xs
xsm
sm
md
lg

“เจริญ” อ้างวิป 2 ฝ่ายเคลียร์ไม่จบ ทำประชุมไม่รื่น “นิคม” ชี้ ปชป.ตัวแปรยื้อแก้ รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร (แฟ้มภาพ)
รองประธานสภาฯ รับผ่านกฎหมายช่วงสมัยสามัญยังไม่ตรงตามเป้า อ้างวิป 2 ฝ่ายจบไม่ลง ทำประชุมไม่ราบรื่น จ่อคุย “ค้อนปลอม” เชิญผู้ประสานถกกันก่อน ชี้เป็นอำนาจรัฐเอารายงานปรองดองไปพิจารณา ด้าน “นิคม” โยนประชาธิปัตย์ ตัวแปรถกแก้รัฐธรรมนูญวาระ 2 สำเร็จหรือไม่ ซัดเตะถ่วงตลอด ชมเพื่อไทยนิ่ง จวกประธานฯ ไม่แม่นข้อบังคับ

วันนี้ (16 เม.ย.) นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงภาพรวมการออกกฎหมายในช่วงประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติว่า ถือว่ายังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะกฎหมายที่จำเป็นต้องออกมาบังคับใช้ยังมีอยู่อีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาชน เนื่องจากสภาฯ สมัยนี้อาจจะแตกต่างจากยุคสมัยอื่นที่ผ่านๆ มา เพราะตลอดระยะเวลาการประชุม การเจรจาระหว่างผู้ประสานงาน หรือวิปทั้งสองฝ่ายไม่ค่อยเป็นที่ยุตินัก เลยทำให้การประชุมสภาฯ อาจจะไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ส่งผลให้เกิดปัญหาโต้แย้งตามมา ทั้งนี้ ตนจะปรึกษานายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าการประชุมในครั้งถัดๆ ไป ถ้ายังคงมีปัญหาเช่นนี้อาจจะเชิญผู้ประสานงานทั้ง 2 ฝ่ายมาปรึกษาหารือกัน มากกว่าเล่นเกมการเมืองเหมือนที่ผ่านมาเพราะจะทำให้การประชุมยืดเยื้อ

เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะออกมาหลังจากที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านแล้ว นายเจริญกล่าวว่า ถ้ารัฐธรรมนูญผ่าน ขั้นตอนต่อไปคือภารกิจของสภาฯ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งในส่วนของสภาฯ ได้มีการประชุมเจ้าหน้าที่เพื่อเตรียมการในส่วนของค่าใช้จ่าย เงินเดือน ค่าตอบแทน ทั้งหมด ซึ่งหลังรัฐธรรมนูญผ่านจะมีกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่นั้น สภาฯ จะดำเนินการส่งรายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติให้รัฐบาลได้รับทราบ

“เป็นอำนาจของรัฐบาลที่จะต้องนำรายงานปรองดองไปพิจารณา ส่วนจะทำหรือไม่ทำอย่างไร รัฐบาลจะต้องรายงานกลับมาให้ทางสภาฯ รับทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ส่งรายงานไปยังรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลเองก็ต้องมีเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ดำเนินการ หรือถ้าดำเนินการแล้ว ความคืบหน้าเป็นอย่างไรก็ต้องรายงานให้เราทราบ การออก พ.ร.ก.เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร และจะต้องเป็นเรื่องเร่งด่วน หากเป็น พ.ร.บ.ก็ต้องผ่านสภาฯ ซึ่งขณะนี้เท่าที่ทราบยังไม่มีสัญญาณจากรัฐบาลว่าจะออกหรือไม่” นายเจริญกล่าว

ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวว่า การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 2 ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 18-19 เมษายนจะเสร็จทันตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เพราะขณะนี้จะเห็นว่ามีความพยายามเตะถ่วงดึงเรื่องไว้ตลอดเวลา ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็พยายามนิ่งและอดทน

“การประชุมที่ผ่านมาถือว่าทำขัดข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาทั้งหมด เนื่องจากตามข้อบังคับสมาชิกจะอภิปรายได้เฉพาะในส่วนที่มีการแก้ไข แต่ขณะนี้กลับอภิปรายกันเกือบทุกคน ทุกประเด็น ทั้งที่ไม่ได้มีการสงวนคำแปรญัตติหรือมีการแก้ไข ซึ่งประธานในที่ประชุมก็ไม่เข้มงวด ไม่แม่นข้อบังคับ จึงอยากเรียกร้องให้ประธานได้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เพราะหากเป็นเช่นนี้ วาระ 2 ใช้เวลา 3 วันก็ไม่จบ” นายนิคมกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น