xs
xsm
sm
md
lg

ห้ามส.ส.ร.รับตำแหน่ง 5 ปี ถกรธน.วาระสอง“10-11 เม.ย.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(1 เม.ย.55)นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงปฎิทินเวลาในการทำงานของกรรมาธิการ ว่า ในวันอังคาร ,พุธ และพฤหัสบดี (วันที่ 3, 4 และ 5 เม.ย.) นี้กรรมาธิการจะประชุมเต็มวันเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จ โดยวันที่ 4 และ 5 เม.ย.จะเชิญสมาชิกที่เสนอคำแปรญัตติไว้จำนวน 172 คนมาชี้แจงกรรมาธิการ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถสรุปผลการทำงานและนำร่างฯ เข้าการพิจารณาวาระ 2 ได้ประมาณวันที่ 10 - 11 เม.ย. ทั้งนี้เนื่องจากได้พิจารณาเรื่องสำคัญผ่านไปแล้ว เหลือเพียงร่างกฎหมายที่จะใช้ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) และการกำหนดกรอบการทำงาน กรอบการทำหน้าที่ และบทบาทของสสร.ในมาตรา 291/11
ส่วนการพิจารณาในวาระ 3 คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องทอดเวลาออกไป 15 วัน หลังการพิจารณาในวาระสองแล้ว ทั้งนี้หากทุกอย่างเป็นไปตามกรอบเวลาน่าจะมีสสร.เกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม จากนั้นประมาณเดือนมีนาคม 2556 น่าจะเห็นรูปเห็นร่างรัฐธรรามนูญที่จะไปทำประชามติจากประชาชน และน่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประมาณกลางปี 2556
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการเสวนาเรื่อง "รัฐธรรมนูญเสียงข้างมากกับการปรองดอง" ว่า ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญทั้งหมด 18 ฉบับ ในระยะเวลา 80 ปี และมีการร่างขึ้นใหม่จำนวน 10 ครั้ง ซึ่งหากจะมีการร่างใหม่อีกครั้ง ควรจะสาเหตุว่า ร่างเพราะเหตุใด และมองว่า การร่างใหม่ในขณะนี้ไม่เกิดประโยชน์ในเรื่องใด และการร่างขึ้นใหม่อีกครั้งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 จะต้องดำเนินการร่างเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องประชาธิบไตย แก้ไขให้กับปัญหาประเทศไทยได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ที่จะเกิดประชาธิบไตยแก่ประเทศมากที่สุดของรัฐธรรมนูญ คือประชาชนต้องมีอำนาจในรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ขอเสนอให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ห้ามดำรงตำแหน่งใดๆ ในฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติ หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว 5 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้บุคคลที่เป็น ส.ส.ร.ไม่ส่วนได้ส่วนเสียกับการแก้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง.
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีข้อสังเกตว่าเริ่มมีการใช้มติเสียงข้างมากโดยละเลยเสียงข้างน้อย ว่า การดำเนินการของชั้นกรรมาธิการนี้ เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่ง เพราะการใช้เสียงข้างมากในรัฐสภายังไม่สำคัญเท่าก็การยึดโยงเสียงข้างมากของประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องยึดหลักการเคารพสิทธิ และมีหลักประกันสิทธิที่เสียงข้างน้อยพึงจะได้รับ ทั้งนี้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีขั้นตอนที่ยึดโยงกับประชาชน ที่ทุกฝ่ายสบายใจได้อีก อาทิ การได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) การทำประชามติ เพราะสุดท้ายหากได้เนื้อหาที่ไม่ดีประชาชนก็จะไม่ลงมติเห็นชอบ ส่วนกรณีที่มีการมองว่าการดำเนินการทั้งหมดเป็นไปเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตนมองว่าผู้คัดค้านไม่ควรตั้งเป้าเช่นนั้น เพราะหากตั้งเป้าเช่นนี้แล้วการแก้ปัญหาในภาพรวมก็จะไม่เกิด เปรียบเสมือนการแก้ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ ซึ่งหากไม่แก้ไขเพราะคิดว่า อ.สันกำแพง บ้านเกิดของอดีตนายกฯจะได้รับประโยชน์คงไม่ได้ ทั้งที่ อ.สันกำแพง เป็นส่วนหนึ่งของภาคเหนือ ที่อาจจะได้รับประโยชน์เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น