xs
xsm
sm
md
lg

โครงสร้างอำนาจ วาทกรรม นักวิชาการ และสื่อมวลชนในเครือข่ายทุนสามานย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

การเมืองของสังคมไทยมีปัญหาวิกฤติรอบด้านและเรื้อรังอย่างยาวนาน และยิ่งนานวันความร้ายแรงของปัญหาก็ยิ่งทับถมทวีมากขึ้น ภาพแสดงของปัญหาปรากฏออกมาทั้งในระดับโครงสร้างอำนาจภาพรวม ระดับองค์การสถาบัน และกระบวนการทางการเมือง ระดับพฤติกรรมของนักการเมืองและบุคคลในองค์การที่เชื่อมโยงกับนักการเมือง และระดับประชาชนที่เป็นฐานรากของการเมือง ปัญหาเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อนจนยากที่จะแก้ไขได้อย่างง่ายๆ แต่หากให้ปัญหาเหล่านี้พัฒนาต่อไป ภาพสังคมไทยในอนาคตคงเกิดความเสื่อมโทรมอย่างที่คาดไม่ถึง

แต่ในบทความชิ้นนี้จะเน้นในประเด็นปัญหาโครงสร้างอำนาจการเมืองในสังคมไทยเป็นเบื้องต้น โดยจะพิจารณาว่ามันมีลักษณะอย่างไร กลุ่มใดคือศูนย์กลางของโครงสร้างอำนาจ และแบบแผนการดำรงอยู่เป็นลักษณะใด มีใครและกลุ่มใดเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและเกื้อหนุนให้โครงสร้างอำนาจเช่นนั้นดำรงอยู่ต่อไปในสังคมไทย และกลุ่มเหล่านั้นใช้ยุทธศาสตร์อย่างไรในการบรรลุเป้าประสงค์ของพวกเขา

โครงสร้างอำนาจภาพรวมของการเมืองไทยมีลักษณะเป็นรูปทรงปิรามิด อำนาจสูงสุดรวมศูนย์อยู่ที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่และกลาง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนที่เติบโตหรือร่ำรวยมาจากธุรกิจสัมปทานที่เชื่อมโยงกับการทุจริต หรือบางส่วนเติบโตจากการหลักเลี่ยงกฎหมาย หรือจากการประกอบธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงเรียกกลุ่มนี้โดยรวมว่า กลุ่มทุนสามานย์ เพราะเป็นกลุ่มที่สร้างความร่ำรวยโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมและความต้องๆใดๆทั้งสิ้น กลุ่มนี้มีทั้งเป็นกลุ่มทุนใหญ่ระดับข้ามชาติ ระดับชาติ และท้องถิ่นเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ภายใต้การกำกับชี้นำของ “นายใหญ่” ทุนสามานย์กลุ่มนี้ควบคุมบงการสภาพทางการเมืองไทยมาช้านาน เพราะมีพลังอำนาจด้านทุนสูงกว่ากลุ่มทุนอื่นๆที่ไม่ใช่ทุนสามานย์ ดังนั้นจะขอเรียกโครงสร้างอำนาจการเมืองไทยว่าเป็น “โครงสร้างอำนาจแบบทุนสามานย์”

กลุ่มทุนสามานย์ได้สนับสนุนให้มีการออกแบบรูปลักษณ์ทางการเมืองเป็นไปในลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อการเข้าสู่อำนาจของพวกตนเองได้สะดวกและต่อเนื่อง และในทางกลับกันก็พยายามแสวงหาเหตุผลและวิธีการที่ดูเหมือนมีความชอบธรรมเพื่อสร้างภาวะการกีดกันกลุ่มอื่นๆอย่างเป็นระบบในการเข้าสู่อำนาจ เช่น การพยายามจำกัดออกแบบวิธีการเข้าสู่อำนาจให้เหลือเพียงแค่ แบบเลือกตั้งแบบเขตพื้นที่ ซึ่งเอื้ออำนวยต่อกลุ่มที่มีทุนในการซื้อเสียง และเอื้อต่อการใช้เล่ห์กลในการสร้างคะแนนนิยม เพื่อเปิดทางแห่งการเข้าสู่อำนาจได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันวิธีการนี้ก็จะทำให้กลุ่มที่ไร้ทุนแต่มีคุณธรรมไม่สามารถเข้าถึงอำนาจได้ โครงสร้างอำนาจแบบนี้จึงเป็นการสร้างภาวะของ “การเหลื่อมล้ำทางอำนาจ” หรือ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงอำนาจของสังคมขึ้นมา

เพื่อให้โครงสร้างอำนาจเช่นนี้ดำรงอยู่ต่อไปกลุ่มทุนสามานย์จึงต้องผลิตซ้ำวาทกรรมเพื่อรองรับและสร้างความชอบธรรม โดยใช้ “เครือข่ายทุนสามานย์” ซึ่งประกอบไปด้วยบางส่วนของ นักวิชาการ สื่อมวลชน และนักเคลื่อนไหวมวลชน ร่วมช่วยกันผลิตวาทกรรมเพื่อให้ระบบ กระบวนการ และวิธีการเข้าถึงอำนาจที่เอื้อต่อทุนสามานย์เป็นสิ่งที่สุดสำหรับสังคมไทย

วาทกรรมพวกนี้เป็นกระบวนการลดรูปตัดทอนปรัชญาและแนวคิดที่มีฐานคติเบื้องต้นเป็นเงื่อนไขให้กลายเป็นคำขวัญทางการเมือง ดังเช่นที่เราได้ยินกันบ่อยๆว่า “การเลือกตั้งเท่ากับประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นการลดรูป ตัดทอน บิดเบือน หลักการประชาธิปไตย หรือ “องค์การที่ใช้อำนาจรัฐต้องเชื่อมโยงกับประชาชน และการเชื่อมโยงกับประชาชนเท่ากับการเลือกตั้ง” ซึ่งเป็นการลดรูปหลักการใช้อำนาจรัฐให้เหลือเพียงมิติเดียวคือ มิติการได้มาของอำนาจ แต่กลับละเลยมิติที่สำคัญยิ่งกว่า อันจะนำไปสู่การสร้างหรือพัฒนาสังคมอย่างแท้จริงคือ มิติการใช้อำนาจ

บรรดาวาทกรรมทางการเมืองที่นักวิชาการและสื่อมวลชนในเครือข่ายของทุนสามานย์ผลิตขึ้นมาใหม่บ่งบอกนัยและสื่อในทางสัญญะโดยจัดลำดับความสำคัญของความเป็นจริงใหม่ว่า “การเข้าสู่อำนาจสำคัญกว่าการใช้อำนาจและการตรวจสอบอำนาจ”

พวกนี้ตอกย้ำอย่างต่อเนื่องว่า หากการเข้าสู่อำนาจมีรูปแบบของประชาธิปไตยปกคลุม แม้เนื้อหาและกระบวนจะเบี่ยงเบนจากหลักการประชาธิปไตยบ้างก็ไม่เป็นไร และเมื่อได้อำนาจมาโดยวิธีแบบนี้แล้ว บรรดาเครือข่ายทุนสามานย์ก็ผลิตวาทกรรมที่สื่อความหมายว่า ผู้มีอำนาจจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าจะใช้อำนาจในทางที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ทุจริตประพฤติมิชอบ หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ทำได้เพราะเขาได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนมาแล้ว

ชุดของวาทกรรมสามานย์เหล่านี้จึงสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างอำนาจแบบทุนสามานย์ และแน่นอนว่าเครือข่ายทุนสามานย์เหล่านี้ย่อมได้รับประโยชน์จากการปั้นความเท็จให้กลายเป็นความจริงอย่างไม่ต้องสงสัย

และเมื่อกลุ่มทุนสามานย์มีความประสงค์จะใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นอิสระ พวกเขาจึงกำหนดยุทธศาสตร์เพิ่มเติมเพื่อบั่นทอนและทำลายประสิทธิภาพขององค์การตรวจสอบทั้งองค์การอิสระ สื่อมวลชน และองค์การภาคประชาชน โดยในขั้นแรกผลิตวาทกรรมอีกชุดขึ้นมาเพื่อลดความชอบธรรม จากนั้นก็เข้าไปแทรกแซงและควบคุมให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของพวกเขา หากองค์การใดควบคุมไม่ได้ก็จะบ่อนทำลายสลายพลังให้อ่อนแอลงไป

วาทกรรมเริ่มแรกที่พวกเขาใช้กันมานานคือ “สองมาตรฐาน” ซึ่งเป้าหมายของการใช้วาทกรรมชุดนี้พุ่งตรงไปที่ระบบยุติธรรม โดยเฉพาะศาลยุติธรรมโดยตรง วาทกรรมสองมาตรฐานถูกใช้ในมิติอื่นน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย หน้าที่ของวาทกรรมชุดนี้คือการทำลายความน่าเชื่อถือของระบบศาล ทำให้ศาลอ่อนกำลังลงไปและเข้าไปควบคุมบงการ เพื่อให้ศาลวินัยฉัยและตัดสินในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการของพวกเขา

สำหรับศาลอื่นๆ เช่นศาลปกครอง พวกเขาก็จุดประเด็นให้ผู้คนสับสนโดยขุดเอาแนวคิด ศาลเดี่ยว กับศาลคู่ ขึ้นมาพูดในที่สาธารณะอีก ทั้งที่ประเด็นนี้ได้ยุติในทางวิชาการไปแล้ว โดยเฉพาะความจำเป็นของสังคมที่ต้องมีศาลปกครอง ขึ้นมาตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เป็นหลักการสากลของประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย เพราะมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าระบบและกลไกทางการเมืองในรัฐสภา ไร้ประสิทธิภาพในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารอย่างสิ้นเชิง ปมเงื่อนก็คือ รัฐบาลกับเสียงข้างมากในสภาเป็นพวกเดียว ต่างฝ่ายต่างผลัดกันเกาหลังให้กัน และสมยอมซึ่งกันและกัน

ด้านนักวิชาการและสื่อมวลชนในเครือข่ายทุนสามานย์ ก็มีการปฏิบัติการทางการเมืองอย่างมีจังหวะก้าวและแยบยลเพื่อทำลายภาคประชาชน ที่ไม่เห็นด้วยกับการครองอำนาจเผด็จการของกลุ่มทุนสามานย์

นักวิชาการในเครือข่ายทุนสามานย์บางคนพยายามเชื่อมโยงภาคประชาชนที่ตรวจสอบกลุ่มทุนสามานย์เข้ากับกลุ่มอันธพาลการเมืองที่ใช้ความรุนแรงในอดีต เช่น จัดให้พันธมิตรประชาชน อยู่ในกลุ่มเดียวกับกระทิงแดง หรือ นวพล การจัดกลุ่มเช่นนี้ของนักวิชาการเครือข่ายทุนสามานย์ เป็นการพยายามนำเอาตราบาปของการใช้ความรุนแรงที่กลุ่มกระทิงแดงหรือนวพลเคยใช้ในอดีต มาประทับให้กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิไตยซึ่งใช้สันติวิธีมาโดยตลอดในการต่อสู่ทางการเมือง

การกระทำของนักวิชาการในเครือข่ายทุนสามานย์จึงเปี่ยมไปด้วยอคติ และมีความเกลียดชังเป็นรากฐาน โดยปราศจากการใช้เหตุผลเชิงวิชาการและข้อเท็จจริงรองรับ อันเป็นการใช้ความเป็นนักวิชาการของตนเองอย่างมืดบอด และน่าละอายยิ่งนัก

นักวิชาการเครือข่ายทุนสามานย์เหล่านี้ยกย่องอันธพาลการเมืองเสื้อแดงเป็นวีรบุรุษของประชาชน โดยมองข้ามความเป็นจริงไปว่า อันธพาลการเมืองเสื้อแดงใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับพวกเขายิ่งกว่ากลุ่มกระทิงแดงและนวพลกระทำในอดีตเสียอีก มีทั้งสังหารคนไม่เห็นด้วยที่สนามบินจังหวัดเชียงใหม่ ใช้อาวุธปืนเอ็ม 79 ยิงใส่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง ใช้อาวุธสังหารเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้เข้าไปดูแลการชุมนุม บุกทำร้ายผู้ที่มีความคิดต่างจากเองอีกหลายครั้ง และพฤติกรรมที่รุนแรงอื่นๆอีกมากมายนับครั้งไม่ถ้วน

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ บุคคลที่มีสามัญสำนึกทุกคนและไม่ถูกปกคลุมด้วยอคติย่อมจะเห็นและเข้าใจได้ว่า กลุ่มใดที่มีพฤติกรรมรุนแรงและทำร้ายชีวิตผู้คนเพื่อตอบสนองเป้าหมายของตนเอง จะมีก็เพียงแต่นักวิชาการและสื่อมวลชนในเครือข่ายทุนสามานย์นี่แหละที่มองไม่เห็นและไม่เข้าใจ

ส่วนสื่อมวลชนในเครือข่ายทุนสามานย์ก็มีความพยายามโจมตีและสร้างความแตกแยกภายในองค์การภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเจ้านายของเขาอย่างแยบยล โดยการเชิญสัมภาษณ์และตั้งคำถามนำอย่างเจตนาเพื่อให้ผู้ตอบหลุดคำตอบบางอย่างที่อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดระหว่างองค์การภาคประชาชน และหากมีคำเหล่านั้นหลุดออกมา สื่อในเครือข่ายทุนสามานย์ก็จะเอาไปพาดหัวตัวใหญ่ ประโคมอย่างเอิกเริก

กล่าวโดยสรุปการสร้างความมั่นคงให้แก่โครงสร้างอำนาจแบบทุนสามานย์ ได้รับการปฏิบัติการทางการเมืองอย่างแข็งขันของ กลุ่มทุนสามานย์และสาวก ผนวกกับนักวิชาการและสื่อมวลชนในเครือข่ายทุนสามานย์ มีการใช้ยุทธศาสตร์หลากลาย ทั้งการสร้างความชอบธรรมให้กับเส้นทางในการเข้าสู่อำนาจ การสร้างชุดวาทกรรมเพื่อทำให้การเลือกตั้งแบบจอมปลอมโดดเด่น และกดทับความสำคัญของวิธีการใช้อำนาจและการตรวจสอบอำนาจรัฐ การบั่นทอนความเข้มแข็งขององค์การอิสระและภาคประชาชนโดยผลิตวาทกรรม การปรับสภาพเปลี่ยนความเป็นจริง การสร้างการตีตราทางสังคม และการยุแยงให้แตกแยก
กำลังโหลดความคิดเห็น