“อภิสิทธิ์” จี้ ปธ.คอป.แสดงจุดยืนหลักเกณฑ์นักโทษคดีการเมืองคืออะไร ถามพวกใช้อาวุธต้องแยกขังมั้ย หวั่นถูกดึงสู่ความขัดแย้ง เสี่ยงถูกใช้เป็นเครื่องมือฝ่ายการเมือง แนะราชทัณฑ์เปิดชื่อใครได้รับสิทธิ์บ้าง หนุนทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ชี้ ชทพ.ดี๊ด๊าเรื่องปกติ เตือนรัฐระวังเอื้อประโยชน์ให้คนใดคนหนึ่งจะกระทบสัมพันธ์ระหว่างชาติ แนะ “เฉลิม” ใช้บารมีออกมติ พท.ค้านแก้ ม.112
วันนี้ (23 ธ.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเวลา 11.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้านในสภา กล่าวถึงกรณี นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ดีใจที่รัฐบาลจะปฏิบัติตามที่เสนอในการแยกขังนักโทษคดีการเมือง แต่จะไม่เข้าไปดูรายชื่อนักโทษที่แยกขังว่าเป็นใครบ้างว่า ท่านคงไม่มีหน้าที่ในการไปดูรายชื่อ แต่ท่านจะต้องพูดให้ชัดว่า หลักเกณฑ์คืออะไร ตนเห็นท่านให้สัมภาษณ์คดีที่เกี่ยวข้องกับการไปใช้อาวุธมันไม่ใช่ เมื่อมันไม่ใช่ตนคิดว่า ท่านก็จะต้องแสดงจุดยืน ถ้ามีกรณีของคนกระทำความผิดโดยใช้อาวุธท่านยังสนับสนุนให้แยกขังหรือไม่ มิฉะนั้น คอป.ก็ต้องกลายเป็นเหมือนกับว่า ยอมรับ หรือสนับสนุนการตัดสินใจของรัฐบาล และจะทำให้ คอป.ถูกดึงเข้ามาสู่ความขัดแย้ง ตนอยากให้ คอป.อยู่ในสถานะที่ทุกฝ่ายยอมรับและสนับสนุนให้ทำงานอย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่ คอป.เสนอมาตนเห็นว่ามีหลักการ และเหตุผลแต่ตนอาจจะไม่เห็นด้วยทั้งหมด แต่ก็อยู่ในข่ายที่ยอมรับได้ ตอนนี้ที่สุ่มเสี่ยงคือการถูกแปลงสารไปใช้ผลประโยชน์เพื่อฝ่ายการเมือง ดังนั้น คอป.ก็ต้องระมัดระวัง
เมื่อถามถึงกรณีที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อ้างว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูตัวบุคคล นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าจะเป็นกลไกหลักเกณฑ์อะไร แต่ถ้ามีการเลือกปฏิบัติเราก็คงจะตรวจสอบและมีการรับผิดชอบกัน เพราะถ้าไม่มีอำนาจตามกฎหมายเขาก็ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่คงจะต้องดูว่าอ้างระเบียบอะไร อย่าไรก็ตาม เห็นว่า ควรจะมีการเปิดเผยรายชื่อนักโทษที่มีการแยกขังให้สาธารณชนรับรู้ เพราะเราจะได้รู้ว่ามีการเลือกปฏิบัติหรือไม่
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้ทำประชามติก่อนเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดความขัดแย้งในสังคมว่า ตนกำลังรอดูว่า ข้อเสนอเรื่อง ส.ส.ร.เป็นอย่างไร ซึ่งตนค่อนข้างจะเห็นด้วยว่า เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมา ถ้าอยากจะแก้ไขปรับปรุงแล้วผ่านประชามติก็จะเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งตนไม่ได้ติดใจขั้นตอนการทำมติว่าจะก่อนหรือหลังการแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนที่พรรคชาติไทยพัฒนาออกมา ระบุว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนเห็นว่าเรื่องนี้ถูกระบุอยู่ในนโยบายของรัฐบาล เพราะฉะนั้นเมื่อเขาเป็นรัฐบาลก็จ้องสนับสนุนนโยบายของเขาเอง
ส่วนที่ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ต้องการที่จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ด้วย นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ความจริงแล้วมาตรา 190 แก้ไขไปรอบหนึ่งแล้ว และที่มาของมาตรา 190 ก็เพราะในอดีตมีปัญหาเรื่องการไปทำสัญญาต่างๆ และกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวม ขาดการมีส่วนร่วมของเจ้าของประเทศ และที่ได้แก้ไขไปเป็นเพราะถ้อยคำไม่เอื้อต่อการทำงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งเราก็ได้แก้ตามสมควรแล้วที่จะสามารถออกกฎหมายและรัฐบาลมีความคล่องตัว การมีส่วนร่วมและโปร่งใสมากขึ้น ก็น่าจะพอดีแล้ว แต่หากมีข้อเสนอที่ดีกว่าก็ต้องระบุออกมาว่า เป็นอย่างไร
ต่อข้อถามว่า มาตรา 190 อาจจะเป็นอุปสรรคต่อบางคนที่ทำธุรกิจข้ามชาติแล้วอาศัยรัฐบาลหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่า การดำเนินนโยบายต้องระมัดระวังอย่างมากในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนและถ้าเอาสถานะของความเป็นรัฐไปเอื้อประโยชน์ให้กับคนๆ หนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสุดท้ายก็จะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ พูดว่า ทุกอย่างดีหมด ที่จริงแล้วใม่ใช่ สมัย พล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ คือ สมัยที่มีการเผาสถานทูตและเกิดปัญหาทางการเมืองทั้งในพม่าและประเทศไทยสืบเนื่องมาจากการไปทำธุรกิจของคนที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจทั้ง 2 ประเทศ
เมื่อถามว่า ขณะนี้นักวิชาการทั้ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และ นายสุเมธ ตันติเวชกุล ออกมาติงว่า ไม่ควรที่จะแก้มาตรา 112 นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯยืนยันคัดค้านหนักแน่นก็ควรใช้ความเป็นผู้นำในพรรคเพื่อไทยมีมติออกมาเลยว่า เรื่องนี้ให้หยุดเสีย แล้วไปทำแนวทางที่มีคณะกรรมการที่ปรึกษาหรืออะไรก็ทำไป เมื่อถามต่อว่า คิดว่า ร.ต.อ.เฉลิม จะฟังนักวิชาการหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “เห็นคุณเฉลิมขึงขังเองว่า ตัวเองขอคัดค้านถึงที่สุดก็ต้องเชื่อบารมีคุณเฉลิมในพรรคเพื่อไทย”