xs
xsm
sm
md
lg

“สมเจตน์” ยื่นถอน “อานันท์” เป็นพยานคดีแก้ รธน.แล้ว “วิรัตน์” เพิ่ม “แก้วสรร” พ่วงนักวิชาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา (ภาพจากแฟ้ม)
โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เผย “สมเจตน์” ยื่นถอน “อานันท์” เป็นพยานคดีแก้ รธน.ม.291 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองอย่างเป็นทางการแล้ว ขณะที่ “วิรัตน์” ผู้ร้องเพิ่มพยานเพียบ ส่งชื่อนักวิชาการ “จรัส-กิตติศักดิ์-สุรพล” พร้อมด้วย “แก้วสรร” ขณะที่อีกฝ่ายส่ง “คณิน-อุดมเดช” เพิ่ม เผยเอกสารบันทึกถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่าย รวมกันหลายพันหน้า

วันนี้ (2 ก.ค.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดทั้งวันตัวแทนผู้ร้องและผู้ถูกร้องในคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ทยอยเข้ายื่นบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดย นายราเมศ รัตนะเชวง พร้อมด้วย คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำบันทึกถ้อยคำจำนวน 17 หน้าของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในพยานฝ่ายผู้ร้อง นายวิรัตน์ กัลยาศิริ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว. นายวัชรา หงส์ประภัสร อดีต ส.ส.ร.ปี 2550 ในฐานะพยานของฝ่ายผู้ร้อง มายื่นต่อศาล ซึ่งในส่วนของนายวิรัตน์ ได้มีการยื่นเอกสารเพิ่มเติม เป็นแผ่นซีดีการปราศรัยที่สะท้อนพฤติกรรมของกลุ่มคนต่างๆ ว่า มีทัศนคติต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและต่ออำนาจฝ่ายตุลาการอย่างไร รวมถึงบันทึกการประชุม ส.ส.ร.ปี 2540 ด้วย

โดย นายราเมศ กล่าวว่า เบื้องต้น นายอภิสิทธิ์ จะเบิกความต่อหน้าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 5 ก.ค.2555 ตั้งแต่เวลา 09.30 น.แต่หากในวันที่ 4 ก.ค.ที่มีการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่าเอกสารของนายอภิสิทธิ์ ครบถ้วนชัดเจนแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเรียกเบิกความไต่สวนในวันที่ 5 ก.ค.ก็ได้ ซึ่งขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้ควบคุมมวลชนคนเสื้อแดงที่อาจจะเดินทางมารับฟังการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้แสดงพฤติกรรมข่มขู่ คุกคาม หรือกดดันการทำหน้าที่ของตุลาการฯเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่า รัฐบาลเห็นดี เห็นงามกับการกระทำดังกล่าว และอยากให้ทุกฝ่ายน้อมรับ และเคารพกระบวนการไต่สวน รวมถึงผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมาด้วย

ด้าน นายบวร ยสินธร ประธานกลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน ผู้ร้องที่ 5 ก็ได้ยื่นบันทึกถ้อยมีเนื้อหาหลักใน 3 ประเด็นที่จะชี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างไร การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญ 50 บัญญัติไว้อย่างไร และพฤติกรรมสำคัญของบุคคลทั้งผู้ถูกร้องและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องที่กระทำการอย่างเป็นกระบวนการในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไร พร้อมกับยื่นหนังสือขอนำพยานเข้าไต่สวนเพิ่มอีก 1 ปาก คือ นายสุรพล ศรีวิทยา รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต

นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า หลังจากปิดเวลาทำการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงครบถ้วนทุกคน รวมถึงพยานของผู้ถูกร้องที่แจ้งไว้แต่เดิมก็ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว

แต่ในส่วนของพยานผู้ร้อง คือ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศ ส.ว.สรรหา, นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง, นายปริญญา ศิริสารการ, นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ขณะนี้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง แม้ก่อนหน้านี้ ศาลจะออกหมายเรียกไปให้กับผู้ร้องและผู้ถูกร้อง เพื่อนำไปยื่นต่อผู้ที่ต้องการให้มาเป็นพยานฝ่ายตน ซึ่งกรณีนี้ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ผู้ร้องต้องไปดำเนินการติดตาม และมาแถลงด้วยวาจาต่อองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 5 ก.ค.ว่ายังติดใจที่จะนำสืบพยานปากเหล่านี้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ถึงจะพ้นกำหนดเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญให้คู่กรณียื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงแล้ว แต่คู่กรณีสามารถยื่นบันทึกถ้อยคำของพยานที่สามารถติดตามได้ในภายหลังต่อศาลได้จนถึงวันไต่สวน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคู่กรณีจะคัดค้านหรือไม่ เพราะพ้นกำหนดเวลาที่ศาลกำหนดให้ยื่น และไม่สามารถโต้แย้งข้อเท็จจริงในบันทึกได้ รวมทั้งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะตุลาการฯ ว่าจะรับไว้ในสำนวนหรือไม่

ส่วนกรณีของ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 พล.อ.สมเจตน์ ได้มีหนังสือแจ้งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนชื่อนายอานันท์จากการเป็นพยานผู้ร้องแล้ว โดยให้เหตุผลว่า “ผู้ร้องไม่ติดใจที่จะอ้างนายอานันท์เป็นพยาน จึงขอถอนพยานปากดังกล่าวออก” ทั้งนี้ นายวิรัตน์ ผู้ร้องที่ 2 ได้ขอเพิ่มพยานอีก 5 ปากคือ นายจรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการและอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.), นายฉัตรชัย ภูโคกหวาย เลขานุการเครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบัน และนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่ง นายสุรพล ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำฯ มาแล้ว ขณะที่ นายบวร ยสินธร ผู้ร้องที่ 5 ขอเพิ่มพยานอีก 1 ปาก คือ นายสุรพล ศรีวิทยา รองคณบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต ส่วนพยานที่ผู้ถูกร้องขอเพิ่มอีก 2 ปาก คือ นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 40 และนายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ก็ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำต่อศาล แล้ว

นายสมฤทธิ์ ยังกล่าวด้วยว่า หลังจากที่แต่ละฝ่ายได้ยื่นบันทึกถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริง ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ส่งสำเนาของแต่ละฝ่ายให้กับคู่กรณี เพื่อให้ทำคำโต้แย้งกลับมา รวมถึงจะได้จัดส่งบันทึกถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงที่พยานของแต่ละฝ่ายส่งมาให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนในวันพรุ่งนี้ศึกษา ก่อนที่จะมีการประชุมในวันที่ 4 ก.ค.ขณะเดียวกันสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็จะทำการสรุปประเด็นที่พยานนำเสนอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกทางหนึ่งด้วย โดยบันทึกถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายยื่นเข้ามานั้น เป็นเอกสารรวมแล้วหลายพันหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น