xs
xsm
sm
md
lg

เปิดช่องพรรคฯส่งส.ส.ร. ปชป.ค้านใช้ กม.เลือกตั้งท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“มาร์ค”สับเปิดช่องพรรคการเมืองส่งส.ส.ร. ส่วน กมธ.ซีก ปชป.ติดใจค้านใช้ กม.เลือกตั้งท้องถิ่น-ให้ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดรับรองผล “สามารถ”โยนที่ประชุมรัฐสภาชี้ขาด ล้มกม.เฉพาะกกต.

การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.)พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (รธน.) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่ประชุมได้ให้ทบทวนถ้อยคำที่ขาดตกบกพร่องทั้งหมดของร่างรธน.ที่กมธ.พิจารณาเสร็จทุกมาตรา โดยขั้นต่อจากนี้กมธ.จะส่งรายงานให้รัฐสภาพิจารณาในวาระ 2ในวันที่ 5 เม.ย. เพื่อขอมติเป็นรายมาตราก่อนรอไว้ 15 วันเพื่อลงมติในวาระที่ 3 ระหว่างวันที่ 10-11เม.ย. และคาดว่าน่าจะลงมติให้ความเห็นชอบในวาระ 3 ได้ประมาณวันที่ 26 หรือ 27 เม.ย.

โดยเนื้อหาที่เห็นชอบสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ ให้มี 99 คน จากการเลือกตั้งโดยตรง จังหวัดละ1คน และ คัดเลือกโดยที่ประชุมของรัฐสภา จำนวน22คน แบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ

มีบางมาตราที่กมธ.ได้ขอปรับแก้ไขเนื้อหา ประกอบด้วย 1.มาตรา 291/5 ได้แก้ไขกำหนดให้นำกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้โดยอนุโลม และให้อำนาจศาลอุทธรณ์พิพากษาการคัดค้านและการเพิกถอนผลการเลือกตั้งทั้งก่อนและหลังการรับรองผลการเลือกตั้งส.ส.ร.ภายใน30วัน จากเดิมในร่างแก้ไขฯที่เสนอโดยครม.กำหนดให้ กกต.สามารถออกหลักเกณฑ์การเลือกตั้งส.ส.ร.เท่านั้น

2.กรอบระยะเวลาการทำงานของส.ส.ร. ที่กมธ.แก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้ต้องประชุมส.ส.ร.ครั้งแรกภายใน 30 วันเพื่อเลือกประธานและรองประธานจากเดิมกำหนดให้ประชุมครั้งแรกภายหลังได้ครบ 99 คน และส.ส.ร.จะต้องทำร่างรธน.ให้เสร็จภายใน 240 วันนับตั้งแต่ประชุมครั้งแรก ซึ่งร่างแก้ไขฉบับเดิมระบุให้จัดทำร่างรธน.ภายใน 180 วัน

3.มาตรา 291/11 เฉพาะส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่กมธ.ได้เพิ่มถ้อยคำให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นหลังจากกมธ.ฝ่ายค้านกังวลส.ส.ร.จะดำเนินการแก้หมวด 2 ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรธน.50 ทำให้กมธ.ต้องบัญญัติเพิ่มเติมลงไปว่า การแก้ไขที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเป็นประมุข หรือเปลี่ยนรูปแบบของรัฐ หรือ แก้บทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ได้แปรญัตติ ที่ให้นำกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมาใช้เลือกตั้งส.ส.ร. ถือเป็นเรื่องแปลกที่เอากฎหมายที่ศักดิ์ต่ำกว่ามาใช้ในเรื่องรธน.และทำให้เกิดประเด็นว่า พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครเป็น ส.ส.ร.ได้

อีกด้าน นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต. กล่าวว่า พร้อมใช้ กฎหมายที่สภาฯเห็นชอบมาใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ทั้งนี้การที่ไม่ออกเป็นกฎหมายเฉพาะตามที่ กกต. เสนอไปก่อนหน้านี้นั้นถือเป็นการพิจารณาของกมธ. เนื่องจากการออกกฎหมายเฉพาะมีความล่าช้าทาง กกต. จึงดำเนินการตามมติและหากมีปัญหาเกิดขึ้น กกต. มีกฎหมายรองรับแล้ว

นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้งด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... มีมติให้กกต.ใช้พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น มาใช้ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ภายใน 75 วันว่า กกต.ยอมรับมติของคณะกรรมาธิการฯ เพียงแต่ติดใจว่าเหตุใดจึงไม่รอให้กกต.เป็นผู้เสนอ ทั้งที่ตามมารยาทแล้วเมื่อคณะกรรมาธิการถามกกต.มาก็ควรจะรอให้กกต.ดำเนินการชี้แจงกลับไปก่อน ซึ่งกกต.ก็ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาและนำเสนอไป 2 แนว ทาง คือ 1.การออกพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.ร.โดยเฉพาะ และ 2.การนำพ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นมาใช้โดยอนุโลม ทั้งนี้เห็นว่าการนำพ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นมาใช้โดยอนุโลม จะมีความยุ่งยากน้อยกว่าการนำพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. มาใช้ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าและจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร อีกทั้งพ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นมีความใกล้เคียงกับการเลือกตั้งส.ส.ร. เพราะเลือกจังหวัดละ 1 คน เหมือนกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) โดยแนวทางที่คณะกรรมาธิการเลือกก็เป็นแนวทางหนึ่งที่คณะทำงานของกกต.ได้เสนอเข้ามาในที่ประชุมกกต. ทั้งนี้ เมื่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการมีมติไปแล้ว กกต.ก็พร้อมดำเนินการ

" กกต.จะได้มอบหมายให้สำนักงาน ไปศึกษารายละเอียดว่ามีการขัดกันของกฎหมาย หรือมีข้อคิดเห็นประการใด แต่เบื้องต้นรู้สึกแปลกใจว่าเหตุใดในมาตรา 291/5 ที่ ให้กกต.จัดการเลือกตั้งส.ส.ร. โดยให้ใช้พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นมาใช้โดยอนุโลม ส่วนมาตราใดที่ไม่ใช้ก็ให้กกต.มีอำนาจประกาศกำหนดบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องนำมาใช้บังคับในราชกิจจานุเบกษานั้น ข้อนี้ตนมีความข้องใจ เนื่องจากการออกประกาศหรือระเบียบใดๆ ก็จะต้องมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาทุกครั้ง เรื่องนี้อาจจะมีการพิจารณา เพื่อทวงติงไปยังคณะกรรมาธิการฯ"นางสดศรี กล่าว

นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.)ในฐานะคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ กล่าวว่า ร่างเดิมกำหนดให้กกต.สามารถใช้ระเบียบที่กำหนดโดยอาจให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตมาบังคับใช้โดยอนุโลม ตนเสนอให้ใช้กฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น เพราะกกต.ไม่อยากให้มีการออกระเบียบจัดการเลือกตั้งส.ส.ร. อีกทั้งพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ก็มีความใกล้เคียงและสอดคล้องกับมาตรา 291/1ที่กำหนดให้มีส.ส.ร.จังหวัดละ 1คน ยืนยันไม่ได้เป็นการตัดอำนาจของกกต.ในการให้ใบแดง ซึ่งเดิมทีตนเสนอให้ยกเว้นหมวด9 ในพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ เท่านั้น นอกนั้นให้นำมาบังคับใช้ในการเลือกตั้งส.ส.ร.ได้ทั้งหมด ทั้งนี้กระบวนการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ไม่ใช่ว่าไม่ต้องการตรวจสอบ แต่เราดูกฎหมายที่มีอยู่ ก็เสนอว่าถ้าอยากได้ระบบตรวจสอบที่ดี ก็ไปที่ศาลอุทธรณ์ และกำหนดเวลา 30 วัน เราก็พยายามให้ทุกอย่างเดินไปด้วยดี

เมื่อถามว่าแต่กกต.มีมติขอให้กมธ.ออกกฎหมายเฉพาะในการเลือกตั้งโดยตรง นายพิชิต กล่าวว่า กกต.คงไม่ อยากขอมาทางกมธ.โดยไม่อยากให้ออกระเบียบมากกว่า เพราะอาจถูกดำเนินคดีตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญาได้ ซึ่งทุกฝ่ายก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายมี

“ภารกิจของส.ส.ร.มาเพื่อการร่างรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ไม่ได้เลือกตั้งมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการใช้อำนาจอย่างรัฐ เหมือนส.ส.และส.ว. ดังนั้นการกำหนดเงื่อนไขเพียงเท่านี้น่าจะเพียงพอแล้ว เมื่อเขาไม่ได้ใช้อำนาจรัฐ แค่นี้ก็พอเพียงแล้ว ซึ่งเราก็ได้ประนีประนอมกมธ.เสียงข้างน้อยแล้วเพราะได้ยอมตามข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)ที่ขอให้แก้ไขระยะเวลาการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจาก 180 วันมาเป็น 240 วันแล้ว เสมือนเป็นการแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง” นายพิชิต กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ลต 0301/4219 เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมาถึงประธานกมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ เรื่อง ข้อเสนอเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฯ โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า กกต.ได้มีการประชุมครั้งที่31/2555 เมื่อวันที่27 มีนาคม เห็นว่าการที่จะให้มีการเลือกตั้งส.ส.ร.โดยกำหนดให้เป็นไปตามระเบียบที่กกต.กำหนดโดยอาจนำหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาบังคับใช้โดยอนุโลม ตามมาตรา 291/5นั้น กกต.มีมติเห็นว่าในการเลือกตั้งส.ส.ร.ในครั้งนี้ควรจะมีหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งส.ส.ร.โดยออกเป็นกฎหมายเลือกตั้งส.ส.ร.ไว้เป็นการเฉพาะ
กำลังโหลดความคิดเห็น