xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศไทยต้องปฏิวัติสังคมและการเมืองใหม่ (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: ประพันธ์ คูณมี

2. ปัญหาวิกฤตทางด้านการเมือง

นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตั้งแต่ปี 2475 ถึงปัจจุบัน เป็นเวลาย่างเข้าปีที่ 80 แล้ว การเมืองไทยยังวนเวียนซ้ำซากอยู่ในวงจรอุบาทว์ ล้มลุกคลุกคลานและล้มเหลวโดยสิ้นเชิง การเมืองการปกครองที่อ้างว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น แท้จริงแล้วมันคือ “ระบอบเผด็จการโดยทุนสามานย์ของพรรคการเมือง” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงสภาพทางการเมืองของประเทศไทยในช่วง 20 ปีหลังมานี้ คือ ระหว่างปี 2535 -2555 แม้จะมีเหตุการณ์รัฐประหารมาเกี่ยวข้องหรือคั่นกลางก็มีเพียง 2 ครั้ง และเป็นระยะเวลาสั้นๆ คือ การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่นำโดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ และพลเอกสุจินดา คาประยูร เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534

และการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งมีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ การรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ทำให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งตัวแทนต้องเว้นวรรคไปเพียงไม่ถึง 2 ปี เท่านั้น ตลอดระยะเวลา 20 ปีของการเมืองไทยในระยะหลังนี้ จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการเสวยสุขของนักการเมือง นักเลือกตั้งในสังกัดของพรรคการเมืองเป็นสำคัญ แม้จะมีการรัฐประหารยึดอำนาจโดยคณะทหารก็ตาม แต่ท้ายที่สุดนักการเมืองและทหารที่กระทำการยึดอำนาจเหล่านั้น ก็สมคบกันร่วมมือกันปล้นชิงอำนาจการปกครองประเทศ และแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันอีกด้วย

สังคมไทยและการเมืองไทยจึงไม่เคยเกิดการปฏิวัติ ปฏิรูป หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่อย่างถอนรากถอนโคน เพื่อให้ก้าวพ้นจากวังวนของวงจรอุบาทว์หรือวงจรแห่งความล้มเหลวทางการเมือง นั่นคือ เลือกตั้ง-ได้อำนาจรัฐ-ใช้อำนาจโกงทุจริต-ใช้เงินที่ได้จากการโกงและทุจริตเพื่อให้ได้ชัยชนะจากการเลือกตั้ง- เพื่อให้ได้อำนาจรัฐและโกงทุจริตต่อไป เป็นเช่นนี้ตลอดระยะเวลาของการเมืองไทย ผลประโยชน์แห่งชาติ และผลประโยชน์ของประชาชน ล้วนแต่ถูกกลุ่มอำนาจทางการเมืองร่วมมือกับกลุ่มทุนสามานย์ เจ้าของพรรคการเมืองกอบโกยปล้นสะดม นักการเมือง นักเลือกตั้ง เป็นเพียงลูกน้อง ลูกจ้าง สมุนบริวาร ที่มีหน้าที่ปฏิบัติตามมติและคำสั่งของผู้เป็นเจ้าของพรรคการเมืองเท่านั้น

ยุคสมัยของการเมือง การเลือกตั้ง ที่มี ทักษิณ ชินวัตร ตัวแทนของกลุ่มทุนสามานย์ขนาดใหญ่ ที่มีธุรกิจผูกขาดด้านโทรคมนาคมมูลค่านับแสนล้าน กระโดดลงมาสู่สนามการเมืองเอง เป็นยุคสมัยที่ชี้ให้เห็นถึงบทบาทและอิทธิพลของกลุ่มทุนสามานย์ขนาดใหญ่ ที่มีอำนาจผูกขาดและครอบงำระบบการเมืองไทยอย่างชัดเจนที่สุด นอกจากนี้กลุ่มทุนสามานย์ขนาดใหญ่ที่เป็นเจ้าของพรรคการเมือง ยังจับมือร่วมกับกลุ่มทุนสามานย์จากต่างประเทศ เพื่อร่วมกันครอบงำทิศทางการเมืองไทยและการเมืองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนข้ามชาติและทุนสามานย์ในประเทศอีกด้วย

ดังปรากฏรายละเอียดในรายการคนเคาะข่าว โดย สนธิ ลิ้มทองกุล ได้แฉให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนอเมริกา ที่เข้ามาหนุนหลังแก๊งล้มเจ้าร่วมมือกับทักษิณ เพื่อผลประโยชน์จากแหล่งพลังงานในอ่าวไทย และเพื่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ การยึดครองเอเชียแปซิฟิก สกัดกั้นอิทธิพลของประเทศจีนในภูมิภาคนี้

การเมืองการเลือกตั้งของไทยเป็นภาพสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยแต่เพียงรูปแบบ แต่เป็นเผด็จการโดยนายทุนพรรคการเมือง เพราะการเลือกตั้งแต่ละครั้งพรรคการเมืองทุกพรรคล้วนแต่ทุ่มเงินไปเป็นจำนวนมหาศาลมากขึ้นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะจากการเลือกตั้ง การใช้เงินของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามีการใช้เงินสะพัดประมาณ 39,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่เม็ดเงินประมาณ 21,000 ล้านบาท ตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมการใช้จ่ายของ กกต.และการใช้จ่ายของพรรคการเมือง และนักการเมืองที่มีการซื้อเสียงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งหากนับรวมแล้วก็น่าเชื่อได้ว่า การเลือกตั้งแต่ละครั้งจะมีการลงทุนใช้เงินไปไม่น้อยกว่า 50,000- 100,000 ล้านบาท ด้วยต้นทุนการเมืองที่พรรคการเมืองต้องลงทุนไปมากมายถึงขนาดนี้ จึงเป็นที่มาของปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันในวงการเมืองอย่างมากมายมโหฬาร

ดังปรากฏข้อมูลงานวิจัยของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย การทุจริตงบประมาณของแผ่นดินและการเรียกรับผลประโยชน์ของนักการเมืองกับพ่อค้าอยู่ในขั้นวิกฤตร้ายแรง และหนักหน่วงมากยิ่งขึ้น มีอัตราการเรียกเอาผลประโยชน์สูงถึงร้อยละ 30-50 ของมูลค่าโครงการ

และผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี พ.ศ. 2554 จากองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยได้ 3.4 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 อยู่ในอันดับที่ 80 จาก 183 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในอันดับที่ 10 จาก 26 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยประเทศไทยมีคะแนนเท่ากับประเทศโคลัมเบีย เอลซัลวาดอร์ กรีซ มอสโก และเปรู สภาพการเมืองไทยจึงเป็นเพียงการเลือกตั้งเพื่อเปิดช่องทางให้กลุ่มทุนสามานย์และนักธุรกิจการเมืองเข้ามามีอำนาจและแสวงเอาประโยชน์ของชาติ และปล้นสะดมเอาทรัพย์สินของประชาชนเท่านั้น มิได้เป็นการเมืองที่สร้างสรรค์ สร้างชาติ สร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชนแต่อย่างใด

เมื่อพิจารณาประกอบกับพฤติกรรมของนักการเมืองที่มีอยู่ คุณภาพ ความรู้ความสามารถ ศีลธรรม คุณธรรม และมโนธรรมสำนึก ตลอดจนความเสียสละเพื่อส่วนรวม อันเป็นคุณธรรมพื้นฐานสำหรับนักการเมืองที่ดีควรจะมีแล้ว ยิ่งจะมองเห็นถึงความเสื่อมทรุดและความล้มเหลว มืดมน ไร้อนาคต

สำหรับประเทศไทยหากการเมืองโดยระบอบเผด็จการ นายทุนพรรคการเมืองยังดำรงอยู่ ระบอบประชาธิปไตยของไทยจึงเป็นเพียงฉากบังหน้า เป็นเพียงวาทกรรมสวยหรูเพื่อปกปิดความอัปลักษณ์ของการเมืองไทย ปัญหาที่ซ้ำร้ายและซ้ำเติมประเทศไทยที่หนักหน่วงและร้ายแรงยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือ กลุ่มขุนนาง นักการเมือง และกลุ่มทุนสามานย์เหล่านี้กำลังผลิตชุดความคิดและมอมเมาผู้คนในสังคมให้ลุ่มหลงไปกับนโยบายประชานิยม ที่ผลาญเงินภาษีของชาติไปแจกจ่ายซื้อความนิยมจากประชาชนผู้ด้อยโอกาส ไร้การศึกษา และขาดความรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมือง มอมเมาประชาชนให้ลุ่มหลงอยู่กับอามิสสินจ้างและผลประโยชน์เฉพาะหน้า ที่นักการเมืองหยิบยื่นให้แล้วหลอกใช้ประชาชนเหล่านั้นมาเป็นฐานค้ำจุนอำนาจทางการเมืองที่สามานย์ของตน

ขณะเดียวกันก็ใช้กลไกอำนาจรัฐและอำนาจตามกฎหมายในฐานะผู้บริหารราชการแผ่นดิน เอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง ฮุบเอากิจการของรัฐ ทรัพย์สินของแผ่นดินมาเป็นของตนเอง ผลักภาระหนี้สินให้ประเทศและประชาชนแบกรับด้วยกลยุทธ์ ประเทศล้มประชาชนแบกหนี้ แต่ตัวกู พวกกู และพรรคการเมืองของกู หรือโคตรตระกูลของกูร่ำรวย

หากจะมีประชาชนผู้มีปัญญา ตื่นรู้เท่าทันลุกขึ้นมาต่อต้านคัดค้านก็ใช้กลยุทธ์ให้ประชาชนปะทะรบราฆ่าฟันและขัดแย้งกันเอง ด้วยการแบ่งแยกและปกครองด้วยสภาพแห่งความเหลวแหลกเน่าเฟะของสังคมไทย และความล้มเหลวของระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยจอมปลอมเช่นนี้ จึงเป็นเวลาอันถึงที่สุดที่ประเทศไทยต้องหันมาทบทวนและเปลี่ยนแปลงเสียโดยเร่งด่วน และถึงที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น