ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-กลายเป็นประเด็นที่น่าติดตามไม่น้อย กรณี นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ออกมาตั้งประเด็น กรณีบริษัทต่างชาติได้รับสัมปทานสำรวจแหล่งปิโตรเลียมใต้พื้นดิน กทม.บนแปลงบริเวณริมถนนพุทธมณฑล สาย 2 เขตทวีวัฒนา ซึ่งสร้างความสนใจให้กับประชาชนคนกรุงเทพฯ เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง
ทั้งนี้ เนื่องจากไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง
ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดคำถามถึงผลกระทบที่จะตาม เนื่องจากไม่มีใครทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นภายหลังถ้าหากเจอน้ำมันมากเพียงพอที่จะผลิตในเชิงอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลของนายคำนูณพบว่า แปลงสัมปทานดังกล่าวได้มีการสำรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วและพบว่า มีน้ำมันจริง ดังนั้น จึงได้มีการปิดล้อมพื้นที่และเตรียมขุดเจาะสำรวจอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในอีกไม่ช้า โดยจะกินบริเวณพื้นที่จำนวนมหาศาลเลยทีเดียว
นายคำนูณเปิดเผยข้อมูลว่า สัมปทานเจาะสำรวจปิโตรเลียมแปลงดังกล่าวมีชื่อว่า “ L 45/50” เป็น 1 ใน 11 สัมปทาน 13 แปลงที่อนุมัติโดยมติคณะรัฐมนตรียุคปลายรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ (ที่มีนายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ เป็นรมว.พลังงาน) เมื่อ 18 ธ.ค.2550 ก่อนเลือกตั้งทั่วไป 5 วัน (23 ธ.ค.2550)
“การเมืองเรื่องพลังงานไม่มีพรรค ไม่มีรัฐบาล ไม่มีระบอบการเมือง มหาอำนาจทุนข้ามชาติ ขอแต่เพียงให้ได้สัมปทานในราคาและเงื่อนไขที่มีเหตุมีผลสำหรับพวกเขาเท่านั้น และภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ถูกหมายตาจากมหาอำนาจว่าจะเป็นแหล่งพลังงานใหญ่ของโลกแทนที่ตะวันออกกลาง โดยแปลงนี้ ใต้ดินมีพื้นที่กินกว้างถึง 4,000 ตารางกิโลเมตร กินบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรีโดยเฉพาะทวีวัฒนา อยุธยา สุพรรณบุรี และในภาพรวมแล้วเชื่อว่าเป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม”
“ถ้าปริมาณมีมากพอในเชิงพาณิชย์ อะไรจะเกิดขึ้นกับ กทม.โดยรวม อะไรจะเกิดขึ้นกับประชาชนเขตทวีวัฒนา พุทธมณฑล สาย 2 สาย 3 และ สาย 4 เขตพื้นที่สีเขียว มีหลักการอย่างไร ในการอนุญาตให้มีการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม และมีการเตรียมการแก้ไขปัญหา หรือดำเนินการขั้นตอนต่อไปอย่างไร ทั้งในระหว่างการขุดเจาะ ซึ่งทราบว่า จะรู้ผลว่าจะมีมากในเชิงพาณิชย์หรือไม่ ภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ จึงขอฝากไปยังรัฐบาล ช่วยชี้แจงต่อพี่น้องประชาชน ไม่ใช่เฉพาะเขตทวีวัฒนา แต่ต่อพี่น้องประชาชนใน กทม.โดยรวมด้วย ซึ่งผมจะตั้งกระทู้ถามด่วน ต่อ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม " นายคำนูณระบุ
ขณะเดียวกัน จากการตรวจสอบข้อมูลของบริษัทผู้ได้รับสัมปทานพบว่า แปลงขุดเจาะดังกล่าวมีพื้นที่สำรวจประมาณ 3 ไร่ และมีการล้อมรั้ว ด้วยสังกะสีสีเขียวสูงราว 5 เมตร โดยบริษัทที่ได้รับการสัมปทานคือ บริษัท มิตรา เอ็นเนอร์ยี่ ลิมิเต็ด ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้น 99.99% ในบริษัทมิตรา เอ็นเนอร์ยี่ แอล 45-แอล 46 (ประเทศไทย) จำกัด
ขณะที่บริษัท มิตรา เอ็นเนอร์ยี่ แอล 45-แอล 46 (ประเทศไทย) จำกัด นั้น พบว่าจดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2551 ด้วยทุน 25 ล้านบาท สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 184 อาคารฟอรัมทาวเวอร์ ชั้น 25 ห้อง 184/159 ถนนรัชดาภิเษก ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310 โดยเป็นบริษัทเอกชนที่ทำการสำรวจน้ำมันและก๊าซในเอเชีย แปซิฟิก และเข้ามาสำรวจชั่วคราวในพื้นที่เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร 1 เดือนมาแล้ว
ขณะที่กรรมการบริษัท 4 คนเป็นต่างชาติ 3 คน คือ นายแอนดรูว์ สก็อตต์ นายอาเธอร์ เอ็ดวาร์ด มอร์แกน โจนส์ นายพอล วิเลียม เบอร์นาร์ด เอบเดล และคนไทย 1 คนคือ นายนิวัฒน์ คงชาติไทย ผู้ถือหุ้น ต่างชาติ มีสัญชาติเบอร์มิวดา และ หมู่เกาะเวอร์จิน (อังกฤษ) สำหรับกรรมการคนไทย คือ นายนิวัฒน์ คงชาติไทย เป็นกรรมการอยู่ในหลายบริษัท เช่น บริษัท สยาม เอ็นเนอยี โซลูชั่น บริษัท เพชรบุรี เคมีคัล จำกัด บริษัท โฮเทล คอร์เปอร์เรชั่น ออฟ เชียงใหม่
ทันทีที่นายคำนูณออกมาเปิดประเด็น ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวพื้นที่สัมปทานน้ำมันกลางกรุงที่ผู้คนไม่เคยได้รับทราบและรับรู้ก็พรั่งพรูออกมาจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้ข้อมูลอันน่าตื่นตระหนกเกี่ยวกับแหล่งพลังงานในประเทศไทย ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วคนไทยไม่เคยรับรู้มาก่อนว่า กรมฯ เตรียมเสนอร่างพื้นที่เปิดให้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ต่อที่ประชุมคณะกรรมการปิโตรเลียมที่มีนายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน หลังจากผ่านความเห็นชอบแล้วจะนำเสนอต่อนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงานเห็นชอบก่อนลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศให้เอกชนเข้ามายื่นประมูลต่อไป โดยเร็วสุดจะเป็นเดือนพ.ค.2555 แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ รมว.พลังงานจะเห็นชอบ โดยจะเปิดให้เอกชนเข้ายื่นขอสัมปทานทั้งสิ้น 22 แปลงประกอบด้วยบนบก 17 แปลง และในทะเลอ่าวไทย 5 แปลง โดยบนบกนั้นแบ่งเป็นภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ 11 แปลง และภาคกลางประมาณ 6 แปลง
ที่สำคัญคือ ขั้นตอนก่อนการเปิดสำรวจครั้งนี้ต่างจากที่ผ่านมาซึ่งกรมฯ จะทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่แปลงสัมปทานดังกล่าวก่อนเพื่อให้ทราบล่วงหน้า จากเดิมที่จะนำบริษัทที่ได้รับสำรวจไปแจ้งภายหลัง
“การขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมของบริษัท Mitra Energy จำกัดสัญชาติอังกฤษ ซึ่งได้รับสัมปทานปิโตรเลียมแปลงสำรวจ L 45/50 พื้นที่ 3,983 ตารางกิโลเมตรเมื่อ 21 ม.ค.2551 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจ.กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา นครปฐมและสุพรรณบุรีนั้น เป็นไปตามขั้นตอนระเบียบราชการทุกอย่าง และล่าสุดบริษัทได้ก่อสร้างฐานเจาะพื้นที่ประมาณ 7 ไร่บริเวณพุทธมณฑลสาย 2 แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนาแล้ว คาดว่าจะเริ่มเจาะสำรวจหลุมทวีวัฒนา (TW-1X) วันที่ 6 มี.ค.และใช้เวลาเจาะประมาณ 25-30 วันความลึก 2,500เมตร”
นั่นคือข้อมูลที่ได้จากอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งไม่เคยมีใครได้รับรู้มาก่อน และกว่าจะออกมาบอกข้อมูลให้ประชาชนรับรู้ก็ต้องถูกตรวจสอบจากทางใดทางหนึ่งเสียก่อน แถมพอเมื่อเป็นประเด็นในสังคม ก็ถึงเพิ่งตื่นออกมาให้ข้อมูลแก่ประชาชน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงสัมปทานดังกล่าวได้ถูกอนุมัติตั้งแต่ปี 2550 สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ที่มีนายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ เป็นรมว.พลังงาน แต่ประชาชนก็กลับไม่รับรู้รับทราบถึงเรื่องดังกล่าวเลย
อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ตกเป็นข่าวกระแสการตรวจสอบข้อมูลก็เกิดขึ้นในฉับพลันทันที โดยนายเอกณัฐ พร้อมพันธุ์ ส.ส.กทม. เขตทวีวัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือต่อนายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติฯ สภาผู้แทนราษฎร และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ในฐานะประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาธิบาล วุฒิสภา ตรวจสอบความโปร่งใสการทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตทวีวัฒนา
ทั้งนี้ นายเอกณัฐเปิดเผยด้วยว่า มีประชาชนมาร้องเรียนกรณีที่บริษัท มิตรา เอเนอร์ยี่ ลิมิเต็ดได้รับสัมปทานสำรวจแหล่งปิโตรเลียมบนบกเลขที่ 10/2551/101 จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ลงวันที่ 21 ม.ค.51 ซึ่งครอบคลุมแปลงสำรวจ L45/50 กว้าง 3,983 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. นครปฐม นนทบุรี
“อยากถามรัฐบาลว่า ที่มาของสัมปทานครั้งนี้เป็นอย่างไร และมีความเป็นไปได้ขนาดไหนที่จะพบแหล่งปิโตรเลียมและในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมีความชัดเจนและมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงผลกระทบหรือไม่อีกทั้งสำนักนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหลักเกณฑ์อย่างไรในการรับรองผลในเรื่องนี้เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สีเขียว และมีประชาชนอาศัยอยู่ และถ้ามีปิโตรเลียมจริงรัฐบาลมีนโยบายในการจัดการปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์หรือไม่"นายเอกนัฐตั้งคำถาม
ขณะที่ น.ส.รสนากล่าวว่า เรื่องนี้มีผลกระทบกับประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สีเขียว อาจจะมีปัญหาตามมามาก ซึ่งทางกมธ.จะมีการขอข้อมูลจากกรมพลังงานเชื้อเพลิงธรรมชาติและติดตามในเรื่องนี้ต่อไป
อย่างไรก็ดี อานิสงส์ของเรื่องนี้ก็คือ ทำให้ประชาชนได้ตระหนักรู้ถึงความไม่ชอบมาพากลที่ไม่เคยได้รับการเปิดเผยและชี้แจงข้อมูลให้ได้รับทราบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความจริงว่า รัฐบาลทุกรัฐบาลไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าวที่จะตกถึงประชาชน
ที่สำคัญคือ หากขุดพบน้ำมันมากพอที่จะทำการผลิตในเชิงพาณิชย์แล้ว ประชาชนทั่วไปจะได้ประโยชน์อะไร และคงหนีไม่พ้นคำถามสำคัญที่ว่าเมื่อพบเจอแล้ว ประชาชนชาวไทยตาดำๆ จะได้ใช้น้ำมันที่ถูกลงด้วยหรือไม่
ไม่ใช่มีแต่ ปตท. และบรรดาบริษัทเอกชน บริษัทต่างชาติที่ได้รับสัมปทาน ตลอดรวมถึงนักการเมืองร่ำรวยเสวยสุขกันถ้วนหน้าเหมือนเช่นที่ผ่านๆ มา