xs
xsm
sm
md
lg

“สุชาติ” นั่งประธาน กพอ.นัดแรกอนุมัติศาสตราจารย์ 6 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช
“สุชาติ” นั่งเก้าอี้ประธาน กพอ.นัดแรกอนุมัติ ตำแหน่งศาสตราจารย์ รวด 6 ราย พร้อมเปิดประเด็นให้ สกอ.ไปศึกษากำหนดกรอบเวลาอ่านผลงานให้ชัดเจน เหน็บไม่อยากให้ซ้ำรอยตนเองที่ใช้เวลาถึง 3 ปีพอได้ตำแหน่ง ศ.ก็พ้นจากการเป็นอาจารย์มหา’ลัย

ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ.) ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติตำแหน่งวิชาการ ในตำแหน่ง ศาสตราจารย์ (ศ.) จำนวน 6 ราย ดังนี้ ศ.เดวิด บรรเจิดพงศ์ชัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศ.ปานสิริ พันธุ์สุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว), ศ.สุเทพ กลชาญวิทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, ศ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, ศ.ประมุข มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ ศ.พรสวรรร์ วิสุทธิวิเศษ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล

ทั้งนี้ ในการประชุม กพอ.ตนในฐานะประธานได้เสนอในที่ประชุมให้มีการกำหนดกรอบเวลาในการอ่านผลงานให้ชัดเจน โดยผู้อ่านผลงานมีสิทธิใช้ดุลพินิจได้เต็มที่ว่า จะให้ผ่านหรือไม่ให้ผ่าน แต่ก็ควรมีคำตอบในเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ ผู้ใหญ่ในที่ประชุมหลายคนเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว อย่างเช่น ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน หรือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปคิดแนวทางมา

“ที่ผ่านมา การขอตำแหน่งวิชาการโดยเฉพาะตำแหน่งศาสตราจารย์ ซึ่งใช้วิธีเสนอผลงานวิชาการนั้น มีความล่าช้ามาก บางคนต้องใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะได้เป็น ศ.รวมถึงกรณีของผมด้วยเคยประสบปัญหาดังกล่าวมาเอง เสนอผลงานวิชาการเพื่อขอตำแหน่ง ศ.ตั้งแต่มกราคม 52 กว่าจะได้ก็เดือนมกราคม 55 ตอนนั้น ผมก็พ้นจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว ซึ่ง ความล่าช้าส่วนใหญ่อยู่ที่กระบวนการของมหาวิทยาลัย และการอ่านผลงาน ซึ่งไม่ยุติธรรมต่อผู้ที่ขอตำแหน่ง ทำให้เสียโอกาส บางคนเงินเดือนตันในตำแหน่ง รศ.แล้ว พอไม่ได้ตำแหน่ง ศ.เสียทีก็ไม่สามารถปรับเพิ่มเงินเดือนได้นอกจากนั้น ยังประสบปัญหาไม่ค่อยมีใครอยากอ่านผลงานด้วย เพราะค่าตอบแทนน้อยแต่เสี่ยง ถ้าไม่ให้ผ่านอาจถูกผู้ส่งผลงานไปฟ้องศาลปกครองได้ เพราะฉะนั้น อาจมีการเพิ่มบัญชีผู้อ่านผลงานด้วย” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น