ปธ.กกต.ค้านแนวคิด “มีชัย” ลดอำนาจ กกต.ระบุ รูปแบบ กกต.ไทยก้าวหน้ากว่าประเทศอื่น ขณะเดียวกัน ก็ค้านแนวคิดให้ กกต.เลือกตั้ง ส.ส.ร.ระบุไม่มีกฎหมายรองรับ ด้าน “สดศรี” ชี้ ทำได้ต้องแก้ รธน.291-พ.ร.ป.เลือกตั้ง เพิ่มอำนาจ กกต.เลือกตั้ง ส.ส.ร.ได้ ส่วนการลงประชามติ ต้องยึดตาม พ.ร.บ.ที่กำหนด
นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตรองนายกฯอดีตประธานวุฒิสภา เสนอให้แยกหน่วยงานจัดการเลือกตั้งออกจาก กกต.ให้เหลือแค่อำนาจในการออกกฏและควบคุมวินิจฉัยเท่านั้น ว่า วัตถุประสงค์แรกที่ กกต.ถูกตั้งขึ้นมานั้นก็เพื่อดำเนินการจัดการเลือกตั้ง เหมือนเช่นกับประเทศอื่นๆ กรณีดังกล่าวนี้ตนคิดว่าคงไม่ใช่แค่วินิจฉัย ในความคิดของตน กกต.ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้รับผิดชอบในการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ตุลาการตัดสินเหมือนอย่างประเทศเรา จึงมองว่าประเทศเราก้าวหน้ากว่าประเทศอื่น เพราะเราทำหน้าที่วินิจฉัยความผิดถูกที่เกิดขึ้นด้วย
ส่วนกรณีที่มองว่า กกต.ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้โปร่งใสได้นั้น ตนมองว่า เหตุใด จึงไม่โปร่งใส เพราะกกต.ก็พยายามดำเนินการให้โปร่งใสที่สุด ซึ่ง ประชาชนก็ไว้ใจ กกต.ดังนั้น กกต.ก็ต้องทำหน้าที่ให้โปร่งใส แม้การทำหน้าที่นี้จะมีแรงเสียดทานไปบ้าง ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ กกต.หนีไม่พ้น
ประธาน กกต.ยังกล่าวด้วยว่า ไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากแก้ออกมาอย่างไร กกต.ก็พร้อมจะปฏิบัติตาม ส่วนที่พรรคเพื่อไทยต้องการจะให้ กกต.ดำเนินการเลือกสมาชิกสภารัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ตนเห็นว่า น่าจะให้ฝ่ายอื่นดำเนินการมากกว่า กกต.ซึ่งถ้าให้ กกต.ทำก็ยังไม่เห็นว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรเพราะไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่ถ้าให้ดำเนินการ กกต.ก็พร้อมทำหน้าที่ ซึ่งอาจจะมองว่าเราชำนาญเลือกการเลือกตั้ง และถ้าทำแล้วเกิดประโยชน์กับบ้านเมืองเราก็ยินดี
ด้าน นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวเรื่องเดียวกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร.เคยดำเนินการมาแล้วในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เมื่อปี 2549 โดยมาตรา 19 โดยระบุว่า ให้มีการจัดตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมา ซึ่งได้ให้อำนาจ คมช.จัดตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ หลังจากนั้นทางสมาชิกสมัชชาแห่งชาติก็จะเลือกสรรกันเองเหลือ 200 คน ปัจจุบันหากจะให้กกต.จัดการเลือก ส.ส.ร.ก็จำเป็นต้องแก้มาตรา 291 ก่อน เพื่อให้อำนาจ กกต.จัดเลือกตั้ง ส.ส.ร.ทั่วประเทศ 77 จังหวัด นอกจากนี้ จะต้องไปแก้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ด้วย เพราะบัญญัติให้ กกต.มีอำนาจเพียงเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.เท่านั้น หากแก้ไขมาตรา 291 ก็อาจจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมเข้าไปว่า ให้เลือกตั้ง ส.ส.ร.โดย กกต.มีอำนาจในการออกกฎหมายลูกได้ด้วย
ส่วนการออกเสียงประชามติ ขณะนี้เรามี พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ 2552 อยู่แล้ว ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้อาจมีขั้นตอนมากมาย ส่วนที่ระบุว่า จะให้มีการทำประชามติภายในระยะเวลา 60 วันนั้นก็จะขัดกับ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ เนื่องจากกฎหมายบัญญัติว่า การจัดทำประชามติให้กระทำไม่ต่ำกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งวิธีการน่าเชื่อได้ว่า หากแก้ไขมาตรา 291 คงจะให้ ส.ส.ร.เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติโดยให้ กกต.เป็นผู้จัดทำ ซึ่งมีตัวอย่างจากการรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถ้าทำด้วยความรวดเร็วคงจะไม่ยึดตาม พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติปี 2552 น่าจะทำโดย ส.ส.ร.เองมากกว่า โดย กกต.สามารถจัดทำได้เร็วที่สุด ถ้าบอกล่วงหน้าก็จะทำได้ตามกำหนดระยะเวลา
“เราพร้อมเหมือนคนที่ออกศึกอยู่แล้ว และเร็วๆ นี้ ก็จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นงานที่หนักมาอยู่แล้ว ก็อาจจะให้ท้องถิ่นเข้ามาช่วยเรื่องนี้ ก็อยากให้มีการเขียนกฎหมายให้ชัดว่าจะให้ ส.ส.ร.หาเสียงได้เหมือนนักการเมืองหรือไม่ หรือสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ แต่ก็เป็นที่รับรู้ว่า ส.ส.ร มาจากพรรคใดอยู่แล้ว พร้อมทั้งอยากให้มีการระบุคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.ร.ให้ชัดเจน เพื่อที่ กกต.จะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้”
นายอภิชาต ให้สัมภาษณ์เสริมถึงความคืบหน้าการสรรหาเลขา กกต.คนใหม่ ว่า ขณะนี้ทางอนุกรรมการดำเนินการและตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขา กกต.ได้มีการเสนอเอกสาร และข้อมูลของผู้สมัครรับการสรรหามาที่ตนแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมสำเนาเอกสารแจก กกต.คนอื่นๆ อยู่เพื่อนำไปพิจารณา จากนั้นคงจะได้เริ่มพิจารณาสรรหากัน และก็จะเข้าสู่ขั้นตอนเพื่อให้ผู้สมัครได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อ กกต.โดยอาจจะใช้วิธีการแบบเปิดเผย คือ อาจให้สื่อมวลชนได้ร่วมรับฟังการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครด้วย คาดว่า กลางเดือน ก.พ.นี้ น่าจะได้บุคคลที่จะเข้ามาเป็นเลขา กกต.คนใหม่