xs
xsm
sm
md
lg

มติรัฐสภา 399 ต่อ 199 เห็นชอบแก้ ม.291 “มาร์ค” วอน รบ.เกรงใจคนที่ไม่เลือกด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ผู้นำฝ่ายค้านฯ เตือนอย่าแก้ รธน.เพราะถูกจำกัดอำนาจ ชี้สัญญาณอันตรายหากขาดการถ่วงดุลอำนาจ จะเกิดปรากฏการณ์ซุกหุ้นขึ้นอีก สะกิดบอก รบ.จุดเริ่มต้น ปชต.อย่าอ้างแต่ 15 ล้านเสียง ต้องเกรงใจ 25 ล้านเสียงที่ไม่เลือกด้วย ขณะที่มติที่ประชุมร่วมรัฐสภาเห็นชอบหลักการร่างแก้ไข ม.291 ด้วยคะแนน 399 ต่อ 199 งดออกเสียง 14

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังพักการประชุมไป 10 นาที ได้เปิดประชุม ประเดิมต่อการประท้วงของ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เคยเห็นมาแล้ว เคยว่าประธานฯ ไม่แข็ง เพราะเหตุการณ์คนเมา พฤติกรรมชี้หน้าดิฉัน กระทบต่อความปลอดภัย ท่านเฉลิม เป็นรองนายกฯ ด้านมั่นคง หากเป็นเช่นนี้ เชื่อได้อย่างไรจะเกิดความมั่นคงกับดิฉัน ท่านเฉลิมบอกว่าเมารัก แต่ความจริงท่านเมาเหล้า ดังนั้นต้องสร้างบรรทัดฐาน”

ทำให้ประธานที่ประชุมพูดตัดบทให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ อภิปรายต่อ ว่า ปัญหาบางปัญหารัฐธรรมนูญก็แก้ไม่ได้ ปัญหาวัฒนธรรมการเมืองจะต้องแก้ไขต่อไป ปัจจุบันมีสิ่งที่ตนเป็นห่วงคือ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับของคณะรัฐมนตรี ได้ลอกเหตุผลของการแก้ไขมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญ 2534 ซึ่งสถานการณ์ช่วงนั้นแตกต่างจากปัจจุบัน ส่วนร่างรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับ ถือว่าเป็นเหตุผลที่ออกมาจากใจ ระบุว่าขาดการถ่วงดุลอำนาจของศาล องค์กรอิสระ อย่างไรก็ตามหากยกเหตุผลนี้จะเป็นอันตราย เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 หลักการสำคัญมี 2 ประเด็น คือ 1. สิทธิของประชาชนจะได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ ไม่ให้ฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งเข้าไปริดรอน และ 2. การตรวจสอบถ่วงดุล โดยรัฐสภา เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่เพียงพอที่จะตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ ทำให้เกิดเป็นที่มาขององค์กรอิสระ เป็นการตอกย้ำว่า ฝ่ายบริหารต้องถูกตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการด้วย หากไม่มีก็จะทำให้เกิดปรากฎการณ์ซุกหุ้นภาค เหมือนที่เคยเกิดขึ้น

“ประชาธิปไตยไทยจะเดินได้ เสียงข้างมาก หรือเสียงข้างน้อย ต้องรู้ขอบเขตอำนาจของตนเอง จุดที่ท้าท้ายคือถ่วงดุล จำกัดอำนาจของพวกเราอย่างไร มากกว่าดูว่าเราถูกถ่วงดุลเกินไปหรือไม่ ที่เขียนมาไปไกลถึงตุลาการ ได้ดูหรือไม่ว่าประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบเรา ที่ผู้พิพากษามาจากวิชาชีพนั้น ไม่มีประเทศประชาธิปไตยไหนใช้ และบอกว่าต้องมีคนถ่วงดุล เอาอำนาจประชาชน ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติไปคานอำนาจไว้ เพราะถูกผิดว่าไปตามหลักการ ไม่ใช่เอาเสียงข้างมากมาตัดสินหากรัฐบาลจะอ้าง 15 ล้านเสียงมาแก้รัฐธรรมนูญ ขอให้เกรงใจ 25 ล้านเสียงที่ไม่เลือกรัฐบาลด้วย หวังจะให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธปไตยสร้างชาติ และความปรองดองต้องเริ่มจากตรงนี้” นายอภิสิทธิ์กล่าว

เมื่อเวลา 22.50 น. พล.อ.ธีรเดชได้ปิดการอภิปราย และให้นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็นผู้กล่าวสรุป และขอบคุณความร่วมมือของสมาชิกรัฐสภา เสร็จสิ้นเมื่อเวลา 23.10 น. จากนั้นนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ขึ้นนั่งบัลลังก์สั่งให้มีการลงมติด้วยการขานชื่อเป็นรายบุคคล คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง และจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่ 2 จำนวน 45 คน ตามสัดส่วนพรรคการเมืองและวุฒิสภาต่อไป

ล่าสุด ที่ประชุมได้นับผลการลงมติจากสมาชิกรัฐสภาแล้วจากสมาชิกทั้งหมด 648 คน ปรากฏว่า 399 คนเห็นชอบรับหลักการ 199 คนไม่เห็นชอบ และ 14 คนงดออกเสียง

ส่วนขั้นตอนการลงมติตามมาตรา 291 (3) การลงคะแนนในวาระที่ 1 ให้ใช้วิธีเรียกชื่อโดยใช้การลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบในการแก้ไขเพิ่มเติม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา ซึ่งจะใช้วิธีการลงคะแนนแบบทีละคน แต่ลงมติไปทีเดียว 3 ร่าง จากนั้นจะตั้งคณะกรรมาธิการรัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ...จำนวน 45 คน แปรญัติภายใน 15 วัน

สำหรับคณะกรรมาธิการจำนวน 45 คนนั้น แบ่งเป็น ส.ว.10 คน และ ส.ส. 35 คน ทั้งนี้ ในส่วนของ ส.ส. แยกตามสัดส่วนของพรรคการเมืองดังนี้ พรรคเพื่อไทย 19 คน พรรคประชาธิปัตย์ 11 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรคชาติพัฒนา 1 คน และพรรคพลังชล 1 คน โดยรายชื่อผู้ที่จะเป็นกรรมาธิการฯ มีดังนี้ ส.ว.10 คน.จะแบ่งเป็นส.ว.เลือกตั้ง 7 คนและส.ว.สรรหา 3 คนได้แก่ นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ นายเจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร ส.ว.เชียงใหม่ พล.อ.ชูชาติ สุขสงวน ส.ว.สรรหา นายสมชาติ พรรณพัฒน์ ส.ว.นครปฐม พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล ส.ว.สมุทรสาคร นายธวัชชัย บุญมา ส.ว.นครนายก และนายอนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ ส.ว.สุรินทร์

ส่วน ส.ส.จะประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 19 คน ได้แก่ 1.นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย 2.นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน 3.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน 4.นายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5.นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 6.นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ 7. นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู 8. นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 9. นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม 10.นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร 11.นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. 12.นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 13.นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 14.นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี 15.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 16.นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 17.นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา 18.น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ19.นายสุพล ฟองงาม ส.ส.อุบลราชธานี

พรรคประชาธิปัตย์ 11 คน ได้แก่ 1.นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2. นายนิพันธ์ บุญญามณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3. นายธนา ชีรวินิจ ส.ส. กทม. 4. นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง 5. นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา 6. นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 7. นายสาทิตย์ ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง 8. นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก 9. นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก 10.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ 11.นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช

พรรคภูมิใจไทย 2 คน ได้แก่ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายวิสิทธิ์ พิทยาภรณ์ ส.ส.นครราชสีมา ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน ได้แก่ นายชุมพล ศิลปอาชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ขณะที่พรรคชาติพัฒนา 1 คน ได้แก่ นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และพรรคพลังชล 1 คน ได้แก่ นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ส.ส.ชลบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น