xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรธน.เปิด 5 คำร้องเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ชี้ต้นเหตุอสส.ทำงานล่าช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ (ขวาสุด)
ศาลรธน.เปิด 5 คำร้องขอให้สิทธิตามม. 68 กล่าวหาครม.-รัฐสภา-เพื่อไทย-ชาติไทยพัฒนา -สุนัย -ภราดรและคณะเสนอแก้ร่างรธน. 50 เข้าข่ายล้มล้างการปครอง เผยผู้ร้องได้ยื่นอสส.ให้ดำเนินการแล้วตั้งแต่ก.พ. แต่กลับล่าช้านานกว่า 3 เดือนก็ไม่แล้วเสร็จ จึงต้องขอใช้สิทธิยื่นตรงต่อศาลรธน.ตั้งแต่พ.ค. ซึ่งหากอสส.ทำหน้าที่โดดยเร็ว เชื่อกระแสต่อต้านศาลรธน.จะไม่แรงขนาดนี้

วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีการสรุปคำร้องทั้ง 5 คำร้อง กรณีขอให้พิจารณาวินิจฉัยตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า คณะรัฐมนตรี รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ,นายสุนัย จุลพงศธร และคณะ และนายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะ ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ให้กับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบพบว่า

ข้อกล่าวหาที่ผู้ร้องทั้งหมดร้องว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ระบุ พฤติการณ์ เหตุผลไปในทำนองเดียวกันว่ารัฐธรรมนูญ 50 ไม่ได้มีบทบัญญัติให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งมาตรา 291ของรัฐธรรมนูญ เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็น ๆไป และเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 136 เท่านั้น ไม่ได้มีเจตนารมณ์ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.)ขึ้นมาโดยเสียงข้างมากยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการขอแก้ตามบทบัญญัติมาตรา 291 เพราะไม่มีญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม ที่ต้องแสดงข้อขัดข้องของรัฐธรรมนูญมาตราใดที่ไม่สามารถใช้บังคับหรือมีปัญหาใด ๆ อีกทั้งเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีที่มาจากการกระทำประชามติ การจะแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีส.ส.ร. ก็ต้องทำประชามติ ดังนั้นการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหมดที่จะเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญและจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ย่อมเป็นการฝ่าฝืนและขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 291

นอกจากนี้ การแก้ไขมาตรา 291 ให้มีคณะบุคคลที่เรียกว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มาทำหน้าที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉยับ ยกเว้นหมวด 2 และหมวด 3 เป็นการขัดต่อหลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การเสนอญัตติโดยไม่ปรากฎรายละเอียดในการแก้ไข เช่น การดำรงอยู่ของอำนาจอธิปไตยของรัฐไทย หรือการดำงอยู่หรือการหมดไปขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการตัดสิทธิการตรวจตรากฎหมาย เพื่อการตรากฎหมายในระบบนิติวิธีเพื่อนิติรัฐหรือนิติธรรม อีกทั้งเมื่อยกร่างเสร็จแล้ว การไม่ต้องนำกลับมาให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ เป็นการตัดอำนาจของรัฐสภาออกไปโดยสิ้นเชิง ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักการตรวจสอบถ่วงดุล ระหว่างอำนาจ เป็นการทำลายหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างชัดเจน และเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 291

“หลักการและเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับของพรรคการเมืองและรัฐบาล มีสาระสำคัญเป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่นำไปสู่การยกเลิกหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งก็จะส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ โดยการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับยังเป็นการทำลายหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญมุ่งคุ้มครอง หากบุคคลดังกล่าวกระทำการสำเร็จคือยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งฉบับได้ก็จะเป็นการได้อำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ”

ทั้งนี้ 5 คำร้องที่ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นคำร้องของ 1. พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายสมชาย แสวงการ และนางพันธุ์ บุณยรัตพันธ์ 2.นายวันธงชัย ชำนาญกิจ 3. นายวิรัตน์ กัลยาศิริ 4.นายวรินทร์ เทียมจรัส 5 นายบวร ยสินทรและคณะรวม 10 คน โดยคำขอท้ายคำร้องของผู้ร้องทั้งหมด ขอให้ศาลฯสั่งให้ผู้ถูกร้องเลิกกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ยุบพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค สั่งให้ผู้ถูกร้องถอนร่างรัฐธรรมนูญจากการพิจารณาของรัฐสภา สั่งให้รัฐสภาระงับการออกเสียงลงคะแนนในวาระ 3 วันที่ 5 มิ.ย. และ วินิจฉัยให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นอันตกไป

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้ง 5 คำร้องได้มีการระบุว่า ก่อนหน้าที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ไปยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดมาแล้วทั้งสิ้น โดยมีถึง 3 คำร้องที่ระบุว่า ได้ยื่นต่ออัยการสูงสุดตั้งแต่ก.พ.และมี.ค. ที่ผ่านมา คือคำร้องของนายวันธงชัย ที่อ้างว่ายื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุดเพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตั้งแต่ 23 ก.พ. คำร้องของนายวรินทร์ ระบุว่ายื่นคำร้องกล่าวโทษต่ออัยการสูงสุดให้รวบรวมข้อเท็จจริงเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยพลัน เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ต่อมา 3 เม.ย. ได้มีหนังสือสอบถามถึงผลการดำเนินการ จนวันที่ 15 พ.ค. อัยการสูงสุดเชิญไปสอบปากคำ จนถึงขณะยื่นศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการของอัยการสูงสุดแต่อย่างใด และคำร้องของนายบวร ระบุว่าได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดวันที่ 6 มี.ค. ต่อมา 14 พ.ค. อัยการสูงสุดได้เชิญไปให้ถ้อยคำ แต่ยังไม่ทราบผลการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร มีเพียงคำร้องของพล.อ.สมเจตน์ และนายวิรัตน์ นั้นอ้างว่าได้ยื่นต่ออัยการสูงสุดวันที่ 29 พ.ค.ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากนับระยะเวลาตั้งแต่นายวันธงชัย นายวรินทร์ และนายบวร ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด จนถึงวันที่บุคคลทั้ง 3 ใช้สิทธิยื่นตรงต่อศาลฯและมีคำสั่งรับไว้พิจารณาคือวันที่ 1 มิ.ย. รวมเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนที่อัยการฯพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ซึ่งคณะตุลาการฯก็มีการพูดคุยกันถึงการทำงานที่ค่อนข้างล่าช้าของอัยการสูงสุด และเห็นว่าหากอัยการสูงสุดหรือผู้ร้อง ส่งหรือยื่นคำร้องเรื่องนี้มาแต่เนิ่นๆ ศาลก็ไม่น่าจะตกอยู่ภาวะที่ถูกกระแสต่อต้านมากขนาดนี้ เพราะจะมีเวลาในการดำเนินการและก็จะทำให้ศาลมีเวลาในการดำเนินการและทำความเข้าใจกับสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น