“สุวัตร” รับหน้าที่ถามค้านพยานฝ่ายผู้ถูกร้อง ในวันที่ 6 ก.ค. เผยหลักการและเหตุผลประกอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นหลักฐานมัดคอ เพราะระบุไว้เองว่า “จะจัดร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ” ย้ำผลจากคดีนี้ทำให้ “ยิ่งลักษณ์” อยู่ในอำนาจไม่เกิน ส.ค.แน่
วันที่ 5 ก.ค. เมื่อเวลา 20.30 น. นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
โดย นายสุวัตรกล่าวว่า วันนี้ที่ตนไปอยู่ในห้องไต่สวนคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ก็เพราะว่าศาลได้รับคำร้องของพันธมิตรฯ ไว้แล้ว โดยได้ส่งสำเนาฟ้องไปให้ผู้ถูกร้องทั้ง 416 คน เมื่อวันที่ 2 ก.ค. แล้วมีเวลา 15 วันที่ผู้ถูกร้องต้องยื่นคำให้การ ซึ่งจะครบในวันที่ 18 นี้ ถ้าสมมติเรื่องวันนี้ถูกยกไป หรือด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะกระทบต่อสำนวนของพันธมิตรฯ ตนจึงตัดสินใจไปในวันนี้
อีกทั้ง นายวันธงชัย ชำนาญกิจ ผู้ร้องที่ 2 ซึ่งมีนายนิติธร ล้ำเหลือ เป็นทนายคอยดูแล แต่พรุ่งนี้ทนายนิติธรไม่ได้ไปศาล จึงแต่งตั้งตนเป็นทนายที่ปรึกษา ส่วนนายบวร ยสินทร ก็ไม่มีทนาย เลยให้ตนเป็นทนายให้ด้วย ที่ตนรับหน้าที่ก็เพื่อช่วยเขาเต็มที่เพราะถ้าเขาชนะเราก็สบายไปด้วย แต่ถ้าเขาพลาดอะไร เช่น เอกสารไม่พร้อม ตนก็มีเอกสารอยู่ค่อนข้างพร้อมที่จะช่วยสนับสนุนได้ แต่พรุ่งนี้จะเป็นงานหนักของตน ต้องถามค้านพยานฝั่งถูกร้องทั้งหมด เพื่อทำลายน้ำหนักพยานที่เขาจะมาพรุ่งนี้
“ดูแล้วพยานผู้ถูกร้องไม่น่ากลัว เอามาเยอะๆ ยิ่งดี เพราะเตี๊ยมคนหลายๆ คนให้โกหกเหมือนกันมันยาก อีกทั้งแก่นสารเนื้อหามีอยู่แล้ว อันนี้ไม่ได้ชนะด้วยลิ้น แต่มันว่ากันด้วยลายลักษณ์อักษร ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เอาเทวดามาก็ช่วยไม่ได้แล้ว” นายสุวัตรระบุ
นายสุวัตรกล่าวต่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นพิจารณาไต่สวนไว้ 4 ประเด็น 1. อำนาจฟ้องตามมาตรา 68 วรรค 2 ว่าผู้ร้องมีสิทธิร้องหรือไม่ เมื่อศาลรับคำร้องก็แสดงว่ามีสิทธิ 2. มาตรา 291 สามารถยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ ประเด็นนี้ที่เรานำสืบกันอยู่ ถ้าดูมาตรา 291 อ่านเมื่อไหร่ก็ไม่มีทางที่จะยกเลิกทั้งหมดได้ ต้องแก้เป็นรายมาตรา ส่วนที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามตั้ง ส.ส.ร. ก็เป็นการอ้างเอาสีข้างเข้าถู ต้องย้อนกลับไปดูอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องเกิดจากกษัตริย์และปวงชนชาวไทย ถ้าจะแก้ต้องแก้ตามที่มาตรา 291 ระบุไว้ แต่นี่กลับร่วมกันบิดเบือนเจตนารมณ์ ไม่แก้เองแต่ไปตั้งกลุ่มบุคคลขึ้นมา ซึ่งกำหนดแบบล็อกเสป็กให้ได้คนที่เข้าข้างฝ่ายตัวเอง ฉะนั้นข้ออ้างฟังไม่ขึ้น 3. มีปัญหาในข้อมาตรา 68 วรรค 1 หรือไม่ ว่าเป็นการล้มล้างหรือได้มาซึ่งอำนาจหรือไม่ ตรงนี้เห็นได้จากหลักการและเหตุผลประกอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยเหตุผลนี้ได้โจมตีรัฐธรรมนูญปี 50 และระบุไว้เลยว่า “จะจัดร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ” ซึ่งหลักการและเหตุผลนั้นก็เหมือนกับคำนำ ว่าหนังสือเล่มนั้นจะมีอะไรบ้าง 4. หากผิดเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคหรือไม่ อันนี้ก้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล
นายสุวัตรยังกล่าวว่า ตนพูดในทัศนะของตนมาตลอดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ไม่เกิน ส.ค. เพราะคดีนี้ไต่สวนผู้ร้องแล้ว พรุ่งนี้ไต่สวนผู้ถูกร้อง ถ้าศาลปิดพยานหมดเลย ก็ต้องนัดฟังคำพิพากษา ส่วนคดีที่พันธมิตรฯ เป็นผู้ฟ้อง ศาลอาจสั่งให้รอของพันธมิตรฯ แล้ววินิจฉัยพร้อมกัน ถ้าหากศาลมองว่าคดีนี้ตัดสินได้แล้ว เพราะข้อเท็จจริงยุติแล้ว ข้อกฎหมายศาลก็รู้แล้ว อาจไม่รอคดีของพันธมิตรฯก็ได้
ทีนี้มีหลายคนมองว่าจะตัดสินอย่างไร เวลาเรายื่นฟ้อง สิ่งสำคัญอยู่ที่คำขอท้ายฟ้อง ศาลต้องตัดสินภายในกรอบของกฎหมาย โดยคำขอท้ายฟ้องที่ตนขอไป “1. ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกร้องทั้ง 416 คน ที่ได้จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ และ 2. ขอให้ผู้ถูกร้อง 416 คน เลิกการกระทำดังกล่าว” ซึ่งความผิดอาญาสำเร็จแล้ว ประสงค์เห็นผลแล้วว่าจะฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ส่วนความผิดทางอาญาข้อหาล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นกบฏ พันธมิตรฯได้ยื่นคำร้องไปแล้ว ต่อ ป.ป.ช. และ กกต.เพื่อยุบพรรค
ทีนี้ ร.ต.อ.เฉลิมมองว่าเกิดอะไรขึ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ยังอยู่ เพราะไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค แต่ไม่พ้นคำร้องของตน เพราะได้เอานายกฯเข้าไปด้วยในฐานะเป็นหัวหน้า ต้องรับผิดชอบ แล้วมันมีคดีอาญาตามมาด้วย ส.ค. มีการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองแน่ อีกทั้งถ้าศาลให้ยุบพรรค เสื้อแดงไม่ยอม ออกมาเล่นงานศาล อาจเกิดการปะทะกับมวลชนกลุ่มอื่นได้
ด้าน นายพิภพกล่าวว่า ตุลาการอยู่ภายใต้พระปรมาภิไธย แล้วไม่เคยถูกแทรกแซง แต่วันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการแทรกแซง แล้วพยายามลดความน่าเชื่อถือของตุลาการ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฉะนั้นการดำเนินการของ พ.ต.ท.ทักษิณ แน่ใจได้เลยว่าทำเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองอย่างแท้จริง แม้ไม่แตะหมวดพระมหากษัตริย์ แต่พระราชอำนาจที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้นมีอยู่ในอีกหลายสิบมาตรา