xs
xsm
sm
md
lg

จุดเปลี่ยนประเทศไทยกับ 3 ทางเลือกของศาลรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

5 คดีที่มีผู้ยื่นร้องให้กับศาลรัฐธรรมนูญโดยอาศัยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสอง เมื่อได้ทราบว่ามีบุคคลหรือพรรคการเมืองใดใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

แม้พรรคเพื่อไทยจะอ้างว่ากรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด แต่ในความจริงแล้วกรณีนี้ไม่เกี่ยวกับว่าร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญจะมีหน้าตาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ เพราะนั่นเป็นเรื่องในอนาคตที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น

ประเด็นจึงมีอยู่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียง 1 มาตรา ซึ่งก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การล้มล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทั้งฉบับซึ่งมีที่มาจากการลงประชามติของประชาชนเสียงส่วนใหญ่คนไทยทั้งประเทศ 14.7 ล้านเสียงนั้นสามารถทำได้หรือไม่?

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ถึงกับบัญญัติเอาไว้เป็น “หมวดพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เป็นการเฉพาะในหมวดที่ 13 ตั้งแต่มาตรา 68, 69

เฉพาะชื่อ “หมวดพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ก็แสดงให้เห็นว่าเจตนาของผู้ร่างย่อมไม่ใช่เล็งเห็นเพียงแค่การพิทักษ์การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น แต่ต้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อป้องกันมิให้ความหมายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของแต่ละฝ่ายถูกบิดเบือนไปตามนิยามของแต่ละฝ่าย

ด้วยเหตุผลนี้รัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดคำว่า “รัฐธรรมนูญนี้” เป็นคำที่กำหนดล็อกเอาไว้ในทั้งหมวดพิทักษ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 68, 69

มาตรา 68 วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้”

มาตรา 69 “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

แม้จะมีเสียงมาจากคนในพรรคเพื่อไทยว่ากรณีมาตรา 68 เป็นเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพ แต่ในกรณีที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็น “อำนาจและหน้าที่” ของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะกระทำได้

แต่นักการเมืองที่อยู่ในพรรคเพื่อไทยก็อาจจะหลงลืมไปว่าผู้แทนราษฎรก็เป็นประชาชนชาวไทยที่มีหน้าที่ซึ่งถูกกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน

มาตรา 70 บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้

ด้วยเหตุผลนี้เราจึงไม่ใช่จะรอไปว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จะร่างรัฐธรรมนูญในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นอย่างไร ว่าจะเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจริงหรือไม่? เพราะนั่นเป็นการแกล้งหลงลืมคำสำคัญที่ว่าการล้มล้างรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นไป “ตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญนี้” หรือไม่?

และหัวใจครั้งนี้ไม่ใช่อยู่ที่ประเด็นว่าเหตุใดจะแก้ไขข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่ประเด็นมีอยู่ว่าจะยกเลิกหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่มาจากการลงประชามติเช่นนี้เป็นสิ่งที่ควรจะยอมรับได้หรือไม่?

สมาชิกรัฐสภามีสิทธิ์ที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญนี้ทั้งฉบับ โดยไม่สอบถามประชาชนที่ลงประชามติเสียก่อนที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญนั้น ทำได้หรือไม่?

เพราะถ้าการล้มล้างรัฐธรรมนูญที่มาจากการลงประชามติของคนทั้งประเทศ โดยคณะบุคคลหนึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ มันจะต่างอะไรกับการล้มล้างรัฐธรรมนูญโดยการรัฐประหาร?

เพียงแต่ฝ่ายหนึ่งรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญด้วยกระบอกปืน แต่อีกฝ่ายหนึ่งรัฐประหารประเทศด้วยการล้มล้างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชามติโดยใช้จำนวนมือในรัฐสภา

มีบางคนอาจจะหยิบยกคณิตศาสตร์แบบมักง่ายว่า ก็เพราะมีคนเลือกพรรคเพื่อไทยจำนวน 15.7 ล้านเสียง ดังนั้นก็แสดงให้เห็น ว่าพรรคเพื่อไทยมีความชอบธรรมและมีสิทธิ์ที่จะล้มล้างประชามติ 14.7 ล้านเสียงได้

แต่ความเป็นจริงแล้วตรรกะดังกล่าวไม่น่าจะเทียบเคียงกันได้ เพราะประชามติ 14.7 ล้านเสียงที่เห็นชอบให้ใช้รัฐธรรมนูญ 2550 นั้น มาจากฐานเสียงร้อยละ 56.6 ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ในปี 2550 แต่ในขณะที่คะแนนที่ลงให้พรรคเพื่อไทยรวมทั้งสิ้น 15.7 ล้านเสียงเมื่อปี 2554 นั้นคิดเป็นร้อยละ 44.6 ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในปี 2554 เท่านั้น

และถ้าจะใช้ตรรกะนี้ก็ต้องอธิบายว่าพรรคเพื่อไทยเป็นเพียงพรรคการเมืองเดียวที่หาเสียงว่าจะล้มล้างรัฐธรรมนูญปี 2550 ทั้งฉบับ แต่ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยทั้งหมด 15.7 ล้านเสียง จะเห็นด้วยทั้งหมดกับการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เพราะบางคนก็เลือกพรรคเพื่อไทยเพราะชอบใจนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท, เงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำ 12,000 บาทต่อเดือน ฯลฯ แต่ 14.7 ล้านเสียงที่ลงประชามติเห็นชอบรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นมีเพียงหัวข้อเดียวในการตัดสินใจ ทั้งๆ ที่ในปีดังกล่าวคนในฝ่ายระบอบทักษิณรณรงค์ให้ลงมติไม่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ 2550 อยู่ฝ่ายเดียวเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจน แต่ก็ไม่สามารถโน้มน้าวให้ประชาชนเห็นด้วยกับพวกของตนเองได้

ดังปรากฏคำสัมภาษณ์ของ น.ต.ศิธา ทิวารี โฆษกพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2550 ต่อกรณีนักข่าวถามว่า “หากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญไม่ถูกใจนักการเมืองจะทำอย่างไร?” น.ต.ศิธา ทิวารี โฆษกพรรคไทยรักไทย ตอบว่า:

“พรรคการเมืองคงไม่มีสิทธิ์ทำอะไร อยู่ที่ประชาชนลงมติ ถ้าทุกคนส่วนใหญ่รักหลักการใดๆ ทุกคนก็ต้องรับหลักการนั้นด้วย”

มาถึงเวลานี้แล้วถือว่าการตัดสินใจอนาคตของประเทศไทย ก็จะขึ้นอยู่กับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะเลือกหนทางใด เพราะฝ่ายที่เรียกร้องให้เคารพคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญได้แก่ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กองทัพปลดแอกประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฯลฯ ในขณะที่พรรคเพื่อไทยก็ใช้วิธีการด่าทอศาล และแกนนำคนเสื้อแดงก็ใช้วิธีการข่มขู่คุกคามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง

แต่ความเป็นจริงเรื่องนี้ก็คือยังไม่มีใครรู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดีนี้อย่างไร?

โจทย์สำคัญคือจะมีการรวมสำนวนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้าไปด้วยหรือไม่ และจะตัดสินพร้อมกันทั้งหมดหรือไม่?

เพราะแม้จะเป็นเรื่องเดียวกันแต่สำนวนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ได้ทำตามขั้นตอนยื่นต่ออัยการแล้วจึงยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น ได้ระบุผู้ถูกกล่าวหาถึง 416 คน ซึ่งกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ อันประกอบไปด้วย คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เสนอวาระ สมาชิกรัฐสภาผู้ลงมติวาระที่ 1 และสมาชิกรัฐสภาผู้ลงมติวาระที่ 2 ซึ่งต่างจากสำนวน 5 คำร้องก่อนหน้านี้

ด้วยเหตุนี้ทำให้สำนวนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องใช้เวลา แม้กระทั่งการฟ้อง 416 คน ก็ต้องทำสำเนาเองถึง 416 ชุดเพื่อส่งให้กับผู้ถูกกล่าวหา จึงย่อมต้องใช้ไต่สวนเวลามากกว่า 5 คำร้องก่อนหน้านี้ แต่หากนักการเมือง 416 คนมีความผิด ก็จะส่งผลทำให้เกิดการยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งนักการเมือง 416 คนตามมาได้ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นหากศาลรัฐธรรมนูญแยกคำร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกจากคำร้องของ 5 สำนวนแรกก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะอาจทำให้สาระสำคัญที่จำเป็นต่อคดีความไม่ได้ถูกไต่สวนในคราวเดียวกัน และอาจทำให้การตัดสิน 5 คำร้องแรก ขาดเนื้อหาสาระจากคำร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เว้นเสียแต่ว่าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าลำพัง 5 คำร้องแรกมีความชัดเจนในตัวเอง และเห็นว่าหากจะรอคำวินิจฉัยในคดีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปก็จะทำให้การตัดสินล่าช้าออกไป จึงตัดสิน 5 คำร้องแรกเสียก่อนเพื่อความรวดเร็ว

นั่นหมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญเล็งเห็นเรื่อง “การเร่งเวลาตัดสิน” เป็นเรื่องสำคัญมากกว่า “ความครบถ้วนในความเห็นของผู้ร้องหลายรายที่อาจมีความแตกต่างกัน”

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าควรจะรวมคำร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้าไปหรือไม่แล้ว ความเป็นไปได้ของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นไปในทางใดได้บ้าง?

ทางเลือกที่หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ซึ่งจะนำไปสู่การล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับนั้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และยกคำร้องของผู้ร้องทั้งหมด นั่นหมายความว่าขั้นตอนการล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 ของพรรคเพื่อไทยทำสำเร็จแล้วอย่างชัดเจน และก็จะเดินหน้าในการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะทำให้เกิดการกระชับอำนาจให้กับพรรคเพื่อไทยอย่างที่ไม่เกิดปรากฏมาก่อน และอาจรองรับการลบล้างความผิดในอดีตให้กับนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร และพวกได้อีกด้วย

วิธีการนี้ก็จะเท่ากับเป็นการให้ระบอบทักษิณยึดประเทศโดยสงบเรียบร้อย เพราะฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกองทัพปลดแอกประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็เป็นฝ่ายที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะเคลื่อนไหวใดๆ ต่อในประเด็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ส่วนกลุ่มคนเสื้อแดงก็ไม่ต้องชุมนุมเพราะได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการไปเป็นที่เรียบร้อย

ทางเลือกที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ซึ่งจะนำไปสู่การล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับนั้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 แต่สร้างเงื่อนไขบางประการที่มีหลายฝ่ายมีข้อห่วงใยให้เป็นข้อผูกพันห้ามมิให้เกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะอยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรืออยู่ในขั้นตอนการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตัดสิทธิ์ที่จะมีผู้ร้องในระหว่างที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เรื่องนี้แม้ดูเหมือนจะเป็นการหาทางออกแบบกลางๆ แต่ความเป็นจริงเหมือนเป็นการปล่อยเสือเข้าป่า เพราะหากฉีกรัฐธรรมนูญสำเร็จแล้ว การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งหมดก็จะอยู่ในมือสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกกำหนดโดยการเลือกตั้ง 77 คน + ประธานรัฐสภาที่มาจากพรรคเพื่อไทยเลือกเองเป็นการส่วนตัวอีก 22 คน และหากผ่านกระบวนการประชามติด้วยแล้ว ก็ดูจะเป็นเรื่องยากที่ศาลรัฐธรรมนูญจะยับยั้งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ในทางปฏิบัติเพราะจะมีคดีความขึ้นสู่ศาลรายมาตราเป็นจำนวนมากจนไม่สามารถพิจารณาได้ทัน หรือศาลรัฐธรรมนูญหากทำได้ก็จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงหนักยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมหลายเท่าทวีคูณ เพราะมีผู้คนเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว

สำหรับ 2 ทางเลือกแรกนั้น หากไม่มีการรวมคำร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปรวมด้วย แล้วมาพิจารณาในภายหลัง ต่อให้มีเหตุผลหรือประเด็นและข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่ดีกว่าเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยว่าการกระทำของนักการเมือง 416 คนนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ก็เป็นไปได้ยากที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้แตกต่างจากคำวินิจฉัย 5 คำร้องแรกได้ ดังนั้นหากไม่มีการรวมคำร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้าไปด้วย ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งหากเกิดกรณีที่มีข้อมูลและการให้การในชั้นไต่สวนมีสาระสำคัญจนเป็นจุดเปลี่ยนในการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

ทางเลือกที่สาม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ซึ่งจะนำไปสู่การล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และสั่งให้เลิกการกระทำการดังกล่าว พรรคเพื่อไทยและพวกก็คงจะหันไปแก้รัฐธรรมนูญ 2550 รายมาตราแทน

แต่โจทก์สำคัญกว่าก็คือจะมีการยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งในคราวมีคำวินิจฉัยตามคำร้องเหล่านี้เลยหรือไม่ และจะรวมคำร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้าไปใน 5 สำนวนแรกด้วยหรือไม่ ถ้ารวมเข้าไปด้วยก็จะทำให้การพิจารณาบทลงโทษนั้นครอบคลุมนักการเมืองทุกกลุ่มรวมกัน 416 คน ในการวินิจฉัยในคราวเดียวกัน

แต่ถ้าจะปล่อยให้แยกสำนวนกันการปล่อยให้คำร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นคดีดาบสองก็จะทำได้ยากยิ่ง เพราะหากเกิดกรณีดังกล่าวกลุ่มแกนนำคนเสื้อแดงหรือพรรคเพื่อไทยก็น่าจะเข้ามาขัดขวางทุกวิถีทางแม้กระทั่งในชั้นการไต่สวน เพราะทุกฝ่ายเล็งเห็นอยู่แล้วว่าผลลัพธ์ลำดับถัดไปจะเป็นเช่นไร ดังนั้นหากให้คำร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นดาบสองนั้นจะถือว่ามีความเสี่ยงสูงในทางปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญ

ไม่ว่าจะมองมุมใดการรวมคำร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยน่าจะมีประโยชน์ต่อการลดความเสี่ยงในด้านการพิจารณาเนื้อหาแห่งคดีและเป็นประโยชน์ต่อการลำดับการวินิจฉัยมากกว่า แต่การไม่รวมคำร้องน่าจะมีประโยชน์ในการเร่งรัดคดี 5 คำร้องแรกมากกว่า

แต่สมมติว่าถ้าศาลตัดสินให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งนักการเมือง 416 คนได้ในการรวมกับคำร้อง 5 กรณีก่อนหน้านี้ ก็แปลว่าประเทศจำเป็นต้องเข้าสู่สุญญากาศทางการเมืองสักระยะหนึ่งไปโดยปริยาย และนักการเมือง 416 คนก็ต้องถูกดำเนินคดีอาญาต่อไปโดยทันที และประเทศไทยคงเข้าสู่บริบทใหม่ที่ไม่ได้เป็นเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้อย่างแน่นอน

ดังนั้นหากวางคำร้องคดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นดาบที่สองต่อจาก 5 คำร้องก่อนหน้านี้ ก็ไม่มีทางที่จะเกิดสุญญากาศทางการเมืองได้เลยในทางปฏิบัติ เพราะพรรคเพื่อไทยโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงต้องตัดสินใจยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่แล้วจึงค่อยกลับมาเป็นรัฐบาลใหม่อีกครั้ง

จะเป็นทางเลือกใดก็เป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา ดังนั้นจุดเปลี่ยนอนาคตประเทศไทยจึงอยู่ที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น