xs
xsm
sm
md
lg

รัฐสภาแก้ รธน.วันที่ 2 “สุรชัย” จวกฉีกทิ้งทั้งฉบับชัด “อาคม” เหน็บคนที่ใช้เลวไม่ใช่ กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน
รัฐสภาถกแก้ ม.291 วันที่ 2 “ส.ว.สุรชัย” ประเดิมซัดฉีกทิ้งทั้งฉบับ ชี้ ส่อขัดรัฐธรรมนูญ สับรัฐให้ข้อมูลด้านเดียว ไม่ฟังเสียงประชาชนก่อน “อาคม” สุดงงเพื่อไทยไม่รอร่างเสื้อแดงเสร็จค่อยเอามาชงสภาทีเดียว ยันกฎหมายไม่เลว แต่คนใช้ต่างหากที่เลว ปูดข่าวล่อ ส.ว.เลือกตั้งหนุนแลกต่ออายุ เจอ ส.ว.ฉะเชิงเทรา ลุกจี้ถอนคำพูด


วันนี้ (24 ก.พ.) ที่รัฐสภา ตั้งแต่เวลา 09.10 น.ได้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พ.ศ. .... เป็นวันที่ 2 ต่อจากวานนี้ โดยมีการพิจารณาพร้อมกันจำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างของคณะรัฐมนตรี ร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล และร่างของพรรคชาติไทยพัฒนา สำหรับบรรยากาศการอภิปรายยังคงเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการเสนอแก้ไข และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกับวานนี้

โดยเริ่มต้นด้วย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้แท้จริงแล้ว ไม่ใช่เป็นการพิจารณาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 แต่เป็นการพิจารณาให้ยกเลิก หรือฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งทั้งฉบับ เนื่องจากบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับมีการระบุให้ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งขัดกับบทบัญญัติมาตรา 136 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าที่ประชุมรัฐสภาไม่มีอำนาจยกเลิกรัฐธรรมนูญ แต่กลับมีการนำเสนอข้อมูลด้านเดียวให้กับประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย หากรัฐบาลต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ต้องกล้าบอกความจริงทุกด้าน เพื่อให้ประชาชนมีมติความคิดรอบด้าน ก่อนตัดสินใจว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขหรือไม่

“ไม่ใช่เขียนให้ดูดีในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เมื่อยกร่างเสร็จแล้วจะนำไปให้ประชาชนลงประชามติ ทั้งที่ปัจจุบันมีกฎหมายว่าด้วยการทำประชามติ ที่มีเนื้อหาระบุถึงกระบวนการต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านกับประชาชน แต่หากมีการให้ข้อมูลด้านเดียวอาจกระทบต่อการตัดสินใจได้” นายสุรชัย ระบุ

นายสุรชัย กล่าวอีกว่า ข้อเท็จจริงอีกด้านที่ไม่ได้ถูกพูดถึงคือ ที่มาของรัฐธรรมนูญ 2550 มีต้นร่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ได้มีการพัฒนาต่อยอดให้เกิดความสมบูรณ์ และลดข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 2540 เช่น การกำหนดให้ตั้งองค์กรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ได้ทำให้รูปธรรมตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ นายอาคม เอ่งฉ้วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายตั้งข้อสังเกตในส่วนของการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับของ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยกล่าวว่า ในวันที่ นปช.มายื่นร่างแก้ไขต่อสภาฯ ได้พาคนเสื้อแดงมาเปิดไฮปาร์คบริเวณห้องโถงรัฐสภา และมี ส.ส.เพื่อไทยบางคนถอดสูทสวมเสื้อแดงร่วมแถลงข่าวด้วย จึงทำให้ตนแปลกใจว่าเหตุใดรัฐบาลจึงไม่รอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ นปช.แล้วจึงค่อยนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา อีกทั้งรัฐบาลปัจจุบันเคยประกาศว่าจะอยู่ถึง 12 ปี ทำไมต้องรีบแก้ไข อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เลว แต่คนใช้ต่างหากที่เลว ที่มีความประพฤตินอกรัฐธรรมนูญ ในส่วนของที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นั้น ตนไม่สามารถไว้ใจว่าจะปลอดการเมือง หรือมีความเป็นอิสระจริงๆ

“วันนี้มีข่าวการต่อรองกับ ส.ว.เลือกตั้ง ให้สนับสนุนรัฐธรรมนูญ โดยแลกประโยชน์กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.สมัยนี้สามารถลงสมัครเป็น ส.ว.ได้อีกสมัยติดต่อกัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันห้ามเป็นติดต่อกัน 2 สมัยต่อเนื่อง ถือว่าเป็นการเอาผลประโยชน์ไปล่อ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าการเสนอให้เงินเดือนเสียอีก” นายอาคม ระบุ

เมื่อ นายอาคม กล่าวถึงตรงนี้ทำให้ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งไม่พอใจ โดย นายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา ในฐานะรองประธานวุฒิสภา ได้ลุกขึ้นประท้วงและขอให้ถอนคำพูด เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกล่าวหาที่ไม่เหมาะสม ทำให้วุฒิสภาได้รับความเสียหายด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรอบเวลาการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายนี้ ได้กำหนดระหว่างเวลาอภิปราย 09.00-22.00 น.ซึ่งฝ่ายรัฐบาลได้ขยายเวลาเพิ่มให้ฝ่ายค้านและ ส.ว.รวมกันอีก 1 ชั่วโมง 30 นาที เพื่อให้เวลาในการอภิปรายเท่ากับฝ่ายรัฐบาล ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแล้วเสร็จ จะมีการลงมติทันที โดยจะใช้วิธีการลงคะแนนรวดเดียว 3 ร่างแบบรายบุคคลคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง และจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 45 คน แบ่งเป็นวุฒิสภา 10 คน พรรคเพื่อไทย 19 คน พรรคประชาธิปัตย์ 11 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชล พรรคละ 1 คน
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี
สุเทพ เทือกสุบรรณ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น