ผ่าประเด็นร้อน
แม้ว่าการปรับคณะรัฐมนตรีจะต้องเกิดขึ้นในช่วงต้นปีนี้ แต่ล่าสุดมีความชัดเจนทั้งในเรื่องของตัวบุคคลที่เข้ามาแทนที่และถูกเด้งออกไป รวมไปถึงอารมณ์และความรู้สึกของแต่ละคนที่เกี่ยวข้องออกมาให้เห็น เพราะบางคนได้เริ่มทยอยเก็บของออกไปจากที่ทำงานบ้างแล้ว ข่าวบางกระแสยังบอกอีกว่ามีการนำรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯไปแล้วก็มี
ความชัดเจนและความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นจริงเป็นจังเมื่อมีคนในรัฐบาลออกมาระบุถึงเหตุผลและตัวบุคคลว่ามีใครบ้างจะต้องถูกปรับออกไป พิจารณาจากคำพูดของ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อารีย์ ไกรนารา ที่กล่าวแบบไม่เกรงอกเกรงใจใครว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีประมาณ 5-7 ตำแหน่ง โดยให้เหตุผลในความหมายที่ว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นมืออาชีพ ทำให้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลไม่ได้ พร้อมทั้งระบุมาเสร็จสรรพว่ามี กระทรวงศึกษาธิการ คมนาคม อุตสาหกรรม คลัง โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะต้องนำ “คนนอก” เข้ามาบริหาร
อาจไม่ใช่ตรงๆแบบลอกมาคำต่อคำ แต่ความหมายเป็นอย่างนั้นจริงๆ แม้ว่าคนพูดจะไม่ใช่มีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในทางปฏิบัติถือว่าเป็น “มท.น้อย” ไม่รู้ว่ากับรัฐมนตรีมหาดไทยตัวจริงใครใหญ่กว่ากัน แต่เอาเป็นว่าในฐานะคนใกล้ชิด ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ที่เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็คงรู้ข้อมูล “อินไซต์” มาบ้าง
ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากคำพูดและท่าทีของคนที่ตกเป็นข่าวทั้งที่จะเข้ามาใหม่หรือจะถูกเด้งออกไปทำให้มั่นใจว่าต้องปรับแน่นอน และเมื่อย้อนกลับไปดูคำพูดของ อารีย์ อีกครั้งทำให้เข้าใจว่ามีใครบ้างที่จะต้องถูกปรับออกไป เริ่มจากกระทรวงศึกษาธิการถึงเวลาที่ วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล จะต้องลุกจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการการไปนั่งที่อื่น
กระทรวงคมนาคม สำหรับ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รายนี้แม้ว่าหากต้องพ้นไปแต่ตามข่าวระบุว่าอาจโยกไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแทน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ไม่อาจขับเคลื่อนการแก้ไข พระราชบัญญัติกระทรวงกลาโหมที่ให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปล้วงลูกโยกย้ายในกองทัพได้ ขณะเดียวกันยังเป็นการแก้ปัญหา “เกาเหลา” ในกระทรวงคมนาคมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการก่อนหน้านี้ อีกทางหนึ่งด้วย
ที่สำคัญการโยก พล.อ.อ.สุกำพล ไปนั่งที่กลาโหม มันก็เหมือนกับการส่งคนรู้ใจ ทักษิณ ชินวัตร ไปเป็นตัวแทนอยู่ที่นั่น
ส่วนอุตสาหกรรมก็คงต้องข้ามไป เพราะเป็นโควตาของพรรคชาติพัฒนา เมื่อ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล มีปัญหาสุขภาพก็ต้องเปลี่ยนตัวกันภายใน แต่ที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือกรณีของ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ที่หากมีการปรับคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแน่นอน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นมานานนับเดือนแล้ว จากปัญหาความขัดแย้งกับ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ หรือแม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิชัย นริพทะพันธุ์ หลังจากที่ได้ “รับงาน” มาทำในเรื่องปรับโครงสร้างพลังงานใหม่เป็น “จ็อบพิเศษ” เรียบร้อยก็ถึงเวลาต้องไปทำงานอย่างอื่นเช่นกัน
นั่นเป็นตัวบุคคลที่อยู่ในข่ายที่จะถูกปรับถูกโยกไปนั่งในตำแหน่งใหม่ ตามที่เป็นข่าว แต่ก็ยังมีที่นอกเหนือไปจากนี้ เช่น ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีรายอื่น ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยบางกระทรวงที่ผ่านมาจนบัดนี้ชาวบ้านยังไม่รู้เลยว่ามีชื่อเป็นรัฐมนตรีกับเขาด้วย
หากให้พิจารณาในภาพรวมที่คิดถึงประโยชน์ต่อบ้านเมือง และชาวบ้านแล้วก็ต้องบอกว่า “ไร้ค่า” ไร้ประโยชน์เช่นเดิม เพราะหากจะแก้ปัญหาก็ต้องแก้ที่ “ต้นตอ” นั่นคือต้องปรับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกไปจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะผ่านมา 4-5 เดือนถือว่าไร้ความสามารถอย่างสิ้นเชิง โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาโต้แย้งอะไรกันอีกแล้ว ดังนั้นถ้าปรับเธอออกไปเพียงแค่ตำแหน่งเดียว แล้วเฟ้นหาคนที่มีความสามารถมานั่งแทนปัญหาก็จะคลี่คลาย แต่นี่ตรงกันข้ามเป็นการปรับเพื่อลดแรงกดดัน ไม่ต่างจากการปกป้อง “น้องสาวเจ้าของบริษัท” ขณะที่รัฐมนตรีคนใหม่ที่จะเข้ามาก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนใกล้ชิดในครอบครัวเป็น “เด็กรับใช้” ชัดเจนยิ่งกว่าเดิม
ขณะเดียวกันภาพที่ออกมาจึงไม่ต่างจากบริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลเข้ามา สำหรับการทำธุรกิจประเภทใหม่ ต้องใช้คนใหม่ที่เหมาะสมเข้ามา มีการตอบแทนให้รางวัลกับคนรับใช้อย่างซื่อสัตย์ ไม่ได้คำนึงถึงความสามารถเป็นบรรทัดฐาน เพียงแต่ว่ามันน่าเจ็บปวดก็คือบริษัทดังกล่าวนี้ใช้เงินของคนอื่นมาเสี่ยง ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เกิดกับชาวบ้านทั่วไป
ดังนั้นถ้าให้สรุปอีกทีก็ต้องบอกว่า เป็นการปรับคณะรัฐมนตรีที่ไร้ค่าไร้ความหมาย ไม่ได้เกิดประโยชน์กับชาวบ้านเลยแม้แต่น้อย เพราะรัฐมนตรีแต่ละคนต่างต้องทำหน้าที่รับใช้ “เจ้าของ” ซึ่งก็คือ ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น เมื่อถึงเวลาก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป