xs
xsm
sm
md
lg

“จรัญ” ถอนตัวคดีแก้ รธน.-ไม่สบายใจเผยความเห็นล่วงหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศหน้าห้องพิจารณาคดีแก้รัฐธรรมนูญ ม.291 ล้มล้างการปกครอง ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
ศาล รธน.ไต่สวนคดีแก้ รธน.291 ล้มล้างการปกปครอง “สมเจตน์-เดชอุดม” ระบุชัดล้มเลิกรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งฉบับ-ตั้ง ส.ส.ร. ทำไม่ได้ ด้านตุลาการวาง 4 ประเด็นวินิจฉัย ด้าน “จรัญ” ขอถอนตัว เหตุไม่สบายใจ หลังฝ่ายผู้ถูกร้องอ้างคำให้สัมภาษณ์สมัยเป็น ส.ส.ร.ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ 50 เท่ากับรู้ความเห็นล่วงหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (5 ก.ค.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธาน ได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนผู้ร้องและพยานในคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ทั้งนี้ มีพยานผู้ร้องที่เข้าไต่สวน จำนวน 7 คน ประกอบด้วย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ส.ว.สรรหา, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรประชาธิปัตย์, นายวันธงชัย ชำนาญกิจ, นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีต ส.ว.สรรหา, นายบวร ยสินธร, นายสุรพล นิติไกรพจน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการไต่สวนครั้งนี้ได้รับความสนใจจากฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องอย่างมาก ซึ่งบุคคลที่ไม่ได้เข้ารับการไต่สวน เช่น นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข นายพิชิต ชื่นบาน นายวีรภัทร ศรีโชค รวมถึงสื่อมวลชนและเครือข่ายประชาชนกลุ่มต่างๆ ก็ได้เดินทางมาร่วมรับฟังและให้กำลังใจผู้เข้าไต่สวน

ก่อนการไต่สวนมีรายงานว่า นายชูศักดิ์ ศิรินิล ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้มีการยื่นเอกสารเป็นถ้อยคำที่มีการถอดเทปการสัมภาษณ์นายจรัญ ภักดีธนากุล สมัยที่เป็น ส.ส.ร. ที่มีการระบุว่าให้รับร่างรัฐธรรมนูญ 50 ไปก่อนแล้วค่อยมีการแก้ไขภายหลัง

ทั้งนี้ เมื่อเริ่มการไต่สวน นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้มอบหมายให้นายนุรักษ์ มาประณีต และนายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ดำเนินกระบวนการพิจารณา โดยนายนุรักษ์ได้แจ้งถึงประเด็นในการพิจารณาวินิจฉัยของคณะตุลาการว่าจะมีทั้งสิ้น 4 ประเด็น 1. ผู้ฟ้องมีอำนาจในการฟ้องคดีตามมาตรา 68 วรรคสองหรือไม่ 2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถทำได้หรือไม่ 3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291 มีปัญหาว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ 4. หากมีการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องมีการยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสามและสี่หรือไม่

ส่วนการไต่สวนพยานปากแรกคือ พล.อ.สมเจตน์ ผู้ร้องที่ 1 ก็ได้เบิกความยืนยันถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำที่ได้ยื่นไว้ และนำส่งรายงานการพิจารณาของอัยการสูงสุดที่มติว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 จึงไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามที่ศาลขอไว้ รวมทั้งขอนำส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ก.ค. ซึ่งถูกคัดค้านจากฝ่ายผู้ร้องโดยอ้างว่าเกินระหว่างที่ศาลฯ กำหนดให้ยื่นบันทึกถ้อยคำ แต่ศาลก็อนุญาตให้นำส่งได้และจะพิจารณาภายหลังว่าจะให้รวมไว้ในสำนวนหรือไม่

จากนั้น นายวัฒนา เซ่งไพเราะ และนายชูศักดิ์ ศิรินิล ในฐานะตัวแทนผู้ถูกร้องก็ได้ซักค้านพล.อ.สมเจตน์ ว่า พล.อ.สมเจตน์เป็น ส.ว. ทราบดีว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเดินหน้าไม่ได้หาก ส.ว.ไม่เสนอสัดส่วนกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญขึ้น แต่ทำไม พล.อ.สมเจตน์ กลับเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการฯยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และที่คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ก็เป็นการคิดไปเอง รวมทั้งที่ผ่านมาการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เคยใช้กระบวนการสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาแล้ว จึงอาจถือเป็นประเพณีปฏิบัติได้ เมื่อรัฐธรรมนูญ 50 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงว่าให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ซึ่ง พล.อ.สมเจตน์ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาได้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอดเพราะเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่แตกต่างจากการรัฐประหารเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ เพียงแต่การรัฐประหารใช้ปืน แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ใช้ข้ออ้างเรื่องประชาธิปไตย

“ยอมรับว่าได้รับทราบถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแต่ต้น แต่ไม่มีอำนาจใดๆ ไปคัดค้านการดำเนินการของรัฐสภา ซึ่งได้แสดงความเห็นต่อสาธารณะมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะจะเกิดภัยร้ายแรงต่อประเทศชาติจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและอัยการสูงสุด แม้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291/11 จะบัญญัติให้การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจะกระทำไม่ได้ก็จริง แต่กระบวนการในการวินิจฉัยประเด็นนี้อยู่ประธานรัฐสภาแต่เพียงผู้เดียว ผมไม่สามารถเอาความมั่นคงของประเทศชาติและการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ มาฝากไว้กับประธานรัฐสภาคนเดียวไม่ได้ ยิ่งมีคลิปเสียงออกมายิ่งทำให้ไว้วางใจไม่ได้”

ส่วนการอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 35 ก็มีการตั้ง ส.ส.ร.และยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นจะเอามาเทียบเคียงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้ เพราะในอดีตบริบทของสังคมเวลานั้นต้องการให้เกิดการปฎิรูปการเมืองเพื่อปลดแอกจากทหาร และต้องการนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง แต่บริบทสังคมเวลานี้เกิดความขัดแย้งรุนแรง อีกทั้งสมาชิกของพรรคเพื่อไทยและอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เช่น นายอดิศร เพียงเกษ ก็ปราศรัยเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า “ใฝ่ฝันที่อยากจะเห็นสถาบันของเราเป็นเพียงสัญลักษณ์เหมือนประเทศอังกฤษ” ซึ่งก็คือแตกต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง เห็นว่ามีความมุ่งร้ายกับสถาบันอย่างชัดเจน ดังนั้นบริบทของสังคมในปี 40 และ 50 จึงแตกต่างกัน

ทั้งนี้ ในการซักค้านของนายชูศักดิ์ได้มีการหยิบยกคำสัมภาษณ์ของนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ขณะนั้นเป็น ส.ส.ร.ระบุว่าให้มีการรับร่างรัฐธรรมนูญ 50 ไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ไขมาตราเดียวก็แก้ได้ทั้งฉบับแล้ว ซึ่งทำให้นายจรัญต้องขอชี้แจง โดยระบุว่า ในขณะนั้นได้แสดงความเห็นว่า ถ้าเราไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 50 ก็จะไม่พ้นระบอบรัฐประหาร จึงน่าจะรับไปก่อน ถ้าไม่เหมาะสมตรงไหนก็แก้ไขได้ แต่ไม่ได้บอกว่าแก้มาตราเดียวแล้วเลิกทั้งฉบับ ตนไม่เคยพูด

ต่อมา นายภารดร ปริศนานันทกุล ผู้ถูกร้องที่ 6 ก็ได้ซักค้าน พล.อ.สมเจตน์ ซึ่งตลอดเวลาของการซักค้านทั้ง 3 ฝ่ายค่อนข้างกล่าวด้วยน้ำเสียงมีอารมณ์ โดยเฉพาะเมื่อนายภารดรถามว่า พล.อ.สมเจตน์ก็อยู่ร่วมในการรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ซึ่งการปฏิวัติดังกล่าวถือเป็นการล้มล้างการปกครอง และเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ครั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ให้อำนาจไว้ ซึ่ง พล.อ.สมเจตน์ก็ตอบด้วยเสียงดังว่า “ผมไม่ได้ร่วมปฏิวัติ ถ้าบอกว่าการรัฐประหาร เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ ผลของการแก้รัฐธรรมนูญนี้ก็เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญเหมือนกัน” ซึ่งนายภารดรก็ตอบโต้ว่า “ผมทำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส.ส.ร. จะไปทำอะไรเหนือการตัดสินใจของพวกผม”

ขณะที่การไต่สวนนายเดชอุดมนั้น นายวัฒนาได้พยายามซักค้านถึงกรณีการตั้ง ส.ส.ร. และการที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาจะไม่ใช้อำนาจเพียงลำพังวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง แต่จะมีการตั้งคณะกรรมการที่ประกอบไปภาคส่วนต่างๆ รวมถึงคณบดีนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จะสามารถคลายความกังวลได้หรือไม่ หรือมีบุคคลที่นายเดชอุดมอยากเสนอให้ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ แต่นายเดชอุดมก็กล่าวว่า ตนเองไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้มาแต่ต้น และคิดว่าสังคมก็ไม่สบายใจต่อการที่จะให้อำนาจประธานรัฐสภาวินิจฉัยชี้ขาด แม้ประธานรัฐสภาระบุว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาช่วยพิจารณาก่อนตัดสินใจ ก็เกรงว่ประธานฯ จะทำผิดกฎหมาย ซึ่งความจริงไม่ควรมาถามคำถามนี้กับตนเพราะโดยข้อเท็จจริงรัฐธรรมนูญไม่มีเจตนาให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“จะเห็นได้ว่าถ้อยคำในมาตรา 291 ระบุชัดว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้.. ซึ่งไม่ต้องเป็นนักกฎหมาย ก็รู้ว่าหมายความว่าอย่างไร แต่นักกฎหมายก็มาคุยกันว่าเมื่อมีถ้อยคำอย่างนี้อยู่มันจะตั้ง ส.ส.ร.ได้ไหม ก็เห็นว่าไม่ได้ การจะแก้ไขต้องให้รัฐสภาดำเนินการ” นายเดชอุดมกล่าวชี้แจง

อย่างไรก็ตาม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ขอความเห็นนายเดชอุดมว่าอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของใคร ซึ่งนายเดชอุดมกล่าวว่า หลักการอำนาจนี้เป็นของประชาชน โดยเสียงส่วนใหญ่ แต่วันนี้ที่มาชี้แจงต่อศาลฯ คือ การแปลความรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้ได้ผ่านเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนมาแล้ว

ส่วนนายวันธงชัย ผู้ร้องที่ 2 ชี้แจงว่า เหตุที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่เปิดช่องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งฉบับ และอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของรัฐสภา ไม่ใช่การตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาทำการ

ส่วนการไต่สวนในช่องบ่ายคณะตุลาการได้เริ่มในเวลา 14.00 น. โดยเมื่อคณะตุลาการฯ ออกนั่งบัลลังก์ ก็ได้แจ้งคู่กรณีว่า เหตุที่ออกนั่งบัลลังก์ช้าก็เนื่องมาจากกรณีที่มีการอ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของนายจรัญเมื่อครั้งเป็น ส.ส.ร. ซึ่งทำให้นายจรัญไม่สบายใจและขอถอนตัวจากการเป็นองค์คณะพิจารณาคดีนี้ ซึ่งที่ประชุมคณะตุลาการก็อนุญาต แต่นายชูศักดิ์ก็ได้ชี้แจงว่าการที่ตนเองอ้างคำสัมภาษณ์ของนายจรัญไม่ได้เป็นการคัดค้านการเป็นองค์คณะ

นายวสันต์จึงอธิบายว่า การขอถอนตัวเกิดจากการที่นายจรัญไม่สบายใจ ซึ่งนายจรัญบอกว่า ถ้าท่านจะตัดสินใจก็เท่ากับว่าคนรู้ความเห็นของท่านล่วงหน้าแล้ว เพราะท่านก็ต้องตัดสินไปตามสิ่งที่ท่านเคยแสดงความคิดความเห็นเอาไว้ การที่ท่านชี้แจงขณะไต่สวน ก็เหมือนท่านเปิดเผยความเห็นของท่านไปแล้ว ซึ่งที่ประชุมคณะตุลาการฯ ก็เห็นด้วยจึงอนุญาตให้ถอนตัวจากการเป็นองค์คณะ
นายวัฒนา เซ่งไพเราะ
กำลังโหลดความคิดเห็น