พร้อมที่จะเข้าไปอีกจำนวนหนึ่ง คนดีๆ หลายคนที่คิด่จะเข้าไปสู่ในระบบ เมื่อเข้าไปแล้ว สุดท้ายก็ต้องเก็บความดีของตัวเองไว้ในบางขณะ ต้องหลับตาเสียข้างหนึ่งในบางขณะ อยู่ไปก็อาจจะต้องหลับตาทั้งสองข้าง และในที่สุดก็ต้องเสียประพฤติไป คือถ้าไม่ทำอย่างที่เขาทำกัน มันก็อยู่ไม่ได้ อันนี้มันเป็นปัญหาซึ่งทำให้ระบบการเมืองของเรามีปัญหา รัฐธรรมนูญ 40 พยายามแก้ ก็ไม่สำเร็จ รัฐธรรมนูญ 50 ก็พยายามแก้ ก็ยิ่งไม่สำเร็จ เพราะมันมาจากการรัฐประหารที่ไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ร่างรัฐธรรมนูญมา ไปคุมเข้มขึ้นมาอีก มันก็ไม่สำเร็จอีก
มันต้องตอบโจทย์ข้อแรกก่อนว่าอะไรคือปัญหา นิติราษฎร์กำลังจะบอกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือบทบาทต่อสถานภาพในปัจจุบันนี้เป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองที่จะต้องแก้ไขก่อน ศาล องค์กรอิสระ และอะไรต่อมิอะไรที่ท่านเสนอจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง เป็นปัญหาใหญ่ แล้วท่านก็ไปโยนทุกสิ่งทุกอย่างไว้ที่การเลือกตั้ง การเลือกตั้ง การเลือกตั้ง สภาผู้แทนๆๆ ท่านพูดมาหมดครับ แต่ผมคิดอยู่ในใจอย่างเดียวว่า ที่นิติราษฎร์ยังไม่ตอบ หรือตอบแบบเลี่ยงๆ ก็คือ ผมโยนคำถามไปว่า ท่านพูดถึงรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 บ่อยๆ หรือท่านคิดว่าจะไม่เอามาตรา 8 ไว้ในรัฐธรรมนูญ จะเอาแบบมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 หรือเปล่า ท่านก็บอกว่ามาตรา 8 ยังมี แต่มันต้องภายในบริบทนั้น บริบทนี้
คือผมว่านาทีนี้นะ เอายังไง คิดยังไง ผมชื่นชมท่านนะ พูดออกมาให้หมด ผมจะสบายใจมากกว่านี้ เพราะว่ามันก็มีคนบางกลุ่ม คนบางท่าน ซึ่งผมก็โอเคนะ ที่เขาพูดออกมา ก็ได้พูดมาโดยตลอดถึง 8 ข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ คงไม่จำเป็นต้องพูดในรายละเอียด เดี๋ยวมีเวลาค่อยว่ากันไป
ก็ดีครับ ชัดเจนออกมาแบบนี้ เราก็จะได้ สำหรับผมน่ะสบายใจ เพราะว่าเมื่อเขาชัดเจนมาแบบนี้ ผมก็รู้สึกว่าสิ่งที่ผมคิด สิ่งที่ผมเชื่อ สิ่งที่ผมสู้มา ไม่ผิดหรอก มันยิ่งตอกย้ำความมั่นใจว่าปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองเราจะเรียกว่านักการเมือง ก็อาจจะดูใจร้ายไปสักนิดหนึ่ง เอาเป็นว่า ก็คือเป็นปัญหาระบบเผด็จการรัฐสภาของนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง หรือปัญหาใหญ่ก็คือกลุ่มทุนเจ้าของพรรคการเมืองที่สยายปีกเข้ามาครอบงำสังคม อย่างนั้นจะดีกว่าครับ
จินดารัตน์ - ในฐานะที่ อ.บรรเจิด เองก็คุ้นเคยและรู้จักทุกคนที่นั่งหน้าสลอนวันนั้น ที่แถลงข่าว ต้องเรียนถามว่าในคำถามของคุณคำนูณว่า ไม่ไร้เดียงสาที่สุดก็ฉ้อฉลที่สุด ในความรู้สึกของอาจารย์สำหรับกลุ่มนี้ หมดหรือยังคะ หรือว่าเขายังอยู่ในโลกแห่งความฝันของเขา หรือเขาอยากจะย้อนกลับไป 2475 หรืออย่างไร
บรรเจิด - ผมพูดในภาพรวมสัก 3-4 ประเด็นนะครับ ที่ผมอยากจะแลกเปลี่ยนตรงนี้ในภาพรวมก่อน ประเด็นแรก ก็คือเรื่องของบทบาทของนักวิชาการว่าเป็นอย่างไร ประเด็นที่ 2 การวิเคราะห์สังคม วิเคราะห์อย่างไร ประเด็นที่ 3 ก็คือ สภาพปัญหาที่แท้จริงของสังคมคืออะไร และประเด็นสุดท้ายผมอยากจะดูข้อเสนอในภาพรวมว่าเป็นอย่างไร มันจะนำไปสู่อะไร
ประเด็นแรก ผมมองว่าบทบาทที่กำลังทำกันอยู่นั้น ไม่ใช่บทบาทของนักวิชาการ เพราะถ้าเป็นบทบาทของนักวิชาการ เวลาเราจะพูดสีดำ ถ้ามันดำ มันอยู่ซ้ายและขวา เราก็ต้องบอกว่าดำมันอยู่ทั้งซ้ายและขวา ไม่ใช่บอกว่าสีดำอยู่เฉพาะด้านซ้ายนะ ขวาที่ไม่มีเลย หรือไม่พูดถึง หรืออะไร ตรงนี้เอง ผมคิดว่าความซื่อสัตย์ในทางวิชาการอาจจะผิดเพี้ยนไปแล้ว อย่างนี้ไม่ใช่บทบาทของนักวิชาการที่มีความซื่อสัตย์ในทางวิชาการ เพราะว่านักวิชาการควรจะต้องชี้บอกว่าสภาพปัญหาของเรื่องนั้นมันเป็นอย่างไร ด้านซ้ายถ้าจะไป ไปอย่างไร ผลจะเกิดอย่างไร ปัญหาด้านขวาเป็นอย่างไร ก็คือต้องให้ข้อมูลต่อสังคม
แต่วันนี้ที่ทำ ผมว่าอาจจะไม่ใช่ในฐานะนักวิชาการแล้ว แต่ไปเป็นผู้ปฏิบัติการในทางการเมือง โดยมีความมุ่งหมายในทางการเมือง นี่เป็นประเด็นแรกที่อยากจะแลกเปลี่ยนว่าอาจจะไม่ใช่นักวิชาการในความหมายที่จะต้องให้ข้อมูลต่อสังคมอย่างรอบด้าน
ประเด็นที่ 2 ผมมองว่าการที่วิเคราะห์สังคมแล้วมองว่าปัญหาใหญ่เป็นเรื่องของเผด็จการทหารนั้น เป็นการวิเคราะห์สังคมที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย เพราะตั้งแต่ 2535 เรื่องของการกำหนดความเป็นไปของสังคมสั้น ไม่ได้อยู่ที่ตัวทหารแล้ว การกำหนดความเป็นไปของสังคมนั้นเคลื่อนมาอยู่ที่อำนาจทุนแล้ว และเมื่อเคลื่อนมาสู่อำนาจทุนแล้ว โดยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มันนำไปสู่การทำให้เป็นระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้วฐานตรงนี้
เพราะฉะนั้นฐานของการวิเคราะห์ขาวเป็นดำ ดำเป็นขาวในสภาพการณ์ปัจจุบันนี้เอง ที่ผมเรียกว่า เมื่อเริ่มต้นตั้งฐาน สมมติฐานของเรื่องผิด อาจจะโดยจงใจ หรือไม่จงใจ หรือมีมูลเหตุในทางการเมืองอย่างไร ผมว่าตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญในการมองสภาพปัญหา ว่าสภาพที่แท้จริงมันคือปัญหาอะไร เพราะฉะนั้นตรงนี้เอง ใน2-3 เรื่องนี้ผมคิดว่ามันคือความแตกต่างระหว่างนิติราษฎร์ กับสยามประชาภิวัฒน์ ซึ่งเรามองสภาพการณ์ของสังคมแตกต่างกัน
ประการที่ 3 สภาพปัญหาที่แท้จริงของสังคมนั้น ผมคิดว่า อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าหลังจาก 35 สภาพของอำนาจใหม่ที่เข้ามาในนามทุน ได้รับประโยชน์จากโครงสร้างในทางรัฐธรรมนูญต่างๆ แล้วเข้ามาผูกขาด ผมว่าจุดหนึ่งที่นิติราษฎร์พยายามจะเอาระบบ กรอบคิดทางตะวันตก มาวางอยู่บนพื้นฐานของสังคมไทย ซึ่งมีฐานที่แตกต่างมาก
ผมยกตัวอย่างเช่น อย่างในประเทศเยอรมัน วัฒนธรรมของสังคมเป็นวัฒนธรรมแบบนิติรัฐ คือเคารพในกฎเกณฑ์ แต่ว่าวัฒนธรรมของไทยเรานั้นมันเป็นวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ เมื่อเอาหลักการประชาธิปไตยหรือนิติรัฐมาวางบนสังคมที่มีความแตกต่าง ผลมันจึงแตกต่าง เพราะฉะนั้นตรงนี้เอง นิติรัฐก็ดี ประชาธิปไตยก็ดี ไม่ใช่อาหารสำเร็จรูป ฉีกซองมาต้ม แล้วสุก เหมือนกันทุกที่ ไม่ใช่ แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่มันเกี่ยวโยงกับสภาพสังคมวิทยา แต่ละสังคมวิทยา กฎหมายนั้นไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศอย่างอิสระ แต่กฎหมายนั้นเป็นมาตรการที่เชื่อมโยงกับสังคมวิทยา จุดนี้เองเป็นจุดที่นิติราษฎร์นั้นมองจุดนี้โดยขาดความลุ่มลึกกับการเชื่อมต่อกับสังคมวิทยาของประเทศไทย ไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีคุณค่า
ผมเรียนว่าสังคมหนึ่งๆ มาดำรงมาได้ 6-7 ร้อยปี แล้วมันดำรงความเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สิ่งนั้นต้องมีคุณค่า นี่คือมองในเชิงสถาบัน เพราะฉะนั้นการจะคิดจะปรับเปลี่ยนอะไรในเชิงกฎหมาย ก็ต้องเคารพคุณค่าต่อสิ่งที่มันดำรงมาได้ถึงทุกวันนี้ ผมเห็นว่าจุดนี้เป็นจุดสำคัญในการวางมาตรการทางกฎหมาย นั่นหมายความว่า มาตรการในทางกฎหมายต้องไม่ไปทำลายคุณค่าที่ดำรงอยู่มาได้ทุกวันนี้ มาตรการทางกฎหมายต้องไปพัฒนาสิ่งเหล่านั้นให้มีคุณค่ามากขึ้น นี่คือหลักคิดในทางกฎหมายของสายที่ไม่ได้มองว่ากฎหมายคือสิ่งที่มันลอยอิสระจากสังคม แต่ว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ในทางสังคม ก็จะมองกฎหมายในรูปแบบอย่างนี้ นี่คือจุดยืนที่ผมคิดว่ามองต่างกัน ระหว่างทางกลุ่มพวกเรา ซึ่งเรามองคุณค่าของสังคมไทย มองกฎหมาย ก็คือส่วนที่เป็นมาตรการที่เชื่อมต่อกับมาตรการในทางสังคม เพื่อมุ่งจะรักษาประโยชน์ส่วนรวม จุดต่างๆ เหล่านี้ที่ผมว่าเป็นพื้นฐานที่เรามองต่างกัน
ประการสุดท้าย ผมมองในลักษณะคล้ายพี่คำนูณ ก็คือว่า ผมมองข้อเสนอโดยรวมทั้งหมดแล้วผมค่อนข้างสบายใจ เพราะเหมือนกับได้เปิดไต๋ออกมาทั้งหมด แล้วการเปิดไต๋ออกมาทั้งหมดนั้นเองมันจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจน
ผมสรุปได้เลยนะครับว่า แก้รัฐธรรมนูญวันนี้ ภายใต้กรอบคิดของนิติราษฎร์ จะนำไปสู่ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนโดยเบ็ดเสร็จ พูดได้คำเดียวว่าโดยเบ็ดเสร็จ คือวันนี้เป็นแบบยังไม่มีคำว่าเบ็ดเสร็จ แต่ถ้าใช้กรอบวิธีการแก้ไขเหล่านี้ นำไปสู่การแก้โดยเนื้อหาอย่างนั้น ต้องบอกได้ว่า ใส่คำว่าโดยเบ็ดเสร็จเข้าไปได้เลยในสังคมไทย เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในภาพรวมมันมีรายละเอียดมากเลย แต่ว่าผมเรียนภาพรวม 4-5 ประเด็นที่ว่านี้ เพื่อให้เห็นภาพรวมที่ว่ามันมีฐานความคิดในการมองที่แตกต่างกันมาก
เรียนสรุปสุดท้ายก็คือว่า เรื่องการวางหลักมาตรการในทางกฎหมายมหาชนนั้น เราไม่มีทางประสบความสำเร็จในการอิมพอร์ตหลักเข้ามาโดยไม่ดูบริบท วัฒนธรรมทางสังคม นี่เป็นจุดที่ยากในการออกแบบในทางกฎหมายมหาชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเพิกเฉยจากข้อเท็จจริงในทางสังคม หรือการให้คุณค่าในทางสังคมวิทยาแล้ว ผมคิดว่ามันยากมากที่จะประสบความสำเร็จ และยากมากที่จะดำรงคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในสังคมให้มีคุณค่า เพราะฉะนั้นนี่คือผมคิดว่าเป็นความแตกต่างระหว่างทางนักวิชาการนิติราษฎร์ กับสยามประชาภิวัฒน์
จินดารัตน์ - คือคนก็กำลังพยายามที่จะคิดว่ากลุ่มคนเหล่านั้นเขาคิดอย่างนั้นจริงๆ เขาอยากได้อย่างนั้นจริงๆ หรือว่ามันมีเหตุปัจจัยอื่นที่อยู่เบื้องหลัง คนๆ หนึ่งอยากจะให้กลุ่มนี้ทำงานให้ มีเงินเข้ามาอุดหนุนจุนเจือกัน แล้วก็ให้มีการแถลงข่าว เปิดโต๊ะ เปิดห้องประชุมกัน อะไรแบบนี้ อาจารย์คิดอย่างไร
บรรเจิด - ผมคิดว่าจุดหนึ่งในทางวิชาการด้วยกัน เราก็เคารพในเรื่องเสรีภาพวิชาการที่ต่างฝ่ายต่างก็มีเสรีภาพในทางวิชาการ แต่จุดที่จะมากไปกว่านั้นผมว่าเป็นเรื่องของการวิเคราะห์ในทางสังคมว่าการดำเนินการต่างๆ ดังกล่าวนั้นมันมีที่ไปที่มาอย่างไร ผมว่าเป็นประเด็นในทางวิเคราะห์ แต่ว่าในทางวิชาการเราเคารพ แต่สิ่งทั้งหมดทั้งปวงนั้น กรรมจะเป็นเครื่องชี้เจตนา ผมอยากจะชี้ไปตรงนั้นมากกว่า กรรมต่างหากเป็นเครื่องชี้เจตนาว่าจะมีเจตนาอย่างไร ก็ดูจากการกระทำที่ได้กระทำออกมา
จินดารัตน์ - นี่เพิ่งจะเริ่มต้นนะคะ เราต้องดูต่อว่าเขาจะทำอะไรกันต่อ / พี่สุวัตร ในฐานะเป็นทนายความ มองแล้วกฎหมายแบบนี้มันมีความเป็นไปได้แค่ไหน อย่างไร อย่างที่อาจารย์บอกว่าบริบทสังคมไทยมันไม่ได้เหมาะสม มันไม่ได้ไปด้วยกันได้เลย
สุวัตร- เมื่อกี้ ส.ว.คำนูณ กับท่าน อ.บรรเจิด บอกว่าสบายใจ คำว่าสบายใจตรงนี้นะ สบายใจที่ได้เห็นสันดาน หรือเห็นธาตุแท้ของเขานะครับ ไม่ใช่สบายใจว่าจะให้รัฐธรรมนูญนี้ผ่าน เราต้องจับประเด็นให้ได้นะครับ
บรรเจิด บอกว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา คุณแอนก็บอกว่า มีอะไรหรือที่อยู่เบื้องหลัง หรือผลักดันกลุ่มนิติราษฎร์ ถ้าคุณแอนย้อนไปดูในอดีต ตอนแรกเขาบอกจะแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตอนที่เขาชุมนุมกันอยู่ ซึ่งเราก็ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว
112 คำว่าดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ คุณจะแก้ไปทำไม เราก็มาดู 112 ใช้ว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท หมิ่นประมาทนั้นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า แสดงกิริยา วาจา ดูหมิ่น เหยียดหยามผู้อื่น เป็นความผิดอาญาฐานใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง คุณจะให้ยกเลิกมาตรานี้ หรือจะแก้มาตรานี้ คุณต้องการให้คนเขาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อย่างนี้หรือ ถ้าคุณไม่ทำก็ไมผิด
คำที่ 2 ที่ใช้ในมาตรา 112 ใช้คำว่าดูหมิ่น ดูหมิ่น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน บอกว่า ดูหมิ่น ดูถูก เหยียดหยามผู้อื่น ดูหมิ่น ดูแคลน แสดงกิริยาท่าทาง พูดจา หรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร เชิงดูถูกว่ามีฐานะต่ำต้อย หรือไม่ดีจริง ไม่เก่งจริง คุณจะให้คนเขามาชี้หน้าด่าพระมหากษัตริย์ ไม่ดีจริง ไม่เก่งจริง อย่างนั้นแล้วไม่มีความผิด อย่างนั้นหรือ
คำสุดท้ายที่ใช้ในตัวบทนี้ก็คือ อาฆาตมาดร้าย พจนานุกรมให้ความหมายว่า มุ่งพยาบาท มุ่งจะทำร้ายให้ได้ คุณจะให้คนที่มุ่งพยาบาทจะทำร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ต้องมีความผิดอย่างนี้หรือ
คำในภาษากฎหมายนี่นะครับมันชัดเจนอยู่แล้ว เขาก็พยายามจะแก้มาตรา 112 ก็มีการคัดค้าน
มาตรา 112 คือเป้าลวง ผมมองว่าระบอบทักษิณ หรือคุณทักษิณ ไม่พอใจสถาบันพระมหากษัตริย์ เริ่มแรกตรงที่ว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ตั้งแต่ 19 กันยายน ตอนนั้นใช้ชื่อว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เหมือนว่าพระมหากษัตริย์ให้ท้ายในการยึดอำนาจจากเขามา จะเห็นว่าหลังจากนั้นจะมีเว็บไซต์ มนุษยดอทคอมเอย อะไรเอย เข้ามาโจมตีในช่วงนั้น จากต่างประเทศ แล้วต่อมาก็มาในประเทศ สถิติคดีก็เพิ่มขึ้นๆๆ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เราเรียกนี่นะ จริงๆ ไม่ใช่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพนะ ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ใช้คำนี้ดีกว่านะครับ
เมื่อคดีมันเพิ่มขึ้นๆ เขาก็บอกว่า เนี่ย คดีอากงเอย ดา ตอร์ปิโด เห็นมั้ยคดีดูหมิ่นพระมหากษัตริย์มันเพิ่มขึ้นตั้ง 400-500 คดี แล้วนี่เอาคนไปขังเยอะแยะไปแล้ว ต้องแก้ 112 มันไม่ใช่เป็นปัญหาที่กฎหมายนะ มันเป็นปัญหาที่นักการเมืองไปส่งเสริมคนที่ถือข้าง ให้ละเมิดต่อกฎหมาย คดีมันเพิ่ม ก็เพราะคุณไปยั่วยุ อย่างคดีอากง ลำพังอากงมีปัญญาเอารายชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ของคุณอภิสิทธิ์ เลขาฯ คุณอภิสิทธิ์ ครม.ทั้งหมดเลย มาจากไหน เขาเอามาจากการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง พอชุมนุมเสร็จเขาก็แจกเบอร์ แล้วพวกนี้ก็จะโฟนอินเข้าไป ผมเองก็โดนส่งข้อความมาด่าพ่อล่อแม่ ข่มขู่ ไอ้หัวล้านบ้าง ไอ้อ้วนบ้าง มึงระวังระเบิดนะ เดี๋ยวกูจะไปวางระเบิดมึง ผมโดนอยู่เรื่อย แล้วก็เปลี่ยนซิมไป อย่างนี้ ซึ่งผมไปแจ้งความไว้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ผมก็โดน แต่ที่โดนกับผมถือว่ามันเรื่องเล็กน้อย เราก็เป็นประชาชนธรรมดา แต่การส่งข้อความเช่นนี้ด่าพระมหากษัตริย์ 4 ครั้ง 4 คราว โดยข้อความที่แตกต่างกัน และเปลี่ยนซิมได้ แล้วอากงกลายเป็นวีรบุรุษของเขา ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเมื่อจะเล่นมาตรา 112 มีการต่อต้าน
ต่อมา กลุ่มนิติราษฎร์ โดยนายปิยะบุตร แสงกนกกุล ซึ่งเป็นนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ได้แสดงความเห็นในวงเสวนาวิชาการแห่งหนึ่ง ถึงขั้นละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานขององค์พระประมุข โดยเสนอห้ามกษัตริย์แสดงพระราชดำรัสต่อสาธารณะ และต้องสาบานต่อรัฐสภาในการประชุม ว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ นี่ก็เป็นข่าว
112 มานี่บอกแล้ว ต่อไปนี้พระมหากษัตริย์คุย มีพระราชดำรัสกับประชาชนไม่ได้แล้ว ภาพเริ่มชัดขึ้นมาเรื่อยๆ พอเสร็จแล้ว พอมาเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 15 ข้อ มันชัดแจ๋วเลย นักกฎหมายอย่างผม อย่าง อ.บรรเจิด อย่างคุณคำนูณ ก็จบกฎหมายมาด้วยกัน นักกฎหมายบอกว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา หมายความว่าการกระทำทำให้เรามองออกว่าคุณคิดอะไรอยู่
พิภพ-นั่งเฉยๆ ยังไม่พูดอะไร ผมยังไม่รู้ว่า อ.พิภพ คิดอะไร แต่ถ้า อ.พิภพ เอ่ยปากออกมาปั๊บแล้วพูดอะไรผมจะรู้เลยว่าคิดอะไรอยู่ ดังนั้นที่ท่าน ส.ว.คำนูณ กับ อ.บรรเจิด พูดเมื่อสักครู่ว่าสบายใจ หมายความว่าได้เห็นตัวตนกันแล้ว มันชัดแจ๋วแล้วตอนนี้ กลุ่มนี้แก้ผ้าให้เราเห็นหมดแล้วว่าเขามีเจตนาอย่างไร
ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่ตรงนี้ว่า เขาบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล กองทัพ สถาบันการเมือง คุณคำนูณทิ้งคำถามไว้ว่า อะไรเป็นปัญหา สถาบันกษัตริย์เป็นปัญหาไหมขณะนี้ ศาลเป็นปัญหามั้ย กองทัพเป็นปัญหามั้ย หรือสถาบันการเมืองเป็นปัญหามั้ย ที่คุณต้องไปปฏิรูป ปัญหาบ้านเมืองเราในขณะนี้ ปัญหามันเกิดจากการคอร์รัปชั่น ถูกมั้ย ถ้าแก้คอร์รัปชั่นในประเทศไทยได้ คุณแก้ปัญหาได้ทั้งหมดเลย
นักการเมืองไม่คิดจะแก้มาตรา 237 เพราะ 237 บอกว่าถ้าคุณซื้อสิทธิ์ขายเสียง โดนยุบทั้งพรรค ทำไมนิติราษฎร์ไม่พูดถึงว่า เราจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม การซื้อสิทธิ์ขายเสียงให้หมดไป เมื่อการซื้อสิทธิ์ขายเสียงหมดไป เมื่อ ส.ส.มาอยู่ในสภา ทำอย่างไรไม่ให้ ส.ส.ขายตัว ทำอย่างไรไม่ให้นักการเมืองคอร์รัปชั่น ทำอย่างไรจะให้รัฐบาลแจกถุงยังชีพที่ไม่ยัดไส้ แล้วก็เอาของที่ไม่มีราคาไปให้ ในราคา 300 , 500 , 800 คุณเลือกอย่างไรว่าประชาชนของคุณ คนนี้ควรจะได้ถุง 800 คนนี้จะได้ 500 คนนี้ 300 แล้วในที่สุดก็ตั้งกรรมการสอบสวนมา เห็นชัด พบว่าสำนักนายกรัฐมนตรีจัดซื้อถุงยังชีพแจกนั้น มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาของบ้านเมืองเรานี้มันอยู่ที่การทุจริตคอร์รัปชั่น การเลือกตั้ง อบต. อบจ. เราบอกเราต้องการจะกระจายอำนาจไปสู่ประชาชน ความจริงแล้วส่งความแตกแยกไปสู่ประชาชน บ้านผมนะ อบต.เมื่อก่อนนี้สมัครสมานสามัคคีกันดี พอเลือกตั้ง อบต.ปั๊บ มันแบ่งฝ่าย พร้อมจะห้ำหั่นกันตลอดเวลา
ปัญหามันอยู่ที่การทุจริตคอร์รัปชั่น การซื้อเสียง แต่นิติราษฎร์ไม่หยิบอย่างนี้มา กลับมาหยิบเอาประเด็นว่าสถาบันกษัตริย์เป็นปัญหานะ ต้องปฏิรูปนะ ใช่หรือ ถามว่าใช่หรือ? ศาลเป็นปัญหาหรือ? ใช่หรือ? สถาบันกษัตริย์เป็นปัญหานี่ใครเป็นคนพูด บิดาคุณใช่มั้ยที่พูด เพราะเขาบอกว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งก็คือตรงนี้
พอศาล ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุกคุณทักษิณ 2 ปี แล้วหลบหนีออกไป ทักษิณบอกศาลเป็นกระบวนการยุติความยุติธรรม ศาลเป็นสองมาตรฐาน แต่ในขณะเดียวกันทักษิณก็เอาคดีมาฟ้องแกนนำพันธมิตรฯ อ.พิภพ ก็โดน 50-60 คดี โดยไม่ต้องมาเบิกความ มอบให้ทนายมาฟ้อง เวลาจะใช้สิทธิ์ทางศาล คุณก็ใช้ เวลาเขาจะลงโทษจำคุกคุณ คุณหนี แล้วบอกผัวเมียซื้อที่ดิน ผัวผิดได้อย่างไร ไปพูดให้ฝรั่งมังค่าเขาฟัง ไอ้ฝรั่งมันก็งงว่าจะผิดได้ยังไง เมียซื้อที่ดิน ผัวจะผิดได้ยังไง ก็เมียมึงจดทะเบียนสมรสกับมึงไง แล้วทรัพย์มันราคาตั้ง 2 พันล้าน คุณซื้อในราคา 772 ล้าน แล้วซื้อมาแล้วคุณก็มีกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่งไง คุณใช้ตำแหน่งหน้าที่ และกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด คุณถึงได้ผิด แต่ไม่พูดอย่างนี้
เวลาสมัคร สุนทรเวชา บอก โอ๊ยทำกับข้าวก็ถูกปลดออก คนก็ไปฟังว่าประเทศไทยนี่มันคงล้าหลังนะ ยังขี่ช้าง กินข้าวกับมือกันอยู่มั้ง ซึ่งศาลไม่ใช่ปัญหา คนที่บอกว่าศาลคือปัญหานั่นคือคุณทักษิณ เวลาไม่เห็นด้วยกับศาล แต่เวลาจะใช้ศาลจำคุกพวกแกนนำพันธมิตรฯ พวกเรานี่ บอกศาลดี
ต่อมาก็บอกกองทัพ กองทัพมีปัญหา? กองทัพยุคไหนล่ะ? ใครทำให้คุณเจ็บทำไมคุณไม่กลับไปแก้แค้นตอนนั้นล่ะ บิ๊กบังใช่ไหมที่ไล่คุณออกไปน่ะ แล้วทำไมไปกอดคอจูบปากกันอยู่ทุกวันนี้ มาปองแล้วก็ดองกันอยู่เนี่ย ทำไมไม่ไปเอาโทษกับคนๆ นั้น มาเอาอะไรคุณประยุทธ์เขาล่ะ มาเอาอะไรกับคุณดาว์พงษ์เขาล่ะ ทำไมไม่กลับไปล่ะ แล้วคุณไปจูบปากกับคุณสนธิบังทำไม สถาบันการเมืองก็ตาม
เพราะฉะนั้น พอเริ่มพูด อ้าปากเราก็เห็นลิ้นไก่ พอขยับตาเราก็เห็นกึ๋น
ผมไม่ใช่คนใจแคบ เมื่อเราปกครองระบบนิติรัฐ เราปกครองโดยกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อเป็นเช่นนั้นเราต้องยอมรับแล้วว่า กฎหมายมันจะเป็นภูเขาเลย สมัยก่อนผู้ใดถูกประหารชีวิตท่านว่าเอาไปยิงเสียให้ตาย ต่อมาโลกมันเปลี่ยนแปลงไป ผู้ใดถูกประหารชีวิต ท่านว่าให้เอาไปฉีดยาเสียให้ตาย มันก็แก้ได้ ผู้ใดลักทรัพย์ สมัยก่อนลักทรัพย์ก็เอาไป ผู้ใดเอาไปซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น เดี๋ยวนี้มันไม่เอาไปอย่างเดียว มันใช้คอมพิวเตอร์ มันใช้อินเตอร์เน็ต มันใช้เครดิตการ์ด เมื่อกฎหมายมันเปลี่ยนแปลง กฎหมายมันก็เติบตามไปได้
ผมไม่คัดค้านการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าจะแก้ เพื่อวัตถุประสงค์อะไร การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถ้าแก้ได้ ผมจะตั้งฉายาว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับคนขายชาติ ขายชาติยังไงครับ เขาเททุกอย่างไปที่การเลือกตั้ง การเลือกตั้งบ้านเราซื้อสิทธิ์ขายเสียงเกือบทั้งหมด ถูกไหมครับ ส.ส.500 คน ทุ่มไปเลย 50 ล้าน 5*5=25 ผมมีเงิน 25,000 ล้าน ผมซื้อประเทศไทยได้เลยนะ
คุณแอนรู้ไหมว่า อเมริกาเขาเข้าไปแทรกแซงอิรัก อิหร่าน นี่เขาส่งกองเรือไปแล้วนะ ถ้าประเทศไหนผู้นำไม่อยู่ในคอนโทรลของเขา หรือเขาไม่สามารถคอนโทรลได้ เขาก็จะบีบบังคับแล้วก็ให้ทุนเขาไปด้วยนะ ที่เคลื่อนไหวกันอยู่ทุกวันนี้ ได้รับทุนจากอเมริกามาเท่าไร ถ้าคุณยอมให้การเลือกตั้งมากำหนดการแต่งตั้งศาล พระมหากษัตริย์ต้องไปปฏิญาณ ไปสาบานต่อรัฐสภา แปลว่าคุณให้อำนาจพวกนี้มากเกินไป คุณลืมบริบทที่แท้จริงของประเทศไทย ว่าบัดนี้การเลือกตั้งมันไม่ได้บริสุทธิ์ยุติธรรม พวกเสือสิงห์กระทิงแรดที่พันธมิตรฯ เขาโหวตโน มันเต็มสภาไปหมด เมื่อมันเต็มสภาไปหมดแล้ว จารีตประเพณีเรา เราเป็นใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ บุคคลใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ ไม่ได้ นั่นคือมาตรา 8 มันมีมาตั้งแต่ 2475 แล้ว
ถ้าคุณจะกลับไปรัฐธรรมนูญปี 40 อยู่มาตราเดียวกันเป๊ะเลย ข้อความเดียวกันด้วย เมื่อคุณจะล่วงละเมิดไปทำลายสถาบันกษัตริย์เช่นนี้ ตอนนี้คนโคราชก็ลุกมาแล้ว คนขอนแก่นก็ลุกออกมาแล้ว ASTV มาตั้งแต่วันแรกที่นิติราษฎร์มันเริ่มอ้าปาก เราก็รู้ทัน
การที่เขาเสนอทั้งหมดมา ทำให้เรามองว่าบุพเจตนา หรือ Motive การเสนอมา ผมเห็น 15 ข้อ ผมรู้เลยไอ้พวกนี้คิดอะไร กูเห็นกึ๋นมึงแล้ว จะได้ค้านกันได้เต็มที่ ผมเคยคุยกับคนที่เขาใกล้ชิดกับพวกทักษิณ เขามีความคิดกันว่าในหลวงเราก็ทรงพระชนม์ชีพมากแล้ว ตอนนี้ก็ป่วย ผมก็ถามเขาว่าทักษิณเขาอยากได้ประเทศชาติในรูปแบบไหน หรือสถาบันกษัตริย์ในรูปแบบไหน ก็มีพรรคพวกเขา เคยเป็นทนายให้เขาด้วย พูดกับผมบอกว่า เขาอยากได้แบบเขมรน่ะ "ฮุน เซน โมเดล" ตัวแบบฮุน เซน
จินดารัตน์- สถาบันอ่อนแอ
สุวัตร - กษัตริย์สีหมุนี ไง ต้องแต่งตั้งสมเด็จฮุน เซน จากไอ้อะไรก็ไม่รู้ มันอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ โดนเขาปล้นบ้านปล้นเมืองมา มาจากเวียดนาม จนเป็นสมเด็จ แล้วสีหมุนีก็ต้องอาศัยเงินจากฮุน เซน ฮุน เซน ต้องการให้สีหมุนีทำอะไร จะพระราชทานอภัยโทษคุณวีระ คุณราตรี หรือไม่ ไม่ใช่อยู่ที่สีหมุนีนะ อยู่ที่ฮุน เซน นะ
เพราะฉะนั้นตัวนี้เป็นอันตรายสำหรับประเทศไทย จึงชี้ให้เห็นได้ว่า การที่นิติราษฎร์ทำเช่นนี้ ทำให้ผมมองว่าไอ้นี่พูดภาษาเดียวกับทักษิณ พูดภาษาเดียวกันเลย
จินดารัตน์- เหมือนเป็นตัวแทนเลย
สุวัตร- มันเป็นตัวแทนเลย แล้วกลุ่มที่มาสนับสนุนเขาก็พวกเสื้อแดงไง แล้วกลุ่มสนับสนุนทักษิณก็คือกลุ่มเดียวกัน เพราะฉะนั้นนิติราษฎร์แยกตัวไม่ออกหรอกว่าเป็นกลุ่มของคุณทักษิณ วันนั้นที่หอประชุมธรรมศาสตร์ ก็พวกเสื้อแดงนี่ล่ะไปเต็มไปหมดเลย เมื่อมันชัดเจนอย่างนี้ ผมก็ขอใช้คำว่าสบายใจ เหมือน ส.ว.คำนูณ กับ อ.บรรเจิด อีกสักคน สบายใจตรงนี้ สบายใจที่ว่าเห็นตัวตนมึงแล้ว
จินดารัตน์ - แก้ผ้าให้เห็น
สุวัตร - เวลาเราไปรบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราไม่รู้นะเรารบกับใคร แต่ถ้าเรารู้ว่ารบกับใคร แล้วอยู่ตรงไหน มันง่ายไง เพราะฉะนั้นผมก็อยากจะเรียกร้องให้ประชาชนทั้งหมดออกมาช่วยกันแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า รัฐธรรมนูญมันควรแก้ตามนี้มั้ย ไม่ช้าเราจะได้เห็นดีกัน
จินดารัตน์ - ในฐานะแกนนำพันธมิตรฯ หลายคนกำลังรอลุ้นอยู่ ขอนแก่นก็ออกมาแล้ว โคราชก็ออกมาแล้ว แล้วพันธมิตรฯ ล่ะ ถ้าเห็นล่อนจ้อนกันแบบนี้
พิภพ- จะให้ออกเหรอ
จินดารัตน์- สบายใจมั้ยคะ สบายใจเหมือนพี่คำนูณบอก เหมือนที่อาจารย์บอก
พิภพ- สบายใจ แล้วผมคิดว่าเขาไปไม่รอดหรอก แกนนำพันธมิตรฯ ไม่ต้องเป่านกหวีดหรอก เขาไปไม่รอดจริงๆ นี่ไม่ได้พูดเล่นๆ นะ ประเด็นที่ต่อจาก อ.บรรเจิด นะครับ รู้สึกผมเคยพูดเวที อ.วรเจตน์ ได้มีข้อเขียนมาครั้งแรกเลย ผมบอกว่าถ้าคุณเป็นนักวิชาการ คุณต้องพูดทุกด้าน ถ้าไม่พูดทุกด้านคุณจะไม่เป็นนักวิชาการ คุณจะเป็นนักการเมือง เพราะนักการเมืองจะพูดด้านเดียว คือด้านที่ตรงกับความคิดของตัว และตัวได้ประโยชน์ นี่ก็อยากจะเตือน อ.วรเจตน์ ด้วยความรัก
เพราะฉะนั้น พอพูดด้านเดียว มันต้องถูกตีความว่าด้านที่พูดด้านเดียว ใครได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น อ.วรเจตน์ หลีกไม่ได้หรอกครับที่คนเขามองว่าสิ่งที่คุณพูดด้านเดียว แล้วใครได้ประโยชน์
สอง คุณอย่าดีใจไป เพราะข้อเสนอของคุณมีมวลชนเสื้อแดงรองรับ เพราะในนี้คุณอ้างประชาชนอยู่เรื่อย ฉะนั้นประชาชน รวมทั้งหลากสี หลายสี และคนที่ไม่มีสีด้วย ถ้าข้อเสนอของคุณ เอาตรรกะง่ายๆ นะ เป็นสิ่งที่สังคมไทยรับ จะต้องคนส่วนใหญ่รับ โดยไม่แยกสี นี่ตีความง่ายๆ เพราะฉะนั้น อ.วรเจตน์ ตั้งหลักไว้เถอะครับ ตราบใดที่คุณจัดที่หอเล็ก ธรรมศาสตร์ แล้วไม่มีเสื้อเหลืองไป ไม่มีหลากสีไปเห็นด้วยกับคุณ แสดงว่าข้อเสนอของคุณมันเฉพาะกลุ่มเท่านั้น มันได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม
จินดารัตน์ - แต่ดูเขามั่นอกมั่นใจนะคะ
พิภพ - นี่ประเด็นแรกที่อยากจะเสนอ แล้วก็เสียดายความเป็นนักวิชาการและคนหนุ่มที่ว่า ไม่ควรที่จะมองปัญหาแบบด้านเดียว พอมองปัญหาแบบด้านเดียว มันจะถูกตีความไปว่าเป็นประโยชน์กับใคร คือถ้า อ.วรเจตน์ เป็นนักการเมืองผมจะไม่ว่าเลยนะ แล้วคนแบบ อ.วรเจตน์ มีหลายคนนะ ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม อ.วรเจตน์ ด้วย อาจจะอยู่ในปีกการเมืองประชาธิปัตย์ อาจจะปีกการเมืองโน้น การเมืองนี้ คือนักวิชาการที่มองด้านเดียว ให้เอ่ยชื่อหรือเปล่า ตอนเวทีพันธมิตรฯ เราก็เอ่ยหลายคน นักวิชาการมองด้านเดียว ในกรณีชายแดนเขมร นึกออกไหม คนหนึ่งก็มาบอกว่า ให้องค์การยูเนสโกประกาศเป็นร่วมกัน ขณะที่ดินแดนยังตกลงกันไม่ได้เลย เจอท่านนี้กินข้าวก็บอก พี่พิภพก็เคยด่าผมบนเวที ผมเลยบอกว่า อาจารย์ ที่ผมวิจารณ์อาจารย์นะ เพราะอาจารย์พูดด้านเดียว แต่วันนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาบอกว่าอาจารย์พูดอะไร อาจาย์ไปดูเอาแล้วกัน แล้วสุดท้ายก็มองเห็นว่าคนที่พูดด้านเดียวจะอยู่ในปีกการเมืองใดปีกการเมืองหนึ่ง
นักวิชาการทางกฎหมายคนหนึ่ง พูดเรื่องโหวตโน เป็นนักกฎหมายนะ บอกว่าโหวตโนนี้ผิดกฎหมาย และเป็นบัตรเสีย ผมบอกว่าถ้าคุณไม่ได้เป็นนักกฎหมาย ผมจะไม่ว่าเลยนะ แล้วคุณเป็นอดีต ส.ส.ร.ที่ร่างรัฐธรรมนูญด้วย นี่ยกตัวอย่างประกอบนะ เพราะฉะนั้นการที่ อ.วรเจตน์ พูดด้านเดียว เสียกับ อ.วรเจตน์ เอง ผมก็เห็นด้วยกับ อ.บรรเจิด ว่าไม่เป็นนักวิชาการแล้ว แล้วกลุ่มนั้นก็จะเห็นชัดเจน นี่ก็เป็นประเด็นแรก
สอง ที่ผมคับข้องใจมาก อ้างถึง อ.ปรีดี บ่อยจัง อ้างถึง 2475 บ่อยจัง คือเรื่องนี้ถ้าใครไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ จะไม่รู้นะครับ แล้วการอ้างแบบนี้ อ.ปรีดี เสียนะ ผมเรียนได้เลยว่า อ.ปรีดี เป็นคนเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์มากจนตัวตาย จะให้บอกเลยว่าพฤติกรรมของ อ.ปรีดี ทำเรื่องเหล่านี้จนตัวตาย เพราะอะไร เรามีเรื่องที่ไม่ควรจะพูดที่นี่
ก็อยากจะเรียนว่าการไปอิงรัฐธรรมนูญ 2475 อิงรัฐธรรมนูญ 2-3 ฉบับ แล้วคนที่ไม่เข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ก็จะเข้าใจผิด นึกว่าดี นึกว่ารัฐธรรมนูญพวกนี้ดี คือรัฐธรรมนูญมันเป็นวิวัฒนาการนะ เป็นการพัฒนาการ การที่กลับไปตรงนั้นมันไม่น่าทำ มันควรจะดูบริบทของสังคมว่าจะก้าวไปยังไง ก็พูดเหมือนทั้ง 3 ท่านพูดเนี่ย เอาปัญหาประเทศไทยมาเป็นตัวตั้งก่อน มีอะไรบ้าง แล้วรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นตัวที่สร้างโครงสร้าง จัดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ จัดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับอำนาจ จัดการบริหารจัดการประเทศ จะแก้ปัญหา 1..2..3.4..5.. ได้อย่างไร
จินดารัตน์- ลำดับความสำคัญ
พิภพ - ใช่ แล้วไม่ใช่ลำดับความสำคัญ บางทีอาจจะสำคัญพอๆ กันหมดเลยนะ จะเอาอะไรก่อน-หลังก็ได้ เพราะฉะนั้นประเด็นที่ อ.วรเจตน์ พูดเพียงด้านเดียว คือไม่พูดทางภาคการเมืองเลย
จินดารัตน์ - ซึ่งมันเป็นปัญหาใหญ่มาก
พิภพ - ปัญหาใหญ่มาก
จินดารัตน์- ใหญ่ที่สุด
พิภพ - ความรู้สึกของประชาชน ปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาใหญ่มาก ใหญ่ขนาดเรียกว่าเป็นอันดับ 7 ของโลกนะ แล้วก็มูลค่าการคอร์รัปชั่นแต่ละปีรวมแล้ว 2 แสน 3 แสนล้าน เป็นอันดับ 1 ของโลก ถามหน่อยนี่เป็นปัญหาหรือเปล่า ทำไมไม่พูด การเลือกตั้งเป็นปัญหาหรือเปล่า แล้วนักวิชาการกลุ่มนี้เห็นการเลือกตั้งเป็นคำตอบ เหมือนว่าพระเจ้ามอบมา ต้องถูกเสมอ ขอให้มีการเลือกตั้ง ถูกเสมอ แล้วให้ยอมรับการเลือกตั้ง ถามหน่อยว่ามืดบอดหรือไง ไม่เห็นว่าปัญหาของเมืองไทย ปัญหาเรื่องการเลือกตั้ง แล้วพอไปยกประเทศอื่นๆ ในยุโรป เขาไม่มีปัญหาการเลือกตั้ง แล้วไปยกเขามา แต่ทำไมเรามีปัญหาเลือกตั้ง ทำไมไม่ยก
อีกประเด็นหนึ่ง ใครฉีกรัฐธรรมนูญ อ.วรเจตน์ บอกว่าทหารฉีกรัฐธรรมนูญ ถูก รัฐประหาร ต่อต้านรัฐประหาร ถูก แต่ต้องบอกให้ครบว่า คุณทักษิณฉีกรัฐธรรมนูญหรือเปล่า โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 2540 คุณทักษิณฉีกเป็นชิ้นๆ เลย คำว่าฉีกคือไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และแทรกแซงองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เป็นที่รู้กัน ทั้งงานวิจัย ทั้งงานคำพิพากษาของศาล ถามหน่อย อ.วรเจตน์ อ่านบ้างหรือเปล่า ไม่ต้องอ่านก็ได้ เป็นคนไทยก็มองเห็นว่าคุณทักษิณฉีกรัฐธรรมนูญหรือเปล่า เพราะฉะนั้นถ้าพูด ก็พูดให้หมดว่าใครฉีกรัฐธรรมนูญ พูดให้หมด ผมยอมรับนะทหารฉีกรัฐธรรมนูญ ทหารใช้กระสุนปืนและรถถังเข้าสู่อำนาจ คุณทักษิณใช้กระสุนเงินเข้าสู่อำนาจ อ.วรเจตน์ พูดด้วยสิ ยอมรับไหมว่าคุณทักษิณใช้เงิน อย่างที่เขาบอกว่าใช้เงิน 2 หมื่นกว่าล้าน ก็ซื้อได้แล้ว อ.วรเจตน์ ต้องพูดประเด็นพวกนี้ ผมจึงเห็นด้วยกับ อ.บรรเจิด ซึ่งเป็นนักวิชาการและนักกฎหมาย ไม่มีความเป็นนักวิชาการ
เพราะฉะนั้นการที่พูดล่อนจ้อน ที่เราบอกว่าดี ก็เพราะว่าได้เห็นชัดเจนว่าเขาไม่ได้เป็นนักวิชาการ เป็นนักการเมือง เพียงแต่ว่ายังไม่ได้ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค หรือเข้าสู่วงการเมือง
จินดารัตน์- หรือเปิดเผยตัวอย่างชัดเจน
พิภพ - ทีนี้พอพูดประเด็นสิทธิมนุษยชน กลุ่มนี้ก็อ้างประกาศสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติ 2-3 วันนี้กรรมการสิทธิฯ ออกมาแล้วใช่ไหมว่าไม่ได้สนับสนุนแก้ไขมาตรา 112 ก็ชัดเจนว่ามาตรา 112 มันไม่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะว่ากฎหมายเกี่ยวกับเรื่องหมิ่นประมาท ใช้คำว่าหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย ใช้กับคนทั่วไปหมด ก็ผมลองไปอาฆาตมาดร้ายพี่สุวัตร พี่สุวัตรก็ฟ้องผมแล้ว แล้วนี่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า ถ้าพี่สุวัตรฟ้องผม เปล่า ผมนี่ไปละเมิดพี่สุวัตร นี่พูดประเด็นง่ายๆ แบบที่คนทั่วไปเข้าใจง่าย
เพราะฉะนั้นกฎหมายตัวนี้ ซึ่งก็พูด 3 เรื่องนี้ ไม่ว่าจะกฎหมาย จะหมิ่นประมาท พูดหมด ถามว่าไปละเมิดสิทธิมนุษยชนตรงไหน เปล่า ไม่ได้ละเมิดสิทธิฯ แล้วพอเป็นที่องค์พระมหากษัตริย์ อันนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าจะต้อง องค์พระประมุขจะต้องมีวิธีการดูแลเป็นพิเศษ เอาล่ะเราไม่พูดรายละเอียด เพราะฉะนั้นนี่มันพูดไม่หมด แม้แต่การยกเรื่องสิทธิมนุษยชน แล้วปัญหาว่ากลุ่ม อ.วรเจตน์ เคยรู้ไหมว่ารัฐบาลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด คือรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ถามหน่อยจะแก้ยังไง
กรณี 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นแถบเลยที่คุณทักษิณใช้หมัดเหล็ก นี่คุณทักษิณสารภาพเองเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าตัวเองผิดพลาดไปที่ใช้หมัดเหล็ก กำปั้นเหล็ก ถามหน่อยว่า แล้วกฎหมายทำอะไรกำปั้นเหล็กบ้างล่ะ ในฐานะเป็นนักกฎหมาย เพราะคุณไม่มีสิทธิ์ใช้กำปั้นเหล็กนะ โดยผิดกฎหมายนะ อ.วรเจตน์ ถามสิ นี่คุณทักษิณสารภาพเองนะ แล้วขอโทษนะ ผมใช้กำปั้นเหล็กไป กำปั้นเหล็กของคุณทักษิณใช้กับใครบ้าง ใช้กับ 3 จังหวัดภาคใต้ ใช้กับกรณีปราบยาเสพติด อันนี้ต้องพูดให้หมด อ้างประชาชนบ่อยนี่ ถามหน่อยว่าอ้างประชาชนบ่อยเนี่ย แล้วเวลาเสนอโครงสร้างการเขียนรัฐธรรมนูญ ประชาชนอยู่ตรงไหน อยู่กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มคนที่เลือกมา ใครเลือกล่ะ เพราะฉะนั้นมันขัดกันไปหมด
เวลาอ้างประชาชน อ้าง อ.ปรีดี คือบริบทของ อ.ปรีดี ในสมัย 2475 กับบริบทตอนนี้มันคนละเรื่องกัน เพราะฉะนั้นเวลาอ้าง คนที่ไม่ตามเรื่องประวัติศาสตร์ก็จะเข้าใจคิดว่า อ.ปรีดี กับกลุ่มนิติราษฎร์คิดเหมือนกัน แต่ผมบอกได้เลยว่าไม่เหมือนกัน แต่วันนี้ไม่มีเวลาอภิปรายเรื่องนี้
เพราะฉะนั้นสรุปสำหรับผม ก็เห็นด้วยกับทั้งสามท่านว่า เขาพูดมาหมดเขาก็ยิ่งไม่สามารถจะไปได้ เพระาว่ามันขัดกันไปขัดกันมา สองเราก็เห็นเจตนา สาม การที่พูดปัญหาไม่หมด และเสนอทางออกไม่หมด เมื่อพูดปัญหาไม่หมด เสนอทางออกก็ยิ่งไม่รอบด้านใหญ่ ก็ยิ่งจะไม่ประสบความสำเร็จ
ถามหน่อยเถอะ อ.วรเจตน์ และกลุ่มนิติราษฎร์ ประเทศไทยตอนนี้ต้องการปฏิรูปใช่มั้ย ต้องการการเปลี่ยนแปลงทุกด้านใช่มั้ย แล้วกระแสนี้เกิดหลังวันที่ 19 พฤษภาฯ ใช่หรือเปล่า แล้วคุณอภิสิทธิ์ก็จับกระแสนี้ มาตั้ง อ.ประเวศ ตั้งใครต่อใครอีกหลายคณะ แล้วคุณอภิสิทธิ์ก็ไปแก้รัฐธรรมนูญ เพียงไม่กี่มาตรา แทนที่จะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แล้วพันธมิตรฯ ยืนยันไปแล้วว่า รัฐธรรมนูญเขียนใหม่ได้ แก้ใหม่ได้ แต่ต้องถามประชาชน อ.วรเจตน์ อ้างประชาชน ถามหน่อย ประชาชนที่โหวตรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เป็นประชาชนหรือเปล่า แล้ว อ.วรเจตน์ บอกว่า ไม่ต้องไปถามประชาชนหรอก จะแก้เสียใหม่ เสร็จแล้วค่อยไปถามประชาชน ว่าจะเอาหรือไม่เอา
จินดารัตน์ - แล้วดูเหมือนว่าร่างที่ให้มา ข้อเสนอที่ให้มา ก็โยนอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้กับนักการเมือง
พิภพ - ใช่ แล้วสอง ประเด็นที่เสนอแก้ ก็ทิ้งไปเยอะเลย เช่น ประเด็นนักการเมือง การฉ้อฉลของนักการเมือง เรื่องการแทรกแซงองค์กรอิสระ อะไรต่ออะไร แล้วจะไปบอกเขียนว่าห้ามทหาร จะลงโทษทหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญ ก็อย่างที่ผมพูดตอนต้นไง การฉีกรัฐธรรมนูญ คุณทักษิณฉีกโดยพฤตินัย ทหารฉีกโดยใช้อำนาจทางนิตินัย อ.วรเจตน์ ต้องพูดทั้งสองด้านสิ ว่ารัฐธรรมนูญถูกนักการเมือง โดยเฉพาะสมัยรัฐบาลคุณทักษิณ ฉีกอย่างไรบ้าง
แล้วยังมีอีกหลายเรื่องที่เขาเขียนมาบอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ จะเห็นได้เลยว่าไม่ประสบความสำเร็จหรอก
จินดารัตน์ - เขาบอกว่าคณะนิติราษฎร์วันนี้ ที่เปลือยกายล่อนจ้อนเพราะคงจะมีความมั่นอกมั่นใจอยู่ในระดับหนึ่ง และคงจะเป็นการเช็กกระแสสังคมด้วย วันนี้ถ้าคุณผู้ชมติดตามข่าว เขาบอกว่าน่าเสียดายที่สื่อต่างๆ ทั่วไป ไม่ค่อยให้ความสนใจเรื่องนี้สักเท่าไร เลยทำให้กระแสสังคมตอนนี้รับรู้กันเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น จริงหรือเปล่า แต่ที่ดูตอนนี้เห็นมีหลายกลุ่มออกมาต่อต้านแล้ว เริ่มออกมาแถลงข่าวแล้ว เริ่มออกมาพูดเรื่องนี้กันเยอะขึ้น เดี๋ยวช่วงหน้ากลับมาเราจะลองประเมินสถานการณ์ว่าในสังคมไทยรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ แล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้าง อยากฟังความเห็นคุณผู้ชมด้วยนะคะ ส่ง sms หรือโทรเข้ามาที่ 02-629-4433 พักกันสักครู่ค่ะ
คำต่อคำ "บรรเจิด-คำนูณ-สุวัตร-พิภพ"ชำแหละ"นิติราษฎร์"(ต่อ)