xs
xsm
sm
md
lg

อัยการตรวจร่างแก้ไข รธน.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

อัยการสูงสุดตั้งคณะทำงานตรวจสอบร่างแก้ไข รธน.-ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แจงอัยการมีอำนาจตามขั้นตอน นัดพิจารณาอีกครั้ง 7 มิ.ย.นี้ ยันทำตามหน้าที่ไม่ขัดแย้งศาลรัฐธรรมนูญ

ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ สำนักงานอัยการสูงสุด วันที่ 5 มิ.ย.55 เวลา 14.00 น. นายวินัย ดำรงมงคลกุล โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า อัยการสูงสุดมีคำสั่งแต่งตั้งนายอรรถพล ใหญ่สว่าง รองอัยการสูงสุด เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยมีอธิบดีอัยการที่มีความสามารถหลายท่านเป็นกรรมการตรวจสอบกรณีบุคคลและคณะบุคคล 6 ราย ยื่นหนังสือพร้อมหลักฐานให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ กรณีคณะรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และประธานรัฐสภาได้ร่วมกันเสนอ รับพิจารณา และลงมติให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในหมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีผลเป็นการยกเลิกหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 อันเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อแล้วเสนอความเห็นให้อัยการสูงสุดพิจารณา

นายวินัย กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งยังรวบรวมพยานหลักฐานได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ต้องรอผลการส่งข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานจามส่วนราชการอื่นเกี่ยวกับการดำเนินการเสนอ พิจารณา และลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เพื่อนำมาใช้ในการพิจารณาเบื้องต้นว่าการดำเนินการของผู้ที่ถูกร้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการอันเป็นวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 291 หรือไม่ ก่อนที่จะพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นว่ามีการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญเสนอเข้ามาเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประกอบดับขณะนี้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ข่าวเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2555 ว่าศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคำร้องของผู้ถูกร้องทั้ง 5 ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 กรณีคณะรัฐมนตรี รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติพัฒนา นายสุนัย จุลพงศธร และคณะ และนายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะ ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลทำให้การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาวินิจฉัย ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับที่อัยการสูงสุดได้รับเรื่องไว้ดำเนินการ จึงจำเป็นต้องมีหนังสือขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมติหรือคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5 ไว้พิจารณา จากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของอัยการสูงสุดจะนัดประชุมเรื่องนี้ต่อไปในวันที่ 7 มิ.ย. เวลา 13.00 น.

“คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้มีมติในวันนี้ให้มีหนังสือขอหลักการคำวินิจฉัยจากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และรายละเอียดที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับร้องไว้วินิจฉัยเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อนำมาพิจารณาและคณะกรรมการจะเสนอความเห็นให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งการต่อไป”

นายวินัย กล่าวว่า ที่ผู้ร้องทั้ง 5 ราย ระบุตามหนังสือว่าอัยการสูงสุดไม่มีอำนาจตรวจสอบคำร้อง แต่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งในชั้นนี้ทางอัยการพิจารณาอำนาจตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แล้ว มีความเห็นว่า อัยการสูงสุดมีอำนาจในการตรวจสอบการกระทำในการยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีการเพิ่มเติมมาตรา 291/1- 291/16 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำ โดยมีการเรียกพยานผู้ร้องมาสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และมีการขอเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะกรณีการกล่าวหาว่ามีการกระทำผิดตามมาตรา 68 เป็นเรื่องสำคัญ อัยการสูงสุดซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาด้วยความเที่ยงธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรวบรวมพยานหลักฐาน เพราะการกล่าวอ้างว่ามีบุคคลหรือคณะบุคคลกระทำการโดยไมได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นการกล่าวหาที่รุนแรง มีโทษทางอาญาค่อนข้างสูง หากพบว่ามีการกระทำดังกล่าว การที่อัยการสูงสุดจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยกเลิกการกระทำดังกล่าวต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่แจ้งชัดและชัดเจนเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ว่ามีการกระทำตามมาตรา 68 วรรคแรกหรือไม่ ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของอัยการที่จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง

นายวินัย กล่าวอีกว่า ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางอัยการได้เร่งรัดมาโดยตลอด ซึ่งแต่เดิมจะมีการลงมติวาระ 3 ในครั้งนี้ โดยได้ดำเนินการขอเอกสารหลักฐานจากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. ขอให้ส่งเอกสารมาภายในวันที่ 30 พ.ค. แต่สำนักงานเลขาธิการฯ ได้แจ้งข้อขัดข้องมา เพราะมีเหตุความวุ่นวาย ประกอบกับวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับความร้องของผู้ร้องทั้ง 5 ราย ซึ่งเป็นผู้ร้องกลุ่มเดียวกับที่ยื่นให้อัยการสูงสุดพิจารณา คณะกรรมการฯ พิจารณาหลักฐานทั้งหมดแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานทั้งหมดที่มียังขัดตกบกพร่องและยังไม่สมบูรณ์ที่จะมีความเห็นอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 68 จึงมีหนังสือขอมติและคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร เพราะยังไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดทราบคำสั่งที่แท้จริง จึงต้องรอหนังสือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“คณะกรรมการมีความกังวลในเรื่องนี้ ซึ่งจะนัดพิจารณาโดยเร่งด่วนในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ หากมีความชัดเจนแล้วจะนำส่งอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาและมีความเห็นสั่งการตามมาตรา 68 อย่างไร”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการมีมติรับคำวินิจฉัยไว้ โดยไม่ผ่านขั้นตอนของอัยการสูงสุดขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ นายวินัย กล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาเพียงแค่อำนาจของอัยการที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่ามีการกระทำตามมาตรา 68 วรรคแรกหรือไม่ หากพบมีการกระทำก็จะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยกเลิกการกระทำดังกล่าว แต่หากไม่พบก็ชอบที่อัยการสูงสุดจะมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินการ ส่วนการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา อัยการเห็นว่าเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะสั่งการตามอำนาจหน้าที่ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรสูงสุดที่มีหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาททางกฎหมาย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเช่นนี้มา อัยการสูงสุดจะไม่ก้าวล่วงไปวินิจฉัยการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญ “ผมไม่อาจวิจารณ์ได้ว่าการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมวันนี้เราได้แต่พิจารณาในประเด็นขอบเขตอำนาจของอัยการสูงสุดตามมาตรา 68 มีเพียงใด แต่ไม่ได้มองว่าในฐานะของผู้ทราบการกระทำตามมาตรา 68 มีสิทธิหรืออำนาจเพียงใดบ้างที่จะยื่นคำร้องต่อองค์กรใดบ้าง ซึ่งบางเรื่องเขาก็ไปยื่น ปปช. เราก็ไม่ได้มองว่าเขามีอำนาจหรือไม่ เราพิจารณาเฉพาะอำนาจของอัยการ เราไม่อาจก้าวล่วงอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ามายื่นต่ออัยการสูงสุด เรายืนยันว่ามีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงตามมาตรา 68 ”

เมื่อถามว่า ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งวินิจฉัยรับคำร้อง ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับที่อัยการสูงสุดแล้ว อัยการสูงสุดยังจำเป็นต้องพิจารณาคำร้องดังกล่าวอีกหรือไม่ นายวินัย กล่าวว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว อัยการสูงสุดก็ยังต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป และศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเช่นกัน ไม่มีอะไรขัดแย้งกันระหว่างอัยการสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงของอัยการสูงสุดมีพยานหลักฐานที่ฟังได้ว่ามีการกระทำผิดตามมาตรา 68 เราก็ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าไม่มีเราก็ยุติ ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตรวจสอบอย่างไรก็เป็นไปตามดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามต่อว่า หากอัยการสรุปให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นการยื่นเรื่องซ้ำซ้อนกับคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับวินิจฉัยไว้แล้วหรือไม่ นายวินัย กล่าวว่า ไม่เป็น แต่เป็นเหมือนการยื่นคำร้องเพิ่มเติมเข้าไป

ส่วนที่อัยการจะพิจารณาเรื่องนี้ให้เสร็จก่อนที่สภาจะเรียกประชุมพิจารณาวาระ 3 ตามที่เป็นข่าวในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ นายวินัย กล่าวว่า จะต้องรอดูการประชุมในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ก่อน ซึ่งเราก็เร่งพิจารณาอยู่แล้ว โดยสำนักงานอัยการสูงสุดไม่เคยนิ่งนอนใจ

นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น