xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ยื่นคำให้การ “อภิสิทธิ์-ถาวร” ต่อศาล รธน.แล้ว ยันขัด ม.291 ชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
ทนายประชาธิปัตย์ยื่นคำให้การ “อภิสิทธิ์-ถาวร” ต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยันแก้รัฐธรรมนูญล้มล้างฉบับ 50 แถมโยนประธานรัฐสภาวินิจฉัยโดยไม่ให้ที่ประชุมดูเนื้อหาด้วย ยันขัด ม.291, 68 ชัด พร้อมแนบคำปราศรัย “ทักษิณ” ยืนยันชัดหวังทำเพื่อได้อำนาจคืน โฆษกศาลฯ เผยทนาย “สมเจตน์” ขอถอนชื่อ “อานันท์” พ้นพยานแล้ว


วันนี้ (2 ก.ค.) นายราเมศ รัตนเชวง และนายชัยยุทธ ชาญณรงค์ ทนายผู้ได้รับมอบอำนาจรวบรวมบันทึกคำให้การของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพยานบุคคล ที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 อาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไปยื่นต่อศาลในวันนี้ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว ระบุให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ 99 คน จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถือเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งฉบับ อีกทั้งยังให้อำนาจประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ โดยที่รัฐสภาไม่มีโอกาสพิจารณาเนื้อหาใดๆของร่างรัฐธรรมนูญ เว้นแต่ประธานรัฐสภาจะเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตรย์ทรงเป็นประมุข เปลี่ยนแปลงรูปรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เท่านั้นจึงจะส่งรัฐสภาพิจารณา

นอกจากนี้ นายถาวรยังทำคำให้การไว้ 3 เหตุผล คือ 1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะตามมาตรา 291 ประกอบมาตรา 68 ให้แก้ไขเป็นรายมาตราเท่านั้น ไม่ใช่ล้มล้าง หรือฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2. การตั้งสภาร่างรรัฐธรรมนูญจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยที่รัฐสภาไม่มีอำนาจพิจารณา ขัดต่อ 291 ที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภา และมาตรา 3 กำหนดให้พระมหากษัตริย์ ต้องใช้อำนาจดังกล่าวผ่านรัฐสภา จึงถือว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ขัดต่อมาตรา 291 และในส่วนที่ 13 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และมาตรา 68 ระบุว่า บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ จึงถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และขัดต่อมาตรา68

อีกทั้งในระหว่างการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงแรก มิได้สงวนพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ไว้ เปิดช่องให้ ส.ส.ร.ลดหรือตัดอำนาจพระมหากษัตริย์อย่างไรก็ได้ จนกระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายคัดค้าน และสังคมต่อต้านรุนแรง พรรคเพื่อไทยจึงยอมแก้ไขเรื่องดังกล่าว แต่ยังสงวนเฉพาะการเปลี่ยนแปลงหมวดที่ 2 เท่านั้น ทั้งที่อำนาจพระมหากษัตริย์ คงอยู่ในหมวดอื่นๆ เช่น พระราชอำนาจในการยับยั้ง พ.ร.บ.ตามมาตรา 151/พระราชอำนาจในตำแหน่งจอมทัพไทย มาตรา 10 หรือพราะราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ มาตรา 11

นอกจากนี้ ยังปรากฏพฤติกรรมของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา อย่างชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายปรองดอง ที่ผลของกฎหมายจะต้องคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเงินในจำนวนนี้เป็นของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวน 900 ล้านบาท และยังมีกรณีที่ต้องคืนเงินค่าปรับ คดีอาญา ให้แก่ผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรม จึงถือเป็นกฎหมายการเงิน แต่ประธานรัฐสภากลับช่วยเหลือพรรคเพื่อไทยโดยวินิจฉัยว่าไม่ใช่กฎหมายการเงิน ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านเข้าชื่อถอดถอนประธานรัฐสภา เป็นครั้งแรกประวัติศาสตร์ ดังนั้น การให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัยย่อมอยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีความเคลื่อนไหวสอดรับกับพรรคเพื่อไทย และ นปช. อีกทั้งกลุ่มคนดังกล่าวยังเคลื่อนไหวทางการเมือง ร่วมกับนายใจ อึ๊งภากรณ์ นายจักรภพ เพ็ญแข และนายชูพงษ์ ถี่ถ้วน ซึ่งเป็นจำเลยในคดี จาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง ซึ่งปรากฏความคิดต่อสาธารณะว่าต้องการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบอื่น

3. มีความพยายามผลักดันแก้ไขกฎหมายปรองดอง เพื่อให้ พ.ต.ท. ทักษิณ หลุดพ้นจากคดี กลับประเทศเพื่อสมัครรับเลือกตั้งใหม่ได้ตลอดจนมีการแสดงความเห็นจากคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณหลายคน รวมถึงนายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ระบุว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตราใดก็จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้กฎหมายปรองดองผ่านสภา จึงเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นไปเพื่อให้กฎหมายปรองดองผ่านสภาโดยไม่รัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ทั้งนี้ คำให้การดังกล่าวของนายถาวรยังแนบคำปราศรัยของ พ.ต.ท.ทักษิณในหลายโอกาส ที่สะท้อนให้เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรมนูญจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมามีอำนาจปกครองประเทศ โดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติรัฐธรรมนูญ จึงขัดต่อมาตรา 68 ชัดเจน จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวด้วยการเลิกแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้

ด้าน นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ทนายความของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม หนึ่งในผู้ร้องได้ประสานเป็นการภายใน แจ้งถอนชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ออกจากการเป็นพยานแล้ว โดนรอแจ้งเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการ และผู้ร้องต้องมีการแถลงต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันไต่สวนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น