ที่ประชุม กมธ.ร่างแก้ไข รธน.ยอมชะลอกำหนดระยะเวลาให้ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้แล้วเสร็จ หลังมีประกาศ พ.ร.ฎ.เพื่อรอให้ กกต.แสดงความเห็นเพื่อขอให้รัฐสภาตรา พ.ร.บ.รองรับการเลือกตั้งก่อนหรือไม่
วันนี้ (22 มี.ค.) ในการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ได้พิจารณา ถึงองค์ประกอบและคุณสมบัติของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในมาตรา 291/4 แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าจะให้มีจำนวนเท่าไหร ทำให้ต้องเลื่อนการพิจารณาในมาตรานี้ออกไปก่อน
จากนั้นเข้าสู่การพิจารณามาตรา 291/5 เกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งในร่างแก้ไขของคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดให้กกต.ต้องจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้แล้วเสร็จภายใน 75 วันนับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) มีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ กมธ.จากพรรคประชาธิปัตย์ หลายคน เช่น นายธนา ชีรวินิจ สส.กทม. นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก เสนอให้แก้ไขระยะเวลาการจัดการเลือกตั้งให้เป็น 120 วันแทนจากเดิม 75วัน
นพ.วรงค์กล่าวว่า กกต.เคยมาชี้แจงก่อนหน้านี้แล้วว่าการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ภายใน 75 วันสามารถดำเนินการได้ แต่เป็นไปในลักษณะมีเงื่อนไข คือ ระเบียบ หรือกฎหมายในการรองรับการเลือกตั้งต้องพร้อมก่อนมี พ.ร.ฎ. แต่ถ้าไม่พร้อมอาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ จึงต้องการให้ขยายเวลาออกไปก่อนเพื่อให้การจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.มีความพร้อมมากที่สุดตามข้อสังเกตของกกต.
ขณะที่ นายธนาอภิปรายเสริมว่า สำหรับการพิจารณาในประเด็นนี้ควรรอให้ กกต.เสนอความคิดเห็นมาก่อนว่าจะต้องการให้รัฐสภาตรา พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ และบทลงโทษของผู้สมัคร ส.ส.ร.ให้ชัด แทนการออกให้อำนาจกกต.ไปออกระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพราะจะทำให้เกิดการตีความในอนาคตว่าการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
“ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลต้องเร่งรีบการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะในร่างแก้ไขได้มีการกำหนดเวลาในการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ทุกมาตรา แสดงให้เห็นถึงความเร่งรีบจนเกินไปที่อาจขาดความรอบคอบ จึงต้องการให้ตัวแทนของ ครม.มาชี้แจงต่อ กมธ.ด้วยในฐานะผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ด้าน นายสามารถแสดงความเห็นด้วยให้ชะลอการพิจารณามาตรานี้ไว้ก่อนจนกว่ากกต.จะมีความเห็นออกมาอย่างเป็นทางการว่าต้องการให้รัฐสภาตรา พ.ร.บ.รองรับการเลือกตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่ จากนั้นค่อยกลับมาพิจารณาในมาตรานี้อีกครั้ง