ฝ่ายผู้ถูกร้องประสานเสียงแก้ รธน.ไม่ล้มล้างการปกครอง “อัชพร” อ้างแก้ ม.291ใช้หลักการเหมือนปี 40 จึงไม่ขัด ม.68 ตัดพ้อสัญญากับ ปชช.ไว้ช่วงเลือกตั้ง ถ้าไม่ทำเป็นความผิดอาจถูกถอดถอนได้ แนะให้โอกาส ปชช.ใช้บทเรียนปี 40 แก้มือทำ รธน.ครั้งสุดท้ายให้ตรงตามเจตนารมณ์มากที่สุด ด้านศาลขีดเส้นทำคำแถลงปิดคดีภายใน 11 ก.ค. ก่อนนัดฟังคำวินิจฉัย 13 ก.ค. เวลา 14.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ (6 ก.ค.) ในการไต่สวนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายภราดร ปริศนานันทกุล ผู้ถูกร้องที่ 6 เข้าเบิกความต่อศาล โดยชี้แจงว่า ตนบริสุทธิ์ใจที่ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้เกิดการพัฒนาของประเทศ ไม่ได้มีเจตนาเพื่อล้มล้างการปกครอง โดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนมาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ตนไม่เชื่อว่าการได้มาซึ่ง ส.ส.ร. ทั้งเลือกตั้งและสรรหา จะสามารถล็อกสเปกได้
จากนั้นนายภราดรได้ตอบข้อซักถามของผู้ร้อง โดยยืนยันว่าการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้นไม่มีเจตนาที่จะล้มล้างการปกครอง แม้ว่าจะเห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองอื่นที่ มีบทบัญญัติไม่ตรงกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค และการสนับสนุนดังกล่าวไม่ได้เพื่อให้เอื้อประโยชน์ให้กับนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะบิดา ที่ติดโทษห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมือง เป็นเวลา 5 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการตอบข้อซักถามของสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา, นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีต ส.ว.สรรหา, นายบวร ยสินทร ฐานะผู้ร้อง กับนายภราดร เป็นการถามและตอบโต้ในประเด็นทางการเมือง และความรู้ทางด้านข้อกฎหมาย จนทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องกล่าวเพื่อหยุดการโต้ตอบในประเด็นดังกล่าว
ด้าน นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกา ในฐานะผู้แทน ครม. ผู้ถูกร้องที่ 2 ไต่สวนต่อศาลว่า ก่อนการบริหารประเทศรัฐบาลได้มีการหาเสียงไว้ตอนเลือกตั้งและได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเป็นสัญญาประชาคมว่า รัฐบาลจะปฏิรูปการเมืองให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดคือจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและให้มีการทำประชามติ ซึ่งเป็นคำมั่นที่ผูกพันทางกฎหมายไม่ทำก็ผิดรัฐธรรมนูญเอง และต่อมา เมื่อประชาชน ส.ส.มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงได้ทำตามที่ได้แถลงไว้ ด้วยการมอบให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการ และเสนอครม. และกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเหมือนการตรากฎหมายปกติ โดยรัฐบาลได้ย้ำกฤษฎีกาไปสองเรื่องว่า เนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอ ต้องไม่มีบทบัญญัติที่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน
นายอัชพรกล่าวว่า ในการตรวจพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกฤษฎีกาได้มีการตรวจกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ รวมถึงรัฐธรรมนูญในอดีต เห็นว่ามาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญมีข้อความเหมือนในรัฐธรรมนูญในอดีต และเมื่อดูถึงองค์ที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญก็พบว่ามีการตั้งส.ส.ร.ในการยกร่างรัฐธรรมนูญในปี 2489 และ 2540 และ 2550 และการแก้ไขสามารถแก้ไขเป็นรายมาตรามากน้อยแล้วแต่ผู้เสนอ หรือมีการเพิ่มบทบัญญัติใหม่ก็ได้ ซึ่งการเพิ่มบทบัญญัติใหม่ครั้งนี้ยึดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2538 ที่กลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 ดังนั้นถ้าจะมีการตีความว่าสามารถแก้ไขทั้งฉบับได้หรือไม่ก็ต้องตีความในสองลักษณะนี้ ซึ่งถ้าผ่านหลักเกณฑ์ของสภาในวาระ 3 บทบัญญัติที่มีการแก้ไขหรือเพิ่มเติมก็จะแทรกอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 และมีผลบังคับใช้ทั่วไป ดังนั้นที่ว่าครม.กระทำขัดมาตรา 68 นั้น ครม.เห็นว่ายังไม่มีการกระทำตามขั้นตอนดังกล่าว
“ซึ่งคำว่าและของรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นั้น ขอชี้แจงต่อศาลว่า ในภาษไทยไม่อาจตีความขยายไปในประโยคก่อนหน้านั้นได้ เพราะจะทำให้สภาพของกฎหมายมีปัญหา ดังนั้น การดำเนินการของผู้ร้องจึงไม่ต้องตามมาตรา 68”
นายอัชพรกล่าวอีกว่า การจะยื่นตามาตรา 68 ได้จะต้องมีการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่สิ่งที่ครม.ดำเนินการเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการรัฐธรรมนูญมาตรา 291 คือมีการห้ามมิให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติที่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ เปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ ครบตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 291 บัญญัติไว้ และกำหนดกรอบในการทำงานของส.ส.ร.ไว้ ว่าในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นำรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดมาเป็นต้นแบบ ซึ่งตนเห็นว่าคือรัฐธรรมนูญปี 2540
จากนั้นได้มีการซักค้านจากฝ่ายผู้ร้อง โดย พล.อ.สมเจตน์ได้พยายามซักค้านว่าในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลนี้ที่ว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีการคัดค้านแต่เนื่องจากจำนวนมือในสภามีน้อย ส่งผลให้การคัดค้านทำไม่สำเร็จ และขณะนั้นผู้ที่คัดด้านยังไม่มีการกระทำใดเกิดขึ้น จึงยังไม่มีการคัดค้าน และถ้านายอัชพรเห็นตรงกับที่นายโภคิน ชี้แจงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดว่าห้ามแก้ใน 2 เรื่องแล้ว เรื่องอื่นๆ แก้ได้ ทำไมจึงไปบัญญัติไว้ว่า ต้องให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 291/17-18
นายอัชพรกล่าวว่า นอกจากข้อห้าม 2 ข้อแล้ว เห็นด้วยว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้ และที่รัฐบาลไม่ดำเนินการไปเลย เพราะได้สัญญากับประชาชนว่าให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พล.อ.สมเจตน์ได้ซักต่อว่า การที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291/16 บัญญัติว่าหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ตกไป ให้สมาชิกไม่น้อยกว่า 1ใน 3 มีสิทธิเสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ในกรณีนี้หมายถึงหากมีการตกไปของร่างรัฐธรรมนูญก็มีการเสนอใหม่จนกว่าจะสามารถทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นไปหรือไม่ นายอัชพรกล่าวว่า จะต้องไปดูในวรรคสองจะมีเงื่อนไขของการตกไปคือ 1.ตกไปเพราะขัดข้อห้ามยกเลิกทั้ง 2 ข้อ 2.รัฐธรรมนูญร่างไม่เสร็จ 3.องค์ประกอบของสภาร่างไม่ครบ ไม่ใช่ประชาชนลงประชามติไม่เอาแล้ว สมาชิกรัฐสภาจะเสนอขึ้นมาใหม่ได้
อย่างไรก็ตาม นายอัชพรกล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกว่าประชาชนผ่านประสบการณ์แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2540-2550 มา การที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งน่าจะเป็นโอกาสให้กับประชาชนอีกครั้งหนึ่งที่จะได้ใช้ประสบการณ์บทเรียนทำรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้ายที่สอดคล้องกับความประสงค์ของประชาชนมากที่สุด และการมาร่วมจัดทำรัฐธรรมนูญนี้น่าจะเป็นเวทีให้ทุกฝ่ายได้พูดคุยกันในประเด็นที่ขัดข้องจนไปสู่จุดจบที่ทุกคนตกลงกันได้
จากนั้น นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ตัวแทนผู้ถูกร้องที่ 2 ซักค้านว่า ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามนโยบายที่แถลงไว้มีความผิดหรือไม่ และที่ไม่ทำอีกหลายเรื่อง เอาผิดได้หรือไม่ และถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วรัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาจะยังคงอยู่ต่อไปหรือไม่ นายอัชพรกล่าวว่า ถ้าไม่ทำตามนโยบายที่แถลงไว้ก็ผิดอาจถูกถอดถอนได้ ส่วนแก้รัฐธรรมนูญแล้วรัฐบาลและรัฐสภาจะอยู่ต่อไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเนื้อหาในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่า เนื้อหาจะออกมาอย่างไร
จากนั้นฝ่ายผู้ถูกร้อง ฃก็ซักค้านว่าในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหตุใดจึงยังมีการกำหนดให้ ส.ส.ร.คงอยู่แม้ว่าจะมีการยุบสภา นายอัชพร กล่าวว่า ส.ส.ร.ไม่ถือเป็นองค์กรหนึ่งที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติเช่นรัฐสภา แต่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่อยู่ทำงานให้เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด
หลังการซักค้านของฝ่ายผู้ถูกร้อง นายนุรักษ์ ตุลาการก็ได้ซักถามว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับทำให้ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ฃ/1ถึง 17 เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 ถามว่ารัฐธรรมนูญใหม่ที่จะเขียนขึ้นมาจะมีบทบัญญัติเหมือนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เปิดช่องให้มีการแก้ไขยกเลิกรัฐธรรมนูญใหม่ได้อีกหรือไม่ นายอัชพร กล่าววว่า ตนเข้าใจว่าคนที่ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่เขียนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดช่องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะก็ต้องคิดว่าฉบับที่ตนเองยกร่างอยู่นี้น่าจะเป็นฉบับสุดท้าย แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนกลุ่มใหม่ต่างหากที่จะเป็นคนคิดว่าจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่โดยดูจากสถานการณ์ในเวลานั้น
นายนุรักษ์ ฃจึงถามต่อว่า ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะยังคงมีบทบัญญัติห้ามมิให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายอัชพร กล่าวว่า ตอบไม่ได้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในระยะหลังจะมีบทบัญญัติในลักษณะของมาตรา 68 อยู่ และคิดว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ยังคงมีบทบัญญัติของมาตรานี้อยู่ เพียงแต่อาจจะมีการแก้ถ้อยคำเพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องของการตีความกันอยู่ในขณะนี้ แต่การจะให้มีบทบัญญัติว่าห้ามมีการแก้ไข หรือ ห้ามมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญคงเขียนไม่ได้ ถ้าจะทำน่าจะเป็นเรื่องการเพิ่มวิธีการในการแก้ไขให้ต้องใช้เสียงที่มากขึ้น เพื่อให้การแก้ไขยากขึ้นมากกว่า
และเมื่อไต่สวนพยานเสร็จสิ้นใน เวลา 21.00 น. นายวีรัตน์ได้ขอศาลคัดสำเนาการให้ถ้อยคำต่อศาลของผู้ถูกร้องและพยานเพื่อจะทำคำแถลงปิดคดีโดยระบุว่า หากได้รับเอกสารฯจากศาล จะส่งคำแถลงปิดคดีกลับมาภายใน 5 วันหรือไม่ก็วันที่ 12 ก.คง แต่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ กล่าวว่า “ถ้าจะแถลงปิดคดีศาลให้ยื่นเป็นเอกสารภายในวันพุธที่ 11“ศาลให้แค่วันที่ พุธ (11 ก.ค.) เพราะวันศุกร์ (13 ก.ค.) จะตัดสินแล้ว ถ้าวันพฤหัสฯ (12 ก.ค.) ก็ไม่ต้องอ่านแล้ว เพราะที่เบิกความไปก็รู้ๆ กันหมดอยู่แล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องร้อนที่ไม่สามารถให้ช้า เพราะไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย มีแต่เรื่องไม่เป็นมงคล การตัดสินเร็วก็จะหาว่าลุกลี้ลุกลน หากช้าเกินไปก็จะหาว่าเราดึงเกม ดังนั้นอยากให้พอดี จึงกำหนดให้ผู้ที่ต้องการแถลงปิดคดีสามารถคัดคำให้การได้และให้ส่งต่อศาลได้ไม่เกินวันที่11 ก.ค. ถ้าไม่ส่งภายในวันดังกล่าวถือว่าไม่ติดใจ โดยศาลนัดอ่านฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 13 ก.ค. เวลา 14.00 น.
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การมีคำวินิจฉัยของศาลคดีนี้ถือว่า เกิดขึ้นก่อนวันคล้ายวันก่อตั้งพรรคเพื่อไทยในวันที่ 14 ก.ค.