xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.ไต่สวน

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

วันที่ ๔ ก.ค. ศาลรัฐธรรมนูญมีวาระพิจารณาที่สำคัญ คือการกำหนดพยานของผู้ร้องและผู้ถูกร้องที่ศาลเชิญมาชี้แจงด้วยวาจาต่อหน้าองค์คณะตุลาการ ในคำร้องการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ หรือไม่

เวลา ๑๓.๓๐ น. คณะโฆษกโดย นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญได้แถลงว่า ศาลได้พิจารณาคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ รวม ๕ คำร้อง โดยศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาบันทึกถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องและผู้ถูกร้อง รวมทั้งพยานของแต่ละฝ่ายที่มีการยื่นแล้ว โดยมีคำสั่งให้รับบันทึกถ้อยคำของทุกปากรวมไว้ในสำนวน และมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำพยานบุคคลเข้าไต่สวนต่อศาลวันที่ ๕ ก.ค. รวม ๗ ปาก ประกอบด้วย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายวันธงชัย ชำนาญกิจ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ นายวรินทร์ เทียมจรัส นายบวร ยสินทร์ผู้ร้อง นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ส.ว.สรรหา และนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่วนผู้ถูกร้องให้เข้าทำการไต่สวนต่อศาลวันที่ ๖ ก.ค. รวม ๘ ปาก ประกอบด้วย นายวัฒนา เซ่งไพเราะ หรือนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ นายสามารถ แก้วมีชัย นายชุมพล ศิลปะอาชา นายภราดร ปริศนานันทกุล ผู้ถูกร้อง และตัวแทน นายโภคิน พลกุล อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด และนายอุดมเดช รัตนเสถียร คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล

อนึ่ง ก่อนการประชุมของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดพยานเพื่อกำหนดพยานของผู้ร้องและผู้ถูกร้องนั้น ข้างนอกศาลได้มีกองเชียร์ในนามกองทัพปลดแอกประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยนำโดย นายทองดี นามแสงโคตร ผู้ประสานงานกลุ่มพร้อมมวลชนหลายร้อยคนมาปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้กำลังใจคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายทองดีกล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการรวมตัวเพื่อเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้กำลังใจการทำงานของคณะตุลาการที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ซึ่งวันที่ ๕-๖ ก.ค. นี้ เป็นวันสำคัญ ดังนั้นกลุ่มของตนเกรงว่าจะมีพลังที่ไม่ปรารถนาดีมาขัดขวาง ทำให้ตุลาการฯ ไม่สามารถทำงานได้ ตนอยากให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำงานด้วยความอิสระ เที่ยงธรรม เพราะศาลเป็นที่พึ่งของทุกฝ่าย และหากศาลไม่เป็นที่พึ่งของคนในชาติบ้านเมืองจะอยู่อย่างไร

ต่อมาก็มีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุด พร้อมด้วยกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงจำนวนหนึ่งได้เดินทางมาแจกใบแดงให้กับการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นว่าเอนเอียง ไม่เป็นกลาง โดยนายสมบัติกล่าวว่า ต้องการสื่อสารถึงตุลาการที่กำลังจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองตามมาตรา ๖๘ หรือไม่ โดยตลอด ๖ ปี ของการเกิดเหตุความขัดแย้งทางการเมืองและเกิดวาทะกรรมตุลาการภิวัฒน์เห็นว่า บทบาทของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเกินขอบเขตที่ควรจะเป็น การที่มีคำสั่งให้สภาฯ ชะลอการลงมติวาระ ๓ เป็นการกระทำที่เกินขอบเขตอำนาจ ทำให้สังคมเกิดแรงกระเพื่อม

ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ กล่าวว่าสรุปสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญอาจจะยกคำร้องหรือวินิจฉัยทำนองว่า ถ้าทำแบบนี้จะขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นยังทำไม่เสร็จจึงต้องยุติและจะยกร่างใหม่ทำเป็นรายมาตราไป ทั้งนี้ตนไม่ได้มองโลกในแง่ร้าย เพราะหากจะวินิจฉัยเป็นผลลบ อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยถูกยุบ แต่รัฐบาลไม่ยุบ เพราะนายกรัฐมนตรีไม่เกี่ยวข้องด้วย

พล.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ณมว.กลาโหมกล่าวว่า ผู้ใหญ่หลายคนออกมาบอกว่าตุลาการรัฐธรรมนูญจะตัดสินใจอย่างไรก็คงต้องเชื่อฟังไม่ก้าวล่วง เชื่อว่าจะตัดสินอย่างยุติธรรม เพราะเป็นเรื่องของประเทศชาติคือตราชั่งต้องตรง

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นผู้ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในฐานะผู้ถูกร้องในคดียื่นคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ หรือไม่ ว่าตนกับนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเป็นผู้ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่ากระบวนการทั้งหมดที่ ครม.ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสภาฯ เป็นกระบวนการปกติที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ครม.ยื่นร่างได้ต่อรัฐสภา ซึ่งจะยืนยันเจตนารมณ์ที่แท้จริงว่า รัฐบาลดำเนินการเป็นไปตามที่ได้แถลงต่อรัฐสภาไว้ ไม่มีอะไรเคลือบแฝงหรือมีกระบวนการอะไรลึกซึ้ง และคิดว่าจะชี้แจงได้ทุกประเด็น กระบวนการทั้งหมดไม่มีเจตนาล้มล้างการปกครอง ความจริงใจ ความบริสุทธิ์ใจจะเป็นสิ่งที่ปกป้องคุ้มครองทุกอย่างให้ดำเนินการต่อไปได้

ครับ เรื่องราวการไต่สวนเพื่อหาผลลัพท์ในการวินิจฉัยคดีนี้ ป่านนี้คงจะเป็นที่ชัดเจนกันแล้ว และแน่นอนว่าผลออกมาอย่างไรทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น