xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.การจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 เสี้ยนแทงใจคนเสื้อแดง

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

พูดกันมากและไม่หยุดในสนามการเมือง เรื่อง พ.ร.บ.การจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 และว่าไปแล้วดูเหมือนจะเป็นกฎหมายลูกที่เกิดตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีสาระสำคัญที่จะมุ่งแก้ไขการผูกขาดทางการเมือง และการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรม การดำเนินการทางการเมืองไม่โปร่งใส ไม่มีคุณธรรม และขาดจริยธรรม ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐล้มเหลว การใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนยังไม่ได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมเต็มที่

ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 มีวัตถุประสงค์ 4 ประการ ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในห้วงปี พ.ศ. 2544-2547 ของคณะรัฐบาลทักษิณ คือ

1. การคุ้มครองส่งเสริมและการขยายสิทธิและเสรีภาพประชาชนในขอบเขตแห่งคุณธรรม จริยธรรมอันดีงามของชาติ การเคารพสิทธิผู้อื่น การแสดงออกซึ่งยึดมั่นในผลประโยชน์แห่งชาติเป็นส่วนรวม

2. ลดการผูกขาดอำนาจรัฐ และขจัดอำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรม การข่มขู่ด้วยอำนาจรัฐ เพื่อให้เกิดประโยชน์เฉพาะคนกลุ่มน้อยที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ เช่น กลุ่มนายทุน กลุ่มนักการเมือง และกลุ่มแสวงอำนาจเพื่อประโยชน์บุคคล

3. ทำให้การเมืองโปร่งใส มีคุณธรรม มีจริยธรรม โดยให้มีการควบคุมพฤติกรรมนักการเมืองทุกคนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงการเลือกตั้ง และการกำหนดโทษกรณีการซื้อเสียงรุนแรงถึงขั้นยุบพรรค และให้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้บริหารพรรคในการกำกับดูแลมิให้ลูกพรรคกระทำการละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง

4. การทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็ง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พ.ร.บ.การจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 นั้น เกิดขึ้นเพื่อสนองตอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 77 ที่ว่ารัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราชอธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็น และเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุช และเพื่อการพัฒนา

ดังนั้น ด้วยข้อกำหนดสูงสุดของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 นั้น มีกรอบให้รัฐบาลโดยกระทรวงกลาโหม จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในเรื่องหน้าที่รับผิดชอบ และอำนาจในการจัดกำลังทหาร อันเป็นที่มาของคำว่าการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นกฎหมายมีทั้งหมด 53 มาตรา ซึ่งทั่วไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหน่วยงาน ให้สามารถดำเนินการตอบสนองรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ได้อย่างสมบูรณ์แบบและครบถ้วน ตามนัยแห่งนิติปฏิบัติตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ยกเว้นมาตรา 25 ที่กำหนดไว้ว่า “การบริหารจัดการกำลังพลของกระทรวงกลาโหม ให้เป็นไปตามกฎหมาย และตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด การพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และส่วนราชการในกองทัพไทย ให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการที่ส่วนราชการนั้นแต่งตั้งขึ้น แล้วเสนอคณะกรรมการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนด

คณะกรรมการประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการและเลขานุการ

แต่นักการเมืองหลายคน นายทุนหลายกิจการ และนักวิชาการต่อต้านกองทัพ โดยเฉพาะในเรื่อง “การเป็นทหารของพระเจ้าอยู่หัว” รวมทั้งกลุ่มเสื้อแดงที่มุ่งหวังล้มสถาบัน กลุ่มนักธุรกิจการเมือง กลุ่มนี้อยากได้ผู้บัญชาการเหล่าทัพที่พวกเขาสามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะในการจัดซื้อจัดจ้าง กลุ่มนักธุรกิจชายแดนที่มุ่งหวังการค้าของผิดกฎหมายชายแดน นักธุรกิจข้ามชาติที่ต้องการทำธุรกิจกับต่างชาติบนผลประโยชน์ทรัพยากรของชาติ เช่น ธุรกิจขุดเจาะแหล่งพลังงานในทะเล

คนเหล่านี้จะกดดันให้นักการเมือง นักวิชาการ และองค์กรอิสระทั้งหลาย สร้างภาพลักษณ์ว่าทหารต้องการเป็นใหญ่ ไม่ขึ้นกับระบบการปกครองและการบริหารหน่วยราชการ เช่นเดียวกับหน่วยราชการอื่น ที่หัวหน้าส่วนราชการระดับสูงของแต่ละกระทรวง จะต้องได้รับการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี

แต่ให้ลองพิจารณาดูว่าหากนักการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ที่มีฐานเสียงสำคัญต่อการแพ้ชนะของพรรค กดดันกลไกในพรรคที่เป็นรัฐบาล ให้เลือกนายพลที่เขาต้องการให้ไปเป็นแม่ทัพภาค หรือผู้บัญชาการกองเรือภาค

ผลเสียหายที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การค้าของผิดกฎหมาย เช่น ค้าของเถื่อน ค้าคน ค้ายาเสพติด และค้าอาวุธ หากกลุ่มนายทุนสามานย์ที่ควบคุมกลไกการเมืองระดับท้องถิ่นไล่เรียงสู่การเมืองระดับประเทศ กลุ่มอิทธิพลการเมืองมีเครือข่ายโยงใยกันระหว่างการเมืองท้องถิ่นสู่การเมืองส่วนกลาง

เราสามารถวิเคราะห์ข้อเท็จจริงนี้ได้จากการเมืองในปัจจุบันของรัฐบาลนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่นักธุรกิจภาคเอกชนลอยแพไม่ไปฟังการปาฐกถาของเธอ ว่าแท้จริงแล้วกลุ่มการเมืองภูมิภาคและท้องถิ่นคือปัจจัยสำคัญสนับสนุนชัยชนะการเลือกตั้งมากกว่ากลุ่มการเมืองระดับเมือง

แต่สิ่งหนึ่งที่ทักษิณต้องการมากคือ สามารถควบคุมกองทัพได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อฐานอำนาจของตัวเองอย่างที่ได้สัมผัสในช่วง พ.ศ. 2544 จนถูกโค่นล้มในปี พ.ศ.2549

ในช่วงนั้นทักษิณเอาเพื่อนร่วมรุ่นคุมกำลังทั้ง 3 เหล่าทัพ โดยแต่งตั้งเพื่อนในอาณัติข้ามอาวุโส 3 รุ่นอย่างหน้าด้านๆ เช่น ในกองทัพอากาศ เอาเพื่อนร่วมรุ่นเช่น พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ข้ามรุ่นเตรียมทหาร 7, 8 และ 9 และเป็นนายพลอากาศตรี เพียงปีเดียว เป็นนายพลอากาศโท เพียง 2 ปี แล้วจ่อตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ ในตำแหน่งเสนาธิการทหารอากาศ

แต่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่แต่งตั้ง พล.อ.อ.สุกำพล เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ แต่ยอมรับข้อเสนอของ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่เสนอ พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ เพราะนายสมัคร รู้เรื่องระบบอาวุโสเป็นอย่างดี มีน้องชายแท้ๆ เป็นนายพลอากาศเอก นักเรียนนายเรืออากาศรุ่นที่ 1 และรู้ว่ากองทัพจะป่วนและอาจนำสู่การรัฐประหารได้ ตลอดจนไม่แต่งตั้งเพราะผิดธรรมเนียม ผิดกฎหมาย ขืนดื้อตั้งไปตามสั่งของทักษิณ ก็ต้องแก้ไขใหม่อยู่ดี เช่นที่เกิดกับทักษิณมาแล้ว ทำให้นายสมัครไม่เอา พล.อ.อ.สุกำพล เพราะทำให้ตัวเองเสียหน้า และต่อรองเรื่องอื่นๆ ไม่ได้และรู้ว่าแพ้เสียงในคณะกรรมการจึงนิ่งเสีย

แต่ข้อคิดที่สำคัญ คือ ทหารมาตรฐานต่ำหันไปเลียนักการเมืองกันหมด ทหารอาชีพดีๆ เก่งๆ ก็อยู่ไม่ได้ กองทัพจะอ่อนแอในที่สุด

และที่สำคัญ พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสไว้ในปี พ.ศ. 2446 ว่า “ทหารเป็นผู้แปลกกว่าโจร ก็เพราะเป็นผู้มีความสัตย์ ถือมั่นในธรรมเนียมของทหาร คือ ใช้ศาสตราวุธในการรักษาชาติ ศาสนา และบ้านเมือง มีความกล้าหาญ ไม่คิดถึงความยากและชีวิต”

นัยสำคัญแห่งพระราชดำรัสนี้ก็คือ ทหารที่มีสัตย์ มีความสามารถ มีความรู้ และมีวินัยรักลูกน้องด้วยความชอบธรรม ความยุติธรรม และจงรักภักดีนั้น จะรู้กันในหมู่ทหารตั้งแต่ยศร้อยตรี เรือตรี และเรืออากาศตรี มาแล้วว่าใครเป็นใคร ใครเป็นทหารอาชีพ ใครเป็นทหารเพียงร่าง และใครเป็นทหารที่ใจ และนี่เป็นแรงบันดาลใจให้ทหารต้องการพระราชบัญญัติฉบับนี้แต่นักการเมืองปีกทักษิณต้องการให้เปลี่ยนแปลงมาตรา 25 ของพ.ร.บ.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น