ผู้นำฝ่ายค้าน เผยหารือ โทนี แบลร์ สถานการณ์ ศก.อาเซียน แม้ไทยมีศักภาพสูงแต่หวั่นปัญหาการเมือง ตั้งแง่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปรับใหญ่ ครม.16 เก้าอี้ ถือว่าบริหารล้มเหลว โดยเฉพาะในทีมเศรษฐกิจขาดศักภาพ ย้ำ ครม.ปู 2 แค่ชิงความได้เปรียบทางการเมืองมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน ดักคอเชื่อหลังซาก 111 ทรท.พ้นโทษตัดสิทธิ์ปรับอีกรอบ
วันนี้ (17 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพบปะกับอดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร นายโทนี แบลร์ เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า เป็นการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ต่างๆ ทั้งประเทศไทย ประเทศอังกฤษ ยุโรป และสถานการณ์ในภาพรวมของโลก ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่อดีตนายกฯ ประเทศอังกฤษ ให้ความสำคัญ และมองเห็นศักยภาพของประเทศไทย เป็นการเดินสายพบปะบรรยาย หลังจากประเทศไทยแล้ว ก็จะไปที่ฟิลิปปินส์ และเดินทางผ่านสิงคโปร์ด้วย ให้ความสนใจ ให้น้ำหนักกับอาเซียน ในการที่จะเป็นโอกาสของการเติบโตทางเศรษฐกิจ แล้วก็มองว่า ประเทศไทยก็อยู่ในสถานะที่มีศักยภาพสูง ที่จะได้ประโยชน์จากเรื่องของอาเซียน แต่ก็แสดงความเป็นห่วงเรื่องของการเมือง และสอบถามว่าแนวทางการสร้างความปรองดอง หรือความสงบเรียบร้อยเป็นอย่างไร ก็มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพราะว่าท่านก็มองเหมือนกับหลายๆ ผู้นำ และชาวต่างประเทศ ที่มองว่า ถ้าเราสามารถหาทางจัดการกับปัญหาตรงนี้ได้ ในเรื่องความห่วงใยที่คนมีต่อไทย ศักยภาพของเราก็จะสูงมาก
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีการปรับ ครม.ยิ่งลักษณ์ 2 ที่จะมีการดึงบุคคลในกลุ่มธุรกิจ หรือกลุ่มทุนของชินวัตร เข้ามาเกี่ยวข้องกับตำแหน่งรัฐมนตรี รวมทั้งมีแกนนำเสื้อแดง ว่า มีข่าวลักษณะดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่า หากมีการปรับเก้าอี้ถึง 16 ตำแหน่งตามข่าว ด้วยเหตุผลอะไร แสดงให้เห็นว่า 6 เดือนที่ผ่านมา ทำงานไม่เข้าเป้า หรือเป็นเพียงการหมุนเวียน สลับสับเปลี่ยนให้คนได้มาดำรงตำแหน่งกัน อันนี้คงเป็นประเด็นที่ต้องถามว่า นายกฯ คิดอย่างไร ในการที่จะปรับ ครม.ถึงครึ่งหนึ่ง หลังจากที่เริ่มงานมา 6 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นเวลาไม่มาก ถ้าถามหลายๆ คน ก็บอกแบบเดียวกันว่า นโยบายไม่คืบหน้าอย่างที่เคยสัญญาเอาไว้หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องรายได้ แล้วก็ที่ร้ายที่สุด คือ
นโยบายที่เกี่ยวกับค่าครองชีพ ก็คงจะไม่ดำเนินการ กลับกลายเป็นสวนทางโดยสิ้นเชิง เช่น ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซ ถ้าจะปรับเพราะงานตรงนี้ไม่เดินก็คงต้องอธิบายกัน แต่ถ้าบอกว่า เป็นการสลับสับเปลี่ยน เพราะว่าเปิดโอกาสให้คนนั้นคนนี้ก็แปลก เพราะหลายกระทรวงเป็นกระทรวงซึ่งไม่ใช่งานง่ายๆ หลายคนบอกว่า ต้องใช้เวลาในการเข้าไปเริ่มต้นศึกษา และทำให้เกิดคำถามว่านโยบายที่เดินมาตามแนวทางของ รมว.คนก่อน จะต่อเนื่องหรือไม่ ทั้งหมดก็ต้องให้นายกฯ เป็นคนอธิบาย
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการโยก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.พาริชย์ ไปเป็นรองนายกฯ ควบ รมว.คลัง ว่า มีความเป็นห่วงตั้งแต่เกิดความขัดแย้งระหว่าง นายกิตติรัตน์ กับ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ปัจจุบัน โดยเฉพาะท่าทีในการใช้เงินของนายกิตติรัตน์ รวมถึงการเข้ามาบริหารโครงการจำนำข้าวของนายกิตติรัตน์ ก็มีปัญหา ส่วนกรณีที่พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ที่จะถูกโยกไปนั่งรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงนั้น ตนเห็นว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ยุทธศักดิ์ ทำงานเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ก็แปลกใจอยู่ สรุปแล้วมีความเป็นห่วง เพราะเป็นการปรับเพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน ชิงความได้เปรียบทางการเมือง มากกว่าปรับเพื่อประโยชน์ประชาชน ซึ่งนายกฯต้องเป็นคนชี้แจงต่อสังคม
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ระบุจะได้เป็น รมช.เกษตรฯ นายกฯต้องอธิบายว่าปรับเพื่องานอย่างไร ไม่เช่นนั้นจะตอกย้ำการต่างตอบแทนที่จะสร้างความแตกแยกมากขึ้น ในส่วนของ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย และ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ที่มีปัญหาในการทำงานมาโดยตลอด แต่ไม่ถูกปรับนั้น ก็ชัดเจนว่า การปรับ ครม.ครั้งนี้เพื่อเปลี่ยนเวียนสลับตำแหน่งเพื่อประโยชน์กันมากกว่า แล้วถ้าเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ ปรับอีก ก็ต้องถามว่าที่ปรับ ครม.กันนั้น ประเทศจะดีขึ้นอย่างไร ซึ่งต้องพิสูจน์สำหรับการปรับใหญ่ขนาดนี้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า นายกฯต้องมีการยืนยันว่า จะกระทบหรือเปลี่ยนแปลงต่อนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลหรือไม่ แต่ไม่อยากให้ทำแบบต่างตอบแทน ทั้งต่อผู้สนับสนุนและกลุ่มทุน ที่สำคัญปรับ ครม.แล้ว ก็ขอให้ทบทวนนโยบายที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในคราวเดียวกันด้วย โดยเฉพาะตำแหน่ง รมว.พลังงาน ที่ตามข่าวว่าจะปรับออกแล้วจะโยนให้เป็นเรื่องของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน คนเดียวไม่ได้ และ รมว.พลังงานคนใหม่ ควรทบทวนนโยบายที่ประชาชนเดือดร้อน เพราะถ้าเปลี่ยนตัวคนแล้ว แต่นโยบายไม่เปลี่ยน ก็แสดงว่า เป็นโนบายของรัฐบาลเอง