ปธ.กก.ปรับปรุง กม.สภาฯ ชี้คำสั่งศาลฝ่าฝืน รธน. ยัน ม.68 ต้องยื่นผ่าน อสส. ส่อใช้ระเบียบมิชอบด้วย กม. ลั่นยอมไม่ได้ ชี้รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจศาลถ่วงดุล ยุ ส.ส.ถอดตุลาการยกชุด เว้น “ชัช” แนะแดงแจ้งฟันด้วย ด้านโฆษก “ค้อนปลอม” แนะสภาเรียกหารือลงมติวาระ 3 หรือไม่ ขณะเพื่อไทยร่อนแถลงยันกฎหมายชัดต้องส่ง อสส.ก่อน ฉะศาลทำเกินอำนาจ รัฐสภาไม่ต้องทำตาม
วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่รัฐสภา นายประสพ บุษราคัม ประธานคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) ของสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ชะลอการลงมติในวาระ 3 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 68 ที่ผู้ยื่นต้องยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดห้ามยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เพราะประเทศไทยยึดถือกฎหมายลายลักษณ์ ไม่ใช่ระบบคอมมอนลอว์ ดังเช่น สหรัฐฯ และอังกฤษที่ยึดศาลเป็นใหญ่ตัดสินอย่างไรก็ได้ นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการได้ตรวจสอบเจตนารมณ์การร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 พบว่ามาตรา 68 การยื่นเรื่องดังกล่าวก็ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดเช่นกัน การชี้แจงของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าได้ใช้มาตรา 213 แต่ข้อเท็จจริงต้องใช้มาตรา 211 และ 212 ก่อน และถึงจะใช้มาตรา 213 ได้ และยังพบว่าการอ้างใช้ระเบียบของศาลรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งมีสถานะที่ใหญ่กว่า
“ก่อนหน้าที่ผมพอทนได้กรณีวินิจฉัยนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายก โดยพจนานุกรมค้นหาคำว่าลูกจ้างและกรณีนายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ กรณีที่เติมคำว่า “อาจจะทำให้เสียดินแดน” แต่ครั้งนี้ผมยอมไม่ได้ เพราะไม่ได้เอากฏหมายใดมารองรับ และกฏหมายรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ให้อำนาจใดกับศาลรัฐธรรมนูญในการถ่วงดุลอำนาจ เพราะแต่ละอำนาจมีการแบ่งกันอย่างชัดเจน” นายประสพกล่าว
นายประสพกล่าวต่อว่า ขอเรียกร้อง ส.ส.จำนวน 125 คน ยื่นเรื่องถอดถอนตุลาการทั้งหมด 8 คน ยกเว้นนายชัช ชลวร ตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่มีความเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้อง โดยยื่นเรื่องให้ประธานวุฒิสภาดำเนินการถอดถอนตามมาตรา 270 ต่อไป เพราะมีพฤติกรรมจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเพื่อป็นการรักษาสิทธิในฐานะนิติบัญญํติที่ถูกอีกฝ่ายมาก้าวล่วง นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญให้ไปแจ้งความอาญากับสถานีตำรวจเพื่อเอาผิดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
เมื่อถามว่า รัฐสภาจะลงมติวาระ 3 ได้หรือไม่ นายประสพกล่าววว่า ที่ประชุมเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ แล้วจะมีคำสั่งได้เช่นไร ส่วนสมาชิกรัฐสภาจะมีมติเช่นไรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจเนื่องจากมีผู้รู้อยู่อย่างมากมาย อีกทั้งตนยังเห็นด้วยให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออก แต่ตนคงไม่ออกไปเรียกร้องเพราะบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ใหญ่ทั้งสิ้น
ด้าน นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัวเมื่อองค์กรหนึ่งมีความคิดเห็นเป็นปรปักษ์กับอีกฝ่ายก็ควรจะชะลอการลงมติรัฐธรรมนูญวาระ 3 ออกไปก่อน เพราะป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง ขณะที่ฝั่งรัฐบาลก็ควรจะไปตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญทางอื่น เช่น การยื่นถอดถอนและแจ้งความตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ขณะเดียวกันประธานรัฐสภาก็ต้องมีการเรียกประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับการลงมติวาระ 3 เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกกล่าวหาว่ากระทำขัดรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าต้องลงมติวาระ 3 ภายหลัง 15 วัน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291
ขณะที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พุทธศักราช.... ในวาระที่ 3 ไว้ก่อน โดยระบุว่า พรรคเพื่อไทยได้พิจารณากรณีคำสั่งดังกล่าวแล้ว เห็นว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 มีความชัดเจนในลายลักษณ์อักษรว่า การร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 68 ต้องร้องผ่านอัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดวินิจฉัยในเบื้องต้น หากเห็นว่ามีกรณีการกระทำตามมาตรา 68 อัยการสูงสุดจะเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หลักการนี้ปฏิบัติกันมาเช่นนี้โดยตลอด นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของมาตรา 68 ซึ่งมีความเช่นเดียวกันกับมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีความชัดเจนและได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในชั้นกรรมาธิการยกร่างว่า บุคคลไม่สามารถเสนอคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ต้องผ่านองค์กรตามรัฐธรรมนูญ กรณีตามมาตรา 68 นี้ต้องให้อัยการสูงสุดเป็นคนกรองเรื่องเสียก่อนว่ามีมูลหรือไม่
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงมีความชัดเจนว่า ผู้ร้องตามที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้าง ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดไว้แล้ว หลังจากนั้นก็มายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่อัยการสูงสุดยังมิได้มีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญก็มารับคำร้องไว้พิจารณาเสียก่อน จึงเป็นตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญขัดต่อลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดแจ้ง
พรรคเพื่อไทยมีความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำร้องเกินอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญมิใช่ศาลสูงสุดเหนือศาลทั้งหลาย มีอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่ได้มีอำนาจทั่วไปอย่างเช่นที่ศาลยุติธรรมมี การสั่งให้รัฐสภายุติการลงมติตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พุทธศักราช.... ในวาระที่ 3 เป็นการสั่งการโดยปราศจากอำนาจรองรับตามกฎหมาย รัฐสภาจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่ง เนื่องจากรัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และเป็นการใช้อำนาจอธิปไตย 1 ใน 3 อำนาจตามที่ประชาชนมอบหมายมา ซึ่งไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบขององค์กรตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรนิติบัญญัติเฉพาะที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งนั้น เช่น การตรวจสอบว่าร่างพระราชบัญญัติซึ่งมิใช่ร่างรัฐธรรมนูญ มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยเหตุผลดังกล่าวมา พรรคเพื่อไทยเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องทบทวนการใช้อำนาจหน้าที่ของศาลในกรณีนี้ และรัฐสภาควรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนต่อไป