xs
xsm
sm
md
lg

ชี้แก้รธน.ผิด3ข้อล้มการปกครองไม่ผ่านสภา-ฟอกผิดแม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน- ทีมกม.ปชป.ยื่นบันทึกคำให้การ"มาร์ค- ถาวร" ต่อศาลรธน. ยัน เข้าข่ายล้มล้างรูปแบบการปกครอง “ถาวร” แจง 3 เหตุผล ไม่มีหลักประกันการลดทอนพระราชอำนาจ -ระแวงปธ.รัฐสภาถูกครอบงำ หลังพบ”แม้ว”เชื่อมโยงกลุ่มล้มเจ้า ฉีกรธน.ให้ตนเองกลับมาครองอำนาจ "สมเจตน์ "ถอนชื่อ"อานันท์" ออกจากพยานแล้ว แต่ขอเพิ่มชื่อ"แก้วสรร-สุรพล-จรัส" "ยิ่งลักษณ์" เผยยังไร้แผนสำรองหากถูกเชือด อ้างรอความชัดเจนก่อน "แกนนำแดง" ด่ามธ.จิตวิญญาณตกต่ำ "ยงยุทธ"ให้ท้าย "แก๊งแดง" บุกศาลรธน.

วานนี้ ( 2 ก.ค.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดทั้งวันตัวแทนผู้ร้อง และผู้ถูกร้องในคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญ(ศาลรธน.)จะพิจารณาว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ ได้ทยอยเข้ายื่นบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายราเมศ รัตนะเชวง พร้อมด้วยคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำบันทึกถ้อยคำจำนวน 17 หน้า ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในพยานฝ่ายผู้ร้อง นายวิรัตน์ กัลยาศิริ นายถาวร เสนเนียม ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว. นายวัชรา หงส์ประภัสร อดีต ส.ส.ร.ปี 2550 ในฐานะพยานของฝ่ายผู้ร้อง มายื่นต่อศาล ซึ่งในส่วนของนายวิรัตน์ ได้มีการยื่นเอกสารเพิ่มเติม เป็นแผ่นซีดีการปราศรัย ที่สะท้อนพฤติกรรมของกลุ่มคนต่างๆว่ามีทัศนคติต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และต่ออำนาจฝ่ายตุลาการอย่างไร รวมถึงบันทึกการประชุม ส.ส.ร.ปี 2540 ด้วย

นายราเมศ กล่าวว่า เบื้องต้นนายอภิสิทธิ์ จะเบิกความต่อหน้าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 5 ก.ค.55 ตั้งแต่เวลา 9.30 น. แต่หากในวันที่ 4 ก.ค. ที่มีการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้ว เห็นว่าเอกสารของนายอภิสิทธิ์ ครบถ้วนชัดเจนแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเรียกเบิกความไต่สวนในวันที่ 5 ก.ค. ก็ได้ ซึ่งขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี และร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้ควบคุมมวลชนคนเสื้อแดง ที่อาจจะเดินทางมารับฟังการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้แสดงพฤติกรรมข่มขู่ คุกคาม หรือกดดันการทำหน้าที่ของตุลาการฯ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่า รัฐบาลเห็นดี เห็นงามกับการกระทำดังกล่าว และอยากให้ทุกฝ่ายน้อมรับและเคารพกระบวนการไต่สวน รวมถึงผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมาด้วย

** "มาร์ค"ย้ำแก้รธน.ล้มล้างการปกครอง

ทั้งนี้ นายราเมศ เปิดเผยว่า บันทึกคำให้การของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพยาน มีประเด็นที่น่าสนใจคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว ระบุให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ 99 คน จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถือเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งฉบับ อีกทั้งยังให้อำนาจประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ โดยที่รัฐสภาไม่มีโอกาสพิจารณาเนื้อหาใดๆ ของร่างรัฐธรรมนูญ เว้นแต่ประธานรัฐสภาจะเห็นว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตรย์ทรงเป็นประมุข เปลี่ยนแปลงรูปรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เท่านั้น จึงจะส่งให้รัฐสภาพิจารณา

นอกจากนี้ นายถาวร ยังทำคำให้การไว้ 3 เหตุผล คือ

1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะตามมาตรา 291 ประกอบมาตรา 68 ให้แก้ไขเป็นรายมาตราเท่านั้นไม่ใช่ล้มล้าง หรือ ฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

2. การตั้งสภาร่างรรัฐธรรมนูญจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยที่รัฐสภา ไม่มีอำนาจพิจารณา ขัดกับมาตรา 291 ที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภา มาตรา 3 กำหนดให้พระมหากษัตริย์ ต้องใช้อำนาจดังกล่าวผ่านรัฐสภา จึงถือว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ขัดมาตรา 291 และในส่วนที่ 13 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และ มาตรา 68 ระบุว่า บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ จึงถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และ ขัดมาตรา 68

อีกทั้งในระหว่างการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงแรก มิได้สงวนพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ไว้ เปิดช่องให้ ส.ส.ร. ลดหรือตัดทอนอำนาจพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ได้ จนกระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายคัดค้าน และสังคมต่อต้านอย่างรุนแรง พรรคเพื่อไทย จึงยอมแก้ไขเรื่องดังกล่าว แต่ยังสงวนเฉพาะการเปลี่ยนแปลงหมวดที่ 2 เท่านั้น ทั้งที่อำนาจพระมหากษัตริย์ คงอยู่ในหมวดอื่นๆ เช่น พระราชอำนาจในการยับยั้ง พ.ร.บ. ตามมาตรา 151 / พระราชอำนาจในตำแหน่งจอมทัพไทย มาตรา 10 หรือ พระราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ มาตรา 11

นอกจากนี้ ยังปรากฏพฤติกรรม ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา อย่างชัดเจน ในการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการพิจารณา ร่าง กฎหมายปรองดอง ที่ผลของกฎหมาย จะต้องคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านบาทให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเงินในจำนวนนี้ เป็นของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวน 900 ล้านบาท และยังมีกรณีที่ต้องคืนเงินค่าปรับคดีอาญาให้แก่ผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรม จึงถือเป็นกฎหมายการเงิน แต่ประธานรัฐสภา กลับช่วยเหลือพรรคเพื่อไทย โดยวินิจฉัยว่า ไม่ใช่กฎหมายการเงิน ทำให้ ส.ส. ฝ่ายค้าน เข้าชื่อถอดถอนประธานรัฐสภา เป็นครั้งแรกประวัติศาสตร์

ดังนั้นการให้ประธานรัฐสภา เป็นผู้วินิจฉัย ย่อมอยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีความเคลื่อนไหวสอดรับกับพรรคเพื่อไทย และกลุ่มนปช. อีกทั้งกลุ่มคนดังกล่าว ยังเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับ นายใจ อึ้งภากรณ์ นายจักรภพ เพ็ญแข และ นายชูพงษ์ ถี่ถ้วน ซึ่งเป็นจำเลยในคดี จาบจ้วงสถาบันเบื้อสูง ซึ่งปรากฏความคิดต่อสาธารณะว่า ต้องการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบอื่น

3. มีความพยายามผลักดันแก้ไขกฎหมายปรองดอง เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หลุดพ้นจากคดี กลับประเทศเพื่อสมัครรับเลือกตั้งใหม่ได้ ตลอดจนมีการแสดงความเห็นจากคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ หลายคน รวมถึงนายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ระบุว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ขัดรัฐธรรมนูญ มาตราใด ก็จะแก้ไรัฐธรรมนูญเพื่อให้กฎหมายปรองดองผ่านสภา จึงเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นไปเพื่อให้กฎหมายปรองดองผ่านสภา โดยใช้รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง

ทั้งนี้ คำให้การดังกล่าวของนายถาวร ยังแนบคำปราศัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในหลายโอกาส ที่สะท้อนให้เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรมนูญจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมามีอำนาจปกครองชประเทศ โดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงขัดมาตรา 68 ชัดเจน จึงของให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าว ด้วยการเลิกแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้

** 2 ฝ่ายยื่นบันทึกถ้อยคำครบ

นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวหลังจากปิดเวลาทำการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญว่า ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าทั้งผู้ร้อง และผู้ถูกร้องในคดีนี้ ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงครบถ้วนทุกคน รวมถึงพยานของผู้ถูกร้องที่แจ้งไว้แต่เดิม ก็ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำฯแล้ว

แต่ในส่วนของพยานผู้ร้อง คือ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศ ส.ว.สรรหา นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง นายปริญญา ศิริสารการ นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ขณะนี้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้รับบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง แม้ก่อนหน้านี้ศาลจะออกหมายเรียกไปให้กับผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง เพื่อนำไปยื่นต่อผู้ที่ต้องการให้มาเป็นพยานฝ่ายตน ซึ่งกรณีนี้ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. ผู้ร้องต้องไปดำเนินการติดตาม และมาแถลงด้วยวาจาต่อองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 5 ก.ค.ว่า ยังติดใจที่จะนำสืบพยานปากเหล่านี้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ถึงจะพ้นกำหนดเวลาที่ศาลฯ ให้คู่กรณียื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงแล้ว แต่คู่กรณีสามารถยื่นบันทึกถ้อยคำของพยาน ที่สามารถติดตามได้ภายในหลังต่อศาลได้จนถึงวันไต่สวน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคู่กรณีจะคัดค้านหรือไม่ เพราะพ้นกำหนดเวลาที่ศาลกำหนดให้ยื่น และไม่สามารถโต้แย้งข้อเท็จจริงในบันทึกได้ รวมทั้งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะตุลาการฯ ว่าจะรับไว้ในสำนวนหรือไม่

** ถอนชื่อ"อานันท์"ออกจากพยาน

ส่วนกรณีของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ในฐานะผู้ร้อง ได้มีหนังสือแจ้งสำนักงานฯ ขอถอนชื่อนายอานันท์ จากการเป็นพยานผู้ร้องแล้วโดยให้เหตุผลว่า

“ ผู้ร้องไม่ติดใจที่จะอ้างนายอานันท์เป็นพยาน จึงขอถอนพยานปากดังกล่าวออก” ทั้งนี้นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ร้องที่ 2 ได้ขอเพิ่มพยานอีก 5 ปากคือ นายจรัส สุวรรณมาลา อ.นิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อ.นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นายแก้วสรร อติโพธิ นายฉัตรชัย ภูโคกหวาย และนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งนายสุรพลได้ยื่นบันทึกถ้อยคำฯ มาแล้ว ขณะที่นายบวร ยสินธร ผู้ร้องที่ 5 ขอเพิ่มพยานอีก 1 ปากคือ นายสุรพล ศรีวิทยา รองคณบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต

ส่วนพยานที่ผู้ถูกร้องขอเพิ่มอีก 2 ปากคือ นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. 40 และนายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ก็ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำต่อศาลฯ แล้ว

นายสมฤทธิ์ ยังกล่าวด้วยว่า หลังจากที่แต่ละฝ่ายได้ยื่นบันทึกถ้อยคำฯทางสำนักงานก็ได้ส่งสำเนาของแต่ละฝ่าย ให้กับคู่กรณีเพื่อให้ทำคำโต้แย้งกลับมา รวมถึงจะได้จัดส่งบันทึกถ้อยคำฯ ที่พยานของแต่ละฝ่ายส่งมาให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคน ในวันนี้ (3 ก.ค.) ศึกษา ก่อนที่จะมีการประชุมในวันที่ 4 ก.ค. ขณะเดียวกันสำนักงาน ก็จะทำการสรุปประเด็นที่พยานนำเสนอให้ตุลาการฯ อีกทางหนึ่งด้วย โดยบันทึกถ้อยคำฯ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายยื่นเข้ามานั้น เป็นเอกสารรวมแล้วหลายพันหน้า

** "ปู"ไม่มีแผนสำรองหากถูกเชือด

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสัปดาห์นี้ว่า คงต้องแล้วแต่ดุลพินิจของศาลฯ แต่เจตนารมณ์ของรัฐบาล เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล ที่มีการชี้แจงต่อรัฐสภาอยู่แล้ว ดังนั้นขอให้รอผลจะดีกว่า

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลมีแผนสำรองเพื่อแก้ไขปัญหาหรือไม่ หากมีปัญหา นายกฯ กล่าวว่า ยัง ต้องรอฟังผลคำวินิจฉัยออกมาก่อน เราไม่ยังไม่อยากก้าวล่วง แต่เชื่อมั่นว่าผู้ตัดสิน คงจะให้ความเป็นธรรม และพิจารณาจากข้อเท็จจริง

เมื่อถามว่า เป็นห่วงหรือไม่ว่าสถานการณ์การเมืองจะกลับมาร้อนแรงอีก เพราะเวลานี้มีกลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน มีทั้งผู้สนับสนุน และคัดค้านรัฐบาล นายกฯ กล่าวว่า อยากขอวิงวอนทุกภาคส่วน ข้อคิดเห็นที่แตกต่าง สามารถทำได้ ภายใต้ขอบเขตสิทธิเสรีภาพ และข้อกฎหมาย อย่างไรก็ตาม อยากให้แสดงออกทางความคิดเห็น ให้เกิดความสงบ และเกิดความเชื่อมั่น เพราะวันนี้ประเทศไทยไม่ใช่แค่จะต้องมาแก้ปัญหาในประเทศอย่างเดียว ต้องคอยรองรับปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกด้วย ถ้าเราร่วมกันในการสร้างความเชื่อมั่นในการแสดงออก ให้ประเทศชาติก้าวพ้นไปได้ อันนี้จะทำให้ประเทศของเราสามารถเดินต่อไปได้

** อ้างแดงป่วน เป็นการแสดงออก

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทยจะดูแลคนเสื้อแดง กลุ่มสนับสนุนของพรรค อย่างไรเพื่อไม่ให้มาก่อความวุ่นวาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อย่างที่เรียน ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การที่แสดงความคิดเห็นเราเคารพสิทธิ และความคิดเห็นทุกท่าน ถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่เราจะได้รับฟัง แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย และการชุมนุมอะไรต่างๆ ขอให้เป็นไปโดยสงบ

เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นนายกฯ จะวิงวอนฝ่ายการเมืองที่อยู่ในสภาทั้งหมด อย่าขึ้นเวทีในช่วงนี้ เพราะเหมือนเป็นการปลุกระดม ทั้งเรื่องดี และไม่ดี และอาจทำให้เกิดความวุ่นวายได้ นายกฯ กล่าวว่า ถ้าเป็นภายใต้ของการแสดงออก ซึ่งความคิดเห็นตามสิทธิ เสรีภาพ ก็พึงกระทำได้ แต่ขอให้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ต้องเรียกว่า ขอความร่วมมือกันมากกว่า และจริงๆ แล้วเชื่อว่าประชาชนอยากเห็นการชี้แจงในสิ่งที่จะทำอะไรให้เป็นประโยชน์กับประชาชน และสิ่งไหนที่เป็นทางออกให้กับประเทศ อันนี้น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า การที่จะมาโต้ปัญหากัน ในเรื่องความขัดแย้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า เวลานี้นายกฯ ห่วงและหนักใจเรื่องอะไร นายกฯ กล่าวว่า เรื่องความเข้าใจมากกว่า ซึ่งเราต้องช่วยกัน และต้องได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ส่วนโดยมีการคุยกัน ชี้แจงกันในเรื่องประโยชน์ต่างๆ และทางออกของประเทศ ถ้าเราคุยกันแต่ปัญหาความขัดแย้ง สุดท้ายประเทศจะไม่มีทางออก ต้องให้ทุกอย่างก้าวผ่านไปให้ได้ วันนี้ทุกภาคส่วนต้องอดทน และช่วยกันประคับประคองบรรยากาศต่างๆให้เป็นบรรยากาศที่เป็นไปอย่างสงบ เพื่อให้ประเทศเดินหน้า

** "ก่อแก้ว"พาลด่ามธ.จิตวิญญาณตกต่ำ

นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ออกมาระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ได้ทั้งฉบับว่า ขอยืนยันการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้แก้ทั้งฉบับ เพราะได้ยกหมวด 2 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในรัฐธรรมนูญ 50 มาไว้ และกรณีที่นายสมคิด ออกมาแสดงความเห็นดังกล่าว เพราะมีแนวคิดฝักฝ่ายเผด็จการ ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็เคยเป็นเลขาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 มา และทำเพื่อป้องกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คนเดียว ตนจึงมองไม่ออกว่า วันนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำเพื่อประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะจิตวิญญาณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตกต่ำอย่างน่าใจหาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมโจมตีเหมารวมทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งที่ควรระบุไปที่ตัว นายสมคิด เพียงคนเดียว นายก่อแก้ว กล่าวว่า ตนไม่ได้กล่าวหาไปที่ตัวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ต้องการสะท้อนไปที่ตัวท่าน ให้ปรับปรุงตัวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้กลับมายิ่งใหญ่อย่างเช่นในอดีต เพราะขณะนี้สังคมรู้สึกเช่นนั้น

** ผวาส.ส.ถูกถอดถอนยกแผง

นายก่อแก้ว กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ที่ออกมาสอดรับกันของฝ่ายที่ต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญ ก็เชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาทางลบต่อรัฐสภา รัฐบาลชุดนี้ พรรคเพื่อไทย และตนเอง ในฐานะคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็เชื่อว่าจะมีการยื่นถอดถอนส.ส. ที่ลงมติสนับสนุน ตั้งแต่วาระแรก ตลอดจนกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ และการถอดถอน คณะรัฐมนตรี แม้พรรคเพื่อไทยจะไม่ถูกยุบ แต่เมื่อมีการถอดถอน ส.ส.ของพรรคได้สำเร็จ ก็เหมือนกับพรรคถูกยุบ

" หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และตอบสังคมได้ ก็ไม่มีปัญหา แต่หากตอบไม่ได้บิดเบือน กฎหมาย ก็น่าจะยุ่ง เพราะสถานการณ์การเมืองขณะนี้ ไม่มีใครกลัวใคร และจะนำไปสู่ความแตกหักของสองฝ่าย ที่มากขึ้นกว่าเดิม" นายก่อแก้ว กล่าว

** "เหลิม" อ้างหากยุบพรรคนายกฯยังอยู่

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจพิจารณาไต่สวนกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 5-6 ก.ค.นี้ว่า เรื่องนี้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ คนอื่นไม่เกี่ยวข้อง ไม่ควรแสดงความคิดเห็น แต่ต้องเห็นใจพรรคเพื่อไทย เพราะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย อย่างไรก็ตาม ตนยังมองในแง่ดี ว่าศาลคงยกคำร้อง บ้านเมืองจะได้เดินหน้าต่อไปได้

" ถามว่าหากเกิดมีคำสั่งยุบพรรค ตัดสิทธิ์ทางการเมือง ต้องอย่าลืมว่านายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นคณะกรรมการในพรรค ยุบพรรคได้ แต่ยุบรัฐบาลไม่ได้ หากคิดว่าจะให้นายกรัฐมนตรีพ้นหน้าที่ ก็ไม่เกี่ยวกัน เราหาพรรคสังกัดใหม่ได้ใน 60 วัน รัฐธรรมนูญเขียนชัด อย่าไปคิดว่าจะเกิดโกลาหลแบบสมัยไทยรักไทย พลังประชาชน ถ้าใครคิดอย่างนี้ คิดผิด รัฐบาลจะยังอยู่แน่" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเมื่อพ.ศ. 2550 ออกมายืนยันว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทำไม่ได้ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่าไม่เป็นไรและคงต้องไปดูเจตนารมณ์

ส่วนการหาพรรคสำรองนั้น เห็นว่าอย่าไปยุบเลยไม่มีผลอะไร เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีตำแหน่งอะไรในพรรค แต่หากจะหาพรรคสำรอง จะตั้งชื่อพรรคใหม่ว่า พรรคทักษิณไปเลย หมดเรื่อง ไหนๆก็ไหนๆ ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป

** ฉะศาลฯทางใครทางมันอย่าขวางแก้รธน.

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม และ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเตรียมต่อสู้คดีคำร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่า ได้มีการทำหนังสือยื่นไปแล้ว 2 ครั้ง ในนามของพรรคเพื่อไทย และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยบุคคลที่เตรียมไว้ชี้แจง คือ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ซึ่งจะไปชี้แจงได้ทั้ง 2 สถานะ คือ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และในฐานะครม.

สำหรับการชี้แจง จะยึดถือเอาคำชี้แจงที่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นหลัก โดยต้องดูในวันที่ 5 ก.ค.ว่า ฝ่ายผู้ร้องคือ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา จะว่าอย่างไร เมื่อศาลซักเราก็ตอบยืนยันไปตามข้อเท็จจริงว่า เราได้ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามกติกา ตามมาตรา 291 ยืนยันไม่กระทบต่อระบอบการปกครองและสถาบันฯ ซึ่งนโยบายของพรรคเพื่อไทย ก็เขียนไว้ชัดเจน อีกทั้งนายกรัฐมนตรี ก็ได้แถลงยืนยันต่อสภาไว้ และเราได้ทำตามในสิ่งที่แถลงไว้ต่อสภา โดยใช้ช่องทาง ส.ส.ร.คือให้ประชาชนตัดสินใจ ไม่ได้ทำกันเอง ไม่ได้ทำโดย ครม.

เมื่อถามถึงการตั้งข้อสังเกตว่า ฝ่ายตุลาการเข้ามาแทรกแซงอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ นายจารุพงศ์ ตอบว่า " ผมก็ไม่อยากให้ชนกัน ทางใครทางมันดีกว่า ผมชอบฟังเพลง มายเวย์ ของแฟรงค์ ซินาตร้า ทางใครทางมัน ทางมึง ทางกู ดีกว่า"

** "ยงยุทธ์"ให้ท้ายแดงบุกศาลฯ

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเตรียมไปชี้แจงต่อศาลรธน. ในวันศุกร์ที่ 6 ก.ค.นี้ ในฐานะพยานฝ่ายผู้ถูกร้องว่า ก่อนหน้านี้ พรรคได้ทำหนังสือชี้แจงต่อศาลรธน. เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว โดยย้ำว่าการแก้ไขรธน. ไม่มีข้อความใดที่ชี้ว่า เป็นการล้มล้างสถาบันฯ หรือการปกครอง แล้วก็จะไปตอบคำถามเพิ่มเติม หากศาลต้องการที่จะซักถาม ซึ่งในร่างแก้ไขรธน. มีการระบุชัดเจนใน มาตรา 291 ว่าไม่มีเรื่องเหล่านั้นอยู่เลย แต่อีกฝ่ายอาจจะคิดเอาเอง ทั้งที่ยังไม่เกิดขึ้น จึงต้องไปชี้แจง เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของเรา

ส่วนวันนั้น หากมีกลุ่มคนเสื้อแดงบุกไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ถือเป็นคนละส่วนกับทางพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ที่กฎหมายรับรอง ก็สามารถที่จะทำได้

** จวก"อันธพาลแดง" ข่มขู่ศาล

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มเสื้อแดง ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ตั้งธง และเขียนคำวินิจฉัยล่วงหน้า สำหรับการวินิจฉัยว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างระบอบการปกครองหรือไม่ ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระบวนการที่จะพยายามข่มขู่ กดดันศาล ให้ดำเนินการออกผลการวินิจฉัยให้เป็นไปตามความต้องการของฝ่ายตน หรือไม่ให้ขัดแย้งกับความต้องการของฝ่ายตน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ในการออกมาข่มขู่กดดันศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม

**ตั้งเป้ายกเลิกม.309 เพื่อช่วย"แม้ว"

นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ว. แกนนำกลุ่มสยามสามัคคี กล่าวว่า ขณะนี้ ฝ่ายผู้ร้อง พร้อมรับทุกคำวินิจฉัยของศาลฯ อย่างมีวุฒิภาวะ ไม่ว่าผลจะออกมาในทิศทางใด แต่ฝ่ายผู้ถูกร้อง กลับเต้นเป็นเจ้าเข้าราวกับว่าโลกจะถล่มลงในวันนี้ พรุ่งนี้ ออกอาการลนลาน และข่มขู่ว่าบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ เป็นรัฐประหารโดยตุลาการภิวัฒน์ หรือขู่ว่าเสื้อแดงออกมาแน่ ถ้าไม่ถูกใจ แสดงว่าฝ่ายผู้ถูกร้องไม่อาจยอมรับได้หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่เป็นโทษต่อเขา แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินบนพื้นฐานของกฎหมาย ที่อนุญาตไว้ตามตัวบท ไม่ได้นั่งเทียนเขียนเองตามอำเภอใจใดๆเลย

"ขอถามว่า ถ้าไม่มีปรารถนาของทักษิณ ที่จะยกเลิกมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญปี 50 เพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นสารพัดความผิด จะมีข้าทาสคนไหนขอแก้ไขรัฐธรรมนูญบ้าง ในภาวะที่พรรคเพื่อไทย และนปช. ยึดครองอำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติไปแล้วนี้ ศาลรัฐธรรมนูญและศาลสถิตยุติธรรมอื่น จะต้องเป็นอิสระ สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ จึงเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างเที่ยงธรรม เป็นที่ยอมรับของประชาชน" นายประสาร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น