“พิชาย” ชี้ข้อเสนอ “นิติราษฎร์” โอกาสผ่านสภายากมาก เพราะนักการเมืองไม่กล้าทานกระแสสังคมแน่ ตั้งข้อสังเกตเป็นเพียงแผนกระตุ้นความขัดแย้งในสังคมให้รุนแรง หวังยั่วทหารปฏิวัติ แล้วปลุกมวลชนออกมาสู้ เพื่อล้มล้างระบอบการปกครอง ด้าน “ทวี” มองเป็นการจุดกระแสความเกลียดชังนำไปสู่ความรุนแรง เพื่อพลิกประเทศ โดยร่วมมือกับ “เพื่อไทย” ชี้เคลื่อนไหวครั้งนี้จัดการอย่างมีระเบียบ ไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางสังคมปกติ
วันที่ 16 ม.ค. เมื่อเวลา 20.30 น. รายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ASTV นักวิชาการกลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ผศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล ประธานสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะภายใต้หัวข้อ “ชำแหละนิติราษฎร์ แก้มาตรา 112”
ผศ.ดร.พิชายกล่าวว่า ข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่สุ่มเสี่ยงและอันตรายมาก คือ ข้อเสนอเบื้องต้นให้ยกเลิกมาตรา 112 ก่อน หมายความว่ายกเลิกมาตรา 112 เดิม มันก็จะเกิดช่องว่างขึ้นมา แล้วก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่าข้อเสนอที่เหลือจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ หรือมาตรานี้จะถูกยกเลิกไปเลย เพราะคนที่คุมเสียงข้างมากในสภาอยู่ ก็เป็นฝ่ายที่สนับสนุนนิติราษฎร์ทั้งนั้น
อีกทั้งยังเสนอให้แยกมาตรา 112 ออกจากความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ซึ่งปรัชญาดั้งเดิมของสังคมไทย ความมั่นคงของสถาบันฯ ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความมั่นคงของประเทศ ไม่อาจแยกกันได้ ฉะนั้นข้อเสนอนี้เหมือนกับแยกปลาออกจากน้ำ มันไม่ถูกต้องด้วยปรัชญาและเหตุผลทางวัฒนธรรมของสังคมไทย เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้การละเมิดกษัตริย์ทำได้ง่ายขึ้น ความผิดเท่ากับการละเมิดปัจเจกบุคคล ไม่ใช่ความผิดต่อความมั่นคง เพราะโดยข้อเสนอของนิติราษฎร์ โทษที่เสนอนั้นไม่ได้มากกว่าหมิ่นประมาทคนธรรมดาทั่วไป พูดง่ายๆ ก็คือ กำลังลดสถานะสถาบันกษัตริย์ให้เท่ากับคนทั่วๆ ไป
มีการเสนอแบ่งแยกการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เท่ากับเป็นการแบ่งแยกแล้วละเมิด ทำให้ละเมิดราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการได้ง่ายขึ้น โดยกำนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีสำหรับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และไม่เกิน 2 ปีสำหรับพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการฯเท่ากับกฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดา เป็นสามัญชนทั่วไป แล้วเป็นสามัญชนที่ไม่มีสิทธิปกป้องตัวเองได้ด้วยซ้ำไป เพราะต้องให้ราชเลขาธิการฟ้อง ไม่สามารถฟ้องเองได้
ส่วนข้อเสนอที่ว่ายกเว้นความผิดในกรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต อันนี้ก็อันตราย เพราะถ้าคุณยืนยันว่าแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต คุณก็ไม่ต้องรับโทษอย่างนั้นหรือ
ข้อเสนอต่อมา ยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อันนี้ก็เป็นเหตุเดียวกันกับกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป เช่นเดียวกัน อีกทั้งการให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจกล่าวโทษ ก็เป็นการลดพระเกียรติภูมิของกษัตริย์ให้ลงมาให้เป็นเพียงปัจเจกบุคคล
ผศ.ดร.พิชายกล่าวต่อว่า ข้อเสนอของนิติราษฎร์เป็นข้อเสนอที่ลดพระเกียรติยศและพระเกียรติภูมิของพระองค์ลงมาเพื่อให้ดูหมิ่นง่ายขึ้น ตรงนี้จะเป็นปฐมบทเพื่อให้การกระทำอย่างนี้แพร่หลายออกไป ถ้าข้อเสนอนี้ผ่านสภาก็จะทำให้พวกที่อยู่ใต้ดิน แสดงออกได้อย่างเสรีมากขึ้น แต่ตนคิดว่าการคัดค้านข้อเสนอนี้คงเกิดขึ้นมากในสังคมไทย และน่าจะตกไปตั้งแต่ยังไม่เข้าสภาก็ได้
น่าสังเกตข้อเสนอนิติราษฎร์เหมือนเป็นไปไม่ได้ในเชิงปฏิบัติ กลุ่มนิติราษฎร์เองรู้ทั้งรู้ว่าข้อเสนออาจเป็นไปไม่ได้ อาจเข้าสภาไม่ได้ด้วยซ้ำไป หรือหากเข้าได้ ประธานสภาก็ไม่กล้าบรรจุวาระ หรือ ส.ส.ไม่กล้าผ่านร่าง เพราะประชาชนคัดค้านมาก ความเป็นไปได้ทางการเมืองต่ำ แต่ความเป็นไปได้ในการสร้างความแตกแยกสูงมาก เจตนาของนิติราษฎร์คืออะไร
“นิติราษฎร์น่ามีสติปัญญามากพอ น่าจะมองออกว่าข้อเสนอนี้จะทำให้เกิดอะไรขึ้น แต่ทำไมยังกระทำต่อ มันเลยทำให้คิดไปได้ว่าเชื่อมโยงไปเรื่องอื่นหรือเปล่า อาจจะเอามาตรา 112 มาเป็นหนึ่งในกระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรืออาจเป็นหนึ่งเรื่องในกระบวนการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ ซึ่งมีนัยถึงรัฐประหารด้วย เพราะถ้าดูการกระทำของรัฐบาลตอนนี้น่าสงสัยที่จะให้คิดอย่างนั้น อย่างการให้เงินเยียวยา รู้ก็รู้ว่าออกมามีคนไม่พอใจเยอะ นี่ก็มาเรื่องมาตรา 112 มันก็นำไปสู่ความไม่พอใจหนักขึ้นไปอีก และอาจสร้างความไม่พอใจให้ฝ่ายทหารด้วย เหมือนเป็นการยั่วยุฝ่ายที่กุมอาวุธ ทดสอบความอดกลั้น
อีกอันหนึ่งที่เชื่อมโยงการแก้รัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ อย่าลืมว่าฝ่ายเสื้อแดงที่เสนอรัฐธรรมนูญ ต้องการลดบทบาทกษัตริย์ลง ที่เห็นชัดก็มี 2 อย่าง อย่างการตัดหมวดองคมนตรีออก หรือการไม่ต้องลงพระปรมาภิไธยในกฎหมาย หรือการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง เพื่อตัดการเชื่อมโยงระหว่างอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนออก เป็นเจตนาของฝ่ายเสื้อแดงและกำลังพยายามผลักดัน
แผนมาตรา 112 ก็คือ ให้คนมาโฟกัสเรื่องนี้ แล้วก็แอบแก้รัฐธรรมนูญกัน ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มปรากฏแล้วด้วยการตั้งคณะกรรมการ 30 คน แทนการตั้ง ส.ส.ร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ)” ผศ.ดร.พิชายกล่าว
ส่วนกรณีที่นายวรเจตน์ขู่ว่า บุคคลที่ขัดขวางการร่วมลงชื่อแก้กฎหมายนี้ เป็นการผิดพรบ.การเข้าชื่อ มีโทษจำคุก 5 ปี ผศ.ดร.พิชายกล่าวว่า สิ่งที่นายวรเจตน์พูดมันก็ขัดแย้งกันเอง ยกเหตุผลมาเพื่อลดโทษมาตรา 112 แต่ตัวเองกลับไปยกกฎหมายอีกมาตรามาข่มขู่บุคคลอื่นที่ไม่เห็นด้วย แล้วมันจะต่างอะไรตรงไหนกับเหตุผลที่คนกลุ่มนี้กล่าวหาคนอื่น จากที่เขาพูดจะเห็นว่าพฤติกรรมเขาไม่ได้เสนอแก้มตรา 112 ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ หรือเพื่อเสรีภาพ เพราะเขาก็ไปหยิบกฎหมายที่ปิดกั้นไม่ให้คนอื่นใช้เสรีภาพเช่นกัน เขาประสงค์อย่างอื่นมากกว่า แล้วเอาคำว่าเสรีภาพมาสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวให้ตัวเอง
ผศ.ดร.พิชายกล่าวต่อว่า หากมีรัฐประหารเกิดขึ้น มันก็เชื่อมโยงไปที่ พ.ต.ท.ทักษิณ การรัฐประหารถูกทำให้เชื่อว่าต่างประเทศจะไม่ยอมรับ ต่างชาติจะเข้ามาแทรกแซงประเทศไทย เราจะถูกขู่ประมาณนี้ เขาจะสร้างภาพลักษณะนี้ และอาจดึงกองกำลังสหประชาชาติเข้ามา แล้วเกิดการพลิกแผ่นดินอย่างที่เขาต้องการ โดยอาศัยเงื่อนไขรัฐประหารในการปลุกระดมมวลชนขึ้นมา โดยกระตุ้นให้แรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามวลชนออกมามากทหารก็ทำไม่ถูกเหมือนกัน อาจอาศัยจังหวะนี้ ใช้อำนาจมวลชนล้มล้างระบอบการปกครอง เขียนรัฐธรรมนูญใหม่
ผศ.ดร.พิชายยังกล่าวอีกว่า กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ เรามองว่าปัญหาในสังคมไทยทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นความแตกแยก การทุจริต ค่านิยมผิดๆ สิ่งเหล่านี้มีรากเหง้ามาจากกลุ่มทุนนิยมสามานย์ ที่ผูกขาดอำนาจเผด็จการทางการเมือง เพราะกลุ่มทุนสามานย์นี้สามารถรวบอำนาจในระดับจังหวัดถึงระดับประเทศ มีอิทธิพลทำให้คนอื่นเอาเป็นตัวอย่าง เช่นหลายคนมองว่าเล่นการเมืองไม่กี่ปีก็รวย สร้างค่านิยมที่ไม่ดี ซึ่งการเป็นแบบนี้ทรัพยากรประเทศจะไม่ถูกกระจายไปสู่คนหลายกลุ่มหลายอาชีพอย่างเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำก็จะเกิดขึ้น งบประมาณถูกรวบอยู่ในมือคนไม่กี่คน เกิดความยากจนในสังคมไทย นี่คือปัญหาหลัก
ปัญหาสังคมไทยในปัจจุบันไม่ใช่เผด็จการทหาร เพราะไม่มีอิทธิพลที่จะสร้างความเหลื่อมล้ำของประเทศได้อีกต่อไป ฉะนั้นทหารไม่ได้เป็นศัตรูประชาชนแล้ว ซ้ำยังกลายเป็นเหยื่อของทุนสามานย์นี้ด้วย เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป
ขณะเดียวกัน “ทุนนิยมสามานย์” ก็พยายามไปดึงนักวิชาการสุดขั้วมาเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการ เพื่อทำลายล้างสถาบันคุณธรรมหลักของสังคม ซึ่งเป็นสถาบันที่จะสามารถคัดค้าน-ทัดทานอำนาจกลุ่มทุนนิยมผูกขาดได้ เพื่อครอบงำประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มันจึงเป็นการทำงานของ 2 แนวร่วม คือ ทุนนิยมสามานย์ กับกลุ่มนักวิชาการเสรีนิยมสุดขั้วที่ไร้เดียงสา ส่วนตัวสยามประชาภิวัฒน์ไม่ได้มีปัญหากับนักวิชาการกลุ่มไหน ไม่ได้มีปัญหากับนักการเมืองกลุ่มไหน แต่มีปัญหากับนักการเมืองที่เป็นทุนสามานย์
หน้าที่ของ “สยามประชาภิวัฒน์” ต้องชี้ให้สังคมเห็นคุณูปการอันมากมายของสถาบันกษัตริย์ และต้องทำความเข้าใจให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วย คนหนุ่มสาวรับแนวคิดเสรีนิยมสุดขั้วได้ง่าย เพราะวัยรุ่นต้องการเป็นปัจเจกบุคคล อีโก้สูง โดยไม่สนใจความเชื่อมโยงตัวเองกับสังคม มองตัวเองเป็นศูนย์กลาง ฉะนั้นจึงเห็นด้วยกับแนวคิดอะไรที่ทำให้เห็นว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่เราก็ต้องให้ความรู้กับคนเหล่านี้
ส่วนเรื่องอื่นอย่างเศรษฐกิจ-สังคม อย่าลืมว่าประชาธิปไตยของเรากีดกันคนเข้าถึงอำนาจการเมืองอย่างเป็นระบบ ยิ่งเลือกตั้ง ยิ่งกีดกันให้เหลือแต่คนในเครือญาติ นายทุนท้องถิ่น นายทุนสามานย์ และนักเลือกตั้ง ดูนักการเมืองปัจจุบันมีกันอยู่ไม่กี่อาชีพ ระบบแบบนี้เรามองว่ามันเป็นประชาธิปไตยจอมปลอม สยามประชาภิวัฒน์เป็นประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มทุกอาชีพ ทุกชนชั้น เข้าสู่อำนาจทางการเมืองได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งต้องเปลี่ยนรูปแบบการเลือกตั้ง ต้องถกเถียงกันว่าจะทำอย่างไร จะเลือกตั้งรูปแบบไหน เพื่อให้มีตัวแทนของกลุ่มสังคมที่หลากหลายเข้าไปนั่งในสภา
นอกจากนั้นก็จะชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ถูกต้องที่ว่าประชาธิปไตยต้องเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งไม่ได้มีรูปแบบเดียว การเลือกในรูปแบบอื่นอาจทำให้ได้ตัวแทนที่ดีกว่าปัจจุบัน
ด้าน ผศ.ทวี กล่าวว่า มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าวัตถุประสงค์ของนิติราษฎร์ มองเป้าหมายเฉพาะหน้า น่าจะต้องการปลดโซ่ตรวนที่คนของพวกเขาโดนคดีความนี้อยู่ หากคนเหล่านี้สามารถเอาชนะได้มันจะได้มวลชน คนจะรู้สึกว่าเขาใหญ่ในแแผ่นดิน มันก็จะเกิดความฮึกเหิม วัตถุประสงค์ก็เชื่อมโยงไปถึงการเคลื่อนไหวเพื่อปรับเปลี่ยนการปกครอง ตนเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญที่จะร่างโดยคนเสื้อแดง จะไม่มีคำว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือจะไม่ให้ความสำคัญของสถาบันฯ
วัตถุประสงค์อีกประการ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ คือตัวการใหญ่ เขาต้องการแสดงอำนาจบาทใหญ่ตามนิสัยที่เขาเป็น และเพื่อเข้ามาครอบงำการเคลื่อนไหว เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ทำให้เกิดความรู้สึกในระดับนานาชาติว่า พ.ต.ท.ทักษิณใหญ่จริง แม้อยู่นอกประเทศก็บงการทำอะไรก็ได้
จะเห็นว่านิติราษฎร์ดำเนินการ มวลชนเสื้อแดงและคนเพื่อไทยสนับสนุน มันเป็นการจัดการที่มีระเบียบ ไมใช่การเคลื่อนไหวทางสังคมปกติ แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่น่าหวาดหวั่น
ผศ.ทวี กล่าวต่อว่า เป็นไปได้เรื่องนี้ผ่านยากหากเข้าสภา แต่ก็มีความเป็นไปได้อยู่พอควรในแง่ของการก่อความรู้สึก ตนมองว่ากระบวนการด้านการแก้กฎหมาย แก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของกลุ่มนี้ แต่เขาต้องการเปลี่ยนบ้านเปลี่ยนเมือง โดยก็ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนใจประชาชน ตรงนี้สำคัญมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมามันต้องเกิดกระแสก่อน ซึ่งบ้านเมืองเรากำลังเข้าสู่บรรยากาศนั้น และไม่มีคนออกมาห้าม แต่ถ้าทหารออกมาก็เข้าแผนคนกลุ่มนี้ เพราะเขาก็จะเอามวลชนออกมาประณามทหาร เป็นการทำลายสถาบันทหารอีกทางหนึ่ง ซึ่งเขาก็จะทำลายหมดทุกสถาบัน ทั้งสถาบันราชการที่ทำสำเร็จไปแล้ว สถาบันทหาร สถาบันกษัตริย์ และสถาบันประชาชน ที่เขากำลังเริ่มอย่างเข้มแข็งและจริงจัง ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางการเมือง เป็นการปฏิวัติโดยประชาชนที่ถูกมอมเมา เพื่อเข้าสู่เป้าหมายอื่นๆ ที่เขาต้องการ
ส่วนตนไม่เชื่อว่าทหารจะปฏิวัติ แต่มองถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่มีขบวนการเกลียดชังทหาร แค่พลังเกลียดชังก็สามารถก่อให้เกิดอะไรได้มากแล้ว เขาก็สร้างความเกลียดชังไปทีละคน ในขณะที่เพิ่มความรักไปที่คนคนหนึ่ง ก็เกิดภาพของการล้มกระดานอาศัยฐานมวลชน ในฝ่ายการเมืองเขาก็เล่นตลอด สับขาหลอก ยิงลูกมั่วตลอด เป้าหมายเขาต้องการพลิกแผ่นดิน โดยยั่วยุให้ขัดแย้งมากๆ เพื่อให้พังไปทั้งประเทศ
ผศ.ทวียังกล่าวว่า สยามประชาภิวัฒน์ไม่ได้มองแค่นิติราษฎร์เท่านั้นที่มีความคิดไม่ถูกต้อง กลุ่มอื่นๆ ด้วยที่จะชักจูงประชาชนไปในทางที่ผิดๆ เราจะให้ความรู้ประชาชน ไม่ได้คิดตอบโต้กลุ่มใด ต่อสู้เพื่อสถาบันกษัตริย์ โดยไม่ได้มองว่าเราเป็นนักอนุรักษ์ หรือทำอะไรตามกระแส แต่บ้านเมืองเรามีเสรีภาพ แต่ก็ต้องมีสถาบันกษัตริย์ และแน่นอนต้องทำในภาพใหญ่ คือพัฒนาประชาธิปไตย ให้ตระหนักว้่ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เลือกตั้ง หรือด่าใครก็ได้ ทำอะไรตามอำเภอใจ การกระจายความรู้เหล่านี้จำเป็นต้องมีเครือข่าย ซึ่งเราไม่มุ่งเน้นเคลื่อนไหวแบบออกถนน หรือเอาคนไปประท้วง แต่แน่นอนถ้าคนที่ไหนเข้าใจผิด เราก็ไปช่วยชี้แนะ ซึ่งต้องใช้แง่มุมของสื่อสารมวลชนด้วย ความคาดหวังนั้น ไม่หวังจะให้อีกฝ่ายกลับใจ แต่มวลชนที่ยังไม่ได้ไปอยู่อีกฝ่าย น่าจะมีที่ยึดในทางความรู้ได้บ้าง