xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฯ รับคำร้องล้มแก้ไข รธน. สั่งสภาฯ ระงับลงมติวาระ 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาล รธน.รับวินิจฉัยล้มร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมสั่งสภาฯ ระงับการพิจารณาไว้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ส่งผลการพิจารณาร่างแก้ไข รธน.วาระ 3 ต้องหยุดไว้ก่อน ขณะเดียวกัน นัดไต่สวนคู่กรณี 5-6 ก.ค.นี้ ด้านโฆษกศาลแจงเหตุพิจารณารับคำร้องเร็วเกี่ยวข้องสถานการณ์บ้านเมือง ล่าสุดศาล รธน.ร่อนหนังสือถึงมือ “ขุนค้อน-เลขาฯ สภาฯ” สั่งระงับลงมติแก้ รธน.วันที่ 5 มิ.ย.เรียบร้อยแล้ว

นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วย นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา และคณะ ,นายวันธงชัย ชำนาญกิจ, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์, นายวริน ทร์ เทียมจรัส และนายบวร ยสินทร และคณะ รวม 5 คำร้อง ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 กรณีคณะรัฐมนตรี รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา , นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และคณะ และนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา และคณะ ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ไว้พิจารณาวินิจฉัย

โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ให้สิทธิแก่ผู้ที่ทราบถึงการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมใช้สิทธิให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ โดยให้มีสิทธิ 2 ประการ คือ 1. เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ

และ 2. ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว ซึ่งมติที่ให้รับคำร้องไว้พิจารณานั้น ก็ให้มีการรวมทั้ง 5 คำร้องพิจารณาไปในคราวเดียวกัน และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ศาลมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งรัฐสภาระงับการดำเนินเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

นอกจากนี้ ให้คณะรัฐมนตรี รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา, นายสุนัย จุลพงศธร และคณะและนายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะมีหนังสือชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งสำเนาคำร้องและนัดคู่กรณีไต่สวนวันที่ 5- 6 ก.ค.55 เวลา 09.30 น. ซึ่งจะเป็นการออกนั่งบัลลังก์ โดยในการไต่สวนหากได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้ว คณะตุลาการก็อาจจะนัดวันฟังคำวินิจฉัยได้เลย แต่หากข้อเท็จจริงยังไม่ครบถ้วนก็อาจมีการไต่สวนเพิ่มเติมได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การรับคำร้องไว้พิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้แตกต่างอย่างไรกับกรณีร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ที่บุคคลไม่สามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลแต่ต้องร้องผ่านองค์กรอิสระ นายพิมลกล่าวว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ได้กำหนดให้ผู้ที่จะยื่นคำร้องว่าหมายถึง “ผู้ที่ทราบการกระทำ” ดังกล่าวย่อมมีสิทธิที่จะเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย แต่การยื่นตามมาตรา 212 ผู้ที่จะยื่นต้องเป็น “ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ”ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ และต้องยื่นผ่านองค์กรอิสระ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า บทบัญญัติของกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ซึ่งในการพิจารณาของศาลฯ ครั้งนี้ที่ประชุมใช้เวลาค่อนข้างมากที่จะพิจารณาว่าคำร้องนี้เข้าหลักเกณฑ์ตรงไหน อย่างไร รวมถึงมีการพูดคุยว่าการรับคำร้องนี้จะทำให้ต่อไปบุคคลใดต้องการกลั่นแกล้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็จะช่องทางของรัฐธรรมนูญมาตรา 68 มาร้องต่อศาลหรือไม่ แต่ก็เห็นว่า รัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลที่จะพิจารณา โดยดูหลักเหตุผลของการยื่นคำร้อง หากเห็นว่าคำร้องที่ยื่นมาไม่ถูกต้อง ไม่มีเหตุ ไม่มีผล ก็สามารถไม่รับคำร้องไว้พิจารณาได้

“บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เป็นลักษณะให้อำนาจศาลในเชิงป้องกัน ไม่ใช่การแก้ไข เพราะถ้าแก้ไขการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากมีการดำเนินการไปแล้วและจะให้ศาลฯ มาแก้ไขมันก็ไม่ทัน ดังนั้นการพิจารณาของศาลฯ จึงจะดูว่าการยกร่างต่อไปในอนาคต สิ่งที่จะยกร่างเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากศาลฯวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำลังดำเนินการไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ แล้วมีการดำเนินการยกร่างต่อไปเป็นรายมาตรา ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าถึงเวลานั้น มีผู้เห็นว่าเนื้อหารายมาตรามีลักษณะขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 50 แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอีกไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นคนละกระบวนการกัน และทั้ง 5 คำร้อง แม้จะร้องถึงการกระทำของพรรคการเมือง แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการที่จะให้ศาลฯ วินิจฉัยยุบพรรค”

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดศาลฯจึงพิจารณารับทั้ง 5 คำร้อง ด้วยความรวดเร็วแตกต่างจากคำร้องอื่น เกี่ยวข้องสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้หรือไม่ นายพิมลกล่าว ต้องยอมรับว่าสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้มีปัญหา และคณะตุลาการฯ เห็นว่า มีการร้องเรื่องเดียวกันนี้ถึง 5 คำร้อง ซึ่งปกติ จะต้องใช้เวลาในการศึกษาก่อนที่จะพิจารณาว่าจะรับไว้วินิจฉัยหรือไม่ แต่เห็นว่าหากเรื่องนี้ปล่อยให้เนิ่นนาน สภาพปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น จะเป็นอย่างไรก็คาดเดาไม่ถูก

ต่อข้อถามว่า แสดงว่าการพิจารณาลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระ 3 วันที่ 5 มิ.ย. รัฐสภาไม่สามารถดำเนินการใช่หรือไม่ และหากรัฐสภายังคงยืนยันที่จะดำเนินการสามารถทำได้หรือไม่ นายพิมลกล่าวว่า ทางคณะตุลาการฯได้มีหนังสือแจ้งไปยังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแล้ว การจะหยุดหรือไม่นั้นอยู่ที่รัฐสภาจะพิจารณา ซึ่งตามกฎหมาย หากรัฐสภายังเดินหน้าก็ไม่ได้มีบทโทษอะไร แต่การดำเนินการต่อไปอาจเป็นการแสดงเจตนาให้เห็นว่ามีลักษณะการกระทำตามคำร้องจริง

ล่าสุด เมื่อเวลา 17.10 น. เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้นำคำสั่งศาลนำส่งถึงนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และนายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแจ้งให้รัฐสภาระงับการดำเนินเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าการดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ว่าด้วยการล้มล้างการปกครอง

ผู้สื่อข่าวรายงาน ทั้งนี้เมื่อเวลา 17.00 น.เว็บไซต์ของรัฐสภาได้นำวาระการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 5 มิ.ย. 55 ซึ่งมีวาระการพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไข (เพิ่มเติม) พ.ศ..... วาระที่ 3 ออกจากการแจ้ง โดยที่ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการลงประกาศไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการรับทั้ง 5 คำร้องไว้พิจารณา มี 4 คำร้องที่มีการยื่นเข้ามาเมื่อวันพุธที่ 30 พ.ค. ส่วนอีก 1 คำร้องเข้ามาในวันที่ 31 พ.ค. ทำให้นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเร่งด่วนจึงได้สั่งให้มีการนัดประชุมวาระพิเศษตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด แม้โดยปกติการพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่นั้นองค์คณะที่พิจารณามีเพียงตุลาการฯ 3 คนก็สามารถทำได้แล้ว แต่ในการประชุมครั้งนี้ก็ยังขาดนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี เพียงคนเดียวที่ขอลาประชุม ทำให้องค์คณะในการรับคำร้องครั้งนี้มีทั้งสิ้น 8 คน โดยที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยกรณีการร้องว่ามีการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้จากบุคคลที่ทราบถึงการกระทำดังกล่าว ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อยคือนายชัช ชลวร เห็นว่า รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ให้อำนาจอัยการสูงสุดเท่านั้นที่จะเป็นผู้ยื่นคำร้องกรณีดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญได้


กำลังโหลดความคิดเห็น