xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าขุดน้ำมัน พุทธมณฑล6มี.ค. เล็งให้สัมปทานเพิ่มอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเดินหน้าเปิดพื้นที่ 22 แปลงสัมปทานบนบกและในทะเลให้เอกชนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 21 เสนอบอร์ดปิโตรเลียมวันนี้ ก่อนยื่นให้"อารักษ์"เคาะ แจง Mitra Energy เตรียมขุดเจาะน้ำมันที่พุทธมณฑล วันที่ 6 มี.ค.นี้ ใช้เวลาแค่ 30 วันรู้ผลมีหรือไม่ ลั่นหากพบน้ำมันจริงใช้พื้นที่วางแท่นผลิตไม่เกิน 1 ไร่ "คำนูณ"แฉการอนุมัติเกิดขึ้นสมัย"สุรยุทธ" ชี้พลังงานไม่มีพรรค ไม่มีการเมือง มีแต่ทุน "เอกนัฐ"เผยคนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย

นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมเสนอร่างพื้นที่เปิดให้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ต่อที่ประชุมคณะกรรมการปิโตรเลียมที่มีนายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานวันนี้ (29ก.พ.) หลังจากผ่านความเห็นชอบแล้วจะนำเสนอต่อนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงานเห็นชอบก่อนลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศให้เอกชนเข้ามายื่นประมูลต่อไปโดยเร็วสุดจะเป็นพ.ค.2555แต่ทั้งนี้ อยู่ที่รมว.พลังงานจะเห็นชอบ

สำหรับแปลงสำรวจฯ ครั้งนี้จะเปิดให้เอกชนเข้ายื่นทั้งสิ้น 22 แปลงประกอบด้วยบนบก 17 แปลง และในทะเลอ่าวไทย 5 แปลง โดยบนบกนั้นแบ่งเป็นภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ 11 แปลง และภาคกลางประมาณ 6 แปลง ซึ่งขั้นตอนก่อนการเปิดสำรวจครั้งนี้ จะต่างจากที่ผ่านมา ที่จะกรมฯ จะทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่แปลงสัมปทานดังกล่าวก่อนเพื่อให้ทราบล่วงหน้าจากเดิมที่จะนำบริษัทที่ได้รับสำรวจไปแจ้งภายหลัง

“ผมมองว่าการสำรวจยังมีคนสนใจอยู่ แต่การยอมรับจากประชาชนเป็นสิ่งที่ผมหนักใจ ไม่กลัวที่จะเจาะไม่เจอ แต่ตอนนี้กลัวจะไม่ได้เจาะสำรวจ บางทีมีการสร้างข่าวปั่นราคาที่ดินว่าเจอน้ำมันทั้งที่ยังไม่ได้พบก็มี แต่กรมฯ เอง มีหน้าที่จะต้องหาพลังงานให้พอเพียงกับความต้องการใช้ เราก็ยังต้องทำและขั้นตอนเราเองก็รัดกุม ไทยแทบจะเป็นประเทศเดียวในโลกแล้วที่กระบวนการขุดเจาะสำรวจใช้เวลามากกว่า 2 ปี เพราะลำพังรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ใช้เวลาเกือบ 2 ปี”นายทรงภพกล่าว

สำหรับการเปิดสัมปทานฯ ครั้งที่ 21 ตามสัญญาหากมีการให้สัมปทานสำรวจทั้งหมดจะต้องมีการขุดเจาะสำรวจอย่างน้อย 1 หลุม ดังนั้น การลงทุนขั้นต่ำจะอยู่ที่เฉลี่ย 1-5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อ1 หลุม ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่แปลงสำรวจ ซึ่งโดยรวมการลงทุนครั้งนี้ขั้นต่ำจะอยู่ราว 22ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ที่สำคัญ คือ ไทยจะต้องหาพลังงานเพื่อรักษาระดับการผลิตไม่ให้ลดลงมากเกินไปจากที่ปัจจุบันได้ขึ้นมาสู่จุดสูงสุดโดยก๊าซฯอยู่ที่ 3,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน น้ำมันดิบ 1.4 แสนบาร์เรลต่อวัน คอนเดนเสท 1 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจากนี้ไปจะมีแต่วันลดลง หากไม่มีแหล่งอื่นๆ มาเสริม

***ที่พุทธมณฑลเริ่มขุดเจาะ6มี.ค.นี้

นายทรงภพกล่าวว่า การขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมของบริษัท Mitra Energy จำกัดสัญญาชาติอังกฤษ ซึ่งได้รับสัมปทานปิโตรเลียมแปลงสำรวจ L 45/50 พื้นที่ 3,983 ตารางกิโลเมตรเมื่อ 21 ม.ค.2551 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจ.กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา นครปฐมและสุพรรณบุรีนั้น เป็นไปตามขั้นตอนระเบียบราชการทุกอย่าง และล่าสุดบริษัทได้ก่อสร้างฐานเจาะพื้นที่ประมาณ 7 ไร่บริเวณพุทธมณฑลสาย 2 แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนาแล้ว คาดว่าจะเริ่มเจาะสำรวจหลุมทวีวัฒนา (TW-1X) วันที่ 6 มี.ค.และใช้เวลาเจาะประมาณ 25-30 วันความลึก 2,500เมตร

“จริงๆ พื้นที่ดังกล่าวถูกคืนมาแล้ว 50% เหลือ 50% ที่ตามสัญญาจะต้องเจาะ 1 หลุม ซึ่งขั้นตอนก่อนเจาะได้มีการหารือในคณะกรรมการไตรภาคีแล้ว ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากชุมชน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA แล้ว”นายทรงภพกล่าว

ทั้งนี้ กรมฯ คาดหวังการค้นพบแหล่งน้ำมันไม่เกิน 10% แต่ต้องการให้โอกาสเพื่อที่จะได้เก็บข้อมูลเชิงธรณีวิทยา เพราะการสำรวจครั้งนี้ บริษัทได้ลงทุนแล้ว 30 กว่าล้านบาท และการเจาะหลุมสำรวจจะลงทุนอีก 100 ล้านบาท กรณีที่ประชาชนในพื้นที่กังวลว่าจะมีผลกระทบนั้น ช่วงการสำรวจมีดังนี้ 1.กรณีกังวลน้ำมันรั่วไหลไม่ต้องวิตกเพราะ 99% จะไม่เกิดขึ้น เพราะน้ำมันของไทยคงไม่มีมากพอที่จะพุ่งขึ้นมาเหมือนต่างประเทศอย่างเก่งพบ 50-100 บาร์เรลต่อวันก็ถือว่าสูงแล้ว 2.กรณีแผ่นดินทรุด ก็เกิดน้อยมาก เพราะการเจาะมีความลึกเพียง 2.5 กิโลเมตร 3.ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอื่นๆ น้อยมาก เพราะการขุดเจาะจะมีถังเก็บน้ำโคลนและเศษหินที่ออกมาก็จะนำไปเผาในโรงปูนซิเมนต์ที่จ.สระบุรี และ 4.กรณีถ้ามีการผลิตจริงจะส่งผลต่อราคาที่ดินราคาตก เรื่องนี้คงต้องรอผลสำรวจและถ้าพบจริงจะใช้พื้นที่ในการวางแท่นผลิตกินพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่เท่านั้น

นอกจากนี้ หากพบว่ามีน้ำมันคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ที่จะผลิตจริงบริษัทก็จะต้องไปผ่านกระบวนการขออนุมัติการสัมปทานเพื่อการผลิต ผ่านขั้นตอนการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย การทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีก ขณะเดียวกันยังมีหลักเกณฑ์การจัดสรรค่าภาคหลวงปิโตรเลียมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยค่าภาคหลวงแหล่งบนบกจะส่งเป็นรายได้แผ่นดิน 40% และจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 60% และหากไม่พบแหล่งปิโตรเลียมก็จะต้องคืนพื้นที่ในสภาพที่ให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด

***กทม.ส่งคนร่วมสังเกตการขุดเจาะ

นายประพัฒน์ ธีรพงศ์ธร ผู้อำนวยการเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงกรณีการขุดสำรวจน้ำมันของบริษัทเอกชนบริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 2 เขตทวีวัฒนา ว่า กระทรวงพลังงานได้อนุมัติสัมปทานการขุดเจาะสำรวจน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนม.ค.2551 ที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจพื้นที่และวัดแรงสั่นสะเทือน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขุดเจาะสำรวจตัวอย่างเพื่อให้ทราบว่ามีพลังงานที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์มากพอที่จะลงทุนหรือไม่ คาดว่าบริษัทเอกชนจะใช้เวลาประมาณ 20 วัน อย่างไรก็ตาม ในเดือนที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อติดตามการดำเนินการและรับข้อร้องเรียนของประชาชน โดยมีตัวแทนจากสำนักงานเขตทวีวัฒนาร่วมด้วย คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธา และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อม

สำหรับพื้นที่ที่บริษัทเอกชนดังกล่าวขอสัมปทานจุดเจาะน้ำมันสำรวจมีเนื้อที่ประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร ครอบคุลมพื้นที่เขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน เขตบางแค และอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี แต่ได้มีการใช้พื้นที่บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 2 เพียงจุดเดียวเพื่อเจาะสำรวจ ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ว่างเปล่าของประชาชน ซึ่งเมื่อได้รับการอนุมัติสัมปทานแล้ว บริษัทเอกชนจึงได้เช่าพื้นที่เพื่อเจาะสำรวจ

***"คำนูณ"แฉขุดน้ำมันยุค"สุรยุทธ"อนุมัติ

หลังจากวานนี้ (27 ก.พ.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้เปิดประเด็นว่า กทม. มีน้ำมันจำนวนมหาศาล ปรากฏว่าในขณะนี้ได้มีบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่ง ได้รับสัมปทานสำรวจแหล่งปิโตรเลียมใต้พื้นดิน กทม. บนแปลงบริเวณริมถนนพุทธมณฑล สาย 2 เขตทวีวัฒนา จากการสำรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นไปก่อนหน้านี้ พบว่ามีน้ำมันจริง ขณะนี้ได้ทำการล้อมรั้วเรียบร้อย ปรับพื้นที่ และเตรียมขุดเจาะเร็วๆ นี้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะกินบริเวณพื้นที่ 20 ตารางกิโลเมตร รอบๆ บริเวณหลุมขุดเจาะ ซึ่งอยู่ห่างจากหลังบ้านตนไปนิดเดียว

“ถ้าปริมาณมีมากพอในเชิงพาณิชย์ อะไรจะเกิดขึ้นกับ กทม.โดยรวม อะไรจะเกิดขึ้นกับประชาชนเขตทวีวัฒนา พุทธมณฑล สาย 2 สาย 3 และ สาย 4 เขตพื้นที่สีเขียว มีหลักการอย่างไร ในการอนุญาตให้มีการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม และมีการเตรียมการแก้ไขปัญหา หรือดำเนินการขั้นตอนต่อไปอย่างไร ทั้งในระหว่างการขุดเจาะ ซึ่งทราบว่า จะรู้ผลว่าจะมีมากในเชิงพาณิชย์หรือไม่ ภายในเดือนก.ค.-ส.ค.นี้ จึงขอฝากไปยังรัฐบาล ช่วยชี้แจงต่อพี่น้องประชาชน ไม่ใช่เฉพาะเขตทวีวัฒนา แต่ต่อพี่น้องประชาชนใน กทม.โดยรวมด้วย ซึ่งผมจะตั้งกระทู้ถามด่วน ต่อ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” นายคำนูณระบุ

ค่ำวันเดียวกัน นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา ได้โพตส์ข้อความในเฟซบุ๊คสว่นตัว “คำนูณ สิทธิสมาน (Kamnoon Sidhisamarn) พร้อมรูปภาพ ว่า ตรวจสอบดูแล้ว สัมปทานเจาะสำรวจปิโตรเลี่ยมแปลง L 45/50 เป็น 1 ใน 11 สัมปทาน 13 แปลงที่อนุมัติโดยมติคณะรัฐมนตรียุคปลายรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ (ที่มีนายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ เป็นรมว.พลังงาน) เมื่อ 18 ธ.ค.2550 ก่อนเลือกตั้งทั่วไป 5 วัน (23 ธ.ค.2550)

สว.สรรหาผู้นี้ ระบุอีกว่า การเมืองเรื่องพลังงานไม่มีพรรค ไม่มีรัฐบาล ไม่มีระบอบการเมือง มหาอำนาจทุนข้ามชาติ ขอแต่เพียงให้ได้สัมปทานในราคาและเงื่อนไขที่มีเหตุมีผลสำหรับพวกเขาเท่านั้น และภูมิภาคเอเชียอาคเณย์ถูกหมายตาจากมหาอำนาจว่าจะเป็นแหล่งพลังงานใหญ่ของโลกแทนที่ตะวันออกกลาง โดยแปลงนี้ ใต้ดินมีพื้นที่กินกว้างถึง 4,000 ตารางกิโลเมตร กินบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรีโดยเฉพาะทวีวัฒนา อยุธยา สุพรรณบุรี และในภาพรวมแล้วเชื่อว่าเป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

***"เอกนัฐ"ยันชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วย

นายเอกนัฐ พร้อมพันธุ์ ส.ส.กทม. เขตทวีวัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ โพตส์ แจ้งในเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า กรณีการขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียม บนถ.พุทธมณฑลสาย 2 ตามที่ปรากฏบนสื่อนั้น ผมได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในบริเวณใกล้เคียงถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมบริเวณที่อยู่อาศัย เบื้องต้นได้สืบค้นมาว่า บริษัท มิตรา เอเนอร์ยี่ ลิมิเต็ด (Mitra Energy Ltd) ได้รับสัมปทานการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมบนบก ในแปลงสำรวจหมายเลข L45/50 กรุงเทพมหานคร (ริมถ.พุทธมณฑลสาย2) จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ว่าจ้าง บริษัท อินเตอร์เนชั่ลแนล เอ็นไวรอนเม้นต์ จำกัด (IEM) มาเป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมในการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อยื่นต่อสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (EIA) ตาม พรบ.สิ่งแวดล้อมฯ ก่อนที่จะสามารถดำเนินการ ซึ่งบริษัท IEM ก็ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ในเดือนก.พ.2554 ซึ่งมีมติเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงาน และมีข้อสรุปว่าให้ยุติโครงการดังกล่าว แต่ว่าในวันที่ 22 ก.ค.2554 สำนักนโยบาย (EIA) กลับอนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และได้แจ้งให้บริษัท มิตรา ทราบในเดือนก.ย.2554 หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วม ทางบริษัท มิตรา ก็ได้เข้ามาเร่งดำเนินการสร้างฐานขุดเจาะ และติดตั้งอุปกรณ์เจาะสำรวจมาตั้งแต่เดือน.ค.2555 ที่ผ่านมา

ประเด็นปัญหา ก็คือ 1.ทางบริษัท มิตรา และบริษัท IEM ไม่ได้แจ้งประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงรับทราบ จะเห็นก็แต่รั้ว แผ่นสังกะสีสูง สีเขียวที่ปิดล้อมบริเวณพื้นที่โดยรอบ และป้ายประชาสัมพันธ์ที่ติดในบริเวณมุมลับตาและพึ่งติดตั้งในเดือนก.พ.นี้ 2.สำนักนโยบายฯอนุมัติโครงการดังกล่าวด้วยเหตุผลอะไร และขัดต่อพรบ.หรือไม่? 3.ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย รวมไปถึงนโยบายของรัฐ ในการอนุญาติให้มีการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมและผลิตปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ในบริเวณพื้นที่ที่อยู่อาศัย

ในกรณีนี้ตัวผมเองได้ติดตามและติดต่อกับทาง ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน ซึ่งท่านอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงเช่นเดียวกับตัวผม โดยจะนัดผู้สื่อข่าวเพื่อที่จะเข้ามาตรวจสอบ พร้อมทั้งนัดกับท่าน ส.ว.คำนูณ อย่างไม่เป็นทางการว่าจะแถลงข่าว และยื่นเรื่องให้กับทางคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อที่จะตรวจสอบต่อไปในวันพุธ (29 ก.พ.) ตอนเช้าจึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

***พลิกปูมหลังบริษัท มิตรา เอ็นเนอร์ยี่ฯ

ทั้งนี้ แปลงขุดเจาะอยู่บริเวณริมถนนพุทธมณฑลสาย 2 เขตทวีวัฒนา พื้นที่สำรวจประมาณ 3 ไร่ล่าสุดมีการล้อมรั้ว ด้วยสังกะสีสีเขียวสูงราว 5 เมตร บริษัทที่ได้รับการสัมปทาน ระบุว่าชื่อ บริษัท มิตรา เอ็นเนอร์ยี่ ลิมิเต็ด อย่างไรก็ตาม บริษัทดังกล่าว เป็นผู้ถือหุ้น 99.99% ในบริษัทมิตรา เอ็นเนอร์ยี่ แอล 45-แอล 46 (ประเทศไทย) จำกัด

จากการ ตรวจสอบ บริษัท มิตรา เอ็นเนอร์ยี่ แอล 45-แอล 46 (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า บริษัทจดทะเบียน 28 พ.ค.2551 ทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท สำนักงานตั้งอยู่ที่ เลขที่ 184 อาคารฟอรัมทาวเวอร์ ชั้น 25 ห้อง 184/159 ถนนรัชดาภิเษก ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

กรรมการบริษัท 4 คนเป็นต่างชาติ 3 คน คือ นายแอนดรูว์ สก็อตต์ นายอาเธอร์ เอ็ดวาร์ด มอร์แกน โจนส์ นายพอล วิเลียม เบอร์นาร์ด เอบเดล และคนไทย 1 คนคือ นายนิวัฒน์ คงชาติไทย ผู้ถือหุ้น ต่างชาติ มีสัญชาติ เบอร์มิวดา และ หมู่เกาะเวอร์จิน (อังกฤษ)

สำหรั กรรมการคนไทย คือ นายนิวัฒน์ คงชาติไทย เป็นกรรมการอยู่ในหลายบริษัท เช่น บริษัท สยาม เอ็นเนอยี โซลูชั่น บริษัท เพชรบุรี เคมีคัล จำกัด บริษัท โฮเทล คอร์เปอร์เรชั่น ออฟ เชียงใหม่ และกลายกิจการก็ปิดไปแล้ว

บริษัท มิตรา เอ็นเนอร์ยี่ฯ เป็นบริษัทเอกชนที่ทำการสำรวจน้ำมันและก๊าซ ทำงานในเอเชีย แปซิฟิก เข้ามาสำรวจชั่วคราวในพื้นที่เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร 1 เดือนมาแล้ว โดยนายนิวัฒน์ คงชาติไทย เคยให้สัมภาษณ์ว่า ทางบริษัทจะเริ่มทำการสำรวจในบล็อก L 45/50 ประมาณกลางเดือนมี.ค. โดย 7 ปีที่ผ่านมา ทางบริษัทได้รับอนุญาตให้ทำการสำรวจน้ำมันในบล็อก L 45/50 และ L 46/50 เมื่อเดือนม.ค.2551 โดยมีขนาดพื้นที่ 3,983 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ตลอดจนทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทิศตะวันออก นอกจากนั้น ยังมีส่วนของพื้นที่ตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ราบ 3 ส่วน คือ ธนบุรี อยุธยาและ สุพรรณบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น