xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” จี้ติดบ่อน้ำมันกลางกรุง จับมือ ส.ส.ยื่น กมธ.สอบพรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถนนพุทธมณฑลสาย 2 เข้ามาจากถนนบรมราชชนนี 2 ไฟแดง ก่อนถึงแยกทศกัณฐ์ ด้านซ้ายจะเห็นรั้วสีเขียว คือพื้นที่เจาะหลุมสํารวจปิโตรเลี่ยม TW-1X แปลงหมายเลข L 45/50 (ภาพจากเฟซบุ๊ก คำนูณ สิทธิสมาน)
“ส.ว.คำนูณ” เดินหน้าตรวจสอบหลุมสำรวจน้ำมันย่านพุทธมณฑลสาย 2 จับมือ “ส.ส.เอกนัฎ” ยื่น กมธ.ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ เช้าพรุ่งนี้ เผย บ.มิตราได้สัมปทานสำรวจยุครัฐบาลสุรยุทธ์ เนื้อที่ร่วม 4 พัน ตร.กม. กังขาระบบไตรภาคีให้ข้อมูลชาวบ้านครบถ้วนหรือไม่ ด้าน ส.ส.เจ้าของพื้นที่ระบุชาวบ้านเคยประชาพิจารณ์ไม่เห็นด้วย แต่ สผ.กลับอนุมัติให้ผ่านอีไอเอเฉย


หลังจากที่ วานนี้ (27 ก.พ.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้หารือก่อนเข้าสู่วาระการประชุมวุฒิสภา สมัยสามัญนิติบัญญัติ กรณีบริษัทต่างชาติได้รับสัมปทานสำรวจแหล่งปิโตรเลียมใต้พื้นดิน กทม. บนแปลงบริเวณริมถนนพุทธมณฑล สาย 2 เขตทวีวัฒนา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง จึงเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการ และเตรียมจะตั้งกระทู้ถามด่วนต่อ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ต่อมาเช้าวันนี้ นายคำนูณได้โพสต์ข้อความในหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า การเมืองเรื่องพลังงาน ไม่มีพรรค ไม่มีรัฐบาล ไม่มีระบอบการเมือง มหาอำนาจทุนข้ามชาติขอแต่เพียงให้ได้สัมปทานในราคาและเงื่อนไขที่มีเหตุมีผลสำหรับพวกเขาเท่านั้น และภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ถูกหมายตาจากมหาอำนาจว่าจะเป็นแหล่งพลังงานใหญ่ของโลกแทนที่ตะวันออกกลาง

“สมมติฐานทั้งสองนี้ได้จากความจริงจากแปลงเจาะสำรวจที่ถนนพุทธมณฑลสาย 2 เพราะตรวจสอบดูแล้ว สัมปทานเจาะสำรวจปิโตรเลียมแปลง L 45/50 เป็น 1 ใน 11 สัมปทาน 13 แปลงที่อนุมัติโดยมติคณะรัฐมนตรียุคปลายรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (ที่มีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็น รมว.พลังงาน) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ก่อนเลือกตั้งทั่วไป 5 วัน (วันที่ 23 ธันวาคม 2550) แปลงนี้ใต้ดินมีพื้นที่กินกว้างถึง 4,000 ตารางกิโลเมตร กินบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรีโดยเฉพาะทวีวัฒนา อยุธยา สุพรรณบุรี และในภาพรวมแล้วเชื่อว่าเป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม” นายคำนูณระบุ

นายคำนูณโพสต์ข้อความอีกว่า “เคยมีการเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมใน กทม.มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2517 ใกล้ๆ แถวนี้แหละครับ บริเวณวัดศาลาแดง แต่ปรากฏว่าไม่พบ สุดท้ายก็เปลี่ยนเป็นบ่อน้ำบาดาล และแปลง L 45/50 นี้คืนพื้นที่ไปแล้วครึ่งหนึ่งคือ 2,000 ตารางกิโลเมตร เนื่องจากไม่พบ ยังคงเหลือพื้นที่อีก 2,000 ตารางกิโลเมตร จุดที่เป็นบ่อเจาะเป็นจุดที่มีโอกาสพบปิโตรเลี่ยมมากที่สุด แต่อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติให้สัมภาษณ์ว่ามีโอกาสพบเพียง 10 เปอร์เซนต์เท่านั้น แต่หากพบ ก็ต้องมาทำสัญญาสัมปทานผลิต ต้องสำรวจความคิดเห็น และทำรายงานสิ่งแวดล้อม

แต่คงจะต้องตรวจสอบกระบวนการ “ไตรภาคี” ในพื้นที่ทวีวัฒนาเสียหน่อย ว่ามีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ ให้ข้อมูลชาวบ้านครบถ้วนรอบด้านหรือไม่

เชื่อว่าจากนี้ไป อาจจะเป็นสัปดาห์นี้สัปดาห์หน้า ที่จะเป็นช่วง “ขุดเจาะ” แม้จะเพียงขั้นสำรวจ ก็จะได้เห็นของจริงกันละ เสียง ฝุ่น และโคลน จะมากในระดับควบคุมได้แค่ไหน อย่างไร เพราะเป็นการขุดลงไปที่ชั้นใต้ดิน 2,000 เมตร หรือ 2 กิโลเมตร” นายคำนูณกล่าว

อนึ่ง เมื่อวานนี้ นายคำนูณได้หารือในที่ประชุมวุฒิสภาว่า จากการสำรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นไปก่อนหน้านี้พบว่ามีน้ำมันจริง และบริษัทผู้สำรวจได้ทำการล้อมรั้ว ปรับพื้นที่ และเตรียมขุดเจาะเร็วๆ นี้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะกินบริเวณพื้นที่ 20 ตารางกิโลเมตรรอบๆ บริเวณหลุมขุดเจาะ ถ้าปริมาณมีมากพอในเชิงพาณิชย์ อะไรจะเกิดขึ้นกับ กทม.โดยรวม อะไรจะเกิดขึ้นกับประชาชนเขตทวีวัฒนา พุทธมณฑล สาย 2 สาย 3 และสาย 4 เขตพื้นที่สีเขียวมีหลักการอย่างไรในการอนุญาตให้มีการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม และมีการเตรียมการแก้ไขปัญหาหรือดำเนินการขั้นตอนต่อไปอย่างไร ทั้งในระหว่างการขุดเจาะ ซึ่งทราบว่าจะรู้ผลว่าจะมีมากในเชิงพาณิชย์หรือไม่ภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ จึงขอฝากไปยังรัฐบาลช่วยชี้แจงต่อพี่น้องประชาชน ไม่ใช่เฉพาะเขตทวีวัฒนา แต่ต่อพี่น้องประชาชนใน กทม.โดยรวมด้วย ซึ่งตนจะตั้งกระทู้ถามด่วนต่อ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย

ด้าน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ส.ส.เขตทวีวัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความในหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีการขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมบน ถ.พุทธมณฑลสาย 2 ว่า ตนได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในบริเวณใกล้เคียงถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมบริเวณที่อยู่อาศัยเบื้องต้นได้สืบค้นมาว่า บริษัท มิตรา เอเนอร์ยี่ ลิมิเต็ด (Mitra Energy Ltd) ได้รับสัมปทานการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมบนบก ในแปลงสำรวจหมายเลข L45/50 กรุงเทพมหานคร (ริมถนนพุทธมณฑลสาย 2) จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ว่าจ้าง บริษัท อินเตอร์เนชั่ลแนล เอ็นไวรอนเม้นต์ จำกัด (IEM) มาเป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมในการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อยื่นต่อสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ก่อนที่จะสามารถดำเนินการ ซึ่งบริษัท IEM ก็ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งมีมติเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงาน และมีข้อสรุปว่าให้ยุติโครงการดังกล่าว แต่ว่าในวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 สำนักนโยบายฯ กลับอนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และได้แจ้งให้บริษัทมิตรา ทราบในเดือนกันยายน 2554 หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วม ทางบริษัท มิตรา ก็ได้เข้ามาเร่งดำเนินการสร้างฐานขุดเจาะ และติดตั้งอุปกรณ์เจาะสำรวจมาตั้งแต่เดือน มกราคม 2555 ที่ผ่านมา

นายเอกนัฏบอกอีกว่า ประเด็นปัญหา ก็คือ 1. ทางบริษัท มิตรา และบริษัท IEM ไม่ได้แจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงรับทราบ จะเห็นก็แต่รั้ว แผ่นสังกะสีสูง สีเขียวที่ปิดล้อมบริเวณพื้นที่โดยรอบ และป้ายประชาสัมพันธ์ที่ติดในบริเวณมุมลับตาและพึ่งติดตั้งในเดือนกุมภาพันธ์นี้ 2. สำนักนโยบายฯ อนุมัติโครงการดังกล่าวด้วยเหตุผลอะไร และขัดต่อ พ.ร.บ.หรือไม่? 3. ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย รวมไปถึงนโยบายของรัฐ ในการอนุญาตให้มีการสำรวจแหล่งปิโตรเลียม และผลิตปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ในบริเวณพื้นที่ที่อยู่อาศัย

นายเอกนัฏเปิดเผยอีกว่า ได้ติดตามและติดต่อกับนายคำนูณ สิทธิสมาน ซึ่งมีบ้านในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเปิดแถลงข่าวและยื่นเรื่องให้คณะกรรมธิการที่เกี่ยวข้องของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อที่จะตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไปในตอนเช้าวันพุธที่ 29 ก.พ.นี้
ป้ายโครงการสีนํ้าเงินระบุรายละเอียดว่าผู้รับสัมปทานคือบริษัทมิตราเอ็นเนอร์ยี่ลิมิเต็ด ผู้ให้สัมปทานคือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน (ภาพจากเฟซบุ๊ก คำนูณ สิทธิสมาน)
กำลังโหลดความคิดเห็น