ประธานวิปวุฒิฯ เผยวิปรัฐประสานขอถกร่วมรัฐสภาศุกร์นี้ พิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ วาระ 3 คาดนับคุย ส.ว.เห็นด้วยหรือไม่พรุ่งนี้ แต่ยันหนุนเดินหน้าต่อ อ้างศาลไร้อำนาจพิจารณาเหตุกฎหมายยังไม่เสร็จ ชี้ก้าวก่ายนิติบัญญัติ เชื่อไม่มีปัญหาโดนถอด แนะรัฐชะลอ พ.ร.บ.ปรองดอง ท้า ปชป.ยื่นร่างเสนอคู่แทนที่จะเล่นการเมืองนอกสภา
วันนี้ (4 มิ.ย.) นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา กล่าวว่า ได้รับการประสานงานจากวิปรัฐบาลเพื่อนัดประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ เพื่อหารือถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับคำร้องขอให้วินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากในเบื้องต้น วุฒิสภาได้นัดประชุมวุฒิสภาในวันดังกล่าวไว้แล้ว ดังนั้นในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ตนจะเชิญ ส.ว.ได้ร่วมหารือถึงการร้องขอของวิปรัฐบาลว่าจะเห็นด้วยหรือไม่
นายนิคมกล่าวต่อว่า โดยส่วนตัวตนเห็นว่าประธานรัฐสภา ควรจะเดินหน้าประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติในวาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย.ตามที่ได้กำหนดไว้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องและให้ชะลอการพิจารณากฎหมายก็ตาม เนื่องจากกระบวนการในการพิจารณากฎหมาย การยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะดำเนินการได้ต้องผ่านพ้นวาระ 3 และก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจ เพราะการพิจารณากฎหมายยังไม่แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม หากเป็นเช่นนี้ต่อไป หากระหว่างการพิจารณากฎหมายของสภาฯแล้วมีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ก็จะทำให้กระบวนการพิจารณากฎหมายของสภาฯต้องหยุดชะงักลง
“ถือว่าเป็นการดำเนินการผิดขั้นตอนของกระบวนการพิจารณากฎหมายของรัฐสภา เป็นการก้าวก่ายอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ความจริงประธานรัฐสภา ไม่จำเป็นจะต้องขอความเห็นจากที่ประชุมอีกแล้ว ขอให้เดินหน้าในการลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 ไปเลย และก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็สามารถนำคำร้องที่มีผู้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไปดำเนินการได้ในขั้นตอนนี้” นายนิคมกล่าว
เมื่อถามว่า การเดินหน้าลงมติวาระ 3 เกรงว่า ส.ส.และ ส.ว.บางส่วนอาจจะถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ นายนิคมกล่าวว่า ไม่น่ามีปัญหา เพราะถือว่าเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายของสมาชิก และตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ก็ให้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาไม่น่าเป็นห่วงในประเด็นนี้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งสมาชิกที่เห็นด้วยถึง 480 คน แล้วกระบวนการในการถอดถอน ส.ว.จะต้องถอดถอน ส.ว.ด้วยกันอย่างนั้นหรือ
นายนิคมยังกล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติว่า ตนเห็นว่ารัฐบาลควรจะชะลอการพิจารณากฎหมายออกไปก่อน โดยต้องทำความเข้าใจในเนื้อหาของร่างกฎหมายให้สาธารณชนเห็นถึงสาระสำคัญว่ามีอะไรบ้าง เพราะขณะนี้มีบางคนบางพรรคการเมืองได้หยิบยกบางประเด็นมาพูดว่าเป็นกฎหมายทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านบาทให้ ทำให้ยังเกิดความสับสนในสังคม จนทำให้มีภาคประชาชนและกลุ่มบางกลุ่มออกมาคัดค้าน ทั้งที่ใครที่ไม่เห็นด้วยก็น่าจะเสนอความคิดเห็นมา
“ความจริงพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยก็ควรจะเสนอร่างกฎหมายปรองดองเข้ามาว่าอยากให้มีเนื้อหาสาระอย่างไร ไม่ใช่สนับสนุนกลุ่มประชาชนที่ออกมาคัดค้าน ถือเป็นการเล่นการเมืองนอกสภาฯ ผมคิดว่าประชาชนเขารู้ดีเขาจะเป็นคนเลือกเอง อย่าคิดว่าเป็นเสียงข้างน้อยแล้วแพ้เสียงข้างมาก แล้วออกมาเล่นนอกกติกา เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้ง” นายนิคมกล่าว