xs
xsm
sm
md
lg

สรุปร่างแก้ ม.291 ห้ามแก้หมวดกษัตริย์ ให้ศาลอุทธรณ์ลงฑัณท์ใบแดงแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กมธ.วิฯ รัฐธรรมนูญ สรุปร่างแก้ไข ม.291 เพิ่มห้ามคนคุกพ้นโทษไม่ถึง 5 ปีเป็น ส.ส.ร. ใช้กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นบังคับจัดโดยอนุโลม พิลึก! ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิกถอนผลการเลือกตั้งแทนศาลฎีกา พร้อมเพิ่มวันร่างฯ เป็นใน 240 วัน ห้ามแก้หมวดกษัตริย์

วันนี้ (4 เม.ย.) ที่รัฐสภา มีรายงานว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. .... ได้สรุปประเด็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยร่างที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากมีโครงสร้างเกือบทั้งหมดตรงกับร่างที่คณะรัฐมนตรีเสนอมา ยกเว้นในมาตรา 291/3 ว่าด้วยเรื่องบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยได้เพิ่มเติมข้อห้ามตามมาตรา 102 (5) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุว่า ห้ามผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

นอกจากนี้ ในมาตรา 291/5 วรรค 4 ได้มีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกแบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นนำกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับโดยอนุโลม และในมาตราเดิม ได้เพิ่มเติมเนื้อหาโดยมอบหมายให้การวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับการคัดค้านตัดสิทธิการเลือกตั้ง การเพิกถอนผลการเลือกตั้งทั้งก่อนและหลังการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาให้เสร็จสิ้นภายในสามสิบวัน

อย่างไรก็ตาม ในมาตรานี้กรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้ตั้งข้อสังเกตถึงมติดังกล่าวว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ถือเป็นการเลือกตั้งที่สำคัญ เพราะเป็นการเลือกตั้งบุคคลเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดและสำคัญที่สุด แต่เหตุใดจึงได้นำกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมาใช้ซึ่งมีศักดิ์ที่ต่ำกว่ากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวไม่ค่อยมีความเข้มงวด ขณะที่การวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับการคัดค้านตัดสิทธิการเลือกตั้ง การเพิกถอนผลการเลือกตั้งทั้งก่อนและหลังการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน เหตุจึงไม่ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ตัดสินชี้ขาด และถ้าหากไม่ให้ กกต.ทำ ทำไมถึงไม่มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของศาลฎีกา แต่กลับมีมติให้ศาลอุทธรณ์ทำหน้าที่แทน ซึ่งดูแล้วศาลฎีกาน่าจะมีความเหมาะสมกว่า

ในส่วนของมาตรา 291/11 ก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน จากเดิมกำหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน แต่ที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนเป็น 240 วัน และได้เพิ่มสาระสำคัญ ว่าการร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้อีกด้วย หลังจากกรรมาธิการฝ่ายค้านโจมตีท้วงติงว่าถ้าไม่ระบุให้ชัดเกรงจะเปิดช่องให้ ส.ส.ร.แก้ไขในหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น