xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 26 ก.พ.-3 มี.ค.2555

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. 2 คนร้ายบุกชก “วรเจตน์” กลาง มธ. ด้านผู้ต้องหาเข้ามอบตัว บอก ค้านแก้ ม.112 ขณะที่ตำรวจ ยัน คดีนี้ไม่มีมวยล้มแน่นอน!
นายสุพจน์และนายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ พี่น้องฝาแฝด ที่บุกชกนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ที่ ลานจอดรถ มธ.
เมื่อวันที่ 29 ก.พ. เวลา 16.00น. ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ได้รับแจ้งเหตุคนร้าย 2 คนขี่รถจักรยานยนต์ไม่ทราบทะเบียน บุกทำร้ายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ที่เคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ระบุโทษเกี่ยวกับการหมิ่นพระมหากษัตริย์ เหตุเกิดบริเวณลานจอดรถตึกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

จากการสอบสวน นายสุธน เข็มเพ็ชร์ รปภ.ของมหาวิทยาลัย ให้การว่า เวลาประมาณ 15.15น. นายวรเจตน์ได้ขับรถเข้ามาจอดที่ลานจอดรถ จากนั้นได้เดินขึ้นตึกคณะนิติศาสตร์ประมาณ 15 นาที และได้ลงมาที่รถของตัวเองอีกครั้ง เพื่อมาเอาเอกสารและหนังสือ ระหว่างนั้นได้มีคนร้ายเป็นชาย 2 คน ขี่รถจักรยานยนต์ไม่ทราบทะเบียน อายุประมาณ 25-30 ปี โดยคนหนึ่งได้เข้ามาชกนายวรเจตน์จนล้มคว่ำลงกับพื้น ใบหน้าและตาบวมเป่ง จากนั้นอีกคนหนึ่งได้ขี่รถจักรยานยนต์มารับ ก่อนหลบหนีไป

หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบปากคำผู้เห็นเหตุการณ์ รวมทั้งตรวจสอบกล้องวงจรปิดที่สามารถจับภาพคนร้ายไว้ได้ ขณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ได้ออกประกาศประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งมุ่งให้เกิดความกลัวแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ใช้เสรีภาพทางวิชาการในการแสดงความคิดเห็น พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาของบ้านเมือง โดย มธ.จะติดตามเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น

ด้านนายวรเจตน์ ได้เปิดแถลงหลังกลับจากการรักษาอาการบาดเจ็บที่โรงพยาบาลธนบุรีว่า ก่อนเกิดเหตุ ตนได้ขับรถมาจอดที่มหาวิทยาลัยในเวลาประมาณ 15.40น.จากนั้นได้ลงจากรถและพูดคุยกับอาจารย์อีกท่านหนึ่ง ระหว่างนั้นคนร้าย 1 คนได้มาจากทางด้านหลังและต่อยเข้าที่กกหูด้านขวาหลายครั้ง จนตนล้มลง จากนั้นคนร้ายอีกคนได้เข้ามาต่อยซ้ำหลายครั้ง ก่อนที่ทั้งสองคนจะขี่รถจักรยานยนต์หลบหนีไป

นายวรเจตน์ ยังยืนยันด้วยว่า ไม่รู้จักคนร้ายมาก่อน แต่จากการสอบถามพยานทราบว่า คนร้ายมาเฝ้ารอตั้งแต่เช้าแล้ว ส่วนสาเหตุน่าจะมาจากการที่ตนมีบทบาทในกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งอาจทำให้กลุ่มอื่นไม่พอใจในการทำหน้าที่ แต่ตนยืนยันจะทำหน้าที่ของกลุ่มนิติราษฎร์ เพื่อประโยชน์ของสาธารณชนต่อไป ด้านเจ้าหน้าที่ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความปลอดภัยให้นายวรเจตน์ ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน รวมทั้งตลอดการเดินทางไป-กลับ

ทั้งนี้ วันต่อมา(1 มี.ค.) คนร้าย 2 คนที่ก่อเหตุทำร้ายร่างกายนายวรเจตน์ได้เข้ามอบตัวกับตำรวจ สน.ชนะสงคราม โดยเป็นพี่น้องฝาแฝด ทราบชื่อคือ นายสุพจน์ และนายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ อายุ 30 ปี พักอยู่บ้านเลขที่ 12/382 หมู่ 4 ต.บึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี หลังสอบปากคำเบื้องต้นแล้ว ตำรวจ สน.ชนะสงครามได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งสองไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้ พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล สอบปากคำอย่างละเอียดอีกครั้ง

หลังสอบปากคำแล้วเสร็จ พล.ต.ท.วินัย เผยว่า ผู้ต้องหายอมรับว่าได้ก่อเหตุจริง โดยสาเหตุมาจากความเห็นที่ต่างกัน คือไม่เห็นด้วยกับคณะนิติราษฎร์ที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ปฏิเสธว่าไม่มีใครว่าจ้างหรือสั่งให้ทำ รวมทั้งอ้างว่าไม่ได้สังกัดกลุ่มไหน และไม่ชอบทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง ผู้ต้องหา ยังบอกด้วยว่า มีอาชีพค้าขาย ขายเสื้อ ขายน้ำหอม เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้สื่อข่าวได้ถามนายสุพัฒน์ 1 ในผู้ต้องหาว่าอยากพูดอะไรหรือไม่? นายสุพัฒน์ กลับตอบว่า “อยากเตะนักข่าว” ร้อนถึง พล.ต.ท.วินัย ต้องรีบบอกว่า “พอแล้ว ไม่เช่นนั้นจะทะเลาะกันเปล่าๆ”

จากนั้น ผู้ต้องหาทั้งสองได้ถูกนำตัวไปสอบปากคำเพิ่มที่ สน.ชนะสงคราม ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท ก่อนปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากผู้ต้องหาทั้งสองเข้ามอบตัวเอง อย่างไรก็ตามพนักงานสอบสวนได้นัดให้ผู้ต้องหามาพบอีกครั้งในวันที่ 12 มี.ค.นี้ ส่วนที่ยังไม่สามารถส่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลได้ เนื่องจากต้องรอผลตรวจอาการบาดเจ็บของนายวรเจตน์จากแพทย์ก่อน ซึ่งนายวรเจตน์จะไปให้แพทย์โรงพยาบาลเจ้าพระยาตรวจอาการอย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนนำผลตรวจมาเป็นหลักฐานประกอบสำนวนคดี

ด้าน พล.ต.ต.พชร บุญญสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เผยว่า จากการตรวจสอบประวัติผู้ต้องหาทั้งสองพบว่า นายสุพจน์ คนพี่ เคยถูกจับเรื่องอาวุธปืนผิดมือ ส่วนนายสุพัฒน์ คนน้อง มีคดีทำร้ายร่างกาย 4 คดี และคดีทำให้เสียทรัพย์ 1 คดี เคยถูกจำคุก 2 ครั้ง 1 เดือนกับ 6 เดือน พล.ต.ต.พชร ยืนยันด้วยว่า คดีทำร้ายนายวรเจตน์ครั้งนี้ ไม่เป็นมวยล้มแน่นอน “พยานแวดล้อมทางคดีไม่ห่วง แต่ห่วงผลตามมาว่าจะมีคนเอาอย่างหรือไม่ ก็ต้องลงโทษให้เข็ดหลาบ จะได้ไม่เป็นเยี่ยงอย่างกับคนอื่น ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นมวยล้ม ไม่ล้มแน่นอน ยังไงก็ต้องฟ้อง ยิ่งศาลลงโทษยิ่งดี”

2. ศาล รธน.-ศาลปกครอง ข้องใจ “เพื่อไทย” จ้องยุบ-ถามกลับ ยุบแล้ว ปชช.ได้ประโยชน์อะไร ด้าน ปชป.ชี้ รัฐบาลหางโผล่!

นายไพโรจน์ มินเต็น โฆษกศาลปกครอง แถลงจุดยืนของศาลฯ หลังนายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอยุบศาลปกครองให้เป็นเพียงแผนกหนึ่งของศาลฎีกา
หลังที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมากลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ คือฉบับรัฐบาล ฉบับพรรคเพื่อไทย และฉบับพรรคชาติไทยพัฒนา ด้วยคะแนน 399 ต่อ 199 เสียง จากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 จำนวน 45 คนเพื่อแปรญัตติใน 30 วัน ขณะที่นายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หนึ่งในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ผุดไอเดียว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ควรจะเหลือองค์กรอิสระเท่าที่จำเป็น เช่น ควรยุบศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง โดยให้ไปเป็นแผนกหนึ่งของศาลฎีกาก็พอ ส่วนองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) หากรัฐธรรมนูญเขียนวิธีสรรหาใหม่ ก็ต้องสรรหาใหม่ พร้อมดักคอผู้ที่เป็นกรรมการอยู่ว่า หากมีสปิริตพอก็ควรลาออกไปก่อนก่อนที่จะมีการสรรหาใหม่ พร้อมชี้ว่า จุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ 2550 มี 6 ข้อ เช่น ดุลยภาพแห่งอำนาจไม่สมดุล ฝ่ายตุลาการตรวจสอบไม่ได้ ทำให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ฯลฯ

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังนายวัฒนาเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง โดยให้ไปเป็นแผนกหนึ่งของศาลฎีกา ปรากฏว่า มีปฏิกิริยาจากหลายฝ่าย รวมทั้งจากศาลเอง เช่น นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยออกมาถามกลับนายวัฒนาว่า การตั้งศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ใช่หรือไม่ หากชื่นชมว่ารัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลก และเรียกร้องให้เอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับคืนมา แต่ถ้าจะยุบศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ แสดงว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ในส่วนที่เกี่ยวกับศาลแย่มาก ใช้ไม่ได้โดยสิ้นเชิงใช่หรือไม่ หรือเป็นเพราะคนที่มีอำนาจในการตัดสินไม่ใช่พวกฉัน “จะให้ไปเป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกา ไม่มีปัญหาเลย แต่ไปถามศาลฎีกาก่อนว่าทำไหวหรือไม่ เพราะขนาดแยกออกมาเป็นศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาก็ยังมีคดีค้างอยู่ประมาณ 40,000 คดี ...แล้วยังจะรับไหวอีกหรือ”

ขณะที่ตุลาการศาลปกครองก็แถลงจุดยืนต่อกรณีที่นายวัฒนาเสนอแก้รัฐธรรมนูญโดยยุบศาลปกครอง ไปเป็นแผนกหนึ่งของศาลฎีกาเช่นกัน โดยถามกลับฝ่ายการเมืองว่า แนวคิดดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร เป็นไปตามเจตนารมณ์การแก้ไขปัญหาองค์กรจริงหรือไม่ และประชาชนได้ประโยชน์อะไรบ้าง พร้อมเผยว่า แต่ละปีมีคดีขึ้นสู่ศาลปกครองมากถึง 6,000-7,000 คดี ขณะนี้เปิดทำการมา 11 ปี มีคดีพิจารณาเสร็จสิ้นกว่า 70,000 คดี ที่บอกว่าศาลปกครองมีปริมาณคดีน้อย จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

ด้านนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ ในฐานะอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ปี 2550 พูดถึงข้อเสนอของนายวัฒนาที่เสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และจัดสมดุลอำนาจของตุลาการ โดยนางสดศรีออกอาการเหมือนกับเบื่อหน่ายการถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง จึงบอกว่า ในรัฐธรรมนูญที่จะร่างกันขึ้นมาใหม่ ควรระบุเลยว่า กกต.จะทำหน้าที่แค่จัดการเลือกตั้ง ส่วนการให้ใบเหลือง(สั่งเลือกตั้งใหม่)-ใบแดง(เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง) ให้ศาลเลือกตั้งเป็นผู้ชี้ขาด และเมื่อ กกต.ทำหน้าที่แค่จัดเลือกตั้ง ก็ไม่จำเป็นต้องมี กกต.5 คนเหมือนในปัจจุบัน แต่มีแค่เลขาธิการ กกต.คนเดียวก็พอ

อย่างไรก็ตาม ได้มีอดีต กกต.ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนางสดศรี คือ นายสวัสดิ์ โชติพานิช โดยบอกว่า การวินิจฉัยชี้ขาดใบเหลือง-ใบแดงควรเป็นหน้าที่ของ กกต. เพราะหากให้เป็นหน้าที่ของศาล จะทำให้กระบวนการฟ้องร้องในศาลกินเวลานาน อาจทำให้เกิดการประวิงเวลาของผู้ได้รับเลือกตั้งได้

ส่วนท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ต่อกรณีที่นายวัฒนาเสนอแก้รัฐธรรมนูญโดยแทรกแซงองค์กรอิสระและศาลนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ชี้ว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นไปอย่างที่ฝ่ายค้านเคยอภิปรายไว้ เพียงแต่วันนี้ชัดขึ้นเหมือนหางเริ่มโผล่ ซึ่งเชื่อได้ว่านี่คือธงที่พรรคเพื่อไทยพยายามจะเข้าไปดำเนินการในชั้นกรรมาธิการ โดยอาจมีการลดกลไกขององค์กรอิสระเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคนพิเศษหรือคนบางกลุ่ม ซึ่งสังคมควรติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

3. “คำนูณ” แฉ รัฐงุบงิบให้สัมปทานต่างชาติขุดเจาะน้ำมันย่านพุทธมณฑล ด้าน ปชป.ยื่น 2 กมธ.สอบ หลังส่อไม่โปร่งใส!
บริษัท Mitra Energy ล้อมรั้วพื้นที่ที่เตรียมขุดเจาะน้ำมันบริเวณริมถนนพุทธมณฑลสาย 2
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้เผยให้ที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ทราบว่า ขณะนี้มีบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่งได้รับสัมปทานสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ กทม.บริเวณริมถนนพุทธมณฑลสาย 2 เขตทวีวัฒนา โดยมีการล้อมรั้ว ปรับพื้นที่ และเตรียมขุดเจาะเร็วๆ นี้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวกินบริเวณประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากหลังบ้านตนไปนิดเดียว “ถ้า(น้ำมัน)ปริมาณมีมากพอในเชิงพาณิชย์ อะไรจะเกิดขึ้นกับ กทม.โดยรวม อะไรจะเกิดขึ้นกับประชาชนเขตทวีวัฒนา พุทธมณฑลสาย 2 สาย 3 และสาย 4 เขตพื้นที่สีเขียว มีหลักการอย่างไรในการอนุญาตให้มีการขุดเจาะปิโตรเลียม และมีการเตรียมการแก้ไขปัญหาหรือดำเนินการขั้นตอนต่อไปอย่างไร ซึ่งทราบว่าจะรู้ผลว่าจะมีมากในเชิงพาณิชย์หรือไม่ภายในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ จึงขอฝากไปยังรัฐบาลช่วยชี้แจงต่อพี่น้องประชาชน... ซึ่งผมจะตั้งกระทู้ถามด่วนต่อรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

ด้านนายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เผยว่า บริษัทที่ได้รับสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่บริเวณ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ก็คือ บริษัท Mitra Energy โดยได้รับสัมปทานตั้งแต่ปี 2554 พร้อมย้ำว่า ขั้นตอนการดำเนินการเป็นไปตามระเบียบที่ทางราชการกำหนดทุกประการ ตั้งแต่การรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งชาวบ้านบริเวณดังกล่าวมีทั้งสนับสนุนและคัดค้าน จึงได้ตั้งคณะทำงานไตรภาคีที่ประกอบด้วยตัวแทนบริษัท ,ส่วนราชการในพื้นที่ และประชาชนในพื้นที่ นายทรงภพ ยังบอกด้วยว่า โอกาสที่จะเจอน้ำมันบริเวณดังกล่าวมีน้อยมากแค่ 10% เท่านั้น และหากขุดแล้วไม่เจอน้ำมัน ก็ต้องคืนพื้นที่ดังกล่าว

ขณะที่นายคำนูณ ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ้กว่า คงต้องตรวจสอบกระบวนการ “ไตรภาคี” ในพื้นที่ทวีวัฒนาเสียหน่อยว่ามีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ และมีการให้ข้อมูลชาวบ้านครบถ้วนรอบด้านหรือไม่ “เชื่อว่าจากนี้ไป อาจจะเป็นสัปดาห์หน้า ที่จะเป็นช่วงขุดเจาะ แม้จะเพียงขั้นสำรวจ ก็จะได้เห็นของจริงกัน เสียง ฝุ่น และโคลน จะมากในระดับควบคุมได้แค่ไหน อย่างไร เพราะเป็นการขุดลงไปที่ชั้นใต้ดิน 2,000 เมตร หรือ 2 กิโลเมตร”

ด้านนายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เผยอีกครั้ง โดยยอมรับว่า ขณะนี้บริษัท Mitra Energy ได้ก่อสร้างฐานเจาะพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ บริเวณพุทธมณฑลสาย 2 เขตทวีวัฒนาแล้ว คาดว่าจะเริ่มเจาะสำรวจวันที่ 6 มี.ค.นี้ โดยจะเจาะที่ความลึก 2,500 เมตร และใช้เวลาเจาะประมาณ 25-30 วัน และว่า การสำรวจครั้งนี้ บริษัทได้ลงทุนไปแล้ว 30 กว่าล้านบาท และต้องลงทุนสำหรับการเจาะหลุมสำรวจอีก 100 ล้านบาท ส่วนที่ประชาชนในพื้นที่กังวลว่าจะมีผลกระทบนั้น นายทรงภพ ยืนยันว่า ไม่มีปัญหา ทั้งในแง่น้ำมันรั่วไหลหรือแผ่นดินทรุด

ด้านนายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ ส.ส.เขตทวีวัฒนา พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้แฉผ่านเฟซบุ้กว่า ตนได้รับร้องเรียนเรื่องดังกล่าวจากประชาชน เมื่อสืบค้นจึงพบว่า บริษัท Mitra Energy ที่ได้รับสัมปทานขุดเจาะน้ำมันบริเวณดังกล่าว ได้จ้างบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นไวรอนเม้นต์ หรือ IEM เป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ประกอบการยื่นต่อสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ในการขอขุดเจาะ แต่ในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเมื่อเดือน ก.พ.2554 ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และมีข้อสรุปให้ยุติโครงการ แต่ปรากฏว่า 5 เดือนให้หลัง(22 ก.ค.2554) สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมกลับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทดังกล่าว หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วม ทางบริษัท Mitra Energy จึงได้เข้ามาเร่งสร้างฐานขุดเจาะ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์เจาะสำรวจตั้งแต่เดือน ม.ค.2555

ทั้งนี้ นายเอกนัฎ ได้ยื่นเรื่องต่อนายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการ(กมธ.) ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งยื่นต่อ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เพื่อตรวจสอบความโปร่งใสการทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมการขุดเจาะน้ำมันในเขตทวีวัฒนา และอยากถามรัฐบาลว่า ที่มาของสัมปทานครั้งนี้เป็นอย่างไร ,การรับฟังความเห็นจากประชาชนมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ถึงผลกระทบหรือไม่ ,สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการรับรองผลอีไอเอ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สีเขียว มีประชาชนอาศัยอยู่ ถ้ามีน้ำมันจริง รัฐบาลมีนโยบายจัดการในเชิงพาณิชย์หรือไม่ ด้านนายนริศ บอกว่า กมธ.จะติดตามเรื่องนี้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ขณะที่ น.ส.รสนา บอกว่า กมธ.จะขอข้อมูลจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และติดตามเรื่องนี้ต่อไป

4. ป.ป.ช. สั่งอายัดบ้าน-ที่ดิน “สุพจน์” 20 ล้าน หวั่นถูกจำหน่ายจ่ายโอนจนตามยึดเป็นของแผ่นดินไม่ได้ ด้านเจ้าตัวเตรียมเข้าชี้แจง 8 มี.ค.นี้!
บ้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ช่วยราชการสำนักนายกฯ ที่โอนให้ลูกสาว
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชุดใหญ่ ได้มีมติอายัดทรัพย์สินของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติม ประกอบด้วย บ้านพัก 3 หลัง และที่ดิน 7 แปลง มูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท หลังพบว่านายสุพจน์ได้โอนให้ลูกสาวและลูกเขยไปเมื่อเดือน ธ.ค.2554

สำหรับการอายัดทรัพย์สินของนายสุพจน์ครั้งนี้ ป.ป.ช.มีมติตามที่คณะอนุกรรมการไต่สวนที่มีนายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานร้องขอ เพื่อป้องกันไม่ให้นายสุพจน์นำทรัพย์สินดังกล่าวไปจำหน่ายจ่ายโอนให้บุคคลอื่น เนื่องจากหากปล่อยให้นายสุพจน์จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินดังกล่าวได้ แล้วภายหลัง ป.ป.ช.พบว่านายสุพจน์กระทำผิดกรณีร่ำรวยผิดปกติ จะไม่สามารถติดตามยึดทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาเป็นของแผ่นดินได้ พร้อมกันนี้ คณะอนุกรรมการไต่สวนได้นัดให้นายสุพจน์เข้าชี้แจงข้อกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติก่อนวันที่ 8 มี.ค.นี้ หากนายสุพจน์สามารถนำหลักฐานมายืนยันว่าได้ทรัพย์สินดังกล่าวมาอย่างถูกต้อง ป.ป.ช.ก็พร้อมจะถอนอายัดบ้านและที่ดินดังกล่าว

ด้านนายสุพจน์ เผยว่า จะเข้าชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อ ป.ป.ช.ในวันที่ 8 มี.ค.นี้ พร้อมอ้างว่า ที่ดินและบ้านที่โอนให้ลูกสาว ส่วนหนึ่งเป็นที่ดินที่ได้รับโอนมาจากพ่อแม่เมื่อปี 2514 และเหตุที่โอนให้ลูกสาวก็เป็นความตั้งใจของตนตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่า เมื่อลูกสาวแต่งงานจะโอนให้ ประกอบกับพ่อแม่ของลูกเขยได้มอบที่ดินให้กับลูกชาย ตนจึงต้องมอบให้กับลูกสาวด้วยเช่นกัน นายสุพจน์ ยังบอกด้วยว่า ที่ดินที่โอนให้ลูกสาวไม่ได้มากมายอะไร ผืนละประมาณ 150-160 ตารางวา หากคิดเป็นมูลค่าก็ประมาณ 2-3 แสนบาทเท่านั้น

ทั้งนี้ มีรายงานว่า หลัง ป.ป.ช.มีมติอายัดทรัพย์สินนายสุพจน์ ล่าสุด นายสุพจน์ได้มีหนังสือถึง ป.ป.ช.เพื่อขอเงินสด 5 ล้านบาทที่ถูกปล้นไป โดยอ้างว่าเป็นเงินสินสอดของบุตรสาว ด้านนายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะอนุกรรมการไต่สวนคดีนายสุพจน์ร่ำรวยผิดปกติ ได้ออกมายืนยันว่า ขณะนี้ยังส่งเงินคืนนายสุพจน์ไม่ได้ เพราะอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อหาร่ำรวยผิดปกติ และนายสุพจน์ยังไม่ได้มาชี้แจงข้อกล่าวหาว่าได้ทรัพย์สินดังกล่าวมาได้อย่างไร เป็นสินสอดของบุตรสาวจริงหรือไม่ หากมีหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นของบุตรสาวจริง คณะอนุกรรมการฯ ก็พร้อมจะทำเรื่องเข้าที่ประชุม ป.ป.ช.เพื่อขอให้เพิกถอนการอายัดทรัพย์สินดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น