หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จ่อส่งบันทึกให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญ พรุ่งนี้ เผย “วิรัตน์” ปัดเชิญ “อานันท์” พยานร่วม ชี้ชัด พท.แก้ รธน.เป็นขบวนการเขียนฉบับใหม่ ระบุ แผนเลือก ส.ส.ร.ทำคนมีอำนาจกุมเสียงข้างมากได้ หวังตุลาการไม่หวั่นไหวม็อบกดดัน จวก รบ.ปล่อยมวลชนขู่ผู้อื่น จี้เคร่งครัดบังคับใช้กฎหมาย
วันนี้ (1 ก.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการส่งบันทึกคำให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีการไต่สวนคำร้องการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 อาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองที่จะมีขึ้นในวันที่ 5-6 ก.ค.นี้ ว่า ตนถูกอ้างเป็นพยาน และจะทำบันทึกและไปให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 5 ก.ค.แต่ยังไม่ทราบว่า เมื่อศาลใช้เวลาไต่สวน 2 วัน จะมีคำวินิจฉัยเลยหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ามีการเชิญ นายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นพยายานของผู้ยื่นคำร้อง เท่าที่ทราบ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หนึ่งในผู้ยื่นคำร้องได้ออกมาปฏิเสธแล้ว ส่วนตนเตรียมประเด็น และทำบันทึกส่งให้ศาลวันพรุ่งนี้ โดยจะชี้แจงให้ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า มีขบวนการเคลื่อนไหวเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นขบวนการใหญ่ โยงถึงการเคลื่อนไหวของมวลชน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย และการนำเสนอเนื้อหาสาระของร่างฉบับนี้ ก็เพื่อให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งมีหลักการหลายอย่างที่รัฐบาลปฏิเสธคำแปรญัตติของตนเช่นการคงไว้ ซึ่งความเห็นอิสระขององค์กรตุลาการ อำนาจการตรวจสอบ และจากการตรวจสอบเหตุผลในร่างของพรรคเพื่อไทยที่เสนอมา รวมถึงการปราศรัยบนเวทีหลายครั้ง พบว่า มีผลกระทบต่อรูปแบบของการปกครอง เพราะมีขบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และระบบปลายทางไม่เหมือนระบบปัจจุบันแน่นอน โดยมีการระบุไว้หลายอย่าง เช่น ความเป็นอิสระของตุลาการจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน
“ผมชี้ให้เห็นว่า การออกแบบ ส.ส.ร.ครั้งนี้ ทำให้คนมีอำนาจสามารถกุมเสียงข้างมากไว้ได้ และร่างรัฐธรรมนูญก็จะอยู่ในมือ หรืออำนาจของรัฐบาลตลอดเวลา เช่น เมื่อร่างเสร็จแล้วกระทบกระเทือนต่อรูปแบบการปกครองของรับ หรือไม่ให้อำนาจประธานสภาฯเป็นผู้ชี้ขาด เบื้องต้นเมื่อประธาน ชี้ว่า มีปัญหา ก็ยังให้อำนาจเสียงข้างมากของรัฐสภาชี้ขาดอีก เท่ากับว่า เขาสามารถควบคุมทิศทางการกำหนดรูปแบบการปกครองตามรัฐธรรมนูญฉบับที่จะจัดทำขึ้นใหม่ได้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน คือ การผูกขาดอำนาจที่เป็นเป้าหมายชัดเจน แต่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองมากน้อยแค่ไหนเท่ากับอยู่ในมือของเสียงข้างมาก ส่วนระหว่างการไต่สวนจะมีการเคลื่อนไหวของของมวลชนก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องดูแลให้ศาลรัฐธรรมนูญทำงานได้อย่างตรงไปตรงมา ผมหวังว่าศาลจะพิจารณาโดยไม่หวั่นไหวต่อการเคลื่อนไหวเหล่านี้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่คนขับรถของ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาระบุถูกข่มขู่ถึง 2 ครั้ง ว่า เรื่องเหล่านี้เป็นมาโดยตลอด ว่า รัฐบาลปล่อยปละละเลยเพิกเฉย ปล่อยให้มวลชนของตนเอง ข่มขู่ คุกคาม ก่อกวนบุคคลต่างๆ ซึ่งรัฐบาลไม่ควรมีจุดยืนแบบนี้ แต่ต้องปรามผู้สนับสนุนตัวเอง หากยังมีการกระทำลักษณะนี้ ต้องเคร่งครัดกับการบังคับใช้กฎหมาย