xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯเชื่อ“ศาล-ทหาร” ตกผลึก!ร่วมประชาชนปฏิรูปประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-โฆษกพันธมิตรฯ ชี้มวลชนแห่ร่วมประชุมสวนลุมฯ สะท้อน"ธงปฏิรูป" ตอบโจทย์ประเทศ ย้ำภาคประชาชนไม่ยอมเป็นเครื่องมือให้ขั้วอำนาจใด ยกผลโพลชาวบ้านเบื่อนักการเมืองทั้ง 2 ฝ่าย ยันไม่มีล็อกตัวกรรมการ คร.ปร. คาดแกนนำฯ ถกหลายรอบกว่าจะได้ครบชุด เพื่อให้รอบด้านที่สุด เชื่ออีกไม่นาน "ตุลาการ-ทหาร"ไหวตัว หลังถูกรุกแทรกอำนาจ ไม่ปิดตายจับมือ ปชป. ล้มทุนสามานย์ หากพรรคสีฟ้ามองประโยชน์ส่วนรวมก่อนหวังอำนาจ

วานนี้ (11 มี.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวแสดงความพึงพอใจผลการประชุม “หยุดเผด็จการรัฐสภา รวมพลังปฏิรูปประเทศไทย” ที่จัดขึ้นที่สวนลุมพินี เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า ถือว่าเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะเป็นเพียงการประกาศนัดประชุม ที่ไม่ใช่การชุมนุม โดยมุ่งหวังว่าจะมีตัวแทน หรือแกนนำจากจังหวัดต่างๆเข้าร่วมเป็นหลัก แต่ปรากฏว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่า ที่ผ่านมากลุ่มพันธมิตรฯ ถูกดูแคลนหรือถูกเหยียดหยามว่าเป็นช่วงขาลง จึงเดินทางมาสมทบเพิ่มเติม ถือเป็นปฏิกิริยาจากประชาชนที่มีความสำคัญ โดยดูได้จากดัชนีชี้วัดที่ได้มีการเตรียมที่นั่งไว้ 5,000 ชุด แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่เพียงพอ จนทำให้ประชาชนจำนวนมาก ต้องเสริมเก้าอี้ภายนอกอาคาร และอีกหลายคนใช้พื้นในสวนเป็นที่นั่ง ตลอดทั้งวันก็มีประชาชนที่สนใจผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาร่วมเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังพบว่าแบบสอบถามที่เตรียมไว้ 6,000 ชุดนั้นหมดอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ครึ่งวันเช้า ก็ไม่เพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากเช่นนี้ จนใกล้เคียงกับการชุมนุมครั้งใหญ่ในอดีตที่ผ่านมา จึงทำให้การประเมินตัวเลขที่แท้จริง ทำได้ยาก

การประชุมที่สวนลุมฯ สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ยังเป็นมวลชนหลักที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอนาคต แม้ว่ารอบหลายปีที่ผ่านมา อาจจะดูต่างจากมวลชนหลายกลุ่ม บางกลุ่มที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ หรือบางกลุ่มที่มุ่งเน้นเรื่องปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นหลัก แต่ทันทีที่พันธมิตรฯ ออกมาชูธงปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ ก้าวข้ามการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนขั้วอำนาจ และไปไกลกว่านั้น ในการทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน ซึ่งน่าจะเป็นคำตอบของคนหลายๆ กลุ่ม จึงเป็นผลให้มีผู้ให้ความร่วมมือเป็นจำนวนมาก" นายปานเทพ กล่าว

นายปานเทพ กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากปริมาณผู้เข้าร่วมประชุม ที่มีจำนวนมากแล้ว ยังพบว่า ประชาชนให้ความสนใจในเนื้อหา และกระตือรือร้นที่จะร่วมระดมความคิดเห็น โดยเห็นได้จากแบบสำรวจที่เตรียมแจกไม่พอ ที่สำคัญยังมีความเห็นที่เป็นเอกภาพอย่างไม่น่าเชื่อ ที่ต้องการปฏิรูปทั้งระบบ มากกว่าการต่อต้านรายประเด็น ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่หากคัดค้านสำเร็จ ก็อาจเป็นเพียงความพึงพอใจในระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่เมื่อ 71 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า ต้องการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ ขจัดระบอบเผด็จการรัฐสภา โดยทุนสามานย์ได้สำเร็จ ย่อมสะท้อนว่าประชาชนคิดไปไกลกว่านั้นแล้ว

" ความน่าสนใจอีกข้อคือ เมื่อพูดถึงการเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่ก็ตอบในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ควรชุมนุม รอเวลาให้ภาคส่วนต่างๆ มาตกผลึกร่วมกับภาคประชาชน สะท้อนว่า ประชาชนต่างตระหนักในเชิงให้ขั้วอำนาจต่างๆ เข้าร่วม โดยที่ไม่มองเรื่องผลประโยชน์ แต่ไม่ยอมที่จะให้ภาคประชาชนเป็นเพียงเครื่องมือในการปกป้องขั้วอำนาจเท่านั้น ซึ่งไม่นำไปสู่การปฏิรูปอย่างแท้จริง” นายปานเทพ กล่าว

นายปานเทพ กล่าวอีกว่า ดัชนีชี้วัดสำคัญทางการเมืองในวันนี้ ดูได้จากผลการสำรวจของนิด้าโพล ที่กว่า 58 เปอร์เซ็นต์ของประชาชน ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการรื้อทั้งฉบับ แม้ว่าจะมีอีกหลายโพลสนับสนุน และเอนเอียงเข้าข้างพรรคเพื่อไทย ก็ตาม สะท้อนให้เห็นว่าประชาชน มีความเข้าใจปัญหาดีในระดับหนึ่ง และไม่เห็นด้วยกับการให้อิสระกับนักการเมืองมากขึ้น แต่อยากให้เพิ่มกฎเกณฑ์ กำกับพฤติกรรมของนักการเมืองมากกว่า

อีกทั้งเมื่อดูจากผลการเลือกตั้ง วันที่ 3 ก.ค.54 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ฝ่ายต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีอยู่ 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่ลงคะแนนโหวตโน ซึ่งแม้ว่ามีคะแนนไม่มากเท่าที่ควร จากการถูกกลั่นแกล้งสารพัด และกลุ่มที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีคะแนนนิยมในระบบบัญชีเลือกตั้ง ร้อยละ 24 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ปรากฏว่า มาถึงเมื่อเดือนม.ค.55 ดัชนี้เชื่อมั่น หรือชื่นชอบในตัว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กลับลดลง เหลือเพียง 14 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นฝ่ายบริหาร และทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ในขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย เผชิญกับวิกฤตจากมหาอุทกภัย ทำให้ความนิยมลดลง และ ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์น่าจะเพิ่มขึ้น แต่กลับลดต่ำลง ทำให้เห็นว่า กลุ่มที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ในตอนนั้น ไม่ได้นิยมในตัวพรรค แต่ต้องการสกัดกั้น ระบอบทักษิณเท่านั้น

" เมื่อไม่นานมานี้ มีการสำรวจความเห็นประชาชนพบว่า กว่า 51 เปอร์เซ็นต์ ไม่นิยมทั้งคุณอภิสิทธิ์ และคุณยิ่งลักษณ์ แสดงว่า ทั้งคู่มีสัดส่วนน้อยลงไม่ถึงครึ่ง สะท้อนว่าวันนี้ประชาชนเบื่อการเมือง ไม่มีผู้นำทางการเมืองที่ชื่นชอบอย่างแท้จริง กระแสปฏิรูปครั้งใหญ่ จึงน่าจะเป็นกระแสที่ตรงความต้องการของประชาชนกลุ่มนี้ ที่รอการตัดสินใจครั้งใหญ่ และรอให้มีผู้มาจุดประกายทางความคิด ว่า จะเปลี่ยนแปลงการเมืองที่ล้มเหลว อันมีแต่จะสร้างความหายนะแก่ประเทศชาติประชาชน" โฆษกพันธมิตรฯ กล่าว

** เตรียมคัดเลือกกรรมการ คร.ปร.

สำหรับโครงสร้างของ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (คร.ปร.) นายปานเทพ เปิดเผยว่า คงยังไม่สามารถกำหนดตัวบุคคล หรือรูปแบบได้ เพราะภายในสัปดาห์นี้ แกนนำพันธมิตรฯ จะต้องนัดประชุม เพื่อวางรูปแบบเบื้องต้นกันก่อน และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้มีการทาบทามบุคคลใดเป็นพิเศษด้วย ซึ่งเชื่อว่าแกนนำยังต้องประชุมอีกหลายรอบ เพื่อให้บุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่รอบด้านมากที่สุด เพราะหากมีการเคลื่อนไหวอีกครั้งวัตถุประสงค์ต้องเพื่อเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หากมีเพียงแกนนำพันธมิตรฯ คงไม่เพียงพอ ผู้ที่เข้ามาต้องทำภารกิจนี้แทนแกนนำได้

ส่วนเรื่องความอิสระในการทำหน้าที่นั้น เชื่อว่าเมื่อ คร.ปร. รับภารกิจแล้ว น่าจะดำเนินการได้เอง อาจมีบางเรื่องที่ต้องร่วมประชุมกับแกนนำพันธมิตรฯ บ้าง แต่น้ำหนักส่วนใหญ่จะอยู่ที่ คร.ปร. คล้ายกับเมื่อการชุมนุมครั้งล่าสุด 153 วัน ที่มีการตั้ง คณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีอำนาจการตัดสินใจเต็มที่ ทั้งเรื่องรูปแบบ และการเคลื่อนไหวต่างๆ

นายปานเทพ ยังได้กล่าวถึงรูปแบบการเดินสายให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้เกิดการตื่นรู้ทั่วประเทศ ตามผลการสำรวจจากการประชุมด้วยว่า เมื่อมีการตั้ง คร.ปร.แล้ว ก็จะมีหน้าที่เข้ามารับผิดชอบในส่วนนี้ด้วย โดยภารกิจขั้นแรก ต้องทำให้เกิดการปฏิรูปความคิดของประชาชน ตกผลึกในเรื่องรูปแบบ และโมเดลการปฏิรูป คร.ปร. จะทำหน้าที่กำหนดทิศทางรณรงค์ ออกแบบแคมเปญต่างๆ โดยผนวกกับพลังของประชาชน ที่เริ่มรับรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูง หรือผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง ที่เป็นต้นเหตุหลักให้เกิดน้ำท่วมใหญ่อย่างอยุติธรรม ให้เข้าใจในบริบทว่า เกิดจากปัญหาการเมือง ไม่ใช้เพราะธรรมชาติอย่างเดียว สิ่งต่างๆเหล่านี้ ก็จะเป็นชนวนจุดประกายของประชาชนให้ตื่นรู้ ได้ด้วย

** เชื่อทหาร-ตุลาการเตรียมขยับ

ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวทางการทำให้ ทหาร ตุลาการ และกลุ่มอำนาจต่างๆ ตกผลึกเข้าร่วมกับภาคประชาชนในการปฏิรูปประเทศไทย นายปานเทพ กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่า คนเหล่านี้ตื่นรู้ก่อนภาคประชาชนด้วยซ้ำ และถือเป็นด่านแรกที่เผชิญหน้ากับการถูกลิดรอน หรือ รุกคืบแทรกแซงอำนาจ และเมื่อถึงเวลาที่ต้องเดิมพันอำนาจ ถูกสั่นคลอนโดยทุนนิยมสามานย์ คนเหล่านี้ก็จะลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง เช่นเดียวกันกลุ่มขั้วอำนาจ หรือพรรคการเมือง อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่หากยังไม่รู้สึกตัว ก็จะจมปลักอยู่กับความพ่ายแพ้ตลอดกาล ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ รอให้ทุกฝ่ายตระหนักว่า ภาคประชาชนไม่ยอมที่จะเป็นเครื่องมือ คนเหล่านั้นก็จะออกมาเดิน ไปพร้อมคนทุกกลุ่มทุกอาชีพ

เมื่อถามอีกว่า ฝ่ายพรรคเพื่อไทย มีความพยายามดักคอว่า กลุ่มพันธมิตรฯ เตรียมที่จะหันไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง นายปานเทพ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และพวกจะเลือกอย่างไร เพราะการจะทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมมือกันเกิดขึ้นกรณีเดียวในการละเมิด 2 ข้อหลัก คือ ความพยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันพระมหากษัตริย์ และความพยายามในการนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณและพวก แน่นอนว่า หากเกิดขึ้น กลุ่มพันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องมีการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันโดยปริยาย

"แม้ว่าโดยธรรมชาติแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ต้องการโค่นล้มรัฐบาล เพื่อขั้วอำนาจตัวเองก็ตาม แต่หากพรรคประชาธิปัตย์ ยอมสูญเสียอำนาจในอนาคต เพื่อให้มีการปฏิรูปอย่างยั่งยืนเสียก่อน ซึ่งเป็นธงเดียวกับประชาชน การเคลื่อนไหวในทำนองเดียวกัน เป็นหมากบังคับที่ต้องเกิดขึ้นแน่" โฆษกพันธมิตรฯ ระบุ

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า แม้จะยังไม่ประกาศให้มีการชุมนุม แต่หลายฝ่ายก็ยังจับตาว่า กลุ่มพันธมิตรฯ อาจจะมีการประกาศชุมนุมใหญ่ในเร็วๆนี้ นายปานเทพ อธิบายว่า คงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่จะเกิดหรือไม่ ครั้งนี้ไม่ได้มาจากแกนนำพันธมิตรฯ เท่านั้น แต่จะเกิดจากที่ประชุมที่อาจเห็นว่า วันหนึ่งจำเป็นต้องออกมาชุมนุม ตามที่ได้ประกาศไปในแถลงการณ์ว่า เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม และประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยครั้งใหญ่ ก็พร้อมจัดให้มีการชุมนุมใหญ่โดยทันที ถึงเวลานั้น ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงไม่มีใครกำหนดได้ว่า จะเกิดขึ้นเร็ว หรือช้า
กำลังโหลดความคิดเห็น