xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.สั่งรวบบันทึกแจงไว้ทุกสำนวน ให้ไต่สวนพยานฝั่งละ 2-"ลายจุด" โผล่แจกแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เผย ที่ประชุมตุลาการสั่งรับบันทึกถ้อยคำทุกปากรวมไว้ในสำนวน พร้อมให้ผู้ร้องนำพยานได้ 7 ปาก รวม "เดชอุดม - สุรพล" ส่วนฝั่งผู้ถูกร้องให้ไต่สวนรวม 8 ราย รวม "โภคิน - อุดมเดช" นัดเวลา 9 โมงครึ่ง ทั้ง 2 วัน ยันวินิจฉัยตามความเหมาะสม - "สมบัติ" โผล่ขนแดงมาสำนักงาน ชูใบแดงตุลาการ อ้างทำงานล้ำเส้น


 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง "โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์" 

วันนี้ ( 4 ก.ค.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลัง การประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีการพิจารณาบันทึกถ้อยคำพยานที่ผู้ร้องและผู้ถูกร้องยื่นเพื่อขอเข้าไต่สวนในคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ในวันที่ 5 - 6 ก.ค.นี้ ว่า คณะตุลาการฯได้พิจารณาบันทึกถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงที่ผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และพยานของแต่ละฝ่ายที่มีการยื่นแล้ว โดยมีคำสั่งให้รับบันทึกถ้อยคำของทุกปากรวมไว้ในสำนวน และมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำพยานบุคคลเข้าไต่สวนต่อศาลวันที่ 5 ก.ค. รวม 7 ปาก ประกอบด้วย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายวันธงชัย ชำนาญกิจ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ นายวรินทร์ เทียมจรัส นายบวร ยสินทร ผู้ร้อง นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ส.ว.สรรหา และนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่วนผู้ถูกร้องให้เข้าทำการไต่สวนต่อศาลวันที่ 6 ก.ค. รวม 8 ปาก ประกอบด้วย นายวัฒนา เซ่งไพเราะ หรือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ นายสามารถ แก้วมีชัย นายชุมพล ศิลปอาชา นายภราดร ปริศนานันทกุล ผู้ถูกร้องและตัวแทน นายโภคิน พลกุล อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด และนายอุดมเดช รัตนเสถียร คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล โดยคณะตุลาการกำหนดนัดไต่สวนทั้งสองวันในเวลา 09.30 น.

สำหรับพยานบุคคล ที่ศาลเรียกไปนั้นโดยเฉพาะนายสมศักดิ์ ซึ่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร หากต้องการมาให้ถ้อยคำด้วยตนเอง ศาลก็ยินดี แต่หากไม่สามารถเดินทางมาด้วยตนเองได้ ก็มอบให้นายวัฒนา เข้าไต่สวนแทนได้ ส่วนการที่คณะตุลาการไม่อนุญาตให้มีการไต่สวนพยานทุกปากตามที่ผู้ร้องและผู้ถูกร้องขอ เนื่องจากเห็นว่า บันทึกถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงของพยานที่ศาลไม่ได้เรียกเข้าไต่สวนมีความชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนพยานที่ศาลอนุญาตให้เข้ารับการไต่สวนก็จะยึดหลักความเท่าเทียม โดยก็ใช้ 2 หลักเกณฑ์การพิจารณาคือ 1.เปิดโอกาสให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องได้มาชี้แจงต่อศาล โดยผู้ร้องมีจำนวน 5 ราย ผู้ถูกร้อง 6 ราย 2.ให้โอกาสพยานของแต่ละฝ่าย ฝ่ายละ 2 คน โดยให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน และผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการตรากฎหมาย ซึ่งฝ่ายผู้ร้องเป็นนายสุรพล และนายเดชอุดม ส่วนพยานฝ่ายผู้ถูกร้องคือ นายโภคิน และนายอุดมเดช

นายสมฤทธิ์ ยังกล่าวด้วยว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการพูดคุยกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะถ่วงเวลาในการวินิจฉัยคดีนี้ โดยการพิจารณาวินิจฉัยจะเป็นไปตามระยะเวลาที่เหมาะสม และไม่ได้มีการพูดคุยกรณีที่มีกระแสว่าจะมีกลุ่มมวลชน มากดดันศาลรัฐธรรมนูญในวันไต่สวน โดยตุลาการยังคงทำหน้าที่ตามปกติ ถ้าจะมีมวลชน เดินทางมาชุมนุมก็เป็นหน้าที่ของสำนักงานในการดูแล ซึ่งขณะนี้การเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็จะเป็นไปตามสถานการณ์ อย่างไรก็ตามในที่ประชุมคณะตุลการได้มีการอภิปรายถึงการไต่สวนว่าจะมีการถ่ายทอดสดหรือไม่ แต่เห็นว่าขณะนี้ยังไม่มีฝ่ายใด รวมถึงสื่อมวลชน มีคำขอเข้ามา ซึ่งหากมีการยื่นคำร้องเข้ามา ตุลาการก็จะมีการพิจารณา

ด้านนายกมล โสตถิโภคา โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำสั่งไม่รับคำร้องของนายชนะ เทพาศักดิ์ กับพวก ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่นายพิฑูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการรัฐสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ไม่นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอมาพิจารณาร่วมกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการการกระทำล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 68 หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า กรณีดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่า นายพิฑูรและนายสมศักดิ์ กระทำการตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างจริง จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

ทั้งนี้สำหรับบรรยากาศโดยรอบศาลรัฐธรรมนูญก็เริ่มมีกลุ่มประชาชนเดินทางมาชุมนุม โดย ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ก็ได้มีกลุ่มมวลชนจากกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ในนาม กองทัพปลดแอกประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หลายร้อยคน ทยอยเดินทางมาปักหลักชุมนุมที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ฝั่งทิศเหนือ ติดถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อให้กำลังใจคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายทองดี นามแสงโคตร ผู้ประสานงานกลุ่มกองทัพปลดแอกประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการรวมตัวครั้งนี้ เพื่อเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้กำลังใจการทำหน้าที่ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบภายใต้พระปรมาภิไธย เนื่องจากในวันที่ 5-6 กรกฎาคมนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดนัดไต่สวนผู้ร้องและผู้ถูกร้องในกรณีคำร้องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวันที่สำคัญ ทางกลุ่มกองทัพฯจึงกรงว่าจะมีพลังที่ไม่ปรารถนาดีมาขัดขวางทำให้ตุลาการฯไม่สามารถทำงานได้ อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำงานด้วยความอิสระ เที่ยงธรรม เพราะศาลถือเป็นที่พึ่งของทุกฝ่าย และหากศาลไม่เป็นที่พึ่งของคนในชาติบ้านเมืองจะอยู่อย่างไร ทั้งนี้ ยืนยัน ไม่ว่าผลคำวินิจฉัยจะออกมาเป็นอย่างไร ทางกลุ่มก็พร้อมน้อมรับและเคารพในคำตัดสิน อีกทั้งไม่ได้มาเพื่อปกป้องหรือเข้าข้างฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง และหากมีมวลชนกลุ่มอื่นที่จะมาชุมนุมในวันที่ 5-6 ก.ค.นี้ ก็ไม่กังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ปะทะขึ้น เพราะมาด้วยความสุจริตและจะอยู่อย่างสันติ เพื่อต้องการให้บ้านเมืองเกิดความสงบ ซึ่งเบื้องต้นทางกลุ่มฯจะปักหลักชุมชุมเป็นเวลา 3 วัน จนถึงวันที่ 6 ก.ค.ส่วนการเคลื่อนไหวหลังจากนี้ จะมีการประเมินหารือกันอีกครั้ง หลังศาลไต่สวนแล้วเสร็จ

ขณะที่ด้านการรักษาความปลอดภัย พ.ต.อ.พงษ์ สังข์มุรินทร์ ผู้กำกับสน.ทุ่งสองห้อง เปิดเผยว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สายตรวจมาดูแลความสงบเรียบร้อย คาดว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายใดๆเกิดขึ้น เนื่องจากกลุ่มที่มาให้กำลังใจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในวันที่ 5-6 ก.ค.จะมีการเพิ่มกำลังรักษาความปลอดภัย เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลจำนวน 1 กองร้อย เนื่องจากเกรงว่าอาจจะมีกลุ่มมวลชนอื่นที่มากดดันศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนในช่วงบ่าย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด พร้อมด้วยสมาชิกกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงราว 20 คนได้เดินทางมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการแจกใบแดงให้กับการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เห็นว่าเอนเอียง ไม่เป็นกลาง โดยกล่าวว่าต้องการสื่อสารถึงตุลาการฯที่กำลังจะมีพิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ตามาตรา 68 หรือไม่ ซึ่งโดยตลอด 6 ปี ของการเกิดเหตุความขัดแย้งทางการเมือง และเกิดวาทะกรรมตุลาการภิวัฒน์ ตนเห็นว่าบทบาทของตุลาการเกินขอบเขตที่ควรจะเป็น การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องนี้ไว้พิจารณา และมีคำสั่งให้สภาฯชะลอการลงมติวาระ 3 ถือเป็นการกระทำที่เกินขอบเขตอำนาจทำให้สังคมเกิดแรงกระเพื่อม เพราะการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับและการมี สสร. ไม่ได้เป็นการเข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง เมื่อครั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ก็มีการตั้ง สสร. จึงอยากเรียกร้องให้ศาลกลับไปสู่จุดที่พึงกระทำ โดยปล่อยให้สังคมมีการเยียวยาและพัฒนาประชาธิปไตยด้วยของการเมืองเอง

“การที่ศาลออกมาล้ำเส้น ก่อให้เกิดวิกฤติทางการเมืองขึ้นอีกครั้ง ผมอย่างบอกว่าศาลเอียงครับ กรุณาตั้งให้ตรง” นายสมบัติ กล่าว พร้อมกับแจกซีดี ที่บันทึกเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในชุดปัจจุบันที่เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 เพื่อเป็นการทบทวนความจำว่าเคยพูดอะไรไว้




กำลังโหลดความคิดเห็น