“ศาลรัฐธรรมนูญ” เริ่มไต่สวนผู้ถูกร้องคดีแก้ รธน.ล้มล้างการปกครองหรือไม่ พร้อมเปิดให้ตัวแทนผู้ร้องร่วมซักค้านได้ "วสันต์ - นุรักษ์ - สุพจน์" ขอถอนตัวแต่ที่ประชุมไม่อนุญาต ขณะที่ตำรวจส่งกำลัง 200 นายดูแลความเรียบร้อย ผบก.น.2 เผยพอใจวันแรกไม่เกิดความรุนแรง
วันนี้ (6 ก.ค.) ที่ศาลรัฐธรรมนูญ การไต่สวนผู้ถูกร้องคดีแก้ไขไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 หรือไม่ ของศาลรัฐธรรมนูญ วันนี้ (6 ก.ค.) เป็นการไต่สวนผู้ถูกร้องทั้งหมด 8 คน ประกอบด้วย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอัชฌาพรจารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายวัฒนา เซ่งไพเราะ หรือนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์, นายโภคิน พลกุล, นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ, นายอุดมเดช รัตนเสถียร, นายสามารถ แก้วมีชัย, นายชุมพล ศิลปอาชา และนายภราดร ปริศนานันทกุล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้อง ณ ห้องออกนั่งพิจารณา ชั้น 3 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้เปิดโอกาสให้พยานฝ่ายผู้ร้อง หรือตัวแทน สามารถเข้าร่วมคัดค้านได้เหมือนการไต่สวนผู้ร้องวานนี้ (5 ก.ค.)
ทั้งนี้ก่อนเริ่มกระบวนการไต่สวน นายวสันต์ ได้แจ้งถึงเหตุที่ออกนั่งบังลังก์ไต่สวนช้า ว่าเนื่องจากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมกรณีที่นายนุรักษ์ มาประณีต นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ขอถอนตัวจากการเป็นองค์คณะเนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีส่วนได้เสียเพราะเคยเป็นกรรมาธิการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 แต่ที่ประชุมคณะตุลาการฯไม่อนุญาตเนื่องจากไม่เข้าตามข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในข้อ 10 ของข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย2550 ส่วนตนเองซึ่งถูกเปิดคลิปเผยแพร่ว่าเคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2554 อย่างนั้นอย่างนี้ก็ได้ยื่นขอตัวถอน แต่ที่ประชุมคณะตุลาการก็เห็นว่าถ้อยคำที่ตนได้แสดงความคิดเห็นนั้นไม่ใกล้เคียงกับการพิจารณาคำร้องนี้ และไม่อนุญาตให้ถอนตัว ตนเองเลยจำเป็นต้องขึ้นมานั่งทำหน้าที่ตรงนี้อีกครั้ง
จากนั้นนายวสันต์ ก็ได้แจ้งคู่กรณีทราบว่าคณะตุลาการมอบหมายให้นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการ เป็นผู้ดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาวันนี้ และได้เริ่มไต่สวนพยานปากแรกคือนายโภคิน พลกุล อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด ที่ชี้แจงว่า ตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 68 ไม่เปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องได้โดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด รวมทั้งข้อหาการล้มล้างการปกครองฯนั้น มีกฎหมายอาญาจัดการอยู่แล้วหากพบว่ามีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้น ส่วนที่มีการระบุว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่มีเจตนาให้มีการแก้ไขเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ก็ขอยืนยันว่าในรัฐธรรมนูญ 50 ไม่มีบทบัญญัติข้อใดที่ระบุให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา หรือแก้ไขทั้งฉบับ แต่เปิดช่องให้ตีความว่าจะดำเนินการอย่างไรก็ได้ เพียงแต่การแก้ไขต้องไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองและรูปแบบรัฐเท่านั้น
ส่วนการรักษาความปลอดภัย มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลคอยประจำตามจุดเข้า-ออกประตู ทั้ง 4 ทิศ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 คอยดูแลความปลอดภัยโดยรอบ
พล.ต.ต.สำเริง สุวรรณพงษ์ ผบก.น.2 กล่าวถึงมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยศาลรัฐธรรมนูญว่า จากการประเมินการดูแลพื้นที่ในการไต่สวนวันแรก ถือว่าผ่าน เนื่องจากไม่มีเหตุที่มีผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป รวมทั้งการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่คนที่มาร่วมฟังค่อนข้างพลุกพล่าน เนื่องจากมีคนหลายกลุ่ม
ส่วนในการวางมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยในวันนี้ก็ต้องทำให้ดูดีกว่าเมื่อวาน เนื่องจากเป็นการไต่สวนผู้ถูกร้องอาจมีทั้ง 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายไม่เห็นด้วย เดินทางมาร่วมชุมนุมติดตามการพิจารณา เบื้องต้นต้องประเมินก่อนว่า ผู้ที่จะเดินทางมาร่วมชุมนุมนั้น มากขนาดไหน อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการปรับแผนในการดูคนที่เดินทางมาตั้งแต่ทางเข้าเพื่อแยกกลุ่มว่าเป็นฝ่ายไหน และจัดแบ่งพื้นที่แยกกัน
ส่วนกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจยังใช้เท่าเดิมคือ 200 นาย แต่ว่าสลับเปลี่ยนกำลังให้ชุดเดิมไปพัก