xs
xsm
sm
md
lg

ล้มล้างการปกครองชัด-ยก8หลักรธน.-ตีความม.291ทำลายหลักการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน- ชู 8 ประการ รธน.50 ซัดพวกศรีธนญชัยแก้ทั้งฉบับ อ้างไม่แตะหมวดกษัตริย์ทำไม่ได้ “คำนูณ” เชื่อพวกตีความตาม เงื่อนไขม.291 ไม่ว่าครั้งนี้หรือครั้งหน้า เป็นการทำลายหลักการใดหลักการหนึ่งล้วนเข้าข่าย “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”ทั้งสิ้น ด้านศาลรัฐธรรมนูญเริ่มนัดไต่สวนพยานวันนี้

วานนี้ (4 ก.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้โพสต์ข้อความและภาพลงในเฟซบุ๊ก “คำนูณ สิทธิสมาน” ซึ่งได้อธิบายโดยสรุปว่า ความผิดฐานล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 68 ฝ่ายผู้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 มักจะแก้ต่างว่าไม่ได้ล้มล้างการปกครอง โดยอ้างว่าห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐอยู่แล้ว และเขียนบังคับไว้ว่าห้าม ส.ส.ร.แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งเห็นว่าไม่ใช่แค่นั้น เพราะหากอ่านข้อความในมาตรา 68 ที่ระบุว่า “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” ซึ่งคำว่า “ตามรัฐธรรมนูญนี้” มีความหมายเฉพาะเจาะจง คือหมายถึงล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรูปแบบที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดไว้ ไม่ใช่แค่ไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์เท่านั้น

ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะทำอย่างไรก็ได้ แต่จะต้องไม่กระทบหลักการ 8 ประการของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้วางไว้ ปรากฏในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งการแก้ไขมาตรา 291 หากเป็นการทำลายหลักการใดหลักการหนึ่งหรือหลายหลักการ มีผู้ตีความว่าล้วนเข้าข่าย “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” ทั้งสิ้น ซึ่งตนเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความเช่นนี้ แต่ที่สุดก็ต้องรอคำวินิจฉัยศาลฯ ก่อนว่าจะพูดครอบคลุมถึงประเด็นนี้ด้วยหรือไม่

โดยหลักการทั้ง 8 ประการ ประกอบด้วย ประการที่ 1 ธำรงไว้ซึ่งเอกราชและความมั่นคงของชาติ, ประการที่ 2 ทำนุบำรุงรักษาศาสนาทุกศาสนาให้สถิตสถาพร, ประการที่ 3 เทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและเป็นมิ่งขวัญของชาติ, ประการที่ 4 ยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นวิถีทางในการปกครองประเทศ, ประการที่ 5 คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน, ประการที่ 6 ให้ประชาชนมีบทบาทและส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม, ประการที่ 7 กำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา และประการที่ 8 ให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม เสมือนหลักการที่อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญวางไว้ ห้ามลบล้าง

นอกจากนี้ อำนาจนี้เป็นของพระมหากษัตริย์ร่วมกับปวงชนชาวไทย ดังที่ตอนสำคัญในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ 2550 เขียนไว้ในตอนท้ายของย่อหน้าที่ 4 ว่า “ทรงพระราชดำริว่าสมควรพระราชทานพระบรมราชานุมัติตามมติของมหาชน” ประเด็นสำคัญอยู่ที่ประการที่ 5, 6 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประการที่ 8 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญยืนยันในอำนาจรับคำร้องได้โดยตรงจากประชาชนตามมาตรา 68 วรรคสอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งต่อๆ ไป ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามามีบทบาทโดยตรง หากมีประชาชนยื่นคำร้องเข้าไป เช่น หากมีการแก้ไขเนื้อหามาตรา 67 หรือ 67 วรรคสอง, มาตรา 190 วรรคสองและสาม ก็จะมีผู้ยื่นคำร้องว่าเข้าข่ายขัดหลักการประการที่ 5 และ 6 หรือแก้ไขให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกา ก็จะมีผู้ยื่นคำร้องว่าเข้าข่ายขัดหลักการประการที่ 8 และอาจจะประการที่ 3 ด้วย สรุปก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นองค์กรตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะเป็นองค์กรในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปจากเจตนารมณ์ของผู้ใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

** รับสำเนา พธม.ฟัน 416 ส.ส.-สว.

วันเดียวกันนายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กรณีที่พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) และพวกยื่นร้อง สมาชิกรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี จำนวน 416 คน กรณีลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ของรัฐสภา จะขัดต่อมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า สำนักงานได้รับคำร้องเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. และตุลาการมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาตามกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ทางศาลได้ส่งสำเนาคำร้องไปยังผู้ถูกร้องที่เป็น ประธานรัฐสภา ส.ส. ส.ว. คณะรัฐมนตรี ทั้ง 416 คน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อให้ทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาส่งมายังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง แต่เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงสมัยปิดประชุมสภา ทางสำนักงานจึงส่งคำร้องไปยังรัฐสภาเพื่อขอความอนุเคราะห์ทางสำนักงานเลขาธิการผู้แทนราษฎรส่งต่อไปยังส.ส.และส.ว.

ส่วนจะมีการรวมคำร้องดังกล่าวกับ 5 คำร้องที่เป็นกรณีเดียวกัน ที่จะไต่สวนในวันที่ 5-6 ก.ค.นี้หรือไม่ นายสมฤทธิ์ กล่าวว่า คำร้องนี้ไม่น่าจะนำไปรวมได้ เนื่องจากขณะนี้ 5 คำร้องดังกล่าวดำเนินการมาไกลถึงขั้นเรียกพยานมาไต่สวนด้วยวาจาแล้ว

ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ โฆษกพธม. เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวนี้ทางศาลรัฐธรรมนูญได้ส่งหนังสือแจ้งว่า ทางศาลได้รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว และได้ส่งสำเนาคำร้องไปยังผู้ถูกร้องทั้ง 416 คนเพื่อให้ชี้แจงกลับภายใน 15 วัน หลังจากระบวนการชี้แจงแล้วคาดว่าศาลจะนัดวันไต่สวนและกำหนดพยานอีกครั้งหนึ่ง

** 7 ต่อ 8 ปาก “สุรพล”ชน“โภคิน”

ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เวลา 09.30 น. ได้มีการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจะมีการพิจารณาบันทึกถ้อยคำพยานที่ผู้ร้องและผู้ถูกร้องยื่นเพื่อขอเข้าไต่สวนในคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ในวันที่ 5 - 6 ก.ค.นี้ โดยคณะตุลาการฯจะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องนำพยานปากใดเข้ารับการไต่สวนบ้าง

นายสมฤทธิ์ แถลงภายหลัง การประชุมว่า คณะตุลาการฯได้พิจารณาบันทึกถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงที่ผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และพยานของแต่ละฝ่ายที่มีการยื่นแล้ว โดยมีคำสั่งให้รับบันทึกถ้อยคำของทุกปากรวมไว้ในสำนวน และมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำพยานบุคคลเข้าไต่สวนต่อศาลวันที่ 5 ก.ค. รวม 7 ปาก ประกอบด้วย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายวันธงชัย ชำนาญกิจ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ นายวรินทร์ เทียมจรัส นายบวร ยสินทร ผู้ร้อง นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ส.ว.สรรหา และนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 

ส่วนผู้ถูกร้องให้เข้าทำการไต่สวนต่อศาลวันที่ 6 ก.ค. รวม 8 ปาก ประกอบด้วย นายวัฒนา เซ่งไพเราะ หรือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ นายสามารถ แก้วมีชัย นายชุมพล ศิลปอาชา นายภราดร ปริศนานันทกุล ผู้ถูกร้องและตัวแทน นายโภคิน พลกุล อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด และนายอุดมเดช รัตนเสถียร คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล โดยคณะตุลาการกำหนดนัดไต่สวนทั้งสองวันในเวลา 09.30 น.

**หลายกลุ่มเตรียมเคลื่อนไหวปมรธน.

วันเดียวกัน ชมรม ส.ส.ร. 50 ในฐานะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ออกแถลงการณ์เป็นกำลังใจแก่ศาลรัฐธรรมนูญ ในการทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคำร้อง และจะขอน้อมรับผลการวินิจฉัยของศาลที่จะเกิดขึ้นทุกประการ โดยเฉพาะมาตรา 68 วรรคแรก มาตรา 68 วรรคสอง และ มาตรา 291

ส่วนกลุ่มภาคีเครือข่ายสยามสามัคคี ได้ร่วมแสดงพลังที่หน้าล้านด้านหน้าประตูทางเข้าอาคารเอ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะในวันที่ 5 ก.ค.นี้

ขณะที่คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับองค์กรนักศึกษาหลายองค์กรรวมตัว ณ ร้านอาหารอีเมียร์ ข้างสถานีรถไฟสามเสน ถ.เศรษฐศิริ กรุงเทพฯแถลงท่าทีต่อกรณีนี้

**ปชป.ดักทางระวังแดงเทียมกดดันศาล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คนเสื้อแดงอาจจะมีการเคลื่อนไหวกดดันศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่ควรกดดันศาลและอยากให้ตุลาการทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ขอให้ทุกฝ่ายเคารพการตัดสินของศาล

นายราเมศ รัตนะเชวง ในฐานะคณะทำงานกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ไม่มั่นใจว่าหากในวันดังกล่าวมีกลุ่มคนเสื้อแดงมากดดันที่ศาลรัฐธรรมนูญ ท่านจะบอกว่าเป็นแดงเทียมอีกหรือไม่

ส่วนของพยานจากพรรคประชาธิปัตย์มีทั้งหมด 3 ราย ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค นายถาวร เสน เนียม ส.ส.สงขลา และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา โดยทั้งหมดจะเข้าชี้แจงด้วยตัวเองในฐานะผู้ร้อง ขณะที่พยานอีก 2 รายซึ่งอยู่ในสำนวนร้องของพรรคประชาธิปัตย์คือนายวัชรา หงส์ประภัศร อดีตส.ส.ร. ปี 50 และนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นั้นไม่ได้เดินทางไปด้วย เนื่องจากได้ทำคำชี้แจงในบันทึกไว้ก่อนหน้านี้

นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่ากรณีที่อดิศร เพียงเกษ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเชีย อัพเดทได้ปราศรัยเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีการปราศรัยพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงขอเรียกร้องให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ควรพิจารณาว่าเข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่

**คนเพื่อไทยย้ำไม่ล้มล้างการปกครอง

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนและนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการ กฤษฎีกา จะไปชี้แจงจะไปยืนยันเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐบาลตามที่แถลงนโยบาย ไม่ได้มีอะไรเคลือบแฝงหรือมีกระบวนการลึกซึ้งตามที่มีข่าวออกมา

“เราไม่มีเจตนาล้มล้างการปกครอง วันนี้เราเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจการปกครองอยู่แล้ว เพียงต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามความต้องการของประชาชน ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าศาลอาจจะมีคำตัดสินให้ยุบพรรคนั้น เชื่อมั่นว่าความจริงจะตอบเองว่าที่ดำเนินการทั้งหมดไม่มีอะไร เมื่อชี้แจงคิดว่าศาลจะเข้าใจ”

ทั้งนี้เชื่อว่าความจริงจะพิสูจน์เอง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการสร้างจิตนาการมากกว่า เราก็งงว่าไปถึงขั้นนั้นได้อย่างไร และไม่คิดว่าสังคมจะกลับไปสู่ความแตกแยกกันอีก เรายืนอยู่บนจุดที่พูดคุยกันได้ ไม่เข้าใจว่าการร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ไปล้มล้างระบอบการปกครอง เพราะไม่มีตรงไหนที่บ่งบอก และที่พูดมาก็เป็นไปไม่ได้ว่าจะมีในสังคมไทย เราไม่ได้แอบทำในห้องมีการตรวจสอบตลอดเวลา มีแต่การกล่าวอ้างตลอดไม่มีเหตุมีผล และตนไม่เชื่อว่าจะมีเซอร์ไพรซ์จากศาลรัฐธรรมนูญ

นายโภคิณ พลกุล สมาชิกพรรคเพื่อไทย ในฐานะพยานผู้ถูกร้อง กล่าวว่า ในวันที่ 6ก.ค.นี้ จะได้ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา291โดยขณะนี้การพิจารณาแก้ไขร่างดังกล่าวยังอยู่ในวาระ2 และยังไม่ได้ลงมติในวาระ3 หรือยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ดังนั้นจึงไม่ถือขัดต่อบทบัญญัติตามมาตรา68ของรัฐธรรมนูญปี50ที่ระบุถึงการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้ พร้อมเชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญใช้จิตภาพในอนาคตมาตัดสินข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ซึ่งก็ถือว่ายิ่งเลวร้ายกว่าการฆ่าคน

**เฉลิมเชื่อศาลยกคำร้องปมแก้รธน.

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะยกคำร้องหรือวินิจฉัยว่า ถ้าทำแบบนี้จะขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นยังทำไม่แล้วเสร็จจึงต้องยุติ และจะยกร่างใหม่ทำเป็นรายมาตราไป ทั้งนี้ ตนไม่ได้มองโลกในแง่ร้าย เพราะหากจะวินิจฉัยเป็นผลลบอย่างไรก็ตาม พรรคพรรคเพื่อไทยถูกยุบ แต่รัฐบาลไม่ยุบ เพราะนายกรัฐมนตรีไม่เกี่ยวข้องด้วย

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร ออกมาระบุว่า ขอให้คนเสื้อแดงออกมาชุมนุมครั้งใหญ่ โดยเฉพาะคนเสื้อแดงทั่วทั้งภาคอีสานจะออกมาชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด ว่า ผู้ใหญ่หลายฝ่ายออกมาว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไรก็คงต้องเชื่อฟัง ส่วนตนก็คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญก็คงตัดสินอย่างยุติธรรม

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรค นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรค นายโภคิน พลกุล สมาชิกพรรค รวมถึง นายคณิณ บุญสุวรรณ จะเดินทางเข้าชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ มั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและไม่ได้เป็นการล้มการปกครอง คาดว่า จะมีทั้งสมาชิกพรรคและมวลชนที่ให้การสนับสนุนเดินทางไปให้กำลังใจ

**ชพท.แจง 7 ข้ออ้างจำยอมร่วมลงชื่อ

ที่พรรคชาติไทยพัฒนา นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ได้ทำคำชี้แจงถึงศาลรัฐธรรมนูญ 7 ข้อ เช่น ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งสิ้น เนื่องจากพรรคชาติไทยพัฒนาไม่เคยมีการเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคหรือเรียกประชุมใดๆตามข้อบังคับพรรคเพื่อมีมติในการดำเนินการ

การที่ส.ส.พรรคได้เสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการดำเนินการร่วมกันกับส.ส.ของพรรคการเมืองอื่นๆ เป็นการปฎิบัติหน้าที่ในฐานะส.ส.ตามมาตรา 122 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับจำนวนส.ส.ของพรรคที่มีอยู่ในสภามีจำนวนไม่เพียงพอต่อการเสนอญัตติ จึงเป็นไปไม่ได้ที่พรรคจะมีมติให้ดำเนินการดังกล่าว ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการกระทำของสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนามิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

ขณะที่รัฐสภาได้มีมติรับหลักการแห่งญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมเป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจนว่าได้ผ่านการพิจารณาแล้วอย่างรอบคอบถี่ถ้วยจากสมาชิกรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยส.ส.และส.ว. แสดงให้เห็นว่ามิได้มีเนื้อหาอันเป็นปฎิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยตามมาตรา68ของรัฐธรรมนูญ

การที่ผู้ร้องใช้สิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพรรคชาติไทยพัฒนากระทำการฝ่าฝืนมาตรา68 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เนื่องจากญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมิได้ก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องตามที่หมวด 3 ของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด อีกทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 68ได้กำหนดให้พนักงานอัยการเป็นผู้กลั่นกรองข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันมิให้มีการนำความเท็จมากลั่นแกล้งหรือหน่วงเหนี่ยวกระบวนการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนด เป็นต้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น