กมธ.แก้ รธน.หักดิบใช้เสียงข้างมากสรุปร่างแก้ไข ม.291 ยืนตามร่างคณะรัฐมนตรี มี ส.ส.ร.99 คน เลือกตั้งจังหวัดละ 1 ที่เหลือรัฐสภาคัดเลือกจากผู้เชี่ยวชาญ ไม่ห้ามผู้สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และเคยต้องโทษ วางเป้าถกวาระ 3 วันที่ 26 เม.ย. หวังให้ รธน.ฉบับใหม่เสร็จกลางปี 56 ฝ่ายค้านติง ให้ กกต.ประกาศใช้ในข้อที่ไม่บังคับตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นจะเกิดปัญหา พร้อมค้านให้ศาลอุทธรณ์ตัดสินทุจริตเลือกตั้ง ส.ส.ร.ใน 30 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. .... ได้สรุปประเด็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เสร็จเรียบร้อยแล้ว รอให้ ส.ส.และ ส.ว.ที่สงวนคำแปรญัตติทั้ง 172 คนมาชี้แจงจนถึง 16.30 น.วันที่ 5 เม.ย. ก่อนนำสู่ระเบียบวาระการประชุมในวันที่ 11-12 เม.ย. โดยนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ประธาน กมธ.คาดว่าจะสามารถบรรจุเข้าสู่วาระ 3 เพื่อผ่านร่างออกมามีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 เม.ย.นี้ และคาดล่วงหน้าว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะแล้วเสร็จกลางปี 2556
ทั้งนี้ ร่างที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ โดยเสียงข้างมากของฝ่ายรัฐบาลจะมีโครงสร้างเกือบทั้งหมดตรงกับร่างที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอมา โดยกำนหดให้มี ส.ส.ร.ทั้งสิ้น 99 คน มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และรัฐสภาคัดเลือกมา 22 คน ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายมหาชน 6 คน ผู้เชี่ยวชาญทางรัฐศาสตร์ 6 คน ผู้เชี่ยวชาญทางการเมือง การบริหารบ้านเมือง ทางเศรษฐกิจหรือสังคม 10 คน กำหนดผู้เป็น ส.ส.ร.ต้องมีสัญชาติไทยโดยเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี เกิดหรือเคยมีชื่อในทะเบียนบ้าน รับราชการ หรือเรียนในจังหวัดนั้นไม่ต่ำกว่า 5 ปี โดยไม่มีข้อห้ามเรื่องสังกัดพรรคการเมือง หรือเคยมีโทษจำคุกมาก่อน
สำหรับกรอบระยะเวลานั้น ร่างดังกล่าวกำหนดว่านับแต่ร่างแก้ไขมาตรา 291 ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาโดยให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ใน 15 วัน แล้วให้ กกต.ต้องเปิดรับสมัครไม่เกิน 20 วันนับแต่กฤษฎีกาบังคับ และกำหนดวันเลือกตั้งไม่เกิน 40 วันหลังรับสมัคร เลือกตั้งเสร็จให้ ประกาศผลภายใน 15 วัน รวมกระบวนการทั้งสิ้นจะได้ ส.ส.ร.99 คน ภายใน 90 วัน
ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวยังกำหนดให้ กกต.ใช้ พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นในการเลือกตั้ง ส.ส.ร. โดยให้อำนาจ กกต.กำหนดประกาศบทบัญญัติส่วนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดเป็น ส.ส.ร. หากมีการร้องคัดค้านให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน
หลังจากวันเลือกตั้ง ส.ส.ร.ภายใน 30 วันจะต้องมีการจัดประชุม ส.ส.ร.นัดแรก และถือเป็นวันนับหนึ่งของกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ 240 วัน ถ้าร่างไม่เสร็จอาจให้มีการเลือก ส.ส.ร. มาทำอีกครั้ง หลังร่างเสร็จเสนอร่างต่อประธานรัฐสภาเพื่อตรวจสอบว่าไม่มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หรือไม่มีการแก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ ก็ให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญต่อ กกต.ใน 7 วัน เพื่อให้ กกต.ดำเนินการออกเสียงประชามติของประชาชนในการรับร่างรัฐธรรมนูญนั้นหรือภายใน 45-60 วันนับจากวันที่รับร่างจากประธานรัฐสภา หากเสียงข้างมากลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แต่หากเสียงประชามติไม่เห็นชอบมากกว่าก็ให้ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวตกไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ วันนี้ (4 เม.ย.) วันนี้มี ส.ส.ฝ่ายค้านทักท้วงเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่เตรียมไปอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภาด้วยการสงวนคำแปรญัตติไว้
นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการฯ ท้วงติงว่าการเอา พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นมาใช้ แล้วให้ กกต.ประกาศในพระราชกฤษฎีกาในข้อใดที่จะไม่บังคับใช้ เกรงว่าจะเกิดปัญหาดำเนินการไม่ได้ ขอเสนอให้หารือ กกต.กับกฤษฎีกาก่อน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการฯ กล่าวคัดค้านการบังคับให้ศาลอุทธรณ์พิจารณากรณีข้อร้องเรียนการทุจริตการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้เสร็จใน 30 วัน เพราะศาลต้องใช้ พ.ร.บ.พิจารณาความ ซึ่งต้องให้สิทธิคู่ความทั้งสองฝ่าย พอไปกำหนดเวลามันจึงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า ที่บัญญัตินี้เป็นมติกรรมาธิการเสียงข้างมาก โดยมีกฤษฎีกาและเจ้าหน้าที่ กกต.ช่วยดูอยู่ และคิดว่าหาก กกต.คิดว่ามีปัญหาจริงๆ ก็สามารถเสนอให้ปรับเปลี่ยนในที่ประชุมรัฐสภาในวาระ 2 ได้