xs
xsm
sm
md
lg

“กิตติรัตน์” เมินม็อบแท็กซี่ ลั่นยึดมติ ครม.เดิม ย้ำต้องคุยหาทางออกไม่ใช่ขู่กัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ม็อบแท็กซี่ ล้อมทำเนียบ จี้เลิกมติ ครม.ขึ้นก๊าซ เพิ่มปั๊มเอ็นจีวี ขอมีส่วนร่วมถกเวลาจะขึ้นราคา วอนอุตส่าห์เลือกเข้ามาหวังว่าจะไม่ทำร้ายกัน ด้าน นายกฯ เรียก “กิตติรัตน์-พิชัย-ปตท.” ถกด่วน รองนายกฯ ย้ำ ต้องยึดมติเดิม โยน กพช.จัดการหากจะแก้ใหม่ ลั่นต้องคุยกันไม่ใช่กดดันกัน ชี้ถ้าโอนอ่อนตามชาติจะเป็นเมืองแห่งม็อบ



วันนี้ (9 ม.ค.) ที่บริเวณ ถ.พิษณุโลก หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 08.00 น.กลุ่มเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ มูลนิธิเพื่อคนขับรถแท็กซี่ และกลุ่มคนขับรถแท็กซี่ประมาณ 340 คัน นำโดยนายวิทูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่แห่งประเทศไทย รวมตัวเพื่อเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ต.ค.54 กรณีการปรับขึ้นราคาแก๊สแอลพีจี และ ก๊าซเอ็นจีวี ตามที่กลุ่ม ปตท.ได้เสนอให้ปรับขึ้นราคา เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับกลุ่มคนขับรถแท็กซี่ ที่ต้องแบกรับภาระจากราคาพลังงานที่ขึ้นสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มคนขับแท็กซี่ได้มีการจอดรถกระจายตัว กดดันรัฐบาลอยู่ 3 จุดใหญ่ คือ จุดแรกบริเวณ ถ.พิษณุโลก ฝั่งสำนักงาน ก.พ.โดยใช้รถแท็กซี่จอดปิดพื้นผิวจราจรจำนวน 3 เลน ตั้งแต่เชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ จนถึงแยกมิสกวัน อีกหนึ่งจุด บริเวณลานพระบรมรูปอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และจุดสุดท้าย บริเวณลานน้ำพุเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถ.ราชดำเนินนอก โดยยื่นข้อเรียกร้องต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกฯและรัฐบาล 3 ประการ คือ 1.ให้มีการยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 4 ต.ค.54 และไม่ปรับขึ้นราคาแก๊สแอลพีจี และ เอ็นจีวี เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี 2.เพิ่มจำนวนการบริการให้เพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพของก๊าซเอ็นจีวี และ 3.หากมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาแก๊สในอนาคต ขอให้มีตัวแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาทุกครั้ง

นายวิทูรย์ กล่าวว่า การประท้วงขึ้นราคาแก๊สแอลพีจี และเอ็นจีวี ราคาเดิม ก๊าซเอ็นจีวี 8.50 ปรับขึ้น 6 บาท คิดเป็น 70 % เดือนละ 0.50 บาท ราคารวม 14. 50 บาท และ แก๊สแอลพีจี ราคาเดิม 11.50 บาท ปรับขึ้น 4.80 บาท คิดเป็น 42% เดือนละ 0.40 บาท ราคารวม 16.30บาท ถ้าปัจจุบันราคาเอ็นจีวีอยู่ที่ 390 บาท ปรับราคาค่าเช่ารถแท็กซี่ 245 บาท รวมค่าใช้จ่าย 558 บาทส่วน แอลพีจี ราคา 550 บาท ปรับค่าเช่ารถแท๊กซี่ 210 บาท รวมค่าใช้จ่าย 710 บาท ปัจจุบันผู้ขับรถแท็กซี่สาธารณะ รายได้ค่าโดยสาร หักค่าเช่ารถ ค่าแก๊ส คงเหลือค่าแรงถัวเฉลี่ยประมาณ 200-300 บาทต่อคน/คัน หากมีการปรับตามราคาดังกล่าวผู้ขับขี่ จะมีรายรับไม่เพียงพอต่อการครองชีพ และไม่มีความมั่นคงต่อการประกอบรถแท็กซี่

ด้าน นายเจียม พงศ์พันธ์หลวง อายุ 62 ปี ผู้ขับรถแท็กซี่ กล่าวว่า การชุมนุมในวันนี้ เราทำเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะปานกลาง เราเพียงต้องการให้หยุดการพิจารณาขึ้นราคาแก๊สชั่วคราว เพราะแท็กซี่เดือดร้อนอยู่ไม่ได้จริงๆ และหากรัฐบาลไม่ทำตามข้อตกลง จะมีการปิดถนนและเพิ่มจำนวนกลุ่มผู้ประท้วงมาก ผู้ชุมนุมกลุ่มคนขับรถแท็กซี่มีความคาดหวังว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ คงไม่ทำตามนโยบายตามที่กลุ่ม ปตท.เรียกร้อง เพราะกลุ่มแท็กซี่ส่วนใหญ่เลือกท่านเข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี และรักท่านมาก ท่านคงไม่ทำร้ายกัน ถ้าไม่ดำเนินตามข้อเรียกร้องกลุ่มแท็กซี่จะเปลี่ยนสี ท่านนายกฯก็จะรู้ว่าเดือดร้อนหรือไม่

จากนั้นเมื่อเวลา 10.00 น.ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล นพ.ประสิทธิ์ ชัยวิวัฒนะ รองเลขาธิการนายกฯ เป็นตัวแทนออกมารับหนังสือข้อเรียกร้องจากกลุ่มคนขับรถแท็กซี่ พร้อมทั้งกล่าวว่า เข้าใจในปัญหาที่พี่น้องได้เจอราคาก๊าซขึ้นกระทบหลายอย่าง มันเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายและไม่ยากถ้าเราคุยกัน คือ วันนี้ตนมารับเรื่องร้องเรียนอีกครั้งและจะเรียนนายกฯ ว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งต้องมีการเจรจา ต้องมาคุยกัน และจะเชิญตัวแทนจาก ปตท.ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ กรมการขนส่งและกระทรวงพลังงงานมาหารือข้อสรุป ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นไปในทางที่ดี

ขณะเดียวกัน เมื่อเวลา 09.45 น.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เชิญ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรองประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.มาหารือปัญหาการชุมนุมคัดค้านการขึ้นราคาแก๊สแอลพีจี และ ก๊าซเอ็นจีวี ตามมติที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 4 ต.ค.54 โดยใช้เวลาหารือประมาณ 35 นาที

ต่อมา นายกิตติรัตน์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือว่า ความเห็นส่วนใหญ่ตนไม่ทราบ แต่ความเห็นส่วนตัวต้องยึดถือตามมติ ครม.ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาทบทวนหรือไม่ นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า คนอื่นไม่รู้ แต่พูดได้ว่าขอให้ประชาชนตำหนิผู้ที่ทำให้เขาเดือดร้อนอย่างจริงจังด้วย เมื่อถามย้ำว่า สรุปแล้วยังยืนยันยึดมติ ครม.เดิมอยู่ใช่หรือไม่ นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เรื่องไหนที่ทำตามติ ครม.หากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ต้องเป็นไปตามมติ ครม.ใครจะไปรับปากอะไรใครไว้ ตนไม่ทราบ แม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรีเองก็ต้องทำตามมติ ครม.ถือเป็นหน้าที่ เพราะในการเสนอเรื่องก็ผ่าน กพช.ขึ้นมา แม้นายกฯจะเป็นประธาน กพช.และมีตนเป็นรองประธาน กพช.แต่ก็ยังมีส่วนราชการและผู้ที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก ฉะนั้น การจะปรับเปลี่ยนใดๆ ก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการ เมื่อถามย้ำอีกว่า แสดงว่า ต้องนำเรื่องกลับไปที่ กพช.พิจารณาอีกครั้งก่อน รองนายกฯ กล่าวว่า ถ้าจะแก้ก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่จะแก้หรือเหล่ายังไม่รู้

เมื่อถามว่า แสดงว่า ในการหารือร่วมกับนายกฯและผู้เกี่ยวข้อง ยังมีความเห็นที่ต่างกันในเรื่องนี้อยู่ นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า “ผมว่ามันต้องพูดกัน ไม่ใช่มากดดันกันอย่างนี้” เมื่อถามว่า การหารือของนายกฯครั้งนี้จะเป็นแค่การซื้อเวลา และกลุ่มผู้ชุมนุมขีดเส้นภายในเที่ยงวันเดียวกันนี้รัฐบาลต้องมีคำตอบทบทวนมติ ครม.ไม่เช่นนั้นจะยกระดับการชุมนุม นายกิตติรัตน์ กล่าวย้อนว่า ไม่เห็นขีดเส้นเขาก็มากันแล้ว ถ้าเขาขีดเส้นว่าถ้าไม่คุยกันแล้วจะมา ถึงจะเรียกว่าขีดเส้น ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลไม่กลัวว่าม็อบจะยกระดับการชุมนุม นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ก็กลัว ใครจะไปอยากให้ประชาชนเดือดร้อน และการทำให้ประชาชนเดือดร้อนเป็นสิ่งที่ไม่ดี ขอร้องว่าอย่าทำให้ประชาชนเดือดร้อนเลย

“ต้องขอความกรุณาตัวแทนหรือผู้ที่มารวมกันในภาคขนส่งที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ว่า กระบวนการที่ทำกันมานั้น มีขั้นตอน มีการประชุมใน กพช.และนำเข้า ครม.ฉะนั้น เรื่องพวกนี้ควรจะคุยกัน การที่เอารถเอาคนมาเป็นเรื่องที่ลำบาก เดือดร้อนทั้งคนที่มาและประชาชน จึงขอร้องเมื่อยื่นเรื่องแล้วก็มานั่งคุยกัน อย่าใช้วิธีเอารถมาและกำหนดว่าจะต้องได้คำตอบกี่โมง ผมว่ามันไม่เป็นเรื่องของการปรึกษาหารือ ทุกคนอยากให้บ้านเมืองก้าวหน้า การปรึกษาหารือกันดีที่สุด” นายกิตติรัตน์ กล่าว

เมื่อถามว่า สุดท้ายยังยืนยันจะไม่แก้ไขมติ ครม.ใช่หรือไม่ นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า “ถ้ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น เรื่องทุกเรื่องคุยกันได้ และเห็นใจผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้าโอนอ่อนไปตามการชุมนุมเรียกร้อง เราก็จะกลายเป็นบ้านเมืองแห่งการชุมนุมเรียกร้อง ซึ่งไม่น่าจะจำเป็น ขอย้ำว่าถ้ามีอะไรต้องคุยกัน ในส่วนราชการ ผู้ประกอบการว่ากันตามขั้นตอนของราชการ เชื่อว่า จะมีทางออกที่ดี” เมื่อถามว่า ถ้าไม่ทบทวนมติ ครม.จะมีมาตรการบรรเทาเยียวยาอย่างไร นายกิตติรัตน์ ไม่ตอบคำถามเพียงแต่หัวเราะ หึ หึ ในลำคอเท่านั้น





กำลังโหลดความคิดเห็น