xs
xsm
sm
md
lg

วิปวุฒิฯ ถกแก้ รธน.พรุ่งนี้ - เพื่อน ส.ส.ร.50 จ่อออกแถลงซัดเล่นเกมการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวิปวุฒิสภา (แฟ้มภาพ)
“นิคม” เผยวิปวุฒิสภานัด ถก ส.ว.พรุ่งนี้ 9 โมง รับยังติดใจจำนวน ส.ส.ร. ด้านแกนนำกลุ่มเพื่อน ส.ส.ร.50 จ่อออกแถลงการณ์ฉบับ 2 หนุนขยายเวลาประชุมเป็น 3 วัน ย้ำห่วง 3 ประเด็น หวั่นใช้กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นทำซื้อเสียงง่าย

วันนี้ (9 เม.ย.) นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ฐานะประธานวิปวุฒิ เปิดเผยว่า วิปวุฒิได้นัด ส.ว.ทั้งหมดหารือก่อนเข้าร่วมประชุมรัฐสภา ในวันพรุ่งนี้ (10 เม.ย.) เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ในวาระ 2 เวลาประมาณ 09.00 น. เบื้องต้นจะเป็นการหาทิศทางในภาพรวมของสมาชิกวุฒิสภาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ในความเห็นส่วนตัวมองว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 นั้นพอรับได้ แต่ยังติดใจในประเด็นจำนวนของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งตนได้ขอแปรญัตติไว้ให้จำนวน ส.ส.ร.เป็น 200 คนและมาจากการเลือกตั้ง ต่างจากร่างแก้ไขที่ระบุให้มี ส.ส.ร.99 คน

ด้าน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่า ตนสนับสนุนให้มีการขยายเวลาการเปิดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม วาระ 2 จากเดิม 2 วัน คือวันที่ 10 และ 11 เม.ย.นี้ เป็นเวลา 3 วัน ตามที่ฝ่ายค้านได้ให้ความเห็น เนื่องจากขณะนี้มีสมาชิกรัฐสภาสงวนคำแปรญัตติไว้เป็นจำนวนมากถึง 172 คน อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องไปยังฝ่ายประธานรัฐสภา หรือรัฐบาลว่าอย่าได้ตัดสิทธิผู้ที่สงวนคำแปรญัตติ โดยอ้างว่าอภิปรายซ้ำ ดังนั้น ควรเปิดโอกาสให้ผู้อภิปรายได้อภิปรายจนครบ หากระยะเวลา 2 วันไม่เพียงพอ ก็ควรขยายเวลาออกไปอีก 1 วัน

นายสุรชัยกล่าวต่อว่า สำหรับความเห็นส่วนตัวมองว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 มี 3 ประเด็นที่ควรทักท้วง ได้แก่ 1. ที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งตนมองว่าควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อตอบโจทย์ของความโปร่งใสว่ารัฐบาลจะไม่เลือกคนในโควต้าของตนเองเข้ามายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงบุคคลที่จะมาเป็น ส.ส.ร.ควรกำหนดคุณสมบัติให้เป็นการเฉพาะ เช่น เป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายมหาชน, เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ มีประสบการณ์ทางการเมือง เพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2. เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ไม่ควรให้อำนาจแต่ประธานรัฐสภา ในการตัดสินใจว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขัดต่อหลักการของระบอบการปกครองหรือไม่ แต่ควรให้ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่วมกัน ก่อนที่จะส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำร่างรัฐธรรมนูญไปทำประชามติ และ 3. กรณีประชาชนลงประชามติไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องยุติกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งหมด

นายสุรชัยกล่าวอีกว่า ในประเด็นที่ระบุให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นมาใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.ร.นั้น ตนเป็นห่วงในเรี่องของการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง รวมถึงบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เช่น การหาเสียงที่ไม่ได้ระบุถึงขอบเขตที่ขัดเจน โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นสามารถหาเสียงโดยผูกติดกับพรรคการเมือง หรือนำเสนอนโยบายได้ แต่การเลือกตั้ง ส.ส.ร.เป็นภารกิจเฉพาะ ดังนั้นควรให้มีการหาเสียงแค่การแนะนำตนเองเท่านั้น

ทั้งนี้ นายสุรชัยในฐานะสมาชิกกลุ่มเพื่อน ส.ส.ร.50 เปิดเผยด้วยว่า ทางกลุ่มจะมีการออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เพื่อแสดงจุดยืนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมีเป้าหมายที่ตอบโจทย์ทางการเมือง ที่ได้มีการวางเกมกันไว้แล้วล่วงหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น