ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-โผการปรับ ครม.ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากบริหารประเทศมา 5 เดือน ตามที่มีการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะใช้ช่วงเวลาที่น้องสาวเป็นนายกฯ รวบหัวรวบหางกระชับอำนาจ เพื่อให้สำเร็จผลประโยนชน์ส่วนตัวโดยเร็วที่สุด
เห็นได้ว่า การปรับเปลี่ยนเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ไม่ได้ เป็นไปตามผลงานที่ทำต่อส่วนรวมในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา แต่พิจารณาว่า ใครยอมทำงานตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณชี้นิ้วสั่งการได้โดยไม่อิดออดต่างหาก
รัฐมนตรีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความไม่เหมาะสม และมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี อย่างนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กลับยังเกาะเก้าอี้แน่น
นายสุรพงษ์นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งถึงคุณสมบัติที่ขาดความรู้ด้านการต่างประเทศ และตลอดช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ไม่ได้ทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างที่ควรจะทำ ทั้งกรณีที่ทหารกัมพูชายิงเฮลิคอปเตอร์ไทยที่ชายแดนด้านจังหวัดตราด ซึ่งไม่ได้ทำหนังสือประท้วงแต่อย่างใด หรือกรณีที่เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ แทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยเรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กระทรวงการต่างประเทศก็ไม่ได้ออกมาตอบโต้แม้แต่น้อย ผลงานของนายสุรพงษ์ที่ทำมาตลอด 5 เดือน มีแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณทั้งสิ้น อาทิ การขอร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นกรณีพิเศษ โดยยกเว้นเงื่อนไขการห้ามบุคคลที่มีคดีอาญาติดตัวเดินทางเข้าประเทศ รวมทั้งกรณีที่ฉาวโฉ่ที่สุดคือการออกหนังสือเดินทางให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณโดยผิดระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศที่จะไม่ออกหนังสือเดินทางให้นักโทษที่กำลังหลบหนีคดี ซึ่งพรรคฝ่ายค้านเตรียมที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีต่อนายสุรพงษ์ในเรื่องนี้แล้ว
ส่วน พล.ต.อ.ประชา ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในหน้าที่ประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งนอกจากไม่สามารถป้องกันอุทกภัยจนสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลแล้ว ยังมีปัญหาการทุจริตของบริจาค การฉวยโอกาสเอาของบริจาคไปติดชื่อตัวเอง รวมทั้ง พล.ต.อ.ประชายังกระทำผิดรัฐธรรมนูญด้วยการลงนามแต่งตั้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยเป็นกรรมการรับผิดชอบของบริจาค แม้จะลงนามยกเลิกในภายหลังก็ถือว่า ได้กระทำผิดสำเร็จแล้ว ทำให้ พล.ต.อ.ประชาและ ส.ส.พรรคเพื่อไทยรวม 5 คน ถูกพรรคประชาธิปัตย์ยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง แต่ พล.ต.อ.ประชาก็ยังรักษาเก้าอี้เดิมไว้ได้ เพราะผลงานการคุมกระทรวงยุติธรรมที่เอื้อประโยชน์คนเสื้อแดงหลายอย่าง เช่น การจัดคุกวีไอพีเพื่อให้ผู้ต้องขังที่เป็นคนเสื้อแดงไปอยู่ การช่วยเหลือคนเสื้อแดงเรื่องการประกันตัว การจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการชุมนุม แม้ว่าจะพลาดเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษก็ตาม
ส่วนรัฐมนตรีที่ถูกปรับออก ก็เนื่องจากไม่สามารถสนองผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณได้อย่างใจ แล้วให้คนที่เขาสั่งได้มาคุมแทน ไม่ว่าจะเป็นกรณีนายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล ที่พ้นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะไปคัดค้านการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.14 ล้านล้านบาทไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง มาเป็นคุมกระทรวงนี้แทน หรือกรณีกระทรวงพลังงาน ที่ให้นายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ พ้นจากตำแหน่งแล้วให้นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ อดีตผู้บริหารดาวเทียมไทยคม คนใกล้ชิดของทักษิณ มาดูแลแทน
กรณีที่น่าจับตาอย่างยิ่ง คือ การให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา พ้นจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกลาโหมไปเป็นรองนายกฯ แล้วให้ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ลุกจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มาคุมกระทรวงกลาโหมแทน
ช่วงเวลาที่อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น พล.อ.ยุทธศักดิ์ดูจะแสดงท่าทีที่ขัดใจต่อ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่พอสมควรในกรณีการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นความต้องการอย่างยิ่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งการพูดออกมาโดยตรง และแสดงออกโดยผ่านข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงที่จะแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็น พ.ร.บ.ที่ผ่านออกมาบังคับใช้ในช่วงหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ พ.ต.ท.ทักษิณได้แสดงความคิดเห็นอย่างดุเดือดผ่านสื่อต่างประเทศว่าจะต้องแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ด้วยข้ออ้างว่า ปัจจุบันทหารไทยกำลังเสพติดอำนาจ
ขณะที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์แสดงท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ต่อการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวมาโดยตลอด เนื่องจากยังต้องการรักษาสายสัมพันธ์อันดีกับน้องๆ ในกองทัพเอาไว้
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่อาจเข้าไปครอบงำกองทัพได้เหมือนเมื่อก่อน เพราะมีบทบัญญัติให้การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารเป็นอำนาจของสภากลาโหมซึ่งมาจากผู้นำเหล่าทัพโดยที่รัฐมนตรีเป็นเพียงหนึ่งเสียงในนั้น
การคลอด พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหมออกมา ก็เพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองเข้าไปล้วงลูกการแต่งตั้งโยกย้ายภายในกองทัพนั่นเอง โดยมีบทเรียนจากยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีการย้าย พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ลูกพี่ลูกน้องของตัวเอง ข้ามห้วยมาจากทหารช่าง ขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.และเกษียณที่ตำแหน่ง ผบ.สส. รวมทั้งการให้นายทหารจากเตรียมทหารรุ่น 10 รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ก้าวหน้าในตำแหน่งข้ามหัวรุ่นอื่นๆ ซึ่งทำให้การโยกย้ายที่เคยยึดตามระบบคุณวุฒิและวัยวุฒิ วุ่นวายไปหมด
แต่ในเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ต้องการให้กองทัพเป็นอิสระ ไม่เช่นนั้นแล้ว รัฐบาลน้องสาวของเขาอาจจะถูกรัฐประหารซ้ำรอยกับที่เขาเคยโดนเมื่อปี 2549 จึงต้องการหาช่องทางเข้าไปล้วงโผการแต่งตั้งโยกย้ายให้ได้ เพื่อเอาคนของตัวเองไปคุมตำแหน่งสำคัญๆ ซึ่งจะต้องเริ่มต้นด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหมก่อน
อย่างไรก็ตาม งานนี้คงไม่ง่ายอย่างที่คิด ไม่เช่นนั้น พล.อ.ยุทธศักดิ์คงจะเริ่มลงมือไปแล้ว หากมีการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ แรงต่อต้านจากภายในกองทัพจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และคงต้องวัดใจ พล.อ.อ.สุกำพล ว่าจะกล้าพอหรือไม่
พล.อ.อ.สุกำพลนั้น เคยรับใช้ พ.ต.ท.ทักษิณ มาตั้งแต่ครั้งเป็นเสนาธิการทหารอากาศ แม้กระทั่งการจัดเครื่องบินซี 130 ขนคนไปจัดงานขึ้นบ้านใหม่และฉลองวันเกิดของนางมณฑาทิพย์ โกวิทเจริญกุล น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2548 ก็เคยทำมาแล้ว
การมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคราวนี้ ก็ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ปัญหาคือ พล.อ.อ.สุกำพลจะคุมกองทัพอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และ พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ.คนปัจจุบัน มาจากกลุ่มที่กระทำการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และนายทหารระดับคุมกำลังก็ไม่ใช่สายของเตรียมทหารรุ่น 10 ทั้งหมด
หาก พล.อ.อ.สุกำพลเดินหน้าแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหมฯ เพื่อสนองความต้องการของ พ.ต.ท.ทักษิณ แบบหักด้ามพร้าด้วยเข่า โดยไม่สนใจต่อแรงต้านในกองทัพแล้ว แทนที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะประสบความสำเร็จในการควบคุมกองทัพเพื่อป้องกันการรัฐประหาร การแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับจะเป็นตัวเร่งเร้าให้รัฐบาลน้องสาวของเขาโดนรัฐประหารเสียก่อน